23 ม.ค. 2022 เวลา 12:18 • การ์ตูน
สิ่งที่ทำให้คนตัดสินใจคลาดเคลื่อนมากที่สุด คือ การคิดไปเอง นี่คือประโยคคลาสสิคที่อยู่ในการ์ตูนเรื่อง Psychometrer Eiji (ไซโคเมทเรอร์ เอย์จิ)
1
ผมเชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยรู้จักเรื่อง คินดะอิจิ กับคดีฆาตกรรมปริศนา นี่เป็นการ์ตูนสืบสวนฆาตกรรมอำพรางยอดนิยมแห่งยุค และที่น่าสนใจก็คือ ผู้แต่งสตอรี่ของคินดะอิจิ ที่ชื่อเซมารุ อามางิ เขายังแต่งการ์ตูนสืบสวนอีกเรื่องหนึ่งด้วยชื่อ Psychometrer Eiji (แต่ใช้นามปากกาอีกชื่อคือ ยูมะ อันโดะ)
Psychometrer Eiji เล่าเรื่องของเด็กหนุ่ม ม.ปลาย ชื่ออาสึมะ เอย์จิ ที่เกิดมาพร้อมความสามารถพิเศษ ที่เรียกว่า "ไซโคเมทรี่" อธิบายคือ เขาสามารถ "อ่านความทรงจำของคนหรือสิ่งของได้"
เวลาเอย์จิเอามือไปแตะคน หรือวัตถุบางอย่าง แล้วใช้พลังจิตในการอ่าน เขาจะพอเห็นภาพในอดีตคร่าวๆ ได้ เช่น เห็นเหตุการณ์ที่คนคนนั้นเคยประสบมา ราวๆ 2-3 วินาที
เอย์จิ ไม่เข้าใจว่าความสามารถของตัวเองจะมีประโยชน์อะไร จึงเก็บไว้เป็นความลับเรื่อยมา อย่างไรก็ตาม มีเหตุบังเอิญที่เขาได้รู้จักนักสืบหญิงจากกรมตำรวจชื่อชิมะ เรียวโกะ
หมวดชิมะ เคยได้ยินเรื่องไซโคเมทรี่มาก่อน ตอนแรกเธอคิดว่ามีแต่ในนิยาย แต่พอเจอเอย์จิ เธอจึงรู้ว่ามันเป็นเรื่องจริง จึงพยายามหว่านล้อมให้เอย์จิมาช่วยเธอทำการสืบสวนคดีฆาตกรรมปริศนา เช่น เวลามีหลักฐานอะไร ก็จะให้เอย์จิ ช่วยอ่านความทรงจำของหลักฐานชิ้นนั้น
ซึ่งแม้สิ่งที่เอย์จิเห็น จะเป็นภาพที่ไม่ค่อยแน่ชัดว่ามันหมายความถึงอะไรกันแน่ แต่แค่นั้นก็เพียงพอแล้ว ที่ชิมะจะใช้ฝีมือในการ Profiling และตามหาคนร้ายได้ในที่สุด
ชิมะเป็นตำรวจสาวสวยสุดฮอต และเอย์จิก็แอบปลื้มเธอ ดังนั้นจึงเต็มใจจะช่วยชิมะในการสืบหาคนร้าย เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหนุ่ม ม.ปลาย กับตำรวจสาว ก็จะขนานกันไปกับเส้นเรื่องนี้
เรื่องนี้มี 25 เล่มจบ โดยแต่ละ ep. ก็จะเล่าเรื่องการสืบสวนเคสนี้ เคสนั้นไปเรื่อยๆ แต่เส้นเรื่องหลักคือการต่อสู้กับบอสใหญ่ของเรื่อง ที่ชื่อว่า ซาวากิ อากิระ
อากิระ คือศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยสาขาวิชาจิตวิทยา ที่ความจริงคืออาชญากรอัจฉริยะ แต่วันหนึ่งเขาพลาดพลั้งเสียทีโดนชิมะจับตัวได้ จึงถูกขังอยู่ในคุก
แต่ถึงกระนั้น หลายๆ คดี ชิมะต้องไปขอความช่วยเหลือจากอากิระ เพราะในการสืบสวน เธอต้องการ "เข้าใจ" มุมมองของอาชญากร และเมื่อเข้าใจก็จะสามารถตามจับคนร้ายได้
ในมุมของอากิระเอง เขาก็รู้สึกดีกับชิมะมาตลอด (แม้จะโดนชิมะจับก็เถอะ) จึงให้ความช่วยเหลือเธอเป็นอย่างดี
หากใครเคยดูหนังเรื่อง The Silence of the Lambs การ์ตูนก็หยิบเอาไอเดีย ของเจ้าหน้าที่คลาริซ สตาร์ลิ่ง กับ ดร.ฮันนิบาล เลคเตอร์ ออกมาใช้นั่นล่ะ คือเป็นอาชญากรอัจฉริยะที่คอยให้ความช่วยเหลือตำรวจสาวอยู่เรื่อยๆ
1
มีคดีหนึ่งในเรื่องนี้ ที่ผมคิดว่าน่าสนใจดี เป็นคดีฆาตกรรมวงไอดอลชื่อ Square Doll โดยวงนี้ มีศิลปินอยู่ 4 คนด้วยกัน พวกเธอโดน Stalker ที่คลั่งไคล้จัด ทำการคุกคาม
