28 ม.ค. 2022 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
พนักงานระดับล่าง จะโดดเด่นได้อย่างไรในยุคนี้ ? ในมุมมอง คุณโจ้ ธนา
7
ใครที่กำลังรู้สึกว่า ตัวเองมีความสามารถในระดับธรรมดา พรีเซนต์งานก็ไม่เก่ง ภาษาก็ระดับกลาง ๆ รอบตัวเต็มไปด้วยคนเก่ง จนคิดภาพไม่ออกว่าจะมีโอกาสเติบโตในองค์กรได้อย่างไร ใครที่รู้สึกแบบนี้อยู่ ขอให้ลองอ่านบทความนี้ให้จบ..
4
เพราะบทความนี้ THE BRIEFCASE ได้สัมภาษณ์ คุณโจ้ ธนา เธียรอัจฉริยะ ที่ปัจจุบันได้นั่งตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมากมาย เช่น
- ประธานกรรมการ บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
- ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
- ประธานกรรมการ บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด
- กรรมการอิสระ บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)
7
ที่น่าสนใจก็คือ คุณโจ้ ธนา เติบโตมาจากการเป็นพนักงานธรรมดา มีความสามารถในระดับกลาง ๆ แล้วทำงานในสายการเงิน ที่ก็ยังมีความสามารถสู้คนอื่น ๆ ในบริษัทไม่ได้
แต่อะไรที่เป็น “จุดเปลี่ยน” ให้คุณโจ้ ธนา เกิดโดดเด่นจนเตะตาเหล่าผู้บริหาร และถ้าเป็นตัวเราในยุคนี้ โอกาสที่จะเติบโตได้แบบคุณโจ้ ธนา จะยังทำได้หรือไม่
1
THE BRIEFCASE จะสรุปวิธีคิด การเป็นพนักงานระดับล่างให้โดดเด่นได้ในยุคนี้ จากคุณโจ้ ธนา ให้ฟัง..
1. อาสาทำงานที่ไม่มีใครอยากทำ
เท้าความสั้น ๆ ก่อนว่า คุณโจ้ ธนา เริ่มต้นจากการเป็นพนักงานระดับล่างสุด เรียกได้ว่าเป็นเบ๊ของคนในบริษัท ตามประสาเด็กจบใหม่ที่จบจากมหาวิทยาลัยระดับกลาง ๆ
3
ซึ่งคุณโจ้ก็ทำงานอยู่ในบริษัทแรก 3 ปี เพื่อปรับพื้นฐานตัวเอง จากนั้นเมื่อคุณโจ้รู้สึกว่าเพดานความก้าวหน้ามันสุดทางแล้ว จึงตัดสินใจเข้ามาทำงานที่ ดีแทค เพราะเห็นว่าได้เงินเดือนที่ค่อนข้างสูง
2
โดยในตอนนั้นงานที่ได้เงินเยอะ คือตำแหน่งที่ชื่อว่า Investor Relation หรือก็คือ งานที่ต้องเกี่ยวข้องกับนักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่โหดที่สุดในชีวิต และไม่ค่อยมีใครอยากทำ เพราะงานในตำแหน่งนี้จะต้องเจอกับนักลงทุนเก่ง ๆ จากทั่วโลก เจอกับคำถามยาก ๆ แถมยังต้องเจอกับการประชุมวันละ 5-6 รอบทุกวัน ขนาดผู้บริหารเองยังไม่อยากเข้าประชุม เพราะต้องถูกซักด้วยคำถามยาก ๆ ทั้งวัน
1
ในช่วงแรกคุณโจ้ก็ยอมรับว่าเป็นช่วงเวลาที่รู้สึกกดดัน รู้สึกว่าตัวเองโชคร้าย ความรู้ก็ไม่ค่อยมี ภาษาอังกฤษก็อยู่ในระดับกลาง ๆ แต่ก็ไม่กล้าลาออก เพราะกลัวหางานที่ได้เงินดียาก แต่แล้วงานที่ไม่มีใครอยากทำนี่เอง ที่ทำให้คุณโจ้ ธนา มีความสามารถที่เหนือกว่าคนอื่น นั่นก็คือ การมีข้อมูลที่คนอื่นไม่มี และมีความสามารถในการเจรจากับนักลงทุนและธนาคารได้
6
ช่วงปี 1997 เป็นช่วงที่ดีแทคจะต้องปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งคุณโจ้ ธนา ที่ไม่ใช่พนักงานระดับสูง หรือผู้บริหาร กลับกลายเป็นคนที่มีข้อมูลมากที่สุดในบริษัท จนสามารถเจรจากับเจ้าหนี้ได้สำเร็จ เพราะเคยผ่านการเตรียมข้อมูล ในการตอบคำถามสุดโหดกับนักลงทุนต่างชาติมาแล้ว
1
พอปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ บริษัทก็ต้องการหาพาร์ตเนอร์ เพราะเจอปัญหาเงินทุนไม่เพียงพอ
คุณโจ้ ธนา จึงต้องคอยไปหาพาร์ตเนอร์กับซีอีโอตลอด เพราะคุณโจ้สามารถตอบคำถามเชิงลึกได้ดี จนซีอีโอไว้ใจ และให้คุณโจ้ทำทุกอย่างแทน
5
และนี่เองจึงทำให้พนักงานธรรมดาระดับกลางเริ่มกลายเป็นดาวเด่น ผู้บริหารระดับสูงและนักลงทุนต่างรู้จักและไว้ใจ จากนั้นก็มีโอกาสอีกมากมายที่วิ่งเข้ามา
3
คุณโจ้ ธนา มองว่า การทำงานที่ใคร ๆ ก็อยากทำ แต่ตัวเองมีฝีมือกลาง ๆ ในโลกของความเป็นจริงนั้นก็คงจะสู้กับคนอื่นได้ยาก โอกาสที่จะแสดงฝีมือก็จะยังน้อยหรือแสดงได้ก็ไม่เต็มที่ แต่ถ้าเรากล้าอาสาไปทำงานที่ไม่มีใครอยากทำ มันจะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้คนธรรมดากลายเป็นดาวเด่นได้
8
2. ยุคนี้คนรุ่นใหม่มีโอกาสก้าวหน้ามากกว่าสมัยก่อน แต่เราต้องหา “ทีเด็ด” ของเราให้เจอ
สมัยก่อนคนที่จะถูกเลื่อนตำแหน่ง แม้จะเก่งแค่ไหนก็จะต้องรอ “คนที่มาก่อน” หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ ต้องเลื่อนขั้นตามอายุงาน แซงคิวกันไม่ได้ กว่าจะได้เป็นหัวหน้าก็อายุ 40 ปี เพราะตอนนั้นโลกยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไวและไม่แน่นอน หรือที่เรียกว่า VUCA อย่างในวันนี้
ดังนั้นองค์ความรู้แบบเดิม ๆ เช่น ระบบโรงงานใช้กระบวนการแบบ A มานาน ก็ใช้ระบบนี้ต่อไป ไม่จำเป็นต้องปรับปรุง เพราะไม่ได้มีปัญหาอะไร ถึงคนรุ่นใหม่ ๆ จะมีไอเดียที่ดีกว่า ก็ยังไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขหรือพัฒนาองค์ความรู้เก่า ๆ แต่ปัจจุบันคนอายุเยอะ ๆ เริ่มรู้สึกว่าการเอาเด็กใหม่ไฟแรงขึ้นมาเป็นผู้นำ เป็นเรื่องที่ดี
เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปไว การสร้างความได้เปรียบให้องค์กร ต้องอาศัยองค์ความรู้ใหม่ ๆ จากคนรุ่นใหม่ และนี่เองจึงทำให้คนรุ่นใหม่ในวันนี้ มีโอกาสในการเป็นผู้นำได้มากขึ้น
4
แต่อย่างไรก็ตาม ยุคนี้คนมีความรู้แบบ Hard Skills ก็จะไม่ค่อยแตกต่างกันมาก
เช่น ถ้าอยากจะทำระเบิดก็สามารถไปหาวิธีการทำใน Google ได้ทันที หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ คนเข้าถึงความรู้หลายอย่างได้ง่ายขึ้น
1
ดังนั้นถ้าตัวเรามีความรู้เท่า ๆ กับคนอื่น ทำอะไรได้ปานกลาง เราต้องถามตัวเองว่า “ทีเด็ดของเราคืออะไร ? เรามีท่าไม้ตายอะไร ?”
