27 ม.ค. 2022 เวลา 12:50 • ธุรกิจ
Life Visual Diary 83: หุบเขาคนเขลา หุบเหวสิ้นหวัง ทางชันแห่งปัญญา และที่ราบสูงแห่งความยั่งยืน
สมัยผมเรียนปริญญาตรีในชั้นเรียนปีที่ 2 มีความทรงจำเกี่ยวกับการเรียนที่ผมจำได้เป็นอย่างดี วิชาภาคบังคับวิชาหนึ่งที่เด็กเศรษฐศาสตร์ทุกคนต้องเรียน คือ เศรษศาสตร์จุลภาค ซึ่งเป็นหนึ่งในวิชาที่ผมชอบมาก และก็มีความมั่นใจมากด้วย เรียกว่าเที่ยวนั่งทำโจทย์ติวกับเพื่อนเป็นว่าเล่น ถึงเวลาสอบกลางภาค ผมยังคุยโม้โอ้อวด และทำข้อสอบเสร็จเป็นคนแรกด้วยความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยม ผลออกมาคือ ผมสอบตก…
สวัสดีครับ เชื่อไหมครับ ทั้งๆที่มั่นใจขนาดนั้น ผมทำคะแนนได้แค่ 13/30 เท่านั้นเอง ตอนสอบเสร็จใหม่ๆ ผมถึงขั้นโม้กับเพื่อนว่า “ถ้าอดัม สมิธมาทำข้อสอบ ก็ตอบแบบกูแหละ” แม้จะเป็นการพูดตลกคะนองไม่ได้คิดแบบนั้นจริงๆ แต่ก็แฝงด้วยด้วยความมั่นใจเกินตัวสวนทางกับคะแนนต่ำเตี้ย ตอนนั้นผมจำได้ว่าผมได้คะแนนรองบ๊วย และคนที่ได้คะแนนบ๊วยคือ เพื่อนที่ป่วยไม่ได้มาเรียนตั้งเดือนนึง
อะไรละที่อยู่เบื้องหลังความมั่นใจที่ช่างสวนทางกับความรู้ของผมในตอนนั้น สิ่งนี้อธิบายได้ด้วยปรากฎการณ์ที่เรียกว่า Dunning-Kruger Effect ที่ได้พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “ความรู้” และ “ความมั่นใจ” และผมในตอนนี้ก็เชื่อเรื่องนี้และคิดว่ามันเป็นความจริงกับทุกคนแทบไม่มีข้อยกเว้น
ช่วงแรก… เมื่อเราเริ่มเรียนรู้เรื่องบางอย่าง เรามักจะเข้าใจว่าเรารู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี คิดว่าเรามีความรู้มากถึงระดับ 8/10 แล้ว ความมั่นใจก็เลยเพิ่มอย่างรวดเร็ว เหมือนผมในวันนั้นที่ยืนอยู่บนยอดเขาแห่งความเขลา (Mt. Stupid)
ต่อมา… เมื่อคุณเริ่มเรียนรู้เพิ่ม คุณเริ่มพบว่า “ไอ้ที่เรารู้ก่อนหน้านี้ มันมีอีกเยอะเลยนี่หว่า” คุณเรียนรู้มาเกิน 100 แล้วละ เพียงแต่มันเป็น 100/1000 ความมั่นใจที่เคยมีหล่นวูบสู่หุบเหวแห่งความสิ้มหวัง (Valley of Despair)
หลังจากนั้น… ถ้าคุณไม่ได้ย่อท้อ คุณเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ ความมั่นใจคุณก็จะเพิ่มขึ้นไปพร้อมกับความรู้ คูณกำลังเดินทางอีกครั้งผ่านทางชันแห่งปัญญา (Slope of Enlightenment)
สุดท้าย… ถ้าคุณอดทนมากพอ คุณจะมาถึงดินแดนใหม่ที่มีแต่คนที่เป็นมาสเตอร์เท่านั้นที่มาถึง ความมั่นใจคุณคงที่ไม่สูงเหมือนยอดเขาแห่งความเขลา แต่ก็มากพอที่จะเรียกว่าเชี่ยวชาญ ตอนนี้คุณอยู่บนที่ราบแห่งความยั่งยืน (Plateau of Sustainability)
ผมยังจำได้ก่อนสอบตอนนั้น ผมฟังเพื่อนติวหนังสือ ผมไม่เข้าใจและดันไปบอกว่ามันพูดผิด แต่ต่อมาที่ผมได้บทเรียนตอนกลางภาค ผมอ่านหนังสืออย่างหนัก ใช่แล้วครับ ผมกลิ้งตกมาอยู่ในหุกเหวแห่งความสิ้นหวัง และระหว่างที่ผมกำลังไต่ทางชันแห่งปัญญารู้แจ้ง ผมพึ่งจะมาเข้าใจสิ่งที่เพื่อนผมพูดเมื่อหลายเดือนก่อน และวินาทีนั้นผมเข้าใจ Dunning-Kruger Effect อย่างถ่องแท้
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า…
1. ถ้าคุณคิดว่าคุณรู้แล้วอย่าพึ่งมั่นใจเร็วเกินไป แล้วก็ให้ความรู้มาปิดหู คุณอาจจแค่อยู่บนหุบเขาคนโง่ก็ได้
2. ถ้าคุณรู้ตัวว่ากำลังชูคอตั้งชันมั่นใจสวนทางกับความรู้ก็รีบกระโจนลงมาในหุบเหวสิ้นหวังซะ
3. เมื่ออยู่ในหุบเหวให้จำไว้ว่าถ้าท้อก็ไม่แปลก ถ้าคุณท้ออยู่ แปลว่าคุณอาจจะกำลังเข้าสู่โลกใหม่แล้ว คุณรับรู้ใช่ไหมว่ามีเรื่องให้เรียนรู้อีกมากจนท้อเลย นั่นแหละทางชันแห่งความรู้แจ้งละ และนั่นคือทางเดียวที่คุณจะไปสู่ที่ราบสูงแห่งความยั่งยืน…
ผมกำลังเดินอยู่บนทางชัน มาปีนป่ายไปด้วยกันครับ
Happy Your Life
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา