25 ม.ค. 2022 เวลา 23:45 • สิ่งแวดล้อม
เชื้อเพลิงชีวภาพ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล อย่างไร? (ตอนที่ 1)
Cr. iStock by Getty Images, Photo by ThamKC
ในบทความก่อนหน้านี้ของ Future Perfect เราได้พูดคุยกันว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ เมื่อนำไปเผาไหม้เป็นเชื้อเพลิงแล้ว จะปล่อยคาร์บอน หรือก๊าซ CO2 แตกต่างกันอย่างไร เราจะเห็นแล้วว่าการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง สามารถลดการปล่อย CO2 ลงได้ 50% โดยประมาณ เมื่อเทียบกับการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ที่นำมาเผาไหม้และได้พลังงานความร้อนในปริมาณที่เท่า ๆ กัน
โจทย์คำถามที่น่าสนใจเช่นเดียวกับบทความที่แล้ว ในช่วงระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้เชื้อเพลิงสะอาด หรือพลังงานหมุนเวียนแบบเต็มรูปแบบ ที่จะไม่ปล่อยคาร์บอนหรือก๊าซเรือนกระจกออกมาเลยนั้น จำเป็นต้องมีช่วงเปลี่ยนผ่านที่ยังต้องพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงทางเลือกอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรหรือบริษัทใด ที่ต้องการกำหนดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) การเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงทางเลือกที่ปล่อย CO2 น้อยลง จึงเป็นแนวทางที่น่าสนใจเช่นกัน
ในครั้งนี้ เราจะมาดูกันต่อว่า เชื้อเพลิงชีวภาพทั้งหลายนั้น เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิลแล้ว สามารถลดการปล่อย CO2 หรือแม้กระทั่งก๊าซเรือนกระจกอื่น ๆ ได้มากน้อยเพียงใด
เชื้อเพลิงชีวภาพมีอะไรบ้าง ที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือเอทานอล หรือเอทิลแอลกอฮอล์ ที่นำมาผสมกับน้ำมันเบนซินเป็น E10 E20 E85 และไบโอดีเซล หรือเมทิลเอสเตอร์ ที่นำมาผสมกับน้ำมันดีเซลหมุนเร็วเป็น B7 B10 B20 ที่เราเติมกันอยู่ในปั๊มน้ำมันนั่นเอง
ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร หรือมีข้อดีข้อเสียใดบ้าง ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของเชื้อเพลิงชีวภาพเหล่านี้ บทความนี้ Future Perfect มีคำตอบมาเปิดมุมคิดให้กับทุกคนครับ
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Scharfsinn86
การเปรียบเทียบการปล่อย CO2 ระหว่างเชื้อเพลิงจากฟอสซิล และเชื้อเพลิงชีวภาพ แบ่งออกได้เป็น 2 ช่วงการพิจารณาหลัก ๆ นั่นก็คือ ช่วงการปล่อย CO2 จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงโดยตรง กับช่วงการปล่อย CO2 จากกระบวนการในการผลิตและขนส่งเชื้อเพลิงก่อนจะถึงมือผู้ใช้งาน
เรามาเริ่มลองพิจารณาการปล่อย CO2 จากการเผาไหม้เชื้อเพลิง ซึ่งถือเป็นการปล่อย CO2 โดยตรงจากตัวเชื้อเพลิงก่อนดังนี้
ในการเทียบว่าเชื้อเพลิงชนิดไหนปล่อย CO2 จากการเผาไหม้มากหรือน้อยกว่ากันนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเทียบโดยอ้างอิงจากฐานเดียวกัน นั่นก็คือพลังงานที่ได้จากการเผาไหม้ หรือค่าความร้อนที่เกิดจากเชื้อเพลิงแต่ละชนิดในปริมาณที่เท่ากัน จึงจะถือว่ายุติธรรมในการเปรียบเทียบ หน่วยที่มักใช้กัน เช่น ล้านบีทียู (MMBtu) หรือล้านจูล (MJ) ถ้าเราเน้นไปที่เชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะ (ภาคขนส่ง) ทางบก ที่เราใช้กันโดยส่วนใหญ่นั่นก็คือ น้ำมันเบนซิน และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว เมื่อเปรียบเทียบเชื้อเพลิงชีวภาพ อันได้แก่ เอทานอล และไบโอดีเซล ดังตารางด้านล่างนี้
Cr. IPCC; www.epg.gov
โดยปกติแล้ว เชื้อเพลิงชีวภาพ จะมีค่าความร้อน หรือ Heating Value (พลังงานความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้ต่อหน่วยปริมาตรเชื้อเพลิง) ที่ต่ำกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิลอยู่แล้ว พูดง่าย ๆ คือ น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล 1 ลิตรที่นำมาเผา จะให้พลังงานมากกว่าเชื้อเพลิงชีวภาพในปริมาตร 1 ลิตรเท่า ๆ กัน แต่ว่าก็จะปล่อย CO2 ต่อหน่วยของปริมาตรเชื้อเพลิงที่มากกว่าด้วยเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อนำมาเทียบกันต่อค่าความร้อนที่เท่ากัน การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจึงปล่อย CO2 น้อยกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เพียงเล็กน้อย ไม่ได้แตกต่างมากนัก (ไม่ถึง 3%) ถ้าสังเกตตัวเลขจากตารางด้านบน
ในประเด็นของการเผาไหม้นั้น นอกเหนือจากก๊าซ CO2 แล้ว หากจะคิดให้ครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ก็จะต้องพิจารณาก๊าซเรือนกระจกตัวอื่นเพิ่มด้วย ได้แก่ ก๊าซมีเทน (CH4) และก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ซึ่งมีค่าศักยภาพในการทําให้เกิดโลกร้อน (Global Warming Potential: GWP) ในช่วงระยะเวลา 100 ปี ล่าสุดอยู่ที่ 29.8 เท่าสำหรับก๊าซมีเทนที่เกิดจากฟอสซิล, 27.2 เท่าสำหรับก๊าซมีเทนที่ไม่ได้มาจากแหล่งฟอสซิล และ 273 เท่าสำหรับก๊าซไนตรัสออกไซด์ (ตัวเลขอ้างอิงจากรายงานโลกร้อน IPCC ฉบับที่ 6 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดที่เพิ่งจัดทำเมื่อปี 2021)
แต่ค่าการปล่อย CO2 เทียบเท่าจากก๊าซมีเทนและก๊าซไนตรัสออกไซด์ ที่คำนวณออกมานั้นมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับก๊าซ CO2 ในกระบวนการเผาไหม้เชื้อเพลิง เมื่อรวมเป็นปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดแล้ว ค่าที่ได้จึงแตกต่างจากค่าการปล่อย CO2 เพียงอย่างเดียวไม่มากนัก เมื่อพิจารณาจากตารางด้านบน
ถ้ามองในแง่ของการเผาไหม้แล้ว ทั้งเชื้อเพลิงฟอสซิลและเชื้อเพลิงชีวภาพ ปล่อย CO2 และก๊าซเรือนกระจกต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ข้อดีเพิ่มเติมของเชื้อเพลิงชีวภาพก็คือ หากมีการรั่วไหลออกสู่ธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้ทางชีวภาพ (Biodegradable) ไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ โดยทั่วไปแล้ว น้ำมันแก๊สโซฮอล์ (โดยเฉพาะการผสมในช่วงสัดส่วน E5-E15) และน้ำมันไบโอดีเซล ยังช่วยลดมลภาวะจากการเผาไหม้ ไม่ว่าจะเป็นก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ฝุ่น PM และสารไฮโดรคาร์บอน เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงฟอสซิล ยกเว้นไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) จากไบโอดีเซลที่จะมีปริมาณสูงขึ้น
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Tsikhan Kuprevich
เห็นตัวเลขการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้แล้ว จบประเด็นแค่นี้หรือไม่ ยังครับ ยังไม่จบ...
ถัดจากประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้ เรามาพิจารณากันต่อที่กระบวนการผลิตและขนส่งเชื้อเพลิง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่แพ้กัน ในบทความตอนที่ 1 นี้ ขอเล่าหลักการสำคัญให้ทราบก่อนดังนี้
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิตนั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับกรรมวิธีที่ใช้ในการผลิต และประเภทของวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) ที่นำมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ การคำนวณดัชนีการเกิดคาร์บอน หรือ Carbon Intensity จึงมีความซับซ้อนและไม่ได้มีวิธีการที่ตายตัว โดยขึ้นอยู่กับสมมติฐานที่นำมาใช้ในการคำนวณ ซึ่งจะพิจารณาถึงการปล่อย CO2 ในช่วง (Stage) ต่าง ๆ ดังนี้
1. การปลดปล่อย CO2 จากการเปลี่ยนสภาพพื้นดิน (ก่อนการเพาะปลูก) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถางป่า เพื่อนำมาทำเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชพลังงานสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock)
การถางป่าถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่สะสมอยู่ในต้นไม้และผืนป่า การถางป่าเพื่อปลูกพืชพลังงานเปรียบเสมือนการลงทุนขั้นต้นที่ต้องปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกไปก้อนใหญ่ก่อน แต่การลงทุนนั้นจะค่อย ๆ คืนทุนเป็นผลตอบแทนในการช่วยลด CO2 จากการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ที่สะสมการลด CO2 ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งปริมาณที่ลดได้ มากกว่าปริมาณที่ปล่อยออกไปตอนแรก ซึ่งกว่าจะ "คุ้มทุน" ได้ต้องใช้เวลาหลายสิบปี หรือบางกรณีเป็นร้อยปี
ขณะที่ประเทศไทย ไม่ได้มีนโยบายให้ถางป่า เพื่อปลูกพืชพลังงาน ซึ่งจะไม่ได้มีผลกระทบเรื่องนี้อย่างมีนัยสำคัญเหมือนในบางประเทศ แต่ที่ผ่านมาก็มีการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่เพาะปลูกและกระบวนการต่าง ๆ โดยส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เปลี่ยนไปได้บ้าง
2. การดูดซับ CO2 จากบรรยากาศโดยพืชพลังงานที่ปลูกอยู่ในพื้นที่เพาะปลูก
ประเด็นนี้เป็นจุดขายอย่างหนึ่งของเชื้อเพลิงชีวภาพ กล่าวคือ พืชพลังงานที่ปลูกไว้นั้นจะช่วยดูดซับ CO2 ในบรรยากาศกลับมาได้ การปลูกพืชพลังงานที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้น เช่น อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์ม เป็นต้น ย่อมสามารถดูดซับ CO2 ได้เช่นเดียวกับพืชอื่น ๆ แต่ความสามารถในการดูดซับ CO2 ก็จะแตกต่างกันไป และจะต่ำกว่าพืชบางชนิดที่ดูดซับก๊าซ CO2 ได้ดี เช่น ไม้ยืนต้นบางชนิด หรือป่าโกงกาง เป็นต้น
3. การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในช่วงที่เพาะปลูกพืชพลังงาน เพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) สำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพ
ช่วงที่ปลูกพืชอยู่ก็สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน การใช้ปุ๋ย โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรีย ถ้าใช้ในปริมาณมาก ปุ๋ยบางส่วนจะเปลี่ยนสภาพไปเป็นก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N2O) ซึ่งมีค่าศักยภาพในการทําให้เกิดโลกร้อน 273 เท่า (เทียบกับ CO2) ออกสู่บรรยากาศ
4. การปล่อย CO2 ช่วงที่ต้องขนส่งวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) จากพื้นที่เพาะปลูกมายังโรงงานที่ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ
ประเด็นนี้ก็ชัดเจนว่าโดยปกติการขนส่งวัตถุดิบตั้งต้น ก็จะขนโดยทางรถยนต์บรรทุกซึ่งมีการใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ยิ่งถ้าแหล่งเพาะปลูกอยู่กระจายกันหลายที่ และอยู่ไกลจากโรงงานที่ผลิต ก็จะยิ่งทำให้เกิดการปล่อย CO2 จากการขนส่งมากขึ้นด้วย
5. การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในกระบวนการที่ต้องแปรรูปวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ
ในการแปรสภาพวัตถุดิบตั้งต้น จะมีกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย เช่น การใช้พลังงานเพื่อการหีบน้ำมันและผลิตไบโอดีเซล ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจใช้ถ่านหิน หรือไฟฟ้า หรือชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง และมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณที่ต่างกัน หรือของเสียที่เกิดจากกระบวนการหีบน้ำมัน ก็จะมีการปล่อยก๊าซมีเทน (CH4) ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง ออกสู่บรรยากาศด้วย
กระบวนการหมัก (Fermentation) ที่นิยมใช้ในการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งเอทานอล และไบโอดีเซลนั้น จะได้คาร์บอนออกมาเป็นผลพลอยได้ (By-product) และบางกระบวนการที่มีประสิทธิภาพต่ำอาจมีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของคาร์บอนเหล่านั้นกลายเป็น CO2 ขึ้นสู่บรรยากาศ จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับการปรับปรุงอีกเรื่องหนึ่งเพื่อช่วยลดของเสียจากคาร์บอนดังกล่าว ในขณะเดียวกันก็ช่วยให้ได้ผลผลิตที่เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพในปริมาณที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย
6. การปล่อย CO2 จากการขนส่งเชื้อเพลิงชีวภาพจากโรงงานที่ผลิต กระจายไปยังจุดเติมน้ำมัน หรือสถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ ในกรณีนี้ ปริมาณ CO2 จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับระยะทางในการขนส่งและกระจายผลิตภัณฑ์ไปยังจุดให้บริการเติมน้ำมัน
Cr. iStock by Getty Images, Photo by photosbyjim
ทั้งหมดที่เล่ามาพอสังเขปนั้น น่าจะทำให้ทุกท่านเห็นภาพว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่ในช่วง (Stage) ใดบ้าง โดยในช่วง 1-2 ทศวรรษที่ผ่านมา มีการศึกษา งานวิจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment: LCA) รวมถึงการเก็บผลลัพธ์ในการดำเนินการด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตและใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในภูมิภาคต่าง ๆ
การวิเคราะห์ LCA นี้จะไม่ได้ตัวเลขที่เป็นผลลัพธ์ออกมาแบบตรง ๆ เพราะมีความซับซ้อนจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ต้องนำมาคำนึงถึง ที่ส่งผลต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ถ้าพิจารณาปัจจัยหลัก ๆ ว่ามีอะไรบ้าง ก็สามารถไล่เรียงได้ดังนี้คือ ประเภทของวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) ที่นำมาใช้ กระบวนการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ ภูมิประเทศ ระยะทางในการขนส่งวัตถุดิบไปที่โรงงานผลิต และปัจจัยสำคัญที่มีผลอย่างมากก็คือ สภาพดั้งเดิมของพื้นที่ทำการเพาะปลูกพืชพลังงาน
ปัจจัยท้ายสุดที่กล่าวถึงนั้น มีคำศัพท์เฉพาะที่เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือ Land-Use Change (LUC) ปกติแล้วในการคำนวณจะมีอยู่ 2 สมมติฐานหลัก ๆ กล่าวคือ คำนึงถึง หรือ ไม่คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง
ถ้ามีการคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินสำหรับการปลูกพืชที่ใช้ผลิตพลังงานชีวภาพ ก็จะมีทั้งแบบเปลี่ยนแปลงโดยตรง (Direct LUC: DLUC) และทางอ้อม (Indirect LUC: ILUC) ขยายความได้ว่า ถ้าเปลี่ยนแปลงโดยตรง (DLUC) ก็คือ มีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืชเพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่ง เช่น พืชอาหาร หรืออีกกรณีหนึ่งคือ พื้นที่ตามธรรมชาติ เช่น ป่า หรือทุ่งหญ้า ให้กลายเป็นพื้นที่เพาะปลูกพืชที่ใช้ผลิตพลังงานชีวภาพโดยตรง
ส่วนการเปลี่ยนแปลงทางอ้อม (ILUC) นั้น เกิดขึ้นเมื่อมีการเพาะปลูกพืชที่ใช้ผลิตพลังงานชีวภาพเพิ่มขึ้น จึงส่งผลให้พื้นที่การเพาะปลูกพืชเกษตรกรรมในวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น พืชอาหาร ไม่เพียงพอกับความต้องการ เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกโดยรวมมีจำกัด จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูก และเบียดเบียนพื้นที่ธรรมชาติมากขึ้น มีการถางป่า หรือเปลี่ยนสภาพผืนดินที่ยังไม่เคยทำการเพาะปลูก มาทำเกษตรกรรมเพื่อให้มีวัตถุดิบ เช่น พืชอาหาร ที่เพียงพอกับความต้องการ