ทีเด็ดในที่นี้มีความหลากหลายมาก จะเป็น Hard Skills หรือ Soft Skills ก็ได้
เช่น เราเก่งคณิตศาสตร์มาก, เราสามารถทำงานได้หนักมาก ไม่นอนได้สองวัน, ไม่เกี่ยงงาน ไม่อู้, สามารถทำเกินที่ขอได้, ทุกคนในทีมรัก พร้อมทำงานเป็นทีม หรือแม้แต่เป็นคนมีระเบียบวินัยมาก ๆ ก็เป็นทีเด็ดได้เช่นกัน
1
เราต้องหาทีเด็ดของเราให้เจอ และทีเด็ดนั้น ต้องเป็นทีเด็ดที่สำคัญสำหรับองค์กร และไม่มีใครทำได้
ซึ่งทีเด็ดบางอย่าง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องฝึก และเราควรจะต้องมีทีเด็ดที่หลากหลาย มันจะทำให้คนนึกถึงเราได้ง่าย และโอกาสก็จะเข้ามาได้ง่ายตามไปด้วย
ทั้งหมดนี้คือวิธีคิด แต่ทักษะความสามารถ องค์ความรู้ต่าง ๆ เราก็ต้องพัฒนาให้หลากหลายตามไปด้วย อย่างถ้าเราเก่งไฟแนนซ์ และเก่งการตลาดด้วย เราก็จะได้เปรียบ ซึ่งตัวคุณโจ้ ธนา ก็ได้ทักษะทั้งสองอย่างนี้จากตอนที่ทำงานที่ดีแทค
3
สรุปง่าย ๆ ก็คือ หากเราอยากได้ทีเด็ดบางอย่าง เราสามารถเรียนรู้ได้จากการทำงาน จากรุ่นพี่ หรือเรียนรู้ได้จาก “งานที่คนอื่นไม่ทำ” นั่นเอง
1
3. Empathy หรือ การเข้าใจคนอื่น คือทีเด็ดสำคัญของการเติบโตทุกรูปแบบ
1
คำว่า Empathy หมายถึง การเข้าไปนั่งอยู่ในใจคนได้ ใครที่สามารถเข้าใจตรงนี้ได้อย่างแท้จริง มันจะกลายเป็นทีเด็ดของทุกคน
ทักษะ Empathy เป็นเรื่องที่ต้องฝึก เพราะมันจะเข้าไปอยู่ในทุกเรื่องของชีวิต ซึ่งถึงแม้เราจะเป็นเด็กรุ่นใหม่มาทีหลัง ถ้าสู้ด้วยประสบการณ์อาจจะสู้รุ่นพี่ได้ยาก แต่ถ้าเราสามารถเข้าไปนั่งอยู่ในใจลูกค้า เข้าใจลูกค้า รู้ว่าทุกคนคิดอย่างไร เวลาที่เราพูด คำพูดของเราก็จะมีน้ำหนักมาก เวลาที่เจอผู้ใหญ่ เจอนักลงทุน เจอลูกค้า พวกเขาก็จะคัดค้านเราได้ยาก
2
อยากให้เราลองสังเกตดูว่า สาเหตุที่สตาร์ตอัปที่กลายเป็นระดับโลกหลายเจ้า เขาก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการมี Empathy เพราะมันเป็นข้อแรกของ Design Thinking ที่สตาร์ตอัปใช้ เพื่อพัฒนาธุรกิจขึ้นมาให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด
2
ส่วนวิธีเริ่มฝึกทักษะ Empathy ยกตัวอย่างง่าย ๆ เลยก็คือ
ถ้าเราทำงาน IT เราต้องคิดเผื่อว่า ลูกค้าหรือเพื่อนฝ่ายอื่น ๆ จะฟังภาษา IT รู้เรื่องไหม ต้องพูดอย่างไรให้เขาเข้าใจ
3
ดังนั้นเราต้องเดินให้เยอะ ฟังให้เยอะ ไม่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ตั้งแต่ชีวิตคู่ ชีวิตครอบครัว ไปจนถึงชีวิตการทำงาน แล้วคนจะรักเรา และเราจะได้ในสิ่งที่คนอื่นไม่ได้ แล้วทักษะนี้จะช่วยเราในหลายเรื่องของชีวิต..
2
4. หากอยากสำเร็จ ก็ต้องทำให้สำเร็จ ไม่ใช่ทำเสร็จ
คุณโจ้ ธนา มองว่า ในฐานะที่ตัวคุณโจ้เองเป็นหัวหน้า คุณโจ้จะสนับสนุนและให้โอกาสพนักงานที่ทำงานสำเร็จ มากกว่าแค่ทำเสร็จ
เพราะบางคนมักจะทำงานแค่เสร็จ คือทำแค่ในส่วนของตัวเองให้จบ งานจะสำเร็จหรือไม่ ลูกค้าจะพึงพอใจหรือไม่ ก็อาจจะไม่ได้สนใจตรงนั้น เพราะหน้าที่เรามีแค่นี้ ซึ่งคนเหล่านี้ต่อให้เก่งแค่ไหนก็อาจจะไม่ได้ช่วยให้เป้าหมายองค์กรนั้นสำเร็จได้อย่างสมบูรณ์
10
วิธีคิดแบบทำสำเร็จ ไม่ใช่ทำเสร็จที่พอจะเห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ งานเลขานุการ
เช่น ถ้าเจ้านายให้เลขาฯ นัดคุณ A หากทำแค่เสร็จก็คือ ส่งอีเมลไปนัดให้แล้ว เขาจะสนใจหรือไม่สนใจ ถือว่าทำตามคำสั่งแล้ว แต่งานที่จะสำเร็จจริงก็คือ ต้องมั่นใจว่าอีกฝ่ายได้อ่านอีเมลแล้วจริง ๆ ถ้าเขาไม่ตอบกลับก็ต้องหาทางติดต่อให้ได้คำตอบ หากได้คำตอบแล้ว ก็ต้องคุยกันจนตกลงเวลากันให้เรียบร้อยถึงจะวางใจได้ว่าการทำงานสำเร็จแล้ว
6
ทัศนคติของคนที่ทำงานสำเร็จไม่ใช่แค่เสร็จ เป็นทัศนคติที่คนระดับกลาง ๆ จะมีโอกาสได้งานที่ดี และคุณโจ้ ธนา มองว่าคนแบบนี้ชนะคนเก่งที่เก่งมาก ๆ มานักต่อนักแล้ว
1
5. หากน้อยใจ ไม่ได้เลื่อนขั้น หรือโกรธหัวหน้า อย่าทำสิ่งที่เป็นพิษ
1
หลายคนอยากเลื่อนตำแหน่ง อยากปรับเงินเดือน แต่ผิดหวัง น้อยใจ จนรู้สึกอยากลาออกบ่อย ๆ
3
ซึ่งคุณโจ้ ธนา มองว่า การลาออกไม่ใช่เรื่องผิด
แต่เราต้องแยกให้ออกว่า “มันมีปัญหาที่แก้ได้ กับปัญหาที่แก้ไม่ได้”
ปัญหาที่แก้ได้ เช่น เรามีความรู้ มีความสามารถ มีอำนาจในการต่อรอง เราสามารถออกได้ทุกเมื่อ แต่เราต้องไม่หลอกตัวเอง ต้องแยกอารมณ์กับเรื่องจริงให้ออก
หากเราคิดว่าเราเก่งมาก ถ้าไม่มีเรา บริษัทเสร็จแน่นอน เราต้องคิดเผื่อว่า แต่ในโลกความเป็นจริง พอเราออกเขาก็รับคนมาใหม่ เราต้องประเมินตัวเองให้ได้จริง ๆ ว่า เราเก่งพอที่จะเติบโตไปข้างหน้าได้เองหรือไม่
4
ปัญหาที่แก้ไม่ได้คือ หากหัวหน้าหรืองานไม่ได้ถึงขั้นเลวร้ายมากจริง ๆ ถ้าเราไม่เก่ง ไม่มีทีเด็ด ยังไม่มีทางไป ก็อาจจะต้องฝึกฝนทักษะอยู่ที่เดิมต่อไปจนเชี่ยวชาญก่อน
7
เป็นธรรมดาที่เราจะเห็นสนามหญ้าบ้านคนอื่นเขียวกว่าบ้านเรา คือมองเห็นทุกที่ดูสวยหรูมากกว่าที่ที่เราอยู่ แต่อย่าลืมว่าทุกที่นั้นมีปัญหาหมด เราต้องถามตัวเอง ประเมินตัวเองให้ได้รอบด้านว่าเรามีความสามารถพอที่จะย้ายหรือไม่
6
แต่ถ้าเรามัวแต่คิดถึงปัญหาที่แก้ไม่ได้ แล้วทักษะก็ไม่มี แถมไม่ชอบหัวหน้าอีก แน่นอนว่าคนเขารู้สึกได้ หัวหน้าก็จะยิ่งเกลียดเรา
1
ถ้าต้องอยู่ต่อในที่ทำงานเดิม สิ่งที่เป็นพิษที่สุดที่ไม่ควรทำ นั่นก็คือ “การชักสีหน้า” เราต้องเป็นมืออาชีพให้ได้ดีที่สุด
1
และเราต้องมีกัลยาณมิตร คนที่พร้อมจะพูดกับเราตรง ๆ ว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เราไม่ได้เลื่อนตำแหน่ง เราต้องทำความเข้าใจให้ดี ถ้าเราทุกข์กับมัน มันจะกลายเป็นวงจรแห่งความเลวร้ายไปเรื่อย ๆ
2
เราต้องฝึกเข้มงวดกับตัวเอง ผ่อนปรนกับผู้อื่น
อย่าโมโหแล้วพานเกลียดโลก เอาพลังความโกรธมาทำให้โลกดีขึ้น แล้วเราจะเป็นอันดับหนึ่ง
ดังนั้นหาอำนาจต่อรอง หาทีเด็ดให้ตัวเองอย่างที่ได้กล่าวไป
7
แน่นอนว่าหลาย ๆ ครั้ง การไปในจุดที่สูงขึ้นมีเรื่องของโชคชะตาเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้คนไทยหลาย ๆ คนมักจะอวยพรกันว่า “ขอให้โชคดี”
แต่คุณโจ้ ธนา มองว่า โชคดี ไม่ได้แปลว่าเราจะประสบความสำเร็จเสมอไป
เพราะการประสบความสำเร็จนั้นต้องมีทั้ง “โชคที่ดี กับ การเตรียมพร้อม”
หากเราเตรียมพร้อมมาอย่างดี พอโชคมันมาถึง เราก็จะมีโอกาสทำมันได้ดี
ถ้าไม่เตรียมพร้อม เมื่อโอกาสมาถึง เราก็จะทำมันได้ไม่ดี
1
ที่สุดแล้ว สิ่งที่สำคัญถ้าพูดกันตามหลักศาสนาพุทธ คือ “อิทธิบาท 4”
คือเราต้องมี
- ฉันทะ ชอบในสิ่งที่ทำ หาวิธีที่สนุก
- วิริยะ พยายามทำให้เกิน เกินกว่าความคาดหวังของเจ้านายและลูกค้า
- จิตตะ ไม่วอกแวกไปกับคำด่าของเจ้านายหรือเพื่อนร่วมงาน
- วิมังสา ล้ม ลุก เรียนรู้
10
ในเมื่อความสำเร็จมาจากการตัดสินใจที่ถูก แล้วการตัดสินใจที่ถูกก็มาจากประสบการณ์
ส่วนประสบการณ์มาจากการตัดสินใจที่ผิดมาก่อน เราถึงจะได้เรียนรู้มัน
และการตัดสินใจที่ผิดจะมาจากไหน ? คำตอบก็คือ มันมาจาก “ความกล้า”
2
เพราะฉะนั้น เราต้องกล้าลองผิด เรียนรู้ แล้วเราจะเริ่มคิดถูก เริ่มมีประสบการณ์
สุดท้ายนี้ ถ้าจะให้คุณโจ้ ธนา เลือกสักหนึ่งคำอวยพรหรือคำพูดให้กำลังใจพนักงานตัวเล็ก ๆ ในยุคนี้
คุณโจ้ ธนา ขอเลือกอวยพรแบบคนญี่ปุ่นที่ว่า “กัมบัตเตะเนะ ! พยายามเข้านะทุกคน”
6
References
- สัมภาษณ์พิเศษ คุณธนา เธียรอัจฉริยะ โดยเพจ THE BRIEFCASE
โฆษณา