27 ม.ค. 2022 เวลา 21:22 • ปรัชญา
ตลาดนัด

การให้คือการสื่อสารที่ทรงพลังที่สุด

การให้คือการสื่อสารที่ทรงพลังที่สุด
ผมมีปมในใจอันหนึ่ง
ตอนเด็กอยู่ชั้นประถม ที่บ้านทำร้านอาหารอยู่ตรงข้ามกับที่ว่าการอำเภอเมือง มีสนามหญ้าให้พวกเราวิ่งเล่นกัน
1
เย็นวันหนึ่งผมเล่นกับพวกเด็กๆด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ
"ไอ้แขก"
ตัวผอมๆ ดำๆ บ้านมันยากจนมาก อยู่กระต๊อบกลางหนองน้ำผักตบชวาข้างอำเภอ มันมีแต่เสื้อผ้าเก่าๆขาดๆมอซอใส่มา ไม่ได้เรียนหนังสือ
แต่มันก้ออยากมาเล่นกับเรา เพราะมันไม่มีเพื่อน
วันนั้น ผมโกรธอะไรไม่รู้ จำไม่ได้ แต่ทุบหลังมันไปหลายที มันคงเจ็บมาก แต่ไม่ตอบโต้ผมเลย เดินร้องไห้เช็ดน้ำตาป้อยๆกลับไป คงกลัวว่าผมจะไม่ให้เข้ากลุ่มเล่นกันอีก
ผมเดินข้ามถนนเข้าบ้าน ไม่ได้สังเกตว่า พ่อผมยืนจ้องมองดูเหตุการณ์ที่เพิ่งผ่านไปอยู่
"ทำไมไปรังแกเพื่อนอย่างนั้น เขาตัวเล็กกว่า อ่อนแอกว่า แล้วเขาก้อไม่สู้เราด้วย"
"อย่าทำอย่างนี้อีกนะ พ่อไม่ชอบ"
ครับ พ่อผมเป็นปุถุชนคนหนึ่ง ดีบ้างเลวบ้าง แต่เรื่องเชิงนักเลงอย่างนี้ แกไม่ยอมให้ผ่านไปโดยไม่เอ่ยปากสั่งสอนตำหนิติเตียน
เวลาที่ผมหมองหม่นซึมเศร้าอยู่คนเดียวเช่นในยามป่วยไข้อย่างนี้ ผมมักจะนึกถึง "ไอ้แขก" คนที่ถูกผมรังแกในวัยเด็ก ก้อไม่รู้ว่าชาตินี้จะไปหาตัวมันให้พบเพื่อขอโทษชดเชยกันได้ที่ไหนเมื่อไหร่
สิ่งที่พอจะทำได้ก้อเพียง คิดเสียว่าทุกคนรอบๆตัวในโลกใบนี้คือ "ไอ้แขก" อะไรที่ผมให้ได้แจกจ่ายได้ ผมทำทั้งหมด
ผมเป็นหนี้ทุกคน เป็นหนี้ธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่เพาะบ่มผมขึ้นมา
ในห้วงเวลาสามสี่วันที่นอนซมอยู่นี้ ทำให้ผมค้นพบความฝันที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกที่สุดของผม
เหนือกว่าความมั่นคงทางการเงิน รถยนต์ บ้านหลังเล็กๆที่น่ารัก หรือ คนรักที่ดีพร้อม นั่นคือ
"ผมอยากเป็นนิรนามบุรุษผู้เสียสละให้กับผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ที่อ่อนแอกว่า โดยที่ไม่ต้องมีใครมาจดจำชื่อแซ่หรือรู้จักตัวตนของผม ถึงกระทั่งไม่ต้องการให้ใครรู้ด้วยซ้ำว่า ผมได้เสียสละอะไรให้ใครไปขนาดไหน"
มันจะเป็นความสุขปนเศร้าที่ผมขอเก็บงำไว้ในซอกลี้ลับที่สุดของหัวใจตนเองเพียงคนเดียวเท่านั้น
โฆษณา