25 ม.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ทำไมบางประเทศถึงย้ายเมืองหลวง?
1
โดยปกติแล้วเมืองหลวงของประเทศหนึ่งๆ มักจะเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุด เป็นที่ตั้งของศูนย์บริหารงานราชการและมีความสำคัญทางการเมืองและเศรษฐกิจมาอย่างยาวนาน แต่ก็ใช่ว่าหากเมืองนั้นเป็นเมืองหลวงแล้วจะคงสถานะเช่นนั้นตลอดไป ในบางครั้ง รัฐบาลของหลายประเทศก็มีแนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวงด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงคราม การเมือง การพัฒนาทางเศรษฐกิจ
1
อินโดนีเซีย ถือเป็นประเทศล่าสุดที่ประกาศย้ายเมืองหลวงจากกรุงจาการ์ตา ที่ตั้งอยู่บนเกาะชวา ไปอยู่ทางกาลีมันตันตะวันออก เกาะบอร์เนียว โดยเมืองหลวงแห่งใหม่นี้จะถูกเรียกว่า “นูซันตารา (Nusantara)” ซึ่งมีความหมายในภาษาอินโดนีเซียว่าหมู่เหมาะ อันสะท้อนถึงลักษณะทางภูมิศาสตร์ของประเทศอินโดนีเซีย
📌 สาเหตุหลักที่รัฐบาลมักตัดสินใจย้ายเมืองหลวง
แน่นอนว่าการย้ายเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่รัฐบาลประกาศวันนี้แล้วพรุ่งนี้จะสามารถย้ายได้ทันที จึงเป็นการตัดสินใจที่ต้องใช้เวลาพิจารณาความสมควร และเหตุผลหลักๆ ที่มักถูกนำมาพิจารณาก็จะเป็นเรื่องทางการเมือง, ผลต่อสังคม, หรือผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งหวังว่าเมืองหลวงแห่งใหม่นั้นจะถูกพัฒนาขึ้นมาอย่างดี และทำให้ประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์บางคนได้กล่าวว่า การย้ายเมืองหลวงเป็นวิธีหนึ่งที่อาจช่วยกระจายความมั่งคั่งของคนในชาติได้ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว เมืองหลวงมักจะเป็นเมืองที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศ และก็มีทรัพยากรมากที่สุดเช่นกัน ซึ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองหลวงกับจังหวัดอื่นๆ
1
อย่างกรุงจาการ์ตาเองก็มีความเจริญแตกต่างกับภูมิภาคอื่นๆ ที่เหลือในประเทศอยู่พอสมควร โดยส่วนใหญ่แล้วความเจริญในอินโดนีเซีย มักจะไปกระจุกอยู่ในฝั่งตะวันตกของอินโดนีเซีย จากข้อมูลในปี 2018 พบว่าเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของอินโดนีเซีย กระจุกตัวอยู่ในแถบเกาะชวา ตลอดจนฝั่งตะวันตกบางส่วน โดยมีมูลค่า Gross Regional Domestic Product (GRDP) คิดเป็นกว่า 80% การย้ายเมืองหลวงจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่จะช่วยลดความมีอำนาจของเกาะชวาและเกาะสุมาตราลง และการลงทุนก็จะย้ายไปสู่ฝั่งตะวันออกมากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านที่ดินและหน่วยงานบริการของรัฐ ดังนั้นการย้ายเมืองหลวงอาจจะช่วยให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจดีขึ้น
อีกทั้งปัจจัยทางภูมิศาสตร์และสิ่งแวดล้อม ก็มักจะเป็นเหตุผลสำคัญในการย้ายเมืองหลวงเช่นกัน ซึ่งเหตุผลนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักเป็นอย่างมากในการย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย เนื่องจากกรุงจาการ์ตา มีคนอาศัยอยู่ราว 10 ล้านคน จึงมีความแออัดและทำให้การจราจรติดขัดเป็นอย่างมาก
และด้วยลักษณะที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ กรุงจาการ์ตาถือเป็นหนึ่งในเมืองที่จมน้ำเร็วที่สุดในโลกเนื่องจากพื้นดินทรุดตัวจากการสูบน้ำบาดาลมาใช้ในปริมาณมากเกินไป อีกทั้งมีการสร้างตึกสูงเป็นจำนวนมาก คาดการณ์กันว่าบางส่วนทางตอนเหนือของกรุงจาการ์ตาจะค่อยๆ จมไปประมาณ 25 ซม. ต่อปี ที่ผ่านมากรุงจาการ์ตาจึงมักเผชิญกับอุทกภัยอยู่บ่อยครั้ง และทำให้เศรษฐกิจรวมถึงการบริหารงานของภาครัฐต้องหยุดชะงักลง ประกอบกับที่กล่าวไปข้างต้นว่าเศรษฐกิจส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในแถบนี้ ดังนั้นหากวันหนึ่งที่กรุงจาการ์ตาจมน้ำไป นั่นหมายถึงหายนะครั้งใหญ่ต่อเศรษฐกิจแน่นอน
📌 ประเทศไหนในโลกนี้เคยย้ายเมืองหลวงไปแล้วบ้าง
อินโดนีเซียเองไม่ใช่ประเทศแรกที่ตัดสินใจย้ายเมืองหลวง ในอดีตที่ผ่านมาก็มีหลายประเทศพยายามย้ายเมืองหลวงด้วยสาเหตุที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งบางประเทศก็ย้ายสำเร็จทั้งหมด ส่วนบางประเทศก็ย้ายเฉพาะส่วนที่เป็นศูนย์บริการราชการของรัฐเท่านั้น แต่เมืองหลวงเดิมยังเป็นศูนย์กลางด้านการเงินและการค้าอยู่ดี
มาเลเซีย ย้ายศูนย์บริการราชการจากกัวลาลัมเปอร์ ไปอยู่ที่ปุตราจายา ในปี 1999 เพื่อลดความแออัดในกรุงกัวลาลัมเปอร์ที่มีความเป็นเมืองหนาแน่นขึ้น อย่างไรก็ตามกัวลาลัมเปอร์ยังคงมีสถานะเป็นเมืองหลวง เป็นที่พำนักของกษัตริย์ และยังคือเป็นศูนย์กลางการเงินและการค้าอยู่
1
  • 1.
