16 ก.พ. 2022 เวลา 02:19 • ข่าวรอบโลก
ความสัมพันธ์ไทย-ภารตะ ในยุค “Next Normal”
พอดแคสต์รายการคุยกับทูตซีซั่นที่ ๒ ตอนที่ ๑๖ ของช่อง The Cloud ได้เชิญคุณภัทรัตน์ หงษ์ทอง เอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย หรือท่านทูตแป้ง มาร่วมสนทนาเรื่องราวตั้งแต่สถานการณ์โควิดในอินเดียจนถึงชวนถอดบทเรียนการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของดินแดนภารตะ และโอกาสการสร้างความร่วมมือไทย-อินเดีย แง่มุมใหม่ในยุค ‘Next Normal’ ในมือของคนอินเดียรุ่นใหม่
(สามารถรับฟังย้อนหลังได้ที่ https://youtu.be/mLIwEdNPNqE )
ท่านทูตภัทรัตน์ เล่าว่า ช่วงที่มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตประจำอินเดียถือเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายมากที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิตนักการทูต เพราะเป็นช่วงที่โควิด-๑๙ ระบาดอย่างหนักในอินเดีย มียอดผู้ติดเชื้อรายวันมากสุดถึงสี่แสนรายต่อวัน ซึ่งรัฐบาลอินเดียก็ไม่ยอมแพ้ และต่อสู้จนยอดผู้ติดเชื้อลดลงไปจากเดิมมากกว่าร้อยละ ๙๕ และสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศไปได้มากกว่าหนึ่งพันล้านคน นำไปสู่การเตรียมเปิดประเทศต้อนรับชาวต่างชาติอีกครั้ง
...ว่าด้วยเรื่องของ ‘ยา’ และอุตสาหกรรมแห่งอนาคต
หากประเทศจีนถูกขนานนามว่าเป็น Factory of the World (โรงงานของโลก) อินเดียก็ถือว่าเป็น Pharmacy of the World (ร้านขายยาของโลก) โดยอินเดียเป็นประเทศที่ทำการผลิตและส่งออกยาและวัคซีนอันดับต้นของโลกมาเป็นเวลานานแล้ว โดยล่าสุดนี้ ภายใต้นโยบาย Ātmanirbhara Bhārata หรือ “Self-Reliant India” (อินเดียที่พึ่งพาตนเอง) ของนากยกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ซึ่งเป็นนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ โดยมุ่งเน้นให้อินเดียพึ่งพาตัวเองได้ หากท่านผู้อ่านนึกภาพไม่ออกว่านโยบาย Self-Reliant India คืออะไร กล่าวง่าย ๆ คือหากสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบาย America First (“สหรัฐฯ มาก่อน”) นโยบาย Self-Reliant India ก็คือ India First นั้นเอง
2
ภาพจาก : istockphoto/fberti
แม้ Self-Reliant India จะเป็นแนวนโยบายเศรษฐกิจแบบชาตินิยมแต่ก็ไม่ได้กีดกันการลงทุนจากต่างชาติ ท่านทูตชี้ให้เห็นถึงข้อดีตรงนี้ว่า ภาคเอกชนของไทยสามารถเข้าไปร่วมลงทุนในอินเดียได้ในหลายภาคส่วนธุรกิจ ไม่ว่าจะด้านธุรกิจสีเขียวอย่างภาคการเกษตรที่ประเทศไทยของเรามีความเชี่ยวชาญเป็นอย่างดี ทั้งในสาขาเทคโนโลยีการเกษตร หรือ การแปรรูปสินค้าทางการเกษตร และยังมีภาคอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ไทยสามารถเข้าไปร่วมลงทุนได้ อาทิ อสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน
1
ในปี ๒๕๙๐ อินเดียตั้งเป้าที่จะสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ โดยจะหันมาพึ่งพาพลังงานสะอาดให้มากขึ้น ปัจจุบัน อินเดียติดอันดับประเทศที่ใช้พลังงานจากลมเป็นอันดับ ๔ ของโลก และอยู่ในอันดับที่ ๕ ของโลกในฐานะประเทศที่ใช้พลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ โดยรัฐวิสาหกิจของไทยอย่าง ปตท. ก็ได้เข้ามาร่วมทุนในธุรกิจพลังงานของอินเดียด้วย
2
...เสน่ห์ประชาชน
นอกจากนี้ ประเทศไทยและอินเดียมีความสัมพันธ์แบบประชาชนต่อประชาชนกันมาอย่างยาวนาน โดยชาวไทยนิยมไปแสวงบุญที่อินเดีย เพราะถือเป็นดินแดนต้นกำเนิดของพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกันคู่รักชาวอินเดียจำนวนมากนิยมมาจัดงานแต่งงานที่ประเทศไทย ท่านทูตเล่าว่า สำหรับชาวอินเดีย การแต่งงานถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นงานสำคัญที่สุดงานหนึ่งของชีวิต แต่การจัดงานแต่งงานในอินเดียมีราคาค่อนข้างสูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดก็คืองานแต่งระหว่างนักร้องและดาราระดับโลกอย่าง Nick Jonas กับ Priyanka Chopra ที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง ๔๖๑,๐๐๐ เหรียญสหรัฐ และนี่คงเป็นเหตุผลหนึ่งที่คู่รักชาวอินเดียเลือกที่จะจัดงานแต่งงานที่ไทย จากปัจจัยค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่ากว่า อีกทั้งยังได้รับบริการที่ตอบสนองต่อความต้องการของคู่บ่าวสาวได้เป็นอย่างดี
1
ท่านทูตอยากให้คนไทยสร้างภาพจำที่มีต่ออินเดียขึ้นใหม่ ลบภาพจำจากภาพยนตร์บอลีวู้ดที่มีคู่รักร้องเพลงจีบกันข้ามขุนเขา มาสู่ภาพลักษณ์ของอินเดียยุคใหม่หรือ New India ในแบบยุค Next Normal ผ่านการนำของเทคโนโลยีและนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ได้เปลี่ยนอินเดียเป็น Silicon Valley of Asia ในฐานะประเทศที่โดดเด่นในเรื่องเทคโนโลยีประเทศหนึ่งของโลก โดยประเทศอินเดียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ ๖ ของโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจสูงถึงร้อยละ ๘ ในปี ๒๕๖๔ และคาดว่าจะเติบโตขึ้นอีกร้อยละ ๘.๕ ในปี ๒๕๖๕ และนอกจากด้านเศรษฐกิจแล้ว ในด้านภูมิรัฐศาสตร์ อินเดียถือเป็นประเทศมหาอำนาจแห่งเอเชีย เรียกได้ว่า อินเดียเป็นประเทศที่เราควรจับตามองมากที่สุดประเทศหนึ่งเลยทีเดียว
1
บังกาลอร์ เมืองที่ถูกขนานนามว่าเป็น Silicon Valley แห่งเอเชีย ภาพจาก : istockphoto/Noppasin
นายเอกวิทย์ ซอหะซัน
เจ้าหน้าที่ประมวลและวิเคราะห์ข่าว
กรมสารนิเทศ
โฆษณา