7 ก.พ. 2022 เวลา 06:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ถือเป็นแหล่งเงินออมระยะยาวที่ดีมากของมนุษย์เงินเดือน และในปัจจุบันนี้ การทำ Employee’s Choice กำลังมาแรง นายจ้างเริ่มให้สมาชิกกองทุนในองค์กรของตนสามารถเลือกนโยบายการลงทุนได้ด้วยตนเอง แต่การจะเลือกนโยบายเองได้อย่างเหมาะสม ต้องเข้าใจการลงทุนในตราสารหนี้ หุ้น และหลักทรัพย์อื่นๆ ด้วยว่ามีผลตอบแทนและความเสี่ยงอย่างไรบ้าง และหากสิ้นสุดการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ว่าจะด้วยการเกษียณอายุ ลาออก ทุพลภาพ หรือเสียชีวิต ก็จะได้สิทธิประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตามกฎเกณฑ์และเงื่อนไขดังนี้
1
5สิทธิประโยชน์กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
1. สิทธิที่จะได้รับเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมเต็มจำนวน
เงินส่วนนี้เป็นของสมาชิกทั้งก้อน หรือว่าง่ายๆ คือ สมาชิกจะได้เงินต้นและดอกผลจากเงินต้นคืนนั่นเอง
2. สิทธิการได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบ
เงินส่วนนี้เป็นส่วนที่นายจ้างสมทบเพิ่มให้สมาชิกตามเงื่อนไขของข้อบังคับ ซึ่งเงินสมทบส่วนใหญ่จะกำหนดจากอายุงานหรืออายุของสมาชิกกองทุน
3. สิทธิประโยชน์ทางภาษี
เมื่อสิ้นสุดการเป็นสมาชิกภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จะได้รับเป็นเงินจำนวนหนึ่ง ซึ่งแบ่งได้ 4 ส่วน คือ 1) เงินสะสมของเราเอง 2) เงินสมทบของนายจ้าง 3) ผลประโยชน์ของเงินสะสม 4) ผลประโยชน์ของเงินสมทบ
หากนำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพทั้งหมด เงินสะสมส่วนที่ 1 จะได้รับยกเว้นภาษีทั้งจำนวน แต่เงินส่วนที่ 2 – 4 จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่แตกต่างกัน ตามเงื่อนไข ดังนี้
1. ลาออกจากกองทุนโดยเป็นสมาชิกกองทุนไม่ถึง 5 ปี จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีในเงินส่วนที่ 2 – 4 ซึ่งก็คือ เงินสมทบของนายจ้าง ผลประโยชน์ของเงินสะสม และผลประโยชน์ของเงินสมทบ แถมยังต้องนำเงินส่วนนี้ไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปีตามปกติอีกด้วย
2. ลาออกจากกองทุนโดยเป็นสมาชิกกองทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป สามารถเลือกได้ว่าจะนำเงินส่วนที่ 2 - 4 ไปรวมกับรายได้อื่นเพื่อเสียภาษีเงินได้ประจำปี หรือแยกยื่นภาษีต่างหากในใบแนบ (ใบแนบ ภ.ง.ด. 90, 91 กรณีคำนวณเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน เฉพาะที่เลือกเสียภาษีโดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นๆ) ซึ่งหากสามารถแยกยื่นภาษีด้วยใบแนบได้ ก็จะทำให้ภาระภาษีต่ำลง
3. ทุพพลภาพ/เสียชีวิต หรือเกษียณโดยมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้ง 4 ส่วน เท่ากับว่าเราจะได้เงินออมก้อนโตไว้ใช้ในยามเกษียณอายุเต็มจำนวน
4. สิทธิในการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
หากเรายังไม่มีความต้องการใช้เงินก้อนนี้ สามารถแจ้งความประสงค์ขอคงเงินไว้ในกองทุนตามนโยบายการลงทุนที่เลือกไว้ โดยติดต่อกับบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อแจ้งระยะเวลาคงเงิน หรือขอให้กองทุนทยอยจ่ายเงินคืนเป็นรายงวดก็ได้ ซึ่งต้องไม่ขัดกับข้อบังคับที่กองทุนกำหนดไว้
5. สิทธิในการโอนเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปไว้ที่กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
หากเรายังไม่มีความต้องการที่จะใช้เงินก้อนนี้ และไม่ต้องการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เรายังมีสิทธิในการโอนเงินก้อนนี้ไปยังกองทุนรวม RMF ได้ ซึ่งจะทำให้มีอิสระในการเลือกนโยบายการลงทุนได้เอง และยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเทียบเท่ากับการคงเงินไว้ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพด้วย โดยกองทุนรวม RMF ที่สามารถรับโอนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้นั้น ต้องเป็นกองทุนรวม RMF for PVD ซึ่งมีการระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน (Fact Sheet) ว่า “รองรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” นอกจากนี้เรายังสามารถนับอายุสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่องกับกองทุนรวม RMF ได้ เพื่อให้ได้รับการ “ยกเว้นภาษี” เมื่อมีคุณสมบัติครบตามหลักเกณฑ์ที่กรมสรรพากรกำหนดด้วย
ส่วนใครที่มีการย้ายงานหรือเลิกทำงานประจำก่อนเวลา ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ยังมีทางเลือกอยู่หลายทางในการบริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สะสมไว้ในที่ทำงานเก่า ซึ่งจะมีอะไรบ้าง อ่านเพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา