28 ม.ค. 2022 เวลา 12:47 • กีฬา
จากทีมที่เคยมั่นใจเต็มร้อย ว่าแข็งแกร่งที่สุดในภูมิภาค เจอใครก็ไม่กลัว และประกาศกร้าวว่าจะเป็นทีมแรกจากอาเซียนที่ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในรอบ 84 ปี วันนี้เกิดอะไรขึ้นกับเวียดนาม ทำไมพวกเขาจมดิ่งไปอย่างรวดเร็วเหลือเชื่อ เราจะไปไล่เรียงด้วยกัน
2
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า สิ่งที่เป็นสัจธรรมสำหรับฟุตบอลทีมชาติ คือ แต่ละชาติจะมีช่วงเวลาของความสำเร็จอยู่สั้นๆ ราว 3-4 ปี จากนั้นจะค่อยๆ เข้าสู่ขาลง
บางชาติอาจจะมี Golden Genaration นักเตะเก่งๆ ท็อปฟอร์มพร้อมกัน แต่ถึงจุดหนึ่งก็ต้องแผ่วลง หรือบางชาติมีแท็กติกใหม่ๆ ที่คนจับทางไม่ได้ แต่ถึงวันหนึ่งก็ต้องโดนแก้เกมอยู่ดี
สำหรับฟุตบอลทีมชาติเวียดนาม เราจะเห็นได้เลยว่า ในช่วงปี 2018 ถึง ต้นปี 2021 พวกเขาทำผลงานได้อย่างน่าประทับใจอย่างมาก
จุดเริ่มต้นของความสำเร็จ คือการสร้างระบบเยาวชนอันแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น JMG Academy ของสโมสรฮองอัน ยาลาย ที่ผลิตผู้เล่นดีๆ อย่างเหงียน คอง เฟือง ขึ้นมา จากนั้นในเวลาต่อมา อะคาเดมี่ของฮานอย เอฟซีก็เกิดขึ้น และสามารถสร้างสตาร์แบบเหงียน กวาง ไห่ ได้สำเร็จ
3
แต่ปัญหาของเวียดนามคือ แม้จะผลิตดาวรุ่งเก่งๆ ได้เยอะ แต่กลับไม่มีโค้ชที่จะใช้เด็กๆ เหล่านั้นได้อย่างดีพอ ตัวอย่างเช่น ในซีเกมส์ 2017 ที่มาเลเซีย เวียดนามชุดนั้นมี กวาง ไห่, คอง เฟือง, ลวง ซวน เตรือง และ ดวน วาน เฮา ก็ถือเป็นสตาร์ของทีมชาติชุดใหญ่ในเวลาต่อมาทั้งนั้น แต่ทีมชุดนั้นก็ยังตกรอบแรกซีเกมส์ไปง่ายๆ
1
นับจากปี 2012-2017 เวียดนามใช้โค้ชทั้งหมด 5 คน ถ้าไม่นับโทชิยะ มิอุระ อีก 4 คนที่เหลือก็เป็นคนเวียดนามทั้งหมด ซึ่งก็โอเค โค้ชเวียดนามอาจจะเข้าใจเด็ก แต่พวกเขาขาดแท็กติกในระดับที่ซับซ้อนขึ้น ดังนั้นจึงไม่สามารถยกระดับทีมชาติได้ไกลกว่านั้น
3
หลังตกรอบซีเกมส์ เข้าสู่เดือนตุลาคม 2017 นี่คือจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะเวียดนามแต่งตั้งโค้ชใหม่ ชื่อ ปาร์ก ฮัง-ซอ ซึ่งถือว่าชื่อชั้นใช้ได้ เพราะเคยมีประสบการณ์เป็นผู้ช่วยโค้ชทีมชาติเกาหลีใต้มาแล้วในยุคกุส ฮิดดิงค์ โดยพาทีมโสมขาวทะลุถึงรอบรองชนะเลิศในฟุตบอลโลก 2002
