29 ม.ค. 2022 เวลา 02:09 • บันเทิง
ตรุษจีนนั้น สำคัญไฉน?
ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย
(新正如意 新年发财)
ซินเหนียนไคว้เล่อ เซินถีเจี้ยนคัง
(新年快乐 身体健康)
ว่านซื่อหรูอี้ ซินเสี่ยงซื่อเฉิง
(万事如意 心想事成)
วันตรุษจีน (Chinese New Year) หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนไม่ได้มีการบันทึกไว้อย่างแน่ชัดว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มีเพียงการคาดคะเนว่าน่าจะมีขึ้นในสมัยราชวงศ์โจว(1046 – 256 ปีก่อนคริสตศักราช) เนื่องจากปรากฏหลักฐานของคำว่า “Nián (年)” ซึ่งหมายความว่า “ ปี” ตรงกับปฏิทินตามจันทรคติในวันที่ 1 เดือน 1
ด้วยเหตุนี้ เทศกาลปีใหม่จีนในแต่ละปีจึงไม่ตรงกัน และไม่ตรงกับปฏิทินสากล โดยมาก “วันตรุษจีน”จะอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคม-กลางเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงสิ้นสุดของฤดูหนาวและเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิที่แสงอาทิตย์มีอิทธิพลสร้างความอบอุ่น บรรเทาความหนาวจนสิ้นสุดลง ดอกไม้ต่างๆ เริ่มผลิบาน จึงตั้งเป็นวันแรกของฤดูตามปฏิทินจันทรคติของจีน
สมัยโบราณชาวจีนให้ความสำคัญกับการเพาะปลูก จึงให้ความสำคัญกับปฏิทินจันทรคติด้วย เพื่อเตรียมเพาะปลูก เก็บเกี่ยว รวมถึงเตรียมไหว้เทพเจ้าในวันสำคัญตามความเชื่อทางศาสนา การเตรียมงานฉลองจะเริ่มขึ้นหนึ่งเดือนก่อนถึงวันตรุษจีน ผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ เสื้อผ้าและสิ่งของไว้ตกแต่งบ้านเรือน การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูกทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่าง หน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างจะถูกประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืน
1
ความหมายของที่ใช้เซ่นไหว้ มงคลอย่างไร?
ของไหว้ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ 3 หรือ 5 อย่าง รวมถึงอาหารแห้ง, อาหารเจ, ผลไม้, ขนมมงคล และกระดาษเงินกระดาษทองเพื่อจำลองสิ่งมีค่ามอบให้กับบรรพบุรุษ ไม่นิยมใช้ของไหว้ที่มีสีดำ หรือสีขาว เพราะเป็นสีที่แสดงถึงความโศกเศร้า
ของไหว้ที่นิยมใช้มีความหมายดังนี้ “ไก่” หมายถึงความสง่างามความก้าวหน้า “เป็ด” หมายถึงความสามารถที่หลากหลาย “ปลา” และ “หมู” หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ “หมึก” หมายถึงการมีเหลือกินเหลือใช้ “หมี่ซั่ว”หมายถึงอายุที่ยืนยาว “สาหร่ายทะเลสีดำ” หมายถึงความมั่งคั่งร่ำรวย “เกาลัด”หมายถึงเงิน
ขนมมงคลที่นิยมใช้กันคือ “ถั่วตัด”หมายถึงเงิน “ขนมเข่ง-ขนมเทียน”หมายถึงความหวานชื่นอันสมบูรณ์ “ขนมไข่” หมายถึงความเจริญ “ขนมถ้วยฟู ขนมสาลี่”หมายความรุ่งเรืองเฟื่องฟู “ซาลาเปา หมั่นโถว” หมายถึงห่อเก็บโชคดี “ขนมจันอับ” หมายถึงมีความสุขตลอดไป
ผลไม้ก็ให้ความหมายมงคลไม่แพ้กัน “ส้มสีทอง”หมายถึงสิริมงคล “กล้วย”หมายถึงความร่ำรวยลูกหลานเต็มบ้าน “สาลี่ทอง” โชคลาภเงินทองไหลมาเทมา “แอปเปิ้ลแดง”หมายถึงสุขภาพที่แข็งแรงไม่มีโรคภัย “ทับทิม” หมายถึงครอบครัวใหญ่ที่รักสามัคคี “สัปปะรด”หมายถึงความโชคดี “องุ่นแดง”หมายถึงความรุ่งเรืองเจริญเติบโต
“อั่งเปา” คืออะไร? ใครๆก็อยากได้!!
 
ในอดีตเรียกกันว่า “แต๊ะเอีย” เงินสมัยก่อนเป็นรู ต้องร้อยด้วยเชือกสีแดง ผูกเอาไว้ที่เอว เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปนิยมมอบเป็น ธนบัตร เช็ก ทองคำ จึงต้องใส่ซองคำว่า“อั่งเปา”จึงเกิดขึ้นเพราะมีความหมายว่าซองสีแดง เงินที่ใส่ซองนั้นจะขึ้นต้นหรือมีเลข 4 หรือ 8 เพราะคล้องเสียงกับตัว “ฟา 发” ที่แปลว่ารุ่งโรจน์ ร่ำรวย เจริญยิ่งขึ้นไป
หลักการให้และรับซองอั่งเปานั้น ผู้ใหญ่จะเป็นฝ่ายเตรียมเงินใส่ซองสีแดงไว้ให้แก่เด็กๆ ลูกหลานในครอบครัว เด็กๆ ก็จะเป็นฝ่ายอวยพรให้ผู้ใหญ่เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีอายุยืนยาว แต่เมื่อบุตรหลานมีหน้าที่การงานแล้ว จึงเปลี่ยนจากผู้รับ เป็นผู้มอบ เพื่อตอบแทนที่เลี้ยงดู แสดงความกตัญญูเป็นมงคลเริ่มต้นปีใหม่ให้กับตัวเอง
วันตรุษจีนห้ามทำสิ่งเหล่านี้เด็ดขาด!!
ด้วยความเชื่อที่สืบทอดกันมาว่า ตรุษจีนคือช่วงเวลาต้อนรับสิ่งที่ดีมีความสุข จึงมีการกำหนดข้อห้ามการทำกิจกรรมที่มีความหมายไม่ดี เพื่อไม่ให้ขัดต่อโชคลาภที่จะได้รับในปีใหม่นี้ อาทิเช่น “ห้ามกวาดบ้าน”เพราะจะเป็นการกวาดโชคดีออกไป “ห้ามตัดผม สระผม ตัดเล็บ” เพราะจะเป็นการบั่นทอนความมั่งคั่ง “ห้ามใส่เสื้อผ้าสีขาว-ดำ” ด้วยเป็นสีแห่งความเศร้าโศกจึงนิยมใส่สีแดงเพราะเป็นสีแห่งความสุขและโชคดี “ห้ามให้ยืมเงิน”เพราะจะเสียทรัพย์ตลอดปี “ห้ามพูดคำหยาบคาย ด่าทอ วิวาท” เชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวทะเลาะเบาะแว้งนำพาเรื่องวุ่นวายเข้ามาในชีวิตตลอดทั้งปี
ความหมายต่างๆนาๆ ของกระดาษไหว้เจ้า
กระดาษเงินกระดาษทองของชาวจีนถูกจำแนกแยกประเภทตาม ‘ผู้รับ’ ที่ถูกแบ่งระดับตามความเชื่อ ได้แก่ เทพเจ้าในความเชื่อลัทธิเต๋า บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ และสัมภเวสี โดยตัวเลือกที่ชาวจีนเลือกใช้แบ่งได้ตามนี้
“กระดาษเงินกระดาษทองสำหรับไหว้เทพเจ้า”
ใช้กระดาษถังเงินถังทอง หรืองึ่งเต้า รองด้วยเทียงเถ่าจี๊ หรือกระดาษเงินกระดาษแผ่นใหญ่ แทนความหมายในการขอพรให้ร่ำรวย มี สุขภาพแข็งแรง และให้เทพเจ้าปกปักคุ้มครอง
“กระดาษเงินกระดาษทองสำหรับไหว้เจ้าที่ (ตี่จู่เอี๊ยะ)”
คอซี้ หรือกระดาษทองขอบส้ม ซึ่งจะถูกนำมาพับเป็นก้อนทอง แล้วนำไปใส่ในอ่วงป้อหรือกระทง รองด้วย งิ่งเตี๋ย หรือกระดาษเงินกระดาษทอง เพื่อใช้ขอพรจากตี่จู่เอี๊ยะ (พระภูมิเจ้าที่) ในเรื่องความเจริญรุ่งเรือง ความสุข และสุขภาพของคนในบ้านที่แข็งแรง
“กระดาษเงินกระดาษทองสำหรับไหว้บรรพบุรษผู้ล่วงลับ”
ใช้ กิมจั้ว หรือกระดาษเงินกระดาษทองรูปดอกไม้,กิมเตี๊ยว แท่งทอง หรือ ตั่วกิม ตำลึงทอง แทนความหมายของความเจริญรุ่งเรืองร่ำรวย กระดาษไหว้บรรพบุรษอีกชนิด คือ อ่วงแซจี๊ หรือใบเบิกทาง ที่มีลักษณะเป็นกระดาษสีเหลืองทรงจัตุรัส โดยชาวจีนเชื่อว่ากระดาษชนิดนี้ ทำหน้าที่เป็นใบผ่านทางระหว่างภพภูมิของมนุษย์ไปสู่ภพภูมิของวิญญาณ เป็นการเผาเพื่อเปิดทาง ก่อนจะนำกระดาษเงินกระดาษทองชนิดอื่นๆ เผาตามไปอีกที เช่น กระดาษเสื้อผ้า ธนบัตรสวรรค์ บ้าน รถยนต์ คอมพิวเตอร์ ไอโฟน ไอแพท แม็คบุ๊ก หน้ากากอนามัย วัคซีน COVID-19
ตรุษจีนทำไมต้องจุดประทัด!!
ความเชื่อเรื่องการจุดประทัดว่ากันว่ามาจากตำนานเกี่ยวกับตัวประหลาด “ซานเซียว” ที่รูปร่างหน้าตาเหมือนคนแคระแต่วิ่งเร็วเป็นลมกรด มักชอบมาขโมยของชาวบ้านกินในช่วงก่อนปีใหม่ ชาวบ้านไม่เคยจับตัวได้ทัน ถึงจับได้ก็มีอันต้องล้มป่วยไม่มีหนทางรักษา วันหนึ่งชาวบ้านใช้ปล้องไม้ไผ่เป็นฟืนหุงข้าวอยู่ ตัวซานเซียวเข้ามาจะขโมยข้าวเป็นจังหวะที่ปล้องไม้ไผ่ระเบิดดังลั่นตัวซานเซียวตกใจวิ่งเตลิดเข้าป่าไป ชาวจีนที่มีความเชื่อนี้จึงนิยมจัดหาปล้องไม้ไผ่มาไว้ก่อกองไฟในช่วงตรุษจีน เพื่อป้องกันตัวซานเซียวนั่นเอง
ความเชื่ออีกตำนานเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “ตัวเหนียน” ที่เป็นสัตว์ประหลาดหน้าตาคล้ายหมี สิงโต เสือ หรืองูพิษผสมกัน เชื่อกันว่าสัตว์ชนิดนี้อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก จะออกมาอาละวาดทำร้ายผู้คนในช่วงเทศกาลปีใหม่ จนชาวบ้านหวาดกลัวพากันซ่อนตัวในช่วงตรุษจีนเพื่อไม่ให้ตัวเหนียนทำร้าย จนมีชายแก่คนนึงมาอาสาไล่ตัวเหนียนด้วยการนำกระดาษสีแดงมาติดไว้ที่บานประตูและจุดเทียนให้สว่างไสว รวมทั้งจุดประทัดที่ทำจากปล้องไม้ไผ่ใส่ดินปืน เมื่อมีเสียงดังปังๆ ตัวเหนียนก็หนีไป นับแต่นั้นมาการจุดประทัดก็กลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติช่วงเทศกาลปีใหม่ตลอดมา
ผลกระทบที่เกิดจากการเผากระดาษเซ่นไหว้
1
ถ้าไม่นับเรื่องรถติดในวันที่ต้องออกจากบ้านไปจับจ่ายข้าวของเพื่อมาเซ่นไหว้ รวมถึงราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการแบบเฉียบพลัน มลภาวะจากการจุดธูปและการเผากระดาษไหว้เจ้า ถูกนำมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวางตั้งแต่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากฝุ่นพิษ PM2.5
