26 ม.ค. 2022 เวลา 12:17 • ประวัติศาสตร์
การแต่งงานของชาว “ไวกิ้ง (Vikings)”
การแต่งงานของชาวไวกิ้ง (Vikings) เป็นการแต่งงานที่มักจะไม่ได้มาจากความรัก หากแต่จะเป็นเพื่อความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นของสองครอบครัว
1
พ่อแม่มักจะเป็นผู้ที่จัดการเรื่องการแต่งงานของลูก และสิ่งสำคัญอีกอย่าง ก็คือการที่คู่บ่าวสาวจะมีทายาท
การมีลูก ถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชาวไวกิ้ง เป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความอยู่รอดของครอบครัวนั้น
ในช่วงฤดูหนาว การมีแรงงานในบ้านเป็นจำนวนมากเพื่อการทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ และทอผ้า นับว่าเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งลูกๆ ก็คือแรงงานที่มาช่วยพ่อแม่ อีกทั้งการมีลูกเป็นจำนวนมากก็หมายถึงจำนวนนักรบที่จะเกิดขึ้นอีกด้วย
2
ชาวไวกิ้งมักจะแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเด็กหญิงมักจะแต่งงานเมื่อมีอายุได้ 12 ปี ส่วนเด็กชายมักจะแต่งงานเมื่อมีอายุ 20 ปี โดยอายุขัยเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 50 ปี ดังนั้นการแต่งงานจึงต้องทำตั้งแต่อายุยังน้อย
1
คนที่ไม่แต่งงานจะถูกสังคมประนาม และมักจะถูกเหยียดหยามจากสังคม
ส่วนงานฉลองของคู่บ่าวสาวไวกิ้ง จะใช้เวลานานหลังจากพ่อแม่เจ้าบ่าวและเจ้าสาวได้ตกลงกัน โดยคู่บ่าวสาวมักจะแต่งงานกันหลังผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่ายตกลงกันผ่านไปแล้วหนึ่งปี แต่บางครั้งก็อาจจะหลังจากผู้ใหญ่ตกลงกันถึงสามปี
ที่เป็นอย่างนี้เนื่องจากฤดูหนาวนั้นหนาวเกินกว่าที่จะจัดงานฉลอง และเนื่องจากงานฉลองมักจะกินเวลายาวนานทั้งสัปดาห์ ทำให้จำเป็นต้องมีอาหารและเครื่องดื่มจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นสิ่งที่หายากในฤดูหนาว
และชาวไวกิ้งจะแต่งงานกันเฉพาะในวันศุกร์ เนื่องจากวันศุกร์ถือเป็นวันแห่ง “เทพฟริกก์ (Frigg)” เทพธิดาแห่งการสมรส
เทพฟริกก์ (Frigg)
ภายหลังจากเตรียมการเป็นเวลานาน ก็ถึงวันแต่งงาน
ก่อนถึงพิธีแต่งงาน ก็จะมีพิธีอาบน้ำ โดยเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะอาบน้ำแยกห้อง โดยมีคนในครอบครัวที่แต่งงานแล้วคอยช่วยเหลือ
แม่เจ้าสาวหรือสมาชิกในครอบครัวที่เป็นหญิงที่แต่งงานแล้ว จะพาเจ้าสาวไปห้องอาบน้ำ ส่วนเจ้าบ่าว พ่อหรือสมาชิกผู้ชายที่แต่งงานแล้วจะพาเจ้าบ่าวไปอาบน้ำ
