27 ม.ค. 2022 เวลา 14:12 • ปรัชญา
ตรรกะวิบัติน่ารู้ ตอนที่ 1
ในการโต้เถียงกันนั้น, สิ่งที่เราควรนำมาใช้ต่อสู้กันคือ เหตุผล. เหตุผลที่ดีคือการอ้างเหตุผลอย่างถูกต้องตามหลักตรรกะ. แต่บางครั้ง, มีการอ้างเหตุผลที่ดูเหมือนจะมีเหตุผล; แต่จริงๆ แล้วไม่มี, ดูเหมือนจะดีแต่เอาเข้าจริงแล้วไม่! เป็นการอ้างเหตุผลที่ว่างกลวง. เราเรียกสิ่งนี้ว่า การใช้เหตุผลผิดหรือตรรกะวิบัติ (fallacy), ซึ่งหากเราไม่รู้เท่ากันก็อาจจะถูกหลอกให้เชื่อหรือคล้อยตามได้.
1
บทความตรรกะวิบัติตอนที่ 1 นี้จะนำเสนอ 3 ตรรกะวิบัติที่น่ารู้และพบเห็นได้บ่อยในสังคม.
1. สมมติว่า เราไปห้ามคนที่ขี่รถขึ้นทางเท้า, แล้วเขาตอบเราว่า “ใครๆ ก็ขี่รถขึ้นทางเท้ากันทั้งนั้นแหละ”. สิ่งที่เข้าอ้างมานั้นเป็นตรรกะวิบัติแบบที่เรียกว่า appeal to the people (ในภาษาละตินคือ argumentum ad populum). เหตุผลวิบัติแบบนี้ยกเอาคนหมู่มากมาอ้างและสร้าง mob mentality (ความคิดแบบหมู่คณะ) ขึ้นมาโน้มน้าวให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ร่วมกับคนหมู่มาก, ชักจูงให้คล้อยตามกับผู้พูด, ซึ่งการอ้างแบบนี้ไม่ได้ทำให้การกระทำของผู้พูดถูกต้องหรือเป็นที่ยอมรับน่าเชื่อถือขึ้นมาได้เลย. การที่คนส่วนใหญ่ก็ขี่รถขึ้นทางเท้าไม่ได้แปลว่าการกระทำนั้นถูกต้อง.
3
2. "สึกก่อนกำหนดทีเดียว, ซวยรถคว่ำตายเลย!" นี่เป็นตัวอย่างของเหตุผลวิบัติแบบหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเราเชื่อว่า เหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นทีหลังเป็นผลของอีกเหตุการณ์หนึ่งซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้า, ตรรกะวิบัตินี้มีชื่อเรียกเป็นภาษาละตินว่า post hoc ergo propter hoc (after this, therefore because of this). พึงระลึกไว้ว่า เมื่อสองเหตุการณ์เกิดขึ้นไล่ๆ กัน เช่น เมื่อเหตุการณ์ A เกิดขึ้นแล้วตามติดมาด้วยเหตุการณ์ B, มันไม่จำเป็นเสมอไปว่า เหตุการณ์ A จะต้องเป็นสาเหตุให้เกิดเหตุการณ์ B. การสรุปว่าสองเหตุการณ์เป็นเหตุเป็นผลกันเพียงเพราะมันเกิดขึ้นไล่ๆ กันจึงไม่สมเหตุสมผล. ไม่มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่า รถคว่ำเป็นผลมาจากการสึกก่อนกำหนด.
4
3. "ถ้าไม่อยากถูกไล่ออกจากงาน, ก็ทำตามที่ผมสั่ง!" ลักษณะการกล่าวอ้างข้างต้นเป็นเหตุผลวิบัติรูปแบบหนึ่ง, ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า appeal to force (หรือในภาษาละติน คือ argumentum ad baculum, คำว่า baculum แปลว่า ไม้เท้า). เหตุผลวิบัติแบบนี้อาศัย “กำลัง” เข้าโต้แย้ง; นับเป็นการใช้เหตุผลผิดโดยหันไปใช้อำนาจข่มขู่ให้ผู้อื่นเชื่อฟังหรือให้ทำตาม. เหตุผลวิบัติแบบนี้อาจเรียกเป็นภาษาไทยว่า “การอ้างตะบอง”. การอ้างตะบองทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าตัวเองอาจจะได้รับอันตราย, หากไม่เชื่อหรือไม่ยอมทำตาม, และเมื่อเห็นว่าการไม่เชื่อนั้นจะเป็นภัยแก่ตน, ก็เลยจำต้องเชื่อและทำตามอย่างไม่มีเหตุผล.
พบกับตรรกะวิบัติอื่นๆ ที่น่าสนใจได้อีกในบทความต่อไปนะครับ.
โฆษณา