23 ม.ค. 2022 เวลา 15:46 • หนังสือ
📚จิตวิทยา
Atomic Habits
เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น
เพราะชีวิตดีได้กว่าที่เป็น
“ ความสำเร็จเป็นผลิตผล ของนิสัยที่ทำเป็นกิจวัตร ไม่ใช่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอะไรเพียงครั้งเดียวในชีวิต “
2
🍀🍀🍀
“ เป้าหมายยังสร้างความขัดแย้งที่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งนั่นคือ ถ้าคุณไม่บรรลุเป้าหมายและประสบความสำเร็จแล้วละก็ คุณจะต้องล้มเหลวและผิดหวัง ใจคุณปิดกั้นตัวคุณเองให้แสวงหาความสุขในมุมมองแคบ ๆ ซึ่งเป็นวิธีที่ผิดพลาด เพราะดูแล้วไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่ชีวิตจริงของคุณจะเป็นไปตามใจหวังเสมอไป และการจำกัดความพอใจของตนเองไว้กับเส้นทางชีวิตเพียงหนึ่งเดียวเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล ในเมื่อยังมีเส้นทางอีกหลากหลายให้เราเลือกเดินสู่ความสำเร็จได้ “ (จากหน้า 39)
“ หลายคนคิดว่าพวกเขาขาดแสงจูงใจ ทั้งที่จริง ๆ แล้วพวกเขาขาดความชัดเจนต่างหากครับ ซึ่งแผนปฏิบัติจะไม่มีทางชัดเจนได้เลยถ้าขาดการระบุเวลาและสถานที่ คนบางคนใช้เวลาทั้งชีวิตรอคอยเวลาที่เหมาะสมเพื่อเปลี่ยนแปลงปรับปรุงตัวเอง “ (จากหน้า 89)
“ ตัวเรามีข้อจำกัดเพราะนิสัยของเราเอง ดังนั้นการที่ควบคุม “ช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจ” ให้ได้ตลอดทั้งวันจึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะในแต่ละวันเต็มไปด้วยช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ต้องตัดสินใจมากมาย แต่เรามีทางเลือกน้อยมากสำหรับพฤติกรรมที่เราจะเลือกทำและทางเลือกเล็ก ๆ เหล่านี้จะสั่งสมและกำหนดแนวทางว่าคุณจะใช้เวลาต่อจากนี้ไปอย่างไร “ (จากหน้า 195)
“ ในโลกแห่งความสมบูรณ์แบบ รางวัลจากการมีนอสัยที่ดีก็คือนิสัยที่ดีนั่นเอง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง นิสัยที่ดูเหมือนจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อนิสัยอันนั้นให้ผลตอบแทนบางอย่างแก่คุณ ก่อนหน้านี้คือความทุ่มเทอุตสาหะทั้งหมดทั้งปวง “ (จากหน้า 231)
🍀🍀🍀
นับว่าเป็นหนังสือจิตวิทยาที่ทำงานกับความคิดของแอดมาก ๆ ค่ะ ไม่น่าแปลกใจเลยที่ยอดขายหนังสือทะลักทลาย ได้รับการแปลกว่า 40 ภาษา รวมถึงภาษาไทย เป็นเล่มฮอตฮิตมาสักพักแล้ว แต่ก็นั่นแหละค่ะ แอดเพิ่งหยิบขึ้นมาอ่าน (ความจริงน่าจะอ่านเร็วกว่านี้ จะได้ไม่เป็นจอมผัดวันประกันพรุ่ง ฮ่า ๆ )
หนังสือเปิดมาด้วยแนวคิดพื้นฐาน ที่ว่า ทำไมการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ จึงทำให้เกิดความแตกต่างอันน่าทึ่ง
