25 ม.ค. 2022 เวลา 05:57 • ข่าว
โทษเบาเพราะเบ้าหน้าดี พร้อมให้อภัย?
‘Pretty Privilege’ อภิสิทธิ์ของคนหล่อสวย
นำไปสู่ความลำเอียงในการติดสินคดี
การเสียชีวิตของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือ หมอกระต่าย จักษุแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่กำลังจะกลายเป็นบุคลากรที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งของวงการการแพทย์ไทย โดยเฉพาะกับสายอาชีพของคุณหมอที่ถือว่าเป็นแพทย์เฉพาะทางที่มีจำนวนน้อยอย่างมาก และประเทศได้สูญเสียไปอย่างไม่มีวันกลับพร้อมกับอุบัติเหตุที่เกิดจากประมาทเลินเล่อที่ไม่ควรจะเกิดเลยเสียด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะกับผู้ก่อเหตุที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่ควรรู้กฎหมายดีกว่าใคร
แต่สิ่งที่สะท้อนออกมาหลังจากที่เกิดเหตุผ่านสังคมออนไลน์ก็คือ การที่ผู้กระทำความผิดอาจจะไปตรงกับสเป๊กของใครในเรื่องรูปร่างหน้าตา ทำให้ผู้ที่สมองผูกติดกับอวัยวะเพื่อการสืบพันธุ์บางคน แสดงความคิดเห็นอันไม่สมควรออกมา จนเป็นประเด็นที่สะท้อนว่าสังคมรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ผู้ก่อเหตุพเพียงเพราะการมีรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูดีเพียงเท่านั้น
แน่นอนว่าคนหน้าตาดีมักมีชัยไปกว่าครึ่ง ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่แปลกสำหรับมนุษย์ที่ชื่อชอบในความสวยงามของเปลือกกายภายนอก คนที่หน้าตาดี รูปร่างดี หล่อ สวย มักจะได้รับความสนใจ หรือได้รับโอกาสที่ดีกว่าคนที่หน้าตาธรรมดา หรือไม่หล่อไม่สวยแบบพิมพ์นิยม ที่อาจจะต้องใช้ความสามารถที่สูงกว่าเพื่อคนโดดเด่น และน่าสนใจกว่าเข้าสู้
ไม่ใช่แค่เรื่องของโอกาสทางสังคมเท่านั้นที่จะได้ประโยชน์จากสิ่งที่พ่อแม่ให้มาแต่กำเนิด หรือหมอศัลยกรรมที่คลอดออกมาจากคลินิก แต่ถ้าหากคนเล่านี้เกิดกระทำความผิด เช่น ก่อคดีต่างๆ ทั้งที่ตั้งใจหรือแค่ประมาทเลินเล่อ ก็มักจะได้รับความเห็นอกเห็นใจ หรือถึงขั้นให้อภัยได้ง่ายกว่า
ในบทความนี้ผู้เขียนจะไม่ได้พูดถึงเรื่องกระบวนการตัดสินทางกฎหมาย เพราะถึงอย่างไร คนหล่อคนสวย กับคนขี้เหร่ (อันนี้ไม่ได้บูลลี่เรื่องรูปลักษณ์) ก็ต้องได้รับโทษทางกฎหมายเหมือนกันหากกระทำความผิด ซึ่งจะหนักจะเบาก็อยู่ที่มูลความผิด และดุลพินิจของผู้บังคับใช้กฎหมาย แต่จะพูดในเชิงจิตวิทยาว่า ความรู้สึกลำเอียงแบบนี้มันมีอยู่จริงในหมู่มวลมนุษย์ด้วยกัน
🔵 เมื่อความหล่อสวย อาจมีผลทางความรู้สึกต่อศาล
PHYSICAL ATTRACTIVENESS BIAS IN THE LEGAL SYSTEM หรือ อคติความน่าดึงดูดใจทางกายภาพในระบบกฎหมาย เป็นงานวิจัยที่ทางนักจิตวิทยาและทีมนักกฎหมายในสหรัฐฯ ได้กว่าถึงกระบวนการยุติธรรมที่จะตัดสินคนๆ หนึ่งและทัศนคติบริบทของสังคมต่อการกระทำผิดของบุคคล พบว่า ผลกระทบของความดึงดูดใจทางร่างกายที่มีต่อคณะลูกขุน และผู้พิพากษานั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจพิจารณาคดีเช่นกัน สามารถทำให้อาชญากรที่หน้าตาไม่ดี ให้ได้รับโทษสูงกว่าอาชญากรที่หน้าตาดีมีเสน่ห์ได้มากถึง 304.88%
ในทางกฎหมายความน่าดึงดูดใจในเรื่องรูปลักษณ์อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลใดๆ ต่อคำตัดสินของผู้พิพากษาในเรื่องความผิด อาชญากรที่หน้าตาดีและหรือขี้เหร่ก็ถูกตัดสินลงโทษอย่างเท่าเทียมกันก็ตาม แต่ก็มีผลทางจิตวิทยาในบางกรณีที่ทำให้ผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งที่ก็อยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งสามารถเอนเอียงหรือผ่อนปรนคำตัดสินได้เหมือนกัน
โดยทั่วไปแล้วคนที่หน้าตาดีมักจะถูกมองว่าฉลาดกว่า มีทักษะทางสังคมมากกว่า มีบุคลิกที่น่าดึงดูดใจมากกว่า มีศีลธรรมมากกว่า เห็นแก่ผู้อื่นมากกว่า มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่า ได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้จัดการมากกว่า และมีความสามารถมากกว่า คนที่มีเสน่ห์ดึงดูดมักจะมีสุขภาพร่างกายที่ดีขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น มีประสบการณ์การออกเดทที่ดีขึ้น หารายได้มากขึ้น ได้ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น ได้รับเลือกให้ทำงานบ่อยขึ้น ได้รับการเลื่อนตำแหน่งบ่อยขึ้น ได้รับการประเมินงานที่ดีขึ้น และได้รับเลือกให้เป็นหุ้นส่วนธุรกิจบ่อยกว่า คนที่ไม่หล่อไม่สวย
ผลการศึกษาที่เป็นการวิจัยที่ดำเนินการโดย Downs and Lyons จุดประสงค์ของการศึกษานี้คือเพื่อค้นหาความเชื่อมโยงระหว่างความน่าดึงดูดใจของอาชญากรกับผลการพิจารณาพิพากษา
จากกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อประเมินความน่าดึงดูดใจของอาชญากรกว่า 2,000 คน ใช้มาตราส่วน 1 - 5 ซึ่งคะแนนส่วนใหญ่ใกล้เคียงกัน
จากนั้น คำตัดสินของผู้พิพากษาในการพิจารณาคดีถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ความผิดทางแพ่งและความผิดทางอาญา โดยความผิดทางอาญาก็แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามความรุนแรงของอาชญากรรม
ผลลัพธ์ก็คือ ผู้พิพากษามีการลงโทษอาชญากรที่หน้าตาไม่ดีมากกว่าอาชญากรที่น่าตาดีอย่างมีนัยสำคัญ โดยอัตราโทษมีการปรับเพิ่มขึ้นทีละน้อยเมื่อความน่าดึงดูดใจลดลง
1. ความผิดเล็กน้อย = +224.87%
2. ความผิดปานกลาง = +304.88%
3. ความผิดร้ายแรง = + 174.78%
🔵 ความลำเอียงจาก ความอ่อนเยาว์ สีผิว เชื้อชาติ
ไม่เพียงเท่านั้น ผลวิจัยการพิจารณาคดีในศาลเพนซิลเวเนียและฟิลาเดลเฟีย ยังเผยอีกว่า ยิ่งผู้กระทำความผิด “หน้าเด็ก” หรือดูอ่อนกว่าวัยมากเท่าไหร่ อัตราโทษก็จะลดลงตามไปด้วยเช่นกัน และผู้กระทำความผิดที่เป็นชาวผิวสีอื่นๆ หรือเชื้อชาติอื่นๆ ที่ไม่ใช่คนผิวขาวก็ได้รับความเห็นใจไม่เท่าเทียมกัน
ยิ่งผู้ใหญ่หน้าเด็กมากเท่าไร โอกาสที่เขาหรือเธอจะถูกพบว่ามีความผิดจาก "การกระทำโดยเจตนา" ในการเรียกร้องทางแพ่งก็จะน้อยลงเท่านั้น
ส่วนในแคนาดานักวิจัยพบว่าเมื่อเหยื่อที่เป็นผู้บริสุทธิ์และมีเสน่ห์น่าดึงดูด ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานมากในการหาว่าจำเลยมีความผิด แต่ในทางกลับกัน เมื่อเหยื่อไม่สวยไม่หล่อ มีความจำเป็นต้องพยายามหาหลักฐานเพิ่มเติมมากกว่าเพื่อกล่าวหาว่าจำเลยมีความผิด
ในการพิจารณาคดีของคณะลูกขุนที่จำลองการคดีข่มขืนพบว่า เหยื่อที่น่าดึงดูดมีแนวโน้มที่จะถูกเชื่อว่าเป็นเหยื่อของการข่มขืนมากกว่าเหยื่อที่ไม่สวย เหยื่อที่ไม่สวยมีความเชื่อน้อยกว่าและคิดว่า ที่ถูกข่มขืนเพราะพยายามอ่อยหรือยั่วยวนอีกฝ่ายด้วย
🔵 ความหน้าตาดีของคนทำผิดต่อความรู้สึกสังคม
ประเด็นเรื่องความลำเอียงในการตัดสินว่าผิดหรือถูก ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นในยุคนี้ เพราะแม้แต่ในยุคกรีกโบราณ การติดสินคดีความก็เคยมีการใช้บรรทัดฐานความงามมาลบล้างความผิดเช่นกัน
มีบันทึกทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพิจารณาคดีของ Phryne โสเภณีในยุคกรีกโบราณที่กล่าวว่า คณะลูกขุนชาวกรีกตัดสินใจที่ยกฟ้อง และทำให้เธอพ้นจากการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐาน เพียงเพราะเธอเป็นผู้หญิงที่สวยมากต้องอยู่ในพระหรรษทานที่ดีของเหล่าทวยเทพ
มีคดีหนึ่งที่สังคมออกมาเรียกร้องให้ลดโทษผู้ก่อเหตุที่ขับรถซิ่งชนคนตายในในสหรัฐฯ และต้องโทษจำคุก 24 ปี เมื่อเดือนเมษายนปี 2021 โดยผู้ต้องหาชื่อ Cameron Herrin โดยขับรถแข่งกับอีกคันมาด้วยความเร็ว 160 กม./ชม. ก่อนจะเสียหลักพุ่งชน Jessica Reisinger-Raubenolt คุณแม่ลูกอ่อนวัย 24 ปีที่พาลูกสาววัยขวบกว่าๆ มาเดินเล่นริมน้ำในเมือง Tampa รัฐฟลอริด้า และกำลังเดินข้ามถนนเพื่อกลับไปยังที่พักจนเสียชีวิต
เมื่อหน้าของเขาปรากฏบนสื่อ ซึ่งเขาเป็นเด็กหนุ่มน่าตาดี ก็เกิดกระแสการเรียกร้องโดยทำแคมเปญผ่านโซเชียลมีเดีย ให้ศาลลดโทษให้เขา เพราะเขาหล่อไม่ควรติดคุกนานถึง 24 ปี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง กลายเป็นประเด็นดราม่าถึงความคิดป่วยๆ ของคนเหล่านี้ที่เรียกร้องในเรื่องที่ไม่เหมาะสม
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในงานวิจัยของต่างประเทศที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เรียกว่า “Pretty Privilege” หรืออภิสิทธิ์ของคนหน้าตาดี ว่าทำไมรูปลักษณ์ภายนอกถึงมีผลต่อความรู้สึกของผู้คนที่ไม่ได้เกิดขึ้นกับแค่คนทั่วไปเท่านั้น แม้แต่การพิจารณาคดีในชั้นกฎหมายก็มีผลเช่นกันไม่มากก็น้อย แม้ว่าอัตราโทษจะต้องได้รับเหมือนกัน แต่ในทางจิตวิทยาแล้วก็มีบางส่วนที่ทำให้เกิดการลำเอียงได้
ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยว่า ทำไมพอสังคมเห็นคนหน้าตาดีกระทำความผิดแล้ว มักลงเอยด้วยความเห็นอกเห็นใจ เช่น หล่อจังไม่น่าทำเลย เสียดายจังอยากรับโทษแทน หล่อจังมาข่มขืนฉันสิฉันยอม หรือแม้แต่กรณีของหมอกระต่ายที่เสียชีวิตจากการถูกรถมอเตอร์ไซค์ชน แต่ก็มีนักโซเชียลเกรด 1 ที่ไปโทษผู้ตายว่าไม่ระวังเอง แต่กลับเข้าข้างผู้กระทำความผิดเพียงเพราะหน้าตาดี
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา