22 ม.ค. 2022 เวลา 12:57 • ไลฟ์สไตล์
รู้จัก "Attachment Theory" เราเป็นคนรักแบบไหนในความสัมพันธ์
ทำไมเวลารักใครแล้วเราเป็นแบบนี้ทุกที?
ทำไมเขาถึงทำ ‘แบบนั้น’ ?
แล้วทำไมฉันถึงทำ ‘แบบนี้’ ?
เคยสังเกตไหมว่าเวลาเราอยู่ในความสัมพันธ์ทีไร ตัวตนอีกด้านที่เราไม่เคยรู้จักก็โผล่ออกมา ไม่ว่าจะเป็นกังวลเกินไป ไม่เชื่อใจเกินเหตุ หรือความต้องการอิสระที่มากเป็นพิเศษ ทำเอาเราสับสนแล้วงงกับตัวเองไปตามๆ กัน แต่เท่านั้นยังไม่พอ! เรายังต้องงงกับการแสดงออกของอีกฝ่ายด้วย
1
หากปล่อยไว้ ความไม่เข้าใจเหล่านี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้ จะดีกว่าไหม ถ้าเรามาทำความเข้าใจตัวเองให้ดีก่อนที่จะไปรักใคร
มาหาคำตอบกันดีกว่าว่าเราเป็น ‘คนรัก’ แบบไหนในความสัมพันธ์
รู้จักกับทฤษฎี Attachment Theory เพราะฉันในวันนี้มาจากฉันในวัยเด็ก
Attachment Theory หรือ ‘ทฤษฎีความผูกพัน’ มีผู้ริเริ่มคือจอห์น โบลว์บี จิตแพทย์ชาวอังกฤษ และลูกศิษย์ของเขา แมรี เอนส์เวิร์ธ นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน โดยทฤษฎีนี้เชื่อว่าการเลี้ยงดูที่เราเคยได้รับในวัยเด็กนั้น เป็นตัวกำหนดการแสดงออกและการตอบสนองต่อความสัมพันธ์ในตอนโต
พูดง่ายๆ ก็คือในตอนเด็กเราถูกรักแบบไหน มีแนวโน้มว่าเราจะรักแบบนั้นในตอนโตนั่นเอง
จริงอยู่ที่ว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เราได้พบเจอตั้งแต่เด็กจนโตก็ส่งผลต่อเรา แต่ทฤษฎีความสัมพันธ์เชื่อว่า ความผูกพันที่ได้รับในวัยแบเบาะมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อสมองของเด็กในวัยนั้น วัยที่มนุษย์เรายังส่งสัญญาณแบบอวัจนภาษา เช่น การร้องไห้ การร้องอ้อแอ้ การชี้ หรือการยิ้ม หากผู้ดูแลสามารถแปลสัญญาณเหล่านี้แหละตอบสนองความต้องการของเด็กได้ ความผูกพันที่อบอุ่นจะถูกพัฒนาขึ้น
มาดูกันดีกว่าว่าการเลี้ยงดูแต่ละแบบจะส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเราในตอนโตอย่างไรบ้าง ทฤษฎีความผูกพันได้มีการแบ่งออกเป็น 4 ประเภทดังนี้
1
1) รูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคง (Secure Attachment)
คนประเภทนี้เป็นคนที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้สึกปลอดภัย มั่นคง และพึงพอใจในความสัมพันธ์ มีขอบเขตของตัวเองที่ชัดเจน ไม่กลัวที่จะอยู่คนเดียว แต่ก็ชอบที่จะใกล้ชิดและมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้อื่น
1
ลักษณะอื่นๆ ของคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคง ได้แก่
[ ] เห็นคุณค่าในตัวเอง มองตัวเองในแง่ดี
[ ] ไม่กลัวที่จะเป็นตัวของตัวเองในความสัมพันธ์
[ ] กล้าแสดงออกถึงความรู้สึก ความหวัง ความต้องการ และความอ่อนไหว
[ ] พึงพอใจที่ได้ใช้เวลากับอีกฝ่าย
[ ] ไม่กลัวที่จะขอกำลังใจหรือคำปลอบโยนจากคนรัก
[ ] ไม่กังวลมากมายเมื่อต้องอยู่ห่างกัน
[ ] เชื่อใจผู้อื่น
[ ] ยินดีให้อีกฝ่ายพึ่งพาและขอกำลังใจ
[ ] เมื่อเกิดปัญหาขึ้น มีแนวโน้มว่าจะสื่อสารและพยายามแก้ไขปัญหา
[ ] หากเจอเรื่องผิดหวังในความสัมพันธ์ แม้จะเสียใจแต่ก็ไม่เสียศูนย์ กลับมาเป็นตัวเองและรักใหม่ได้เสมอ