ตอนแรกก็มีโทรศัพท์โรคจิตมาป่วน โทรมาแล้วไม่พูดอะไร จากนั้นก็ส่งจดหมายมาให้เป็นสิบๆ ฉบับ แต่ข้างในเป็นกระดาษเปล่าทั้งหมด
จากนั้นดีกรีความรุนแรงก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และนำมาสู่การฆาตกรรม ไอดอลโดนฆ่าทีละคน ซึ่งตำรวจมั่นใจว่าต้องเป็น Stalker แน่ มีการยกคดีของจอห์น เลนน่อน ที่โดนแฟนคลับของตัวเองยิงตายที่นิวยอร์กมาเปรียบเทียบ
คือบางทีแฟนคลับที่คลั่งไคล้จัด อาจจะอยากจารึกตำนานเอาไว้ ด้วยการฆ่าศิลปินในดวงใจของตัวเองซะเลย แบบนี้ก็มีเหมือนกัน
หมวดชิมะ กับเอย์จิ ช่วยกันสืบคดีอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่คืบหน้า มีแฟนคลับที่คลั่งวง Square Doll มากก็จริง แต่ไม่มีหลักฐานจะสาวตัวว่าเป็นคนร้ายได้ เมื่อจนแต้ม ทำให้ชิมะต้องไปขอความช่วยเหลือจากอากิระที่อยู่ในคุก
1
ชิมะเล่าเรื่องให้อากิระฟัง ซึ่งพอฟังจบเขาก็พูดขึ้นมาว่า "ฉันจะบอกกุญแจในการไปถึงตัวคนร้ายให้อย่างนึงนะ"
"เรียวโกะ เธอรู้จักสิ่งที่ทำให้ความสามารถในการตัดสินใจของคน คลาดเคลื่อนมากที่สุดไหม?
 
"มันคือการคิดไปเองไงล่ะ"
2
"มีเรื่องเล่าที่เป็นตัวอย่างอยู่เรื่องนึง สมมุติว่ามีคนเดินกางร่มอยู่ แต่แม้ร่มจะเล็ก แต่คนๆ นั้น สามารถเดินได้ 1 กิโล โดยรองเท้าไม่เปียกเลยสักนิด เธอคิดว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้นล่ะ"
เรียวโกะตอบมาว่า "เพราะคนนั้นใส่เสื้อกันฝนตัวใหญ่อยู่ล่ะมั้ง"
อากิระอธิบายว่า "NO เพราะว่าร่มคันนั้นเป็นร่มกันแดดต่างหาก เพราะเธอได้ยินว่า 'ร่ม' เลยคิดไปเองว่าฝนตกอยู่ไงล่ะ ถ้าคิดไปเองแบบนี้ ก็ไม่มีทางหาคำตอบเจอ"
จากนั้นอากิระก็จี้ถามในคดีว่า "ก่อนอื่นเธอคิดว่า Stalker เป็นอาชญากรประเภทไหนล่ะ" เรียวโกะตอบว่า "ก็พวกที่มีความรู้สึกชอบดาราอย่างรุนแรง พวกแฟนเพลง"
ซึ่งอากิระก็บอกว่า "นี่แหละ คือการคิดไปเอง"
ถึงตรงนั้น เรียวโกะจึงลองมองอีกมุมว่า ถ้าคนร้ายไม่ใช่แฟนคลับล่ะ? เธอจึงมองหาผู้ต้องสงสัยรายอื่น และในที่สุดก็ปะติดปะต่อเรื่องได้ ว่าจริงๆ แล้วคนก่อเหตุฆาตกรรม คือผู้จัดการของวงนั่นเอง แต่ด้วยพฤติกรรมที่ทำเหมือน Stalker ทำให้ตำรวจไปโฟกัสที่ตรงอื่น
สุดท้ายชิมะกับเอย์จิ ก็จับคนร้ายได้ในที่สุด ช่วยชีวิตไอดอลเอาไว้ได้ 1 คน
2
Psychometrer Eiji ถูกแต่งในปี 1997 ในยุคที่โลกนี้ ยังไม่มีซีรีส์อย่าง CSI ตอนที่ผมได้อ่านครั้งแรก ผมอยู่มัธยมต้น คือรู้สึกตื่นตะลึงมากกับไอเดีย และเพลินมากกับการค้นหาคนร้าย ได้ความรู้เชิงจิตวิทยามากมายที่แฝงไว้
และที่สำคัญมันทำให้ผมได้เรียนรู้หลักคิดจากอากิระ ที่ยึดถือมาจนถึงปัจจุบันด้วยว่า สิ่งที่จะทำให้การตัดสินใจของคนเรา คลาดเคลื่อนได้ง่ายที่สุด คือการคิดไปเอง
2
คิดไปเองว่าคนแต่งตัวแบบนั้นจะมีพฤติกรรมแบบนี้ คิดไปเองว่าคนเรียนจบจากที่นี่จะมีนิสัยแบบนั้น การทึกทักไปเอง ทำให้การประเมินของเราพลาดได้ง่ายๆ
ผมเชื่อว่า ประโยค Don’t judge a book by its cover แปลว่า เราอย่าตัดสินหนังสือสักเล่มจากปก มันใช้ได้จริงเสมอ
เห็นหนังสือจะรู้ว่าดีไหมต้องลองอ่าน เห็นโปสเตอร์หนังจะรู้ว่าดีไหมต้องลองดู
และถ้าเห็น "คน" จะรู้ว่าเขามีนิสัยอย่างไร ต้องลองทำความรู้จักจริงๆ ไม่ใช่จินตนาการ และคิดไปเอง
โฆษณา