เนื่องจากการจุดธูปและการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง ในแต่ละครั้งจะปล่อยสารมลพิษออกมาคือ ควันและขี้เถ้า ซึ่งสารมลพิษที่ปล่อยออกมา ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน และสารก่อมะเร็งหลายชนิด เช่น สารโพลีไซคลิก อะโรมาติก ไฮโดรคาร์บอนหรือสารพีเอเอช และสารอินทรีย์ระเหยง่าย เช่น เบนซิน (Benzene) และ 1,3-บิวทาไดอีน (1,3-butadiene) ส่วนขี้เถ้า จะมีสารโลหะหนัก 4 ชนิด ได้แก่ โครเมียม นิกเกิล ตะกั่ว แมงกานีส และพบโลหะหนักเหล่านี้อยู่ในขี้เถ้ามากกว่าฝุ่นละอองในอากาศประมาณ 3-60 เท่า ซึ่งหากได้สัมผัส อาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้
'ตรุษจีน' แบบคูลๆ ทำอย่างไรในยุคที่สู้กับ 'ฝุ่นPM2.5'เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพทั้งผู้เซ่นไหว้และสังคมโดยรวมดังนี้
1.ใช้ธูปขนาดสั้นในการทำพิธีเมื่อจุดแล้วจะดับเร็วขึ้น
2.ลดปริมาณการเผากระดาษเงิน กระดาษทองให้น้อยลง
3.สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นขณะจุดธูปและเผากระดาษเซ่นไหว้
4.ควรจุดธูปนอกบ้าน หรือ เปิดประตูหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทและควรยืนอยู่เหนือทิศทางลม
5.ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งหลังสัมผัสธูปและกระดาษเซ่นไหว้
6.หลีกเลี่ยงการพักผ่อนหรือนอนหลับในบริเวณที่มีการจุดธูปเพื่อลดการสะสมของฝุ่นละอองจากควันธูปที่อาจตกค้างได้
7.กำจัดขี้เถ้าธูปและกระดาษเซ่นไหว้ ด้วยการเก็บใส่ถุงแยกไว้และส่งให้เจ้าหน้าที่รับไปกำจัดอย่างถูกวิธีต่อไป
รับมืออย่างไร? เมื่อน้องหมาเสียขวัญจากเสียงประทัด!!
จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีน มักจะมีสุนัขจำนวนมากวิ่งเตลิดหายออกไปจากบ้านและไม่สามารถหาทางกลับได้ และมักจบลงด้วยการบาดเจ็บและเสียชีวิตเพราะขาดทักษะการเอาตัวรอด เป็นที่ทราบกันดีว่า “สุนัข” มีประสาทสัมผัสในการได้ยินดีกว่าคนสุนัขจึงตกใจกับเสียงพลุ ประทัด ฟ้าร้อง เพราะมันไม่สามารถแยกแยะได้ว่า นั่นคือภัยร้าย หรือการเฉลิมฉลอง จึงไม่แปลกที่มันจะพยายามเข้าบ้านแอบใต้โซฟา ใต้โต๊ะใต้ตู้ที่คิดว่าปลอดภัยที่สุด การที่เจอเสียงดังต่อเนื่องนานๆ อาจทำให้สุนัขเกิดอาการ ‘โฟเบีย’ จากที่นิสัยร่าเริง กลายเป็นสุนัขที่ไห้ยินเสียงดังเมื่อไหร่ ก็จะเกิดอาการตื่นตัวตกใจจนควบคุมตัวเองไม่ได้ ในบางตัวก็อาจจะเครียดจนส่งผลต่อสุขภาพได้
เพื่อความปลอดภัยของสุนัขที่เรารัก มีวิธีรับมือกับสุนัขที่กลัวเสียงดังที่สามารถนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมได้เลย
“ติดป้ายชื่อ”
พร้อมเบอร์โทรเจ้าของ ไอเท็มนี้ใช้ได้ผลทุกกรณีเมื่อสุนัขเตลิดหายหรือหลงทางกับเจ้าของ
“พาเข้าบ้านและจำกัดพื้นที่”
ใส่กรงหรือเอาไปไว้ในห้องปิดหน้าต่างปิดม่านเพื่อป้องกันเสียงดังเข้ามา เตรียมของเล่นหรือผ้าห่มที่พวกมันคุ้นเคยไว้สำหรับซุกนอนหรือหลบซ่อนตัว
“ทำให้สงบ”
หากไม่สามารถหาพื้นที่ได้ให้ใส่สายจูงที่มีสายรัดอก ลูบหรือกอดบริเวณไหล่ หาผ้าที่คุ้นเคยคลุมตัวไว้เมื่อสุนัขเริ่มสงบให้ค่อยๆออกห่างมาย่างเงียบๆ ให้สุนัขรู้สึกว่าสามารถอยู่ได้ตามลำพัง
“ใส่เสื้อให้”
เชื่อกันว่าเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด เพราะการใส่เสื้อที่กระชับตัวจะทำให้สุนัขรู้สึกปลอดภัยเสมือนมีเจ้าของโอบกอดอยู่ตลอดเวลานั่นเอง
ความหมายมงคล จากคำอวยพรเทศกาลตรุษจีน
คำอวยพรจากลูกหลานแก่ผู้ใหญ่ในวันตรุษจีน มักมีความหมายมงคลเกี่ยวกับเรื่องสุขภาพและความร่ำรวย แสดงความกตัญญู มักจะเขียนเป็นกลอน 4 คำ 2 กลอน เมื่อนำมาเขียนเรียงกันจะประกอบด้วยตัวอักษรจีนทั้งหมด 8 ตัว
ซินเจิ้งหรูอี้ ซินเหนียนฟาฉาย (新正如意 新年发财)
คิดหวังสิ่งใดขอให้สมหวังสมปรารถนาในปีใหม่นี้ มีแต่ความสุขมั่งคั่ง โชคดีร่ำรวยตลอดปี
ซินเหนียนไคว้เล่อ เซินถีเจี้ยนคัง (新年快乐 身体健康)
ขอให้มีความสุขสมหวัง สุขภาพแข็งแรงตลอดปี
 
ว่านซื่อหรูอี้ ซินเสี่ยงซื่อเฉิง (万事如意 心想事成)
ขอให้เรื่องต่างๆ ผ่านไปโดยอย่างราบรื่น คิดสิ่งใดก็ขอให้สมดั่งปรารถนา
 
คำอวยพรเหล่านี้นิยมเขียนในป้ายมงคลสีแดงประดับบ้านเรือน หรือบนซองอั่งเปา เพื่อให้ผู้พบเห็นรู้สึกดีต่อกัน เพื่อเป็นการส่งต่อความรักความห่วงใย เพราะบางครอบครัวต้องอยู่ห่างไกลกัน จะมีโอกาสกลับมาเยี่ยมเยียนผู้ใหญ่ในเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น เทศกาลนี้จึงเปรียบได้กับการรวมญาติครั้งสำคัญในแต่ละปี ซึ่งแน่นอนว่าเต็มไปด้วยการเฉลิมฉลองก่อให้เกิดความสุขถ้วนหน้า
เจริญชาแนลขอส่งความปรารถนาดีมาสู่ผู้อ่านและผู้ฟังทุกท่าน ขอให้มีสุขภาพแข็งแรง เจริญก้าวหน้าในอาชีพ ร่ำรวยโชคลาภ มีรอยยิ้มกับทุกๆ วันตลอดปีเสือทอง 2565
เรียบเรียง โดย .......ฟ้า’พระจันทร์
โฆษณา