ในวัยเด็ก คนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคงมักจะได้รับความรักและการดูแลอย่างเหมาะสม เมื่อเครียดหรือวิตกกังวล ผู้ปกครอง หรือ ผู้ดูแลจะคอยปลอบโยน ทำให้รู้สึกมั่นคง และทำให้รู้สึกปลอดภัยมากพอที่จะแสดงออกทางอารมณ์
แน่นอนว่าเป็นเรื่องยากที่พ่อแม่จะดูแลเด็กได้ทุกวินาทีตลอด 24 ชั่วโมง แต่เมื่อพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ไม่ได้อยู่ตรงนั้นเมื่อเด็กต้องการ พวกเขาจะพยายามหาทางชดเชยความต้องการนี้ในภายหลัง ทำให้เด็กเหล่านี้เติบโตมาด้วยความรู้สึกมั่นคงนั่นเอง
2
และเปล่าเลย การมีรูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคงไม่ได้หมายความว่าเราสมบูรณ์แบบ หรือไม่เคยมีปัญหาในความสัมพันธ์ แต่หมายความว่าเรามีความมั่นใจมากพอในการรับผิด เมื่อเกิดข้อผิดพลาด และกล้าขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นเมื่อต้องการ
1
2) รูปแบบความสัมพันธ์แบบวิตกกังวล (Anxious Attachment)
คนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์ประเภทนี้มักจะถูกมองว่า ‘เรียกร้องความสนใจ’ พวกเขาต้องการความรัก การเอาใจใส่แทบตลอดเวลา นอกจากนั้นคนเหล่านี้นั้นมักจะกังวล ไม่มีความมั่นใจ ต้องการใกล้ชิด แต่ก็กลัวอยู่ลึกๆ ว่าอีกฝ่ายจะไม่อยากอยู่ด้วย
ลักษณะอื่นๆ ของคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบวิตกกังวล ได้แก่
[ ] ต้องการความใกล้ชิดและมีความรู้สึกลึกซึ้งกับคนรัก
[ ] มีปัญหาเรื่องความเชื่อใจ รู้สึกกังวลอย่างมากเมื่อไม่ได้อยู่ด้วยกัน
[ ] เวลามีความรักมักจะลืมด้านอื่นๆ ในชีวิตไปเลย เอาความสุขไปผูกอยู่กับอีกฝ่ายมากเกินไป
[ ] ไม่เข้าใจเวลาอีกฝ่ายต้องการ ‘เวลาส่วนตัว’ และจะรู้สึกกังวล โกรธ หรือกลัวว่าอีกฝ่ายไม่ต้องการเราอีกต่อไป
[ ] ไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตัวเอง
[ ] เอาคุณค่าตัวเองไปผูกกับความสัมพันธ์ หากไม่ได้รับความรักมากพอจะรู้สึกไม่มีค่า
[ ] กังวลและหึงหวงเวลาต้องอยู่ห่างกัน อาจถึงขึ้นทำให้อีกฝ่ายรู้สึกผิดเพื่อที่เขาจะได้อยู่กับเรา
[ ] มักถูกคนอื่นมองว่าเรียกร้องความสนใจเกินไป หรือติดแฟนเกินไป
[ ] คิดมากอยู่บ่อยๆ ว่าอีกฝ่ายรักเราจริงไหม จนบางทีรู้สึกเศร้า
คนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบวิตกกังวลมักจะไม่ได้รับความใส่ใจอย่างสม่ำเสมอในวัยเด็ก ผู้ปกครองของพวกเขาอาจยุ่งกับภาระส่วนตัวด้านอื่นๆ ในชีวิตจนไม่มีเวลาดูแล ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่ต้องทำงานที่อื่นในวันจันทร์-ศุกร์ และมีเวลาให้ลูกที่บ้านแค่เสาร์อาทิตย์ ความไม่สม่ำเสมอนี้เองส่งผลให้เด็กรู้สึกกังวลและโหยหาความรัก
3) รูปแบบความสัมพันธ์แบบหมางเมิน (Dismissive-avoidant Attachment)
ไม่ชอบความใกล้ชิด พยายามที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึกลึกซึ้งกับผู้อื่น ไม่ชอบพึ่งพาใครและไม่ชอบให้ใครมาพึ่งพาเรา นี่คือนิสัยของคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบหมางเมิน เรียกได้ว่าเป็นขั้วตรงข้ามของแบบวิตกกังวลเลยก็ว่าได้!