1
ปาร์ก ฮัง-ซอ จะเข้ามาทำงานสองตำแหน่งควบกัน คือโค้ชเวียดนามชุดใหญ่ และโค้ชเวียดนามชุด u-23 ได้ค่าจ้างเดือนละ 20,000 ดอลลาร์ (660,000 บาท)
4
ไอเดียของปาร์ก ฮัง-ซอ นั้น เขาจะดันเด็กๆ u-23 เหล่านี้ โดยตั้งใจจะให้กลายมาเป็นผู้เล่นทีมชาติชุดใหญ่ไปด้วย คือถ้าทีม 2 ชุด มีแกนหลักเป็นผู้เล่นกลุ่มเดียวกัน ก็ย่อมเข้าใจแท็กติกของเขาอย่างรวดเร็ว ลึกซึ้ง ไม่ต้องเสียเวลาปรับจูนให้วุ่นวาย
1
สิ่งที่ปาร์ก ฮัง-ซอ เข้ามาเปลี่ยน อย่างแรกคือเรื่องแท็กติก จากเดิมเวียดนามใช้ 4-3-3 มาหลายปี โค้ชปาร์กโละแผนทิ้งแล้วเปลี่ยนมาใช้ 5-4-1 หรือ 3-4-3
กล่าวคือเวียดนามเคยมีปัญหามาตลอดเรื่องเกมรับ ดังนั้นการใช้ระบบ 3 เซ็นเตอร์แบ็ก ก็พอจะการันตีได้ว่า จะไม่โดนเจาะง่ายๆ วิงแบ็ก 2 ข้าง ก็ใช้ตัวที่พลังเยอะๆ คอยวิ่งขึ้นลงตลอด
รวมถึงปรับสไตล์การเล่นของเวียดนาม คือไม่ต้องโชว์เทคนิคเยอะ ทั้งทีมจะมีแค่เหงียน กวาง ไห่ ที่ได้รับอิสระในการเล่น แต่คนอื่นๆ ต้องออกบอลเร็ว หาช่องให้เพื่อน เสียบอลก็วิ่งไล่ เน้นความขยันเข้าไว้
3
ที่สำคัญนักเตะต้องมีวินัยอย่างมาก ต้องซ้อมหนักเต็มที่ เขาเอาความเป็นเกาหลีมาใส่โปรแกรมให้นักเตะเวียดนามได้เข้าใจว่า ถ้าพยายามมากพอ ก็มีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้
2
การเล่นที่เน้นความฟิต วิ่งเยอะ วิ่งสู้ เล่นบอลเร็ว มันเข้าทางกับผู้เล่นเวียดนามที่มีพลังอึดพอดี นั่นทำให้ผลงานของปาร์ก ฮัง-ซอ เข้าเป้ามาก รายการแรกที่เขาคุม คือ ศึก u-23 ชิงแชมป์เอเชียปี 2018 เวียดนามมาจากไหนไม่รู้ เข้าชิงชนะเลิศเฉยเลย และเกือบเป็นแชมป์แล้วด้วย แต่ไปเสียประตูให้อุซเบกิสถานในนาที 120 อย่างไรก็ตาม การได้รองแชมป์เอเชีย ก็ถือเป็นมาสเตอร์พีซแล้ว
2
ในปี 2018 เวียดนามไม่ได้หยุดแค่นั้น พวกเขาเข้าถึงรอบรองชนะเลิศ ในเอเชียนเกมส์ที่อินโดนีเซีย ตามด้วยคว้าแชมป์ซูซูกิคัพ เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
3
ปี 2019 เวียดนามก็ยังทรงดีอยู่ ในเอเชียนคัพ 2019 พวกเขาเป็นทีมจากอาเซียนที่ไปได้ไกลที่สุด คือรอง 8 ทีมสุดท้าย แพ้ญี่ปุ่นแบบหวุดหวิด 1-0 ชนิดที่เกือบพลิกชนะได้ด้วย ขณะที่ไทยตกรอบ 16 ทีมสุดท้าย