  • คนเรามักให้ความสำคัญกับอะไรใหญ่ ๆ แต่มักละเลยที่จะปรับปรุงเรื่องเล็ก ๆ
  • เขาบอกว่า การปรับปรุงให้ดีขึ้นแค่เพียง 1% ที่ไม่มีใครสังเกต จะยิ่งส่งผลต่อพัฒนาการในระยะยาว
ขอบคุณภาพประกอบจากหนังสือ Atomic Habits by James Clear
จากภาพ ทำให้เราเห็นว่า ถ้าเราปรับพฤติกรรมของเราให้ดีขึ้น เพียง 1% ทุก ๆ วัน ภายในระยะเวลา 365 วันหรือ 1 ปี พฤติกรรมของเราจะดีขึ้นถึง 37 เท่าเลยทีเดียว แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราทำพฤติกรรมให้แย่ลงเรื่อย ๆ 1% นิสัยที่ดีก็แทบจะไม่เหลืออยู่เลย ดังนั้น พฤติกรรมอะไรที่เราทำมาเรื่อย ๆ จะเป็นกระจกสะท้อนต้วตนของเราในอนาคต
แต่เราจะเปลี่ยนแปลงนิสัยหรือพฤติกรรมของเราให้ดีขึ้นได้อย่างไร
นักเขียนได้ถ่ายทอดว่า การจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมก็หมายถึงว่า เราจะต้องเปลี่ยนแปลงตัวตนของเราด้วย นิสัยมันต้องกลายเป็นส่วนนึงของเรา แล้วเราจะทำมันได้อย่างต่อเนื่อง
ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไร ก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงครับ
James Clear
ให้ทำตามขั้นตอน 2 ขั้นตอน คือ
  • 1.
    ตัดสินใจเลือกแบบฉบับของคนที่คุณอยากจะเป็น
  • 2.
    พิสูจน์ให้ตัวคุณเองเห็นจากความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปเรื่อย ๆ
ซึ่งจะนำเราไปสู่ความเชื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น
  • ฉันเป็นครูที่ยืนหยัดเพื่อนักเรียนของฉัน
  • ฉันเป็นหมอที่ทุ่มเทเวลาและความเห็นอกเห็นใจให้แก่คนไข้
ก่อนอื่น ต้องมาดูการทำงานของนิสัยกันค่ะ ว่าทำงานแบบไหน
ขอบคุณภาพประกอบจากหนังสือ Atomic Habits by James Clear
กระบวนการสร้างนิสัย 4 ขั้นตอนนี้ เริ่มจากที่เรามีปัจจัยกระตุ้น ที่จะทำให้สมองเราสร้างพฤติกรรมอะไรบางอย่าง และเป็นความปราถนาที่ใคร่อยากจะเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่าง จึงทำให้เกิดการตอบสนองโดยเป็นการแสดงนิสัยออกมา และทำให้ได้รางวัลที่ต้องการ และก็วกกลับมาเชื่อมโยงกับปัจจัยกระตุ้นแรกเริ่มเป็นวงจรแบบนี้ไปเรื่อย ๆ
ขอบคุณภาพประกอบจากหนังสือ Atomic Habits by James Clear
เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร? เราก็แค่ต้องถามตัวเองง่าย ๆ ว่า พฤติกรรมที่ฉันต้องการเปลี่ยนแปลงนั้น จะต้องทำอย่างไรให้ทั้งเห็นชัดเจน น่าดึงดูดใจ เป็นเรื่องง่าย และน่าพึงพอใจ ได้อย่างไรบ้าง
เราสามารถทำตาม กฎ 4 ข้อนี้ได้ เริ่มจาก
  • กฎข้อแรก ทำให้เห็นชัดเจน
  • กฎข้อ 2 ทำให้น่าดึงดูดใจ
  • กฎข้อ 3 ทำให้เป็นเรื่องง่าย