    พม่า ย้ายเมืองหลวงจากย่างกุ้งไปยังกรุงเนปิดอว์ ในช่วงปี 2005
  • 2.
    ออสเตรเลีย จะเรียกว่าเป็นการย้ายเมืองหลวงไปที่แคนเบอร่า ก็อาจจะไม่ถูกนัก เพราะแคนเบอร่าถูกสร้างให้เป็นเมืองหลวงขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1920 เพื่อเป็นการประนีประนอมระหว่างเมืองใหญ่ 2 เมืองคือ ซิดนีย์ และเมลเบิร์น ที่มีขนาดใหญ่พอกันทั้งคู่
  • 3.
    ปากีสถาน ย้ายศูนย์บริหารราชการจากการาจี ไปอยู่ที่กรุงอิสลามาบัด ในช่วงทศวรรษ 1960
  • 4.
    ไนจีเรีย ย้ายเมืองหลวงจากลากอส ไปอยู่ที่อาบูจา ในช่วงปี 2001 เนื่องจากความหนาแน่นของประชากร และเมืองลากอส เองก็อยู่ห่างไกลจากฝั่งอื่นๆ ในประเทศมาก เมื่อย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่อาบูจา จึงมีการวางผังเมืองและถนนเป็นอย่างดี
1
📌 ความท้าทายในการย้ายเมืองหลวงต่อจากนี้ของอินโดนีเซีย
หลังจากที่รัฐบาลอินโดนีเซียเห็นชอบการย้ายเมืองหลวงแล้ว ก็คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อดำเนินการย้ายเมืองหลวงให้เป็นไปอย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม กรุงจาการ์ตาจะยังคงเป็นศูนย์กลางการค้าและการเงินอยู่เหมือนเดิม
1
ส่วนในเรื่องของการออกแบบเมืองหลวงใหม่ ก็คาดว่าจะสร้างให้มีความเป็น “Smart City” และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนายกรัฐมนตรีของอินโดนีเซีย ก็ได้กล่าวว่าเมืองหลวงแห่งใหม่นี้จะสามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถจากทั่วทุกมุมโลก และเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่า 32.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และถือเป็นโปรเจคโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดที่รัฐบาลอินโดนีเซียเคยทำมา ซึ่งถูกคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2045
3
[เกร็ดเล็กน้อย] อันที่จริง รัฐบาลของไทยในหลายยุคสมัยก็เคยมีแนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวงเหมือนกัน เนื่องจากกรุงเทพฯ มีความหนาแน่น เต็มไปด้วยมลพิษ การจราจรติดขัด และระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจทำให้กรุงเทพฯ จมน้ำลงสักวัน นับตั้งแต่
  • 1.
    สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีแนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวงไป จ.เพชรบูรณ์
  • 2.
    สมัย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีแนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวงไป อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา
  • 3.
    สมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็น รมช.มหาดไทย ก็เคยศึกษาการย้ายเมืองหลวงไป จ.นครปฐม
  • 4.
    สมัยนายทักษิณ ชินวัตร มีแนวคิดที่จะย้ายเมืองหลวงไป อ.บ้านนา จ.นครนายก
1
และในสมัยรัฐบาลปัจจุบันเองก็เคยศึกษาแนวทางการย้ายเมืองหลวงเช่นกัน อย่างไรก็ตามการย้ายเมืองหลวงนั้นเป็นประเด็นใหญ่ ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ผู้เชี่ยวชาญจึงแนะนำว่าควรจะศึกษาหาแนวทางแก้ปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ และโฟกัสไปที่การพัฒนาจังหวัดที่ใหญ่รองลงไปอาจจะเป็นการแก้ปัญหาที่ดีกว่า
1
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
Farida, F. (2021). Indonesia’s capital city relocation: A perspective of regional planning. Jurnal Perspektif Pembiayaan Dan Pembangunan Daerah, 9(3), 221 - 234.
เครดิตภาพ : Nagara Rimba Nusa, Ibu Kota Negara Indonesia – Winning concept design by urbanplus.
โฆษณา