สำหรับข้อจำกัดสำคัญของเชื้อเพลิงชีวภาพก็คือ อุปทาน (Supply) ของวัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) ที่จะนำมาเข้าสู่กระบวนการนั่นเอง เพราะหากเรายังใช้ Feedstock แบบเดิม ๆ เทคโนโลยีการผลิตที่ได้ผลผลิตเท่าเดิม ผลิตผลที่ได้ก็จะเป็นข้อจำกัด และอาจขาดตลาดได้ในบางฤดูกาล
ทางเดียวที่จะเพิ่ม Feedstock ได้ ก็คือเพิ่มพื้นที่ปลูกพืชพลังงาน ซึ่งในความเป็นจริงนั้นพื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด การจะขยายพื้นที่เพาะปลูก ส่งผลกระทบในทางลบหลายอย่าง เช่น การปลูกพืชพลังงานไปเบียดสัดส่วนพื้นที่ที่จัดสรรไว้ปลูกพืชอาหาร พืชเศรษฐกิจต่าง ๆ หรือเมื่อต้องพึ่งพาพืชชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไป จนขาดตลาด ก็อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจได้ (เช่นกรณีน้ำมันปาล์มราคาแพงเป็นประวัติการณ์อยู่ในช่วงเวลานี้) นอกจากนี้ อีกผลกระทบสำคัญที่กล่าวไปคือการปลดปล่อย CO2 ในปริมาณมากจากการถางป่า เพื่อใช้เพาะปลูกพืชพลังงาน ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม
Cr. iStock by Getty Images, Photo by Wirachai
พัฒนาการสำหรับเชื้อเพลิงชีวภาพในปัจจุบันนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงอนาคต จะเน้นไปที่การปรับปรุงกระบวนการในการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีขั้นตอนที่ลดลง ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงเรื่อย ๆ เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล รวมถึงใช้วัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) แบบใหม่ ๆ ที่ให้ผลผลิตที่ดีขึ้น สามารถจับคู่กับกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และนอกเหนือจากการใช้งานกับรถยนต์ทั่วไปแล้ว ยังสามารถขยายผลไปใช้กับยานพาหนะขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก เรือ หรือแม้แต่เครื่องบินด้วย ในอนาคตอันใกล้ (ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมจากการพิจารณาต้นทุนเชื้อเพลิงด้วย)
ยกตัวอย่าง กรณีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล (B100) จากน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว หรือของเสียอื่น ๆ สามารถช่วยลดการปล่อย CO2 ได้มากถึง 85% ฟังดูแล้วน่าสนใจใช่ไหมครับ
ถึงตอนนี้ ทุกท่านคงอยากทราบว่า การวิเคราะห์ LCA ที่ผ่านมาของเชื้อเพลิงชีวภาพนั้นได้ผลเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อคิดสะระตะรวมทั้งวัฏจักรชีวิตของเชื้อเพลิงชีวภาพแล้ว ตกลงมันปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือปล่อย CO2 น้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิมแค่ไหน อย่างไร ทุกท่านสามารถติดตามต่อได้ในบทความฉบับถัดไปของ Future Perfect
ผู้อ่านท่านใดที่ยังไม่ได้กดติดตามเพจ Future Perfect สามารถกดติดตามได้เลยครับ และทุกท่านสามารถ ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับ Future Perfect ได้ผ่านการแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันเรื่องราวกันได้ที่ด้านล่างนี้ครับ
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) เชื้อเพลิงชีวภาพ เป็นอีกพลังงานทางเลือกที่สำคัญ ที่จะมีบทบาทในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานหมุนเวียน 100% ที่ใช้ได้กับทั้งเครื่องยนต์แบบอยู่กับที่ และยานพาหนะ โดยสามารถขยายผลไปสู่ยานพาหนะขนาดใหญ่ โดยเฉพาะเครื่องบินด้วย
2) ถ้าพิจารณาเฉพาะการเผาไหม้ การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจะปล่อย CO2 น้อยกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงจากฟอสซิล เพียงเล็กน้อย ไม่ได้แตกต่างมากนัก (ไม่ถึง 3%) แต่ส่วนใหญ่จะช่วยลดมลภาวะอื่น ๆ ด้วย เช่น CO, ฝุ่น PM, สารไฮโดรคาร์บอน เป็นต้น
3) การเปรียบเทียบการลดก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงชีวภาพกับเชื้อเพลิงฟอสซิลนั้น จะต้องพิจารณาตลอดวัฏจักรชีวิต โดยจะลดได้มากหรือน้อยนั้นขึ้นกับปัจจัยสำคัญ ๆ เช่น วัตถุดิบตั้งต้น (Feedstock) เทคโนโลยีและกระบวนการผลิต การขนส่ง และการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์จากที่ดิน
#FuturePerfect #อนาคตกำหนดได้
โฆษณา