  • กฎข้อ 4 ทำให้น่าพึงพอใจ
จะเห็นได้จากข้างต้น ทั้ง 4 ขั้นตอนเป็น 4 กฎหลักของหนังสือเล่มนี้ นั่นเป็นวิธีที่เราจะสามารถสร้างเสริมนิสัยด้วยการที่เราเริ่มต้นทำสิ่ง ๆ นั้น ให้เดินไปเรื่อย ๆ แต่นักเขียนก็บอกว่าชีวิตเรานั้นไม่ได้สมบูรณ์แบบตลอดหรอก เราต้องเจอกับเรื่องกะทันหัน เรื่องฉุกเฉินเข้ามาแทรก แต่วิธีที่จะทำให้ได้ต่อเนื่องคือ กลับมาทำมันให้เร็วที่สุด และถึงแม้ทำไปได้เรื่อย ๆ แล้วก็ตามที เราก็อาจเบื่อหน่ายได้
ก็คือปัจจัยที่มันเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จก็ไม่ใช่ความล้มเหลวเสียทีเดียว แต่มันคือความเบื่อหน่าย เราจึงต้องแสวงหาหนทางใหม่ ๆ พร้อมทั้งตกหลุมรักความเบื่อหน่ายนั้นให้ได้
พร้อมทั้งการใช้ทักษะของเรา ถึงแม้ว่าจะดีหรือไม่ชนะ หรือไม่ทัดเทียมกับคนอื่น ก็ให้เราผสมผสานทักษะที่เรามี ทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป จะได้ลดอัตราการแข่งขันกับคนอื่นลง (จริงด้วยค่ะที่ว่าทำไมคนที่ประสบความสำเร็จ มักทำอะไรที่ต่างออกไป)
และนั่นนักเขียนก็ยังบอกให้เราหมั่นทบทวนนิสัยเป็นระยะ ๆ ด้วย ข้อเสียของการทำอะไรเป็นอัตโนมัติไปเลยคือ เรามักละเลยข้อผิดพลาดเล็ก ๆ น้อย ๆ การหมั่นทบทวน เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ควรปรับปรุง ที่ถึงแม้ว่าหากวันนึงบทบาทหลักของเราจะเปลี่ยนไป ทว่าเราจะไม่สูญเสียตัวตนของเรา
พออ่านจบ แอดมินก็ตกตะกอนความคิดให้ต้องรีบลงมือทำตามที่ตั้งปณิธานเอาไว้ ตามวิธีการของหนังสือ ซึ่งเป็นประโยชน์มาก ๆ สำหรับบุคคลที่สนใจที่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อตนเอง ในหนังสือนักเขียนทั้งยกตัวอย่าง แนะนำกฎต่าง ๆ ยิบย่อยอยู่ภายใน ทำให้เข้าใจไปได้พร้อม ๆ กันที่ว่าพฤติกรรมมันเกิดขึ้นเป็นนิสัยนั้นเกิดได้อย่างไร และเราเองเมื่อรู้ซึ้งว่าเป็นแบบนี้แล้ว จะต้องจัดการหรือรับมือแบบไหน
สิ่งเล็ก ๆ ที่เรามองข้ามหรือเพียง 1% หรือการผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อย ๆ ก็เสมือนค่าธรรมเนียมที่เราต้องจ่ายให้กับพฤติกรรมนั้น ๆ แต่ถ้าเราสร้างนิสัยที่ดีขึ้น 1% ไปเรื่อย ๆ มันก็เป็นดอกเบี้ยทบต้นทบดอกดี ๆ ให้กับเราต่อไปในวันหน้าหรือกระทั่งวันนี้ที่เราสั่งสมมาแล้วก็ตาม
จะทำในวันพรุ่งนี้ เป็นวันที่ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้ เหมือนที่นักเขียนบอก คนบางคนก็รอคอยเวลาที่เหมาะสมที่สุดที่จะทำสิ่งใด ๆ นั่นคือไม่มีช่วงเวลาที่เหมาะสมรอคอยเขาอยู่จริง ๆ
2
นักเขียน : เจมส์ เคลียร์
นักแปล : ประพาฬรัตน์ ยงมานิตชัย
สำนักพิมพ์ : ซีเอ็ดยูเคชั่น (Se-education)
โฆษณา