2
สิ่งที่น่าสนใจคือในเอเชียนคัพครั้งนี้ เวียดนามเป็นทีมที่มีค่าเฉลี่ยอายุนักเตะน้อยที่สุดในทัวร์นาเมนต์ (23.1 ปี) โดยใน 23 คนที่ส่งไป มีนักเตะถึง 16 คนที่อายุไม่เกิน 23 ปี กล่าวคือใช้งานผู้เล่นดาวรุ่งกันยกเซ็ต แม้จะเป็นทัวร์นาเมนต์ระดับทวีปก็ตาม
5
นี่ล่ะคือสิ่งที่ปาร์ก ฮัง-ซอ ต้องการคืออยากใช้นักเตะพลังหนุ่ม ที่วิ่งพล่านตลอดเกม บดคู่แข่งให้เหนื่อยกันไปข้าง ซึ่งด้วยแนวทางการเล่นแบบใหม่นี้ ทำให้เวียดนามก้าวหน้าขึ้นจริงๆ และอย่างที่เราทราบกัน เวียดนามสามารถผ่านเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้าย ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชียได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์
2
เช่นเดียวกับฟีฟ่า เวิลด์แรงค์กิ้ง ในวันแรกที่ปาร์ก ฮัง-ซอ รับงาน เวียดนามอยู่ที่ 130 ของโลก แต่พอเขาเข้ามาแป้บเดียว เวียดนามอยู่ต่ำกว่าอันดับ 100 ได้สำเร็จ
1
ปลายปี 2019 โค้ชพาร์ก ได้รับรางวัลบุคคลเอเชียแห่งปี จากสมาคมนักข่าวเอเชีย ร่วมประธานาธิบดีของอุซเบกิสถาน และ อดีตประธานบริษัท LG Group ที่ล่วงลับไปแล้ว คือชื่อเสียงของเขาไต่ไปถึงขีดสุด ในฐานะคนที่ทำให้ฟุตบอลเวียดนามมีชีวิตอีกครั้ง
4
เมื่อฟอร์มในสนามน่าประทับใจ ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลเวียดนามหันมาลงทุนกับสาธารณูปโภคมากขึ้น ในปี 2020 มีการก่อตั้งศูนย์ฝึกเยาวชน PVF โดยจ้างฟิลิปป์ ทรุสซิเยร์ เข้ามาเป็นผอ. อะคาเดมี่ และโค้ชทีม u-19
2
AFC เคยระบุว่า คุณภาพของศูนย์เยาวชน PVF มีมาตรฐานในระดับท็อปทรีของเอเชีย คือทางเวียดนามเขาอยากจะก้าวกระโดดให้ได้มากกว่านี้จริงๆ
1
ทุกสิ่งทุกอย่าง มันช่วยสร้างความมั่นใจให้แฟนๆ อย่างมหาศาล ตอนผ่านเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายของฟุตบอลโลกได้ สื่อเวียดนามพูดกันว่า พวกเขาอาจเป็นชาติอาเซียนชาติแรก ในรอบ 84 ปี ที่ได้ไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็เป็นได้ (ชาติสุดท้ายคืออินโดนีเซีย ในฟุตบอลโลก 1938 ในชื่ออีสต์ ดัตช์ อินดีส์)
5
แม้แต่ตอนที่เวียดนามจับสลากอยู่ในสายเดียวกับ ออสเตรเลีย, ซาอุดิอาระเบีย, ญี่ปุ่น, โอมาน และ จีน ซึ่งเป็นกรุ๊ปออฟเดธเห็นๆ แฟนๆ ก็เชื่อมั่นว่าจะสอดแทรกติดท็อปทรีได้
