24 ม.ค. 2022 เวลา 07:05 • อาหาร
บรรลัยวิทยา: เรื่องของหม้อและเตา (แก๊ส)
นอกจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ชิ้นส่วนของโรงงานต่าง ๆ
ที่ส่งมาให้ทีมของผมหาสาเหตุของความเสียหายที่เกิดขึ้น
สิ่งละอันพันละน้อยเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันก็มีส่งเข้ามาเรื่อย ๆ
เพราะบางครั้งผู้ผลิตกับผู้ใช้งานก็เกิดข้อขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติ
ในเคสความขัดแย้งเช่นนี้ สิ่งที่ยากที่สุดคือ
การสืบหาข้อมูลเบื้องต้นจากการใช้งาน ที่ผู้ใช้งานมักไม่บอกว่าใช้งานอย่างไร
และข้อมูลที่ได้ หลายครั้งเราก็พบว่าข้อมูลที่เราได้รับ มันก็ไม่ใช่ความจริง
แต่ไม่ว่าอย่างไร ความจริงย่อมมีหนึ่งเดียว
และความเสียหายมักทิ้งร่องรอยไว้เสมอ
ครั้งนี้ก็เช่นกัน เป็นเรื่องของหม้อเหล็กกล้าไร้สนิม
ที่ผลิตจากเหล็กกล้าไร้สนิมเกรด SUS 304 ลูกค้าแจ้งว่าใช้งานมา 6 เดือน
ใช้งานตามปกติ แต่ทำไมหม้อทะลุ !!
มันต้องเป็นสเตนเลสปลอมแน่ ๆ !!
ก้นหม้อถึงได้กัด (กร่อน) จนทะลุ ขนาดนี้
ในขณะที่ผู้ผลิตก็ยืนยันว่า หม้อที่ตัวเองผลิต ได้มาตรฐาน
หากพิจารณาลักษณะทางกายภาพ ของหม้อที่เราเห็น
เราจะพบว่าหม้อ ก็เป็นหม้อโดยทั่วไป เป็นหม้อเบอร์ 40 หรือ มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร
มีหูจับ 2 ข้าง ที่ไม่ได้หุ้ม Bakelite สำหรับป้องกันความร้อนที่บริเวณหูจับนอกจากนี้ก็ไม่อะไรเป็นพิเศษ
ข้อสังเกตเพิ่มเติมคือบริเวณก้นหม้อไม่ว่าจะด้านในหรือด้านนอกของหม้อจะมีคราบดำ ๆ เกิดขึ้น พร้อมสีรุ้ง เล็กน้อย
คราบดำ ๆ เช่นนี้เป็นเรื่องปกติของการใช้งานหม้อเหล็กกล้าไร้สนิมเกรด SUS 304 เพราะเหล็กกล้าไร้สนิมเกรดนี้เป็นเหล็กกล้าไร้สนิมในกลุ่มออสเตนิติก (Austenitic Stainless Steel) ที่มีความสามารถในการนำความร้อนต่ำ กว่าเหล็กกล้ากลุ่มอื่น ๆ
บริเวณที่สัมผัสเปลวไฟโดยตรง (LPG เมื่อเผาไหม้จะมีอุณหภูมิประมาณ 1,900 องศาเซลเซียส)
จะเกิดออกไซด์ของเหล็กและโครเมียมได้ง่าย และเกิดเป็นคราบดำ ๆ ขึ้นที่บริเวณก้นหม้อ
เมื่อตรวจสอบโครงสร้างจุลภาคของหม้อที่เกิดความเสียหาย ก็พบว่า ตำแหน่งหม้อที่เกิดการรั่วพบการตกตะกอนของโครเมียมคาร์ไบด์เกิดขึ้น (M23C6) ในขณะที่บริเวณอื่น ๆ ที่ห่างออกไปจากกลางหม้อกลับไม่พบ
ในกรณีนี้ยืนยันได้ว่าหม้อไม่ได้ทะลุจากการหลอมเหลว เพราะจากการตรวจสอบเราพบแค่การเกิดออกไซด์
แต่ไม่พบโครงสร้างที่เกิดจากการหลอมของเหล็กกล้าไร้สนิมแต่อย่างใด
และไม่ใช่ลักษณะความเสียหายจากการกัดกร่อน เพราะเราไม่พบการกัดกร่อนแบบรูเข็มหรือ Pitting แต่อย่างใด
จึงเป็นไปได้ว่า บริเวณนี้ขณะเกิดความเสียหาย มีอุณหภูมิอยู่ในช่วง 650-950 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นช่วงที่โครเมียมคาร์ไบด์ตกตะกอน
หากพิจารณาขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของบริเวณที่เกิดคราบดำที่เกิดขึ้น
จะพบว่ามีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 นิ้ว หรือ ประมาณ 12 เซ็นติเมตร
ซึ่งสอดคล้องขนาดของหัวเตาแรงดันสูง KB-5 ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของหัวเตาอยู่ที่ 5 นิ้ว
เหตุการณ์นี้จึงเป็นไปได้ว่า มีการใช้เตาแก๊สที่มีขนาดไม่เหมาะสมกับหม้อประกอบอาหาร
เตาแก๊สที่ใช้มีขนาดเล็กเกินกว่าขนาดของหม้อ และทำให้เกิดความร้อนสะสมบริเวณบริเวณกลางหม้อ
จากสมบัติการถ่ายเทความร้อนที่ไม่ดีของเหล็กกล้าไร้สนิมออสเตนิติก
หากอยากให้น้ำเดือดหรืออาหารสุกเร็ว ๆ แม่ครัวต้องเร่งไฟ
ความร้อนจึงยิ่งเกิดการสะสมบริเวณก้นหม้อ
ความแตกต่างของอุณหภูมิบริเวณก้นหม้อกับตำแหน่งอื่น ๆ จึงยิ่งเพิ่มสูงขึ้น
ความแตกต่างของอุณภูมินี้เองทำให้ผนังหม้อในแต่ละตำแหน่งมีการขยายตัวไม่เท่ากันบริเวณก้นหม้อหม้อจึงโก่ง บิดตัว และเกิดความเค้นเกิดขึ้น
การบิดตัวของผนังหม้อนอกจากสังเกตุได้จากสายตา
ยังสังเกตได้จากการพบ Deformation Twin ในโครงสร้างจุลภาค
ซึ่งจะพบได้หากเหล็กกล้าไร้สนิมออกสเตนิติกเสียรูปจากแรงกระทำทางกล
และเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงเกินกว่า 500 องศาเซลเซียส ความแข็งแรงของเหล็กจะลดลงอย่างมาก
การฉีกขาดของผนังหม้อจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก
ลักษณะของโครงสร้างจุลภาคยังยืนยันได้ว่าหม้อที่เสียหายได้รับอุณหภูมิสูง
เพราะนอกจากโครเมียมคาร์ไบด์ บางตำแหน่งยังพบการขยายตัวของเกรน
และในการสลายตัวของ Twin
หลังวิเคราะห์เสร็จ ไม่มีข้อโต้แย้งจากผู้ใช้งานแต่อย่างใด เนื่องจากจำนนด้วยหลักฐาน
บางทีหม้อดีดี ก็ต้องการใช้งานอย่างถูกวิธี
หากใช้ไม่ถูกต้องหรือดูแลไม่ดี มันก็สามารถพังได้ง่าย ๆ
..................ความรักก็เช่นกัน
#เหล็กไม่เอาถ่าน

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา