26 ม.ค. 2022 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
นางอาย นักล่าผู้น่ารัก มีพิษที่ทำให้เนื้อตาย แต่ไม่ร้ายเท่าใกล้สูญพันธุ์
เมื่อพูดถึงนักล่ายามราตรีหลายคนอาจจะนึกถึงอสุรกายในนิยาย อย่างมนุษย์หมาป่า (Werewolf) หรือผีดูดเลือด (Vampire) แต่ช้าก่อนเพราะเราเป็นเพจสัตว์ป่าและสวนสัตว์ อยากลองชวนให้นึกถึงนักล่ายามราตรีในป่ายามค่ำคืน ที่เกิดกิจกรรมการล่าในยามค่ำคืน
หลายคนอาจนึกถึงสัตว์หากินตอนกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม เช่น เสือ ไฮยีน่า ชะมดอีเห็น ค้างคาว หรือกลุ่มลิงขนาดเล็กที่มีตาโตน่ารักแบบนางอาย ด้านสัตว์ปีกที่ออกล่ากลางคืนก็ไม่พ้นเหล่านกฮูก หรือ นกตบยุง ส่วนสัตว์เลื้อยคลานโดยเฉพาะงูเหลือมที่เราเห็นอยู่บ่อยๆ
ถ้าวันนี้จะขอหยิบขึ้นมาสักตัว ขอเลือกที่น่ารักน่าเอ็นดูหน่อยดีกว่า นั่นก็คือ “นางอาย หรือ ลิงลม” สัตว์สองบุคลิก ที่ตอนกลางวันซุกนอนและเคลื่อนไหวเชื่องช้า แต่ยามราตรีเคลื่อนไหวรวดเร็วและเงียบกริบ เพื่อออกหาแมลงและสัตว์ขนาดเล็ก โดยใช้มือฉกเหยื่อเข้าปากอย่างรวดเร็ว
นักวิชาการจัดจำแนก (Taxonomy) ให้นางอายอยู่ในอันดับวานร (Order Primate) มีอันดับย่อย (Suborder) เป็น Haplorhini อันดับฐาน Tarsiiformes อยู่ในวงศ์ (Family) Tarsiidae คือไม่ได้อยู่ในกลุ่มลิงเจี๊ยกๆ ที่ถูกแยกเป็นลิงโลกเก่าและลิงโลกใหม่ แต่นางอายก็มักจะถูกเรียกอีกชื่อว่า “ลิงลม” อีกด้วย
นางอาย หรือ ลิงลม (Slow loris) ในโลกนี้มีอยู่ 5 ชนิด พบในประเทศไทย 2 ชนิด คือ Bengal Slow loris (Nycticebus bengalensis) และ Greater Slow loris (Nycticebus coucang)
นางอาย หรือ ลิงลม เป็นสัตว์ที่ออกหากินและแสดงพฤติกรรมต่างๆ ในช่วงเวลากลางคืน ช่วงเวลากลางวันจะหลับพักผ่อนตามกิ่งไม้ ซอกไม้ โพรงไม้เพื่อหลบศัตรู ส่วนใหญ่มักจะดำรงชีวิตบนต้นไม้จะลงพื้นเพราะเปลี่ยนต้นไม้ที่กิ่งไม่ติดกัน
ลำตัวยาวระหว่าง 250-380 มิลลิเมตร น้ำหนักประมาณ 2 กิโลกรัม มีขนฟูสั้นและนุ่ม มีขนสีเทาหรือสีน้ำตาลอมเทา อาจจะมีสีน้ำตาลเข้มเป็นลายแตกต่างกันไปตามชนิด
อาหารกินได้ทั้งพืชและสัตว์ แต่ยังเป็นที่ถกเถียงในวงวิชาการว่าอาหารหลักเป็นแมลง หรือ ยางไม้ หรือ ผลไม้ แต่ก็กินได้หมดเนื่องจากพื้นที่ป่าแต่ละภูมิภาคมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ต่างกันไป สามารถล่าแมลงและสัตว์ขนาดเล็กบางชนิด เช่น จิ้งจ ลูกนก ไข่นก อาจจะออกแนวสยองถ้าใครได้เห็นความสามารถในการล่าของนางอาย
ปรกติแล้วนางอาย ออกหากินตามลำพังไม่อยู่เป็นฝูง อยู่เป็นคู่แค่ช่วงผสมพันธุ์ ตัวเมียตั้งท้องประมาณ 6 เดือน ลูกเกิดใหม่จะถูกแม่ซ่อนเอาไว้ในตอนที่จะออกไปหากิน ลูกบางตัวเดินเรื่อยเปื่อยออกจากที่ซ่อนก็ถูกสัตว์ผู้ล่าจัดการ
แม่ลูกสื่อสารกันด้วยเสียง ช่วงกลางวันลูกจะเกาะตัวอยู่กับแม่ตลอดเวลา ซึ่งตัวผู้จะแยกไปแล้วไม่ได้ช่วยเลี้ยงลูก เผลอๆ อาจจะทำร้ายลูกด้วย
ข้อมูลสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับนางอาย คือ “น้องมีพิษ!!!” ข้อมูลจาก Smithsonian Magazine บอกว่า นางอายจะมีต่อมน้ำมันอยู่ที่ใต้รักแร้ เมื่อทำความสะอาดตัวด้วยการเลียบริเวณดังกล่าว น้ำลายและสารจากต่อมน้ำมันจะผสมกัน แล้วก็ไปเคลือบฟันหรือเขี้ยว เมื่อมีการต่อสู้หรือกัด พิษที่เขี้ยวจะส่งผลให้เกิดเนื้อตาย หรือ เนื้อเน่า โอแม่เจ้า!!! เห็นตาโตบ้องแบ๊ว ชอบดูดนิ้ว ตัวนุ่มๆ มีพิษนะ
นางอายในธรรมชาติหายากมากขึ้นทุกที สถานภาพทางการอนุรักษ์ของ IUCN Red List จัดอยู่ในกลุ่ม EN/Endangered ซึ่งหมายถึงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และถูกขึ้นบัญชี CITES Appendix I ดังนั้นการเลี้ยงหรือซื้อขายนางอายไม่ว่าจะในประเทศหรือต่างประเทศจะไม่สามารถทำได้ถ้าไม่มีใบอนุญาตจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อ
สุดท้ายขอให้ทุกท่านช่วยกันอนุรักษ์ถิ่นอาศัยของนางอาย หรือ ลิงลม เพื่อให้ลูกหลานของเราได้เห็นตัวเป็นๆ ที่น่ารักน่ากอด ของสัตว์โลกตาโตชนิดนี้ด้วย และโปรดติดตามซีรี่ย์นักล่ายามราตรีในตอนต่อไป
ZOO 101 พื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องสวนสัตว์ สัตว์ป่า และสิ่งแวดล้อม
สืบค้นและเรียบเรียง อุฬาริกา กองพรหม
ภาพประกอบ; ณัฐวุธ เดือนแจ่ม
เอกสารอ้างอิง
Aridi, R. 2020. The Cute-but-Deadly Slow Loris Reserves Its Flesh-Rotting Venom for Its Peers. Smart News [Online]. Smithsonian MAGAZINE. Retrieved January 19, 2022 from https://www.smithsonianmag.com/smart-news/adorable-little-furballs-death-slow-lorises-use-their-venomous-bites-against-each-other-180976111/
IUCN. 2015. Bengal Slow Loris[online]. The IUCN Red List of Threatened Species. Version 2021-3. Retrieved January 19, 2022 from https://www.iucnredlist.org/species/39758/179045340
University of Central Florida. 2000. Exploring our World: Biological and Archaeological Principles of General Anthropology. Classifying Living & Fossil Hominids [Online]. Retrieved January 19, 2020 from https://pressbooks.online.ucf.edu/ant2000/chapter/chapter-4/
โฆษณา