ลักษณะอื่นๆ ของคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบหมางเมิน ได้แก่
[ ] ดูแลตัวเองได้ อยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องการคนอื่น
[ ] ยิ่งอีกฝ่ายพยายามใกล้ชิดมากเท่าไร ยิ่งพยายามตีตัวออกหากมากเท่านั้น
[ ] ไม่ค่อยแสดงออกทางอารมณ์ มักถูกมองว่าเย็นชา
[ ] มองว่าคนอื่นที่ชอบแสดงอารมณ์นั้น ‘อ่อนแอ’ ‘อ่อนไหว’ หรือไม่ก็ ‘เรียกร้องความสนใจ’
[ ] โฟกัสที่ความรู้สึกและความต้องการของตัวเองมากกว่า จนหลายครั้งละเลยความรู้สึกของอีกฝ่าย
[ ] กลัวการสูญเสียตัวตนในความสัมพันธ์
[ ] อาจถึงขึ้นยุติความสัมพันธ์เพื่อที่จะได้รู้สึกถึงความเป็นอิสระของตัวเอง
[ ] มักมีความสัมพันธ์แบบผิวเผินและระยะสั้น
[ ] มาตรฐานสูง ทั้งต่อตนเองและคนอื่น
[ ] ต้องการคนรักที่ดูแลตัวเองได้และรักษาระยะห่าง (โดยเฉพาะระยะห่างทางความรู้สึก)
บุคคลเหล่านี้มักจะไม่ได้รับความรักและการดูแลอย่างสม่ำเสมอ (หรือไม่ได้รับเลย) จากคนดูแลในตอนเด็ก เมื่อความต้องการไม่เคยได้รับการตอบสนอง เด็กเหล่านี้จึงเลิกแสดงออกทางอารมณ์ หาทางตอบสนองด้วยตนเอง และพึ่งตนเองเป็นหลัก ส่งผลให้พวกเขามีรูปแบบความสัมพันธ์แบบหมางเมินในตอนโต
1
4) รูปแบบความสัมพันธ์แบบหวาดกลัว (Fearful-avoidant Attachment)
รูปแบบความสัมพันธ์แบบหวาดกลัว หรือเรียกอีกชื่อว่าแบบยุ่งเหยิง เกิดขึ้นเมื่อในวัยเด็กของเราต้องเผชิญความบอบช้ำทางจิตใจหรือร่างกาย ถูกละเลย ถูกทอดทิ้ง หรือถูกทำร้าย
ลักษณะอื่นๆ ของคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบหวาดกลัว ได้แก่
1
[ ] เชื่อว่าตนเองไม่สมควรได้รับความรัก
[ ] สับสนและรู้สึกไม่สบายใจเมื่ออยู่ในความสัมพันธ์แบบใกล้ชิด
[ ] ไม่ใส่ใจความรู้สึกของอีกฝ่าย
[ ] อาจไม่เชื่อใจและพยายามควบคุมอีกฝ่าย
[ ] ใจร้ายกับตัวเองพอๆ กับที่ใจร้ายกับคนอื่น
[ ] แม้ว่าจะอยากมีความรัก แต่ก็เชื่อว่าตัวเองไม่เหมาะสมและกลัวว่าจะต้องเสียใจอีกครั้ง
[ ] ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
[ ] กลัวความใกล้ชิด
[ ] อยากพึ่งพาคนอื่น แต่ก็ไม่เชื่อใจและกลัวการถูกปฏิเสธ
1
ที่หลายคนแสดงออกเช่นนี้ในความสัมพันธ์ เป็นเพราะว่าแผลใจจากวัยเด็กยังไม่หายไปไหน พวกเขาต้องเผชิญกับเหตุการณ์ฝังใจ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจ หรือการมีผู้ดูแลที่ให้ทั้งความรักพอๆ กับ ‘ความกลัว’
มั่นคง วิตกกังวล หมางเมิน หรือหวาดกลัว ไม่ว่าเราจะเป็น ‘คนรัก’ แบบไหนหรือไม่ว่าจะเติบโตมาอย่างไร อย่ารู้สึกแย่กับสิ่งที่เราเป็น ในทางกลับกัน เมื่อเรารู้แล้วว่าเราเป็นคนรักแบบไหน ทำความเข้าใจกับตัวเองให้มากขึ้น ตระหนักเรื่องการแสดงออกทางอารมณ์​ และฝึกสื่อสารกับคนรักให้เข้าใจได้อย่างถูกวิธี
ไม่แน่ ความเข้าใจตัวเองที่ได้เรียนรู้ในวันนี้ อาจช่วยให้เราหันมาฝึกให้ความรักกับตัวเอง ฝึกอยู่กับตัวเอง ไม่ก็หันมาเปิดใจ โอบกอดความรักและคำปลอบโยนจากผู้อื่นมากขึ้นก็ได้
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology
โฆษณา