ทั้งสองฝ่ายจะอาบน้ำโดยมีสมาชิกในครอบครัวที่แต่งงานแล้วเป็นผู้แนะนำถึงการใช้ชีวิตคู่ โดยการอาบน้ำของเจ้าสาวจะมีขั้นตอนมากกว่า โดยจะเริ่มอาบในน้ำอุ่นเพื่อทำการชะล้างชีวิตของสาวบริสุทธิ์ จากนั้น ก็ล้างตัวด้วยน้ำเย็นเพื่อปิดรูขุมขน เนื่องจากเชื่อว่านี่คือการเริ่มต้นชีวิตใหม่
วันต่อมา คือวันพิธีแต่งงาน
เจ้าสาวจะใส่ชุดที่ได้รับจากผู้เป็นแม่ และทำผมอย่างดี อีกทั้งยังสวมมงกุฎหรือมาลัยดอกไม้ ตกแต่งด้วยประคำและแก้ว
ส่วนเจ้าบ่าว สิ่งที่สำคัญก็คือ “ดาบ” และเป็นดาบของบรรพบุรุษที่ไปเอามาจากหลุมศพ
ก่อนที่จะเข้าทำการสาบานเป็นสามีภรรยา พ่อแม่ของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวจะทำการแลกเปลี่ยนเงินตราและสิ่งของ
ครอบครัวเจ้าบ่าวจะจ่ายเงินให้ครอบครัวเจ้าสาว แทนค่าเลี้ยงดูเจ้าสาวมานาน จากนั้นพ่อเจ้าสาวก็จะให้เงินเจ้าสาวเพื่อให้เข้าสู่พิธี
สิ่งที่นำมาจ่ายนั้นอาจจะไม่ใช่เงินก็ได้ บางทีอาจจะเป็นฝูงวัว เพชรพลอย หรือที่ดิน
1
จากนั้นก็ถึงพิธีแต่งงาน โดยอาจจะทำการสวดมนต์หรือบูชายัญสัตว์ เพื่อบูชาเทพเจ้า
จากนั้น เจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็จะแลกแหวนและดาบ และทำการสาบาน โดยดาบนั้น เจ้าสาวจะนำดาบของครอบครัว มอบให้เจ้าบ่าว
เจ้าบ่าวจะนำดาบนั้นปักเข้าไปยังเสากลางบ้าน โดยเชื่อว่ายิ่งปักลึกเท่าไร ชีวิตคู่ก็จะยิ่งมั่นคง
1
เจ้าบ่าวเองก็จะนำดาบของบรรพบุรุษ มอบให้แก่เจ้าสาว และเจ้าสาวก็จะเก็บดาบนั้น เพื่อมอบให้กับลูกชายคนแรก
1
จากนั้น ก็จะเข้าสู่การฉลองซึ่งจะกินเวลาทั้งสัปดาห์ อาหารเลิศรสและเหล้าชั้นเลิศจะถูกนำมาเสิร์ฟ โดยคู่บ่าวสาวจะแลกเขาสัตว์ที่ใช้แทนแก้ว เป็นสัญลักษณ์แทนการสมรส
คู่บ่าวสาวจะดื่มเหล้าที่ทำจากน้ำผึ้ง โดยจะดื่มเหล้านี้ตลอดทั้งเดือน ทำให้ในเวลาต่อมา มีการเรียกเดือนแรกของการแต่งงานว่า “ดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” หรือ “ฮันนีมูน (Honeymoon)”
ทั้งคู่จะใช้เขาสัตว์ที่ใช้แทนแก้ว เพื่อดื่มให้แก่เทพเจ้า ขอพรให้ครอบครัวอุดมสมบูรณ์
สำหรับคืนแรกในการเข้าหอ จะมีผู้เข้าไปเป็นพยานอย่างน้อยหกคน เพื่อให้แน่ใจว่าการแต่งงานนั้นสมบูรณ์ และการหลับนอนของสองคู่บ่าวสาว ก็อยู่ในสายตาของพยานที่เข้าหอด้วย
2
เช้าวันต่อมาหลังจากคืนเข้าหอวันแรก เจ้าบ่าวจะมอบของขวัญให้เจ้าสาว โดยไม่ได้เจาะจงว่าเป็นอะไร แต่ก็น่าจะเป็นสิ่งล้ำค่า
จากนั้น เจ้าบ่าวจะมอบกุญแจบ้านให้เจ้าสาว เป็นการบอกถึงสถานะใหม่ของเจ้าสาวในฐานะภรรยา
นี่ก็เป็นประวัติศาสตร์คร่าวๆ ของการแต่งงานของชาวไวกิ้ง
โฆษณา