4
ผมยังจำได้ดี ตอนที่จับสลากใหม่ๆ ชาวเน็ตเวียดนามมีการเปรียบเทียบกับไทย เมื่อ 4 ปีก่อน เราก็อยู่ในกลุ่มคล้ายๆ กัน (ออสเตรเลีย, ซาอุดิอาระเบีย, ญี่ปุ่น, อิรัก, ยูเออี) เขาบอกว่าไทยทำผลงานน่าผิดหวัง เพราะได้แค่ 2 แต้ม (เสมอออสเตรเลีย 1 นัด เสมอยูเออี 1 นัด) เวียดนามจะแสดงให้เห็นว่าผลงานที่ดีเป็นอย่างไร คือแฟนๆ มั่นใจกันขนาดนั้นเลย
1
อย่างไรก็ตาม โมเมนตั้มที่ทุกอย่างดูไปได้ดี ก็มาพังทลายเอาในปี 2021 นี่เอง อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าทุกๆ ทีมชาติจะมีช่วงให้กอบโกยความสำเร็จอยู่ราวๆ 3-4 ปี ซึ่งเวียดนามฟอร์มดีมา 3 ปีแล้ว (2018,2019,2020) และเมื่อเข้าสู่ เดือนกันยายน 2021 ช่วงเวลาฮันนีมูนก็จบลง เมื่อพวกเขาแพ้ "ทุกนัด" ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก
1
แข่ง 7 นัด มี 0 แต้ม ยิงได้น้อยที่สุดในกลุ่ม (4 ลูก) เสียเยอะที่สุดในกลุ่ม (16 ลูก) หรือแม้แต่ในทัวร์นาเมนต์ที่ตัวเองเคยเป็นแชมป์เก่าอย่างซูซูกิคัพ ก็แพ้ไทยตกรอบรองชนะเลิศไปอย่างเจ็บช้ำ
3
สถิติไม่เคยแพ้ทีมจากอาเซียนสามปีโดนทำลายลง สถิติไม่เคยแพ้ใครเกิน 3 ลูก ก็โดนทำลายเช่นกัน หลังจากโดนออสเตรเลียกดยับไป 4-0
2
ส่วนอันดับโลกล่าสุด พวกเขาหล่นมาอยู่ที่ 102 หลุดจากท็อป 100 เป็นครั้งแรกนับจากเดือนพฤศจิกายนปี 2018
คำถามคือมันเกิดอะไรขึ้น ทำไมทุกอย่างมันพลิกผันได้เร็วมากขนาดนี้ เวียดนามไปสะดุดตรงไหน เราจะลองไปไล่เรียงด้วยกัน
---------------------------
[ ปัญหาข้อที่ 1 คือ กลยุทธ์เตะคน ใช้ไม่ได้ผลในเลเวลเอเชีย ]
เวียดนามถือว่าเป็นหนึ่งในลีกที่เล่นบอลกันดุมากที่สุด ค่าเฉลี่ยใบเหลืองต่อเกมสูงถึง 3.43 ใบ หากไปเทียบกับเจลีก ญี่ปุ่น อยู่ที่ 2.05 หรือในพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ก็อยู่แค่ 3.0
1
ครั้งหนึ่งทานากะ โคจิ นักวิเคราะห์ฟุตบอลชาวญี่ปุ่น พูดถึงวี-ลีก ออกมาตรงๆ เลยว่า "ทัศนคติของผู้เล่นเวียดนามยังขาดความเป็นมืออาชีพ จำนวนฟาวล์ต่อเกมสูงมากเกินไป นอกจากนั้นยังชอบถ่วงเวลา"
1
นักเตะเวียดนามในบอลลีกเล่นกันเดือดสุดๆ เตะเป็นเตะ แล้วคุณภาพกรรมการที่วี-ลีก ก็มองการเล่นหนักเป็นเรื่องปกติ หลายๆครั้ง ถ้าเป็นลีกอื่นคงเป็นจุดโทษ แต่กรรมการในวี-ลีกก็ปล่อยเลยตามเลย มันยิ่งเพิ่มความรุนแรงให้เกมในสนาม
2
พอเอาทัศนคติแบบนี้มาเล่นนอกประเทศ ถ้าเจอในอาเซียนด้วยกัน ก็อาจได้ผลอยู่ คู่แข่งจะโต้กลับก็เบรกเกมเร็ว ตัดหนักๆ ไว้ก่อน แต่พอเจอเลเวลเอเชียปั๊บ เขาไม่ปล่อยให้คุณหวดง่ายๆหรอก ถ้าใครดูตอนเวียดนามเจอญี่ปุ่น เวียดนามคิดจะเข้ามาหวด เจอญี่ปุ่นออกบอลเร็ว 1-2-3 หลุดไปได้สบายๆ เลย
2
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ทำฟาวล์ง่ายเกินไป ถ้าเป็นในลีกอาจจะไม่มีอะไร แต่ไปทำในเกมนานาชาติ มันคือจุดโทษ ในฟุตบอลโลกรอบ 12 ทีมสุดท้าย กลุ่ม B ลงแข่งกันไปแล้ว 21 นัด มีจุดโทษทั้งหมด 5 ลูก ปรากฏว่า 3 จาก 5 เกิดจากผู้เล่นเวียดนามทำฟาวล์ในเขตโทษ
2
การเล่นหนักไม่ใช่เรื่องผิด แต่จะได้ผลในระดับที่สูงหรือไม่ เป็นสิ่งที่เวียดนามน่าจะได้เห็นแล้ว
1
----------------------------
1
[ ปัญหาข้อ 2 คือ เวียดนามให้ความสำคัญกับบอลทีมชาติมากกว่าบอลลีก ]
2
ในวี-ลีก เป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกันแล้วที่ค่าเฉลี่ยคนดูลดลงมาเรื่อยๆ ซึ่งน่าแปลกดี เพราะในช่วง 3 ปีนั้น เป็นช่วงที่ทีมชาติได้รับความนิยมสูงสุด
สิ่งที่ชัดเจนคือแฟนบอลไม่ค่อยใส่ใจบอลลีกนัก ตรงข้ามกับเกมทีมชาติที่จะเฝ้ารอให้ลงแข่ง เช่นเดียวกับสปอนเซอร์ ก็รุมกระหน่ำไปให้แข้งทีมชาติ เรื่องแบบนี้มันส่งผลต่อทัศนคติของผู้เล่นเหมือนกัน ที่จะโฟกัสกับทีมชาติไว้ก่อน สโมสรก็ลงเล่นอย่างระมัดระวัง ประคองตัวไม่ให้เจ็บเป็นสำคัญ ไม่แปลกที่คุณภาพของลีกจะค่อยๆ ลดลง
1
ยิ่งไปกว่านั้น ฟุตบอล วี-ลีก ก็มีความไม่แน่นอนเยอะ อย่างปีที่แล้วซีซั่น 2021 ก็ประกาศตัดลีกจบดื้อๆ เลย ทั้งๆที่ผ่านไปแค่ 12 เกม แปลว่าไม่มีบอลสโมสรให้แข่งขันนานถึง 8 เดือนเต็ม
2
ดังนั้นกลุ่มนักเตะที่ปาร์ก ฮัง-ซอ จำเป็นต้องใช้ ในฟุตบอลโลก หรือซูซูกิคัพ ก็คือพวกเซ็ตเดิมๆ ที่คุ้นหน้ากัน ไม่มีสตาร์ตัวใหม่ขึ้นมา เพราะมันไม่มีเกมลีก แล้วจะไปหานักเตะจากไหน
1
อย่างไทย เราเห็นวรชิต กับกฤษฎา ฟอร์มดีในลีกกับชลบุรี ก็ได้โอกาสในซูซูกิคัพ เราเห็นวีระเทพ ป้อมพันธุ์ เล่นดีกับเมืองทอง ก็ได้โอกาสกับทีมชาติเช่นกัน แต่สิ่งนั้นไม่เกิดกับเวียดนาม เพราะพวกเขาไม่มีเกมลีกให้เล่น
1
นอกจากนั้นดาวรุ่งเวียดนามก็หยุดพัฒนาตัวเอง มีนักเตะคนหนึ่งชื่อ เหงียน ไห่ หลง ได้รับฉายาว่า "กวางไห่คนต่อไป" แต่ยังไม่ทันได้เลเวลอัพ บอลลีกก็หยุดแข่งซะก่อน แล้วดาวรุ่งจะไปต่อยังไงล่ะทีนี้
เท่ากับว่าปาร์ก ฮัง-ซอ เอง ก็ไม่มีทางเลือก ทำได้แค่เก็บตัวแล้วลงแข่งขัน แล้วแบบนี้ มันจะต่างอะไรกับแนวคิดดรีมทีมสมัยโบราณ
1
---------------------------
2
[ ปัญหาข้อที่ 3 คือ ทีมอื่นเริ่มจับทางได้แล้ว ]
1
เวียดนามใช้แผน 5-4-1 หรือ 3-4-3 ยึดกับ 3 เซ็นเตอร์แบ็กมาตั้งแต่วันแรกของปาร์ก ฮัง-ซอ และเขาใช้มันมาตลอดทุกทัวร์นาเมนต์ โอเคล่ะ แรกๆ ตอนคนยังไม่รู้ว่าเล่นยังไง ก็มีความน่ากลัวอยู่จริง
1
3 เซ็นเตอร์แบ็ก ทำให้เกมรับแน่นมาก จากนั้นใช้ความสามารถพิเศษของเหงียน กวาง ไห่ ในการสร้างความแตกต่างเช่นยิงไกลนอกเขตโทษ หรือแทงคิลเลอร์พาสให้เพื่อน เราจึงเห็นเลยว่า เมื่อก่อนเหงียน กวาง ไห่ ยิงประตูหรือทำแอสซิสต์ได้บ่อยมาก เพราะบอลจะมาอยู่กับเท้าของเขาตลอด
แต่ประเด็นคือคุณใช้แผนนี้มา 3 ปีแล้ว คิดว่าคู่แข่งจะจับทางไม่ได้เชียวหรือ พวกเขาส่งกองกลางตัวรับสักตัวไปประกบกวาง ไห่ แบบแมนมาร์กกิ้ง แค่นี้เวียดนามก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว
2
ปีแรกของปาร์ก ฮัง-ซอ (2018) กวาง ไห่ ยิงในทีมชาติได้ 10 ลูก กับทำ 2 แอสซิสต์ คิดดูว่าเล่นดีระเบิดเถิดเทิงขนาดไหน
แต่พอมาในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก 7 นัด ปรากฏว่า กวาง ไห่ ยิงประตูได้ 1 ลูก (ลูกแรกสุด เกมแพ้ซาอุฯ 3-1) จากนั้นมาห้าร้อยกว่านาที กวาง ไห่ ยิงไม่ได้อีกเลย เพราะคู่แข่งเขารู้ทัน จับตายไว้หมดแล้ว
1
ขนาดในซูซูกิคัพ อินโดนีเซียยังรู้เลยว่าต้องเล่นกับเวียดนามยังไง (เสมอ 0-0) และชาติระดับเอเชียที่ไปบอลโลกเป็นประจำ อย่างซาอุดิอาระเบีย , ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น พวกเขาจะไม่รู้หรอ
1
และแน่นอน เมื่อเกมรุกของเวียดนามหายไป ที่เหลือก็มีแต่รอโดนอย่างเดียว
---------------------------
[ ปัญหาข้อที่ 4 คือ สปิริตอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีเทคนิคใหม่ๆ เพิ่ม ]
เวียดนามพยายามชูตัวเองว่า นักเตะเล่นเต็มที่ เล่นด้วยสปิริต แต่คำว่าสปิริตจะใช้การได้ไปถึงไหน ถ้ายังมีปัญหาเรื่องเทคนิคอยู่
ผู้เล่นเวียดนามทั้งทีมค้าแข้งในลีกเวียดนามหมด (ยกเว้น ดัง วาน ลัม ซึ่งก็ไม่ได้ลงกับเซเรโซ่ โอซาก้า เช่นกัน) นักเตะต้องการอยู่ใน Safe Zone อยู่ในลีกบ้านตัวเองก็ปลอดภัยแล้ว ถ้าย้ายไปเล่นลีกอื่น แบบ ดวน วาน เฮา ที่ฮีเรนวีนแล้วไม่ได้ลงเลย คงเสียหน้าฟรีแน่ๆ ขณะที่สโมสร ก็ไม่มีความพยายามที่จะผลักดันนักเตะไปค้าแข้งต่างแดน ตัวเองปั้นมา ก็อยากให้อยู่กับทีมไปนานๆ
3
มันเลยกลายเป็นว่า ไม่มีผู้เล่นที่สามารถสร้างความพิเศษได้ในสนาม อย่างไทยในซูซูกิคัพ ตื้อๆ ตันๆ คิดอะไรไม่ออก ชนาธิปซัดเปรี้ยงหาย หรืออย่างทีมชาติจีน คิดอะไรไม่ออกมี วู่เล่ย คอยยิง เกาหลีใต้มีซน ฮึง-มิน คอยซัด
5
เวียดนามยังใช้นักเตะในลีกตัวเองอย่างเดียว ในเชิงเทคนิคจึงตันอยู่แค่นี้ (ยังไม่นับว่าลีกเดี๋ยวแข่ง เดี๋ยวหยุดอีกนะ) ดังนั้นต่อให้โค้ชอย่างปาร์ก ฮัง-ซอ อยากยกระดับทีมก็ทำได้ยาก
2
---------------------------
1
[ จบฮันนีมูน ได้เวลาเผชิญความจริง ]
จากทุกเหตุผลมันนำมาสู่คำตอบว่า ตัวผู้เล่นและแท็กติกที่เวียดนามใช้มา 3 ปี มาวันนี้มันไม่ได้ผลอีกแล้ว จำเป็นต้องมีการถ่ายเลือดใหม่ หาดาวรุ่งเก่งๆ ไม่ใช่แค่ตัวหน้าซ้ำๆ แต่แน่นอนจะทำอย่างนั้นได้ บอลลีกก็ต้องมีคุณภาพด้วย
1
ที่เวียดนามก็มีการดีเบทกันว่า ปาร์ก ฮัง-ซอ ควรอยู่ต่อไหม ปัจจุบันเขารับเงินในสัญญาฉบับใหม่ที่ 50,000 ดอลลาร์ ต่อเดือน (1.6 ล้านบาท) ซึ่งความเห็นก็มีเป็นสองกลุ่ม คืออยากให้อยู่ต่อ และอยากเปลี่ยนคนใหม่บ้าง
4
บางกระแสแนะนำว่า น่าจะลองเปลี่ยนดู โค้ชเก่งๆ มีเยอะทั่วโลก ยิ่งเวียดนามมีดีกรีเข้ารอบ 12 ทีมสุดท้ายแบบนี้ ใครๆ ก็อยากมาร่วมงานด้วยทั้งนั้น คือไม่จำเป็นต้องยึดติดกับปาร์ก ฮัง-ซอ ตลอดไป
2
แต่ทิศทางของคนส่วนใหญ่ อยากให้อยู่ต่อมากกว่าโดยระบุว่า เมื่อเวียดนามเจอโค้ชที่สร้างแนวทาง สร้างสไตล์ของทีมได้แล้ว ก็ไม่ควรเปลี่ยนง่ายๆ อย่าลืมว่ากำแพงระดับเอเชียมันใหญ่มาก และนี่เป็นครั้งแรกที่เวียดนามเข้ามาเล่นในฟุตบอลโลกรอบ 12 ทีมสุดท้าย โค้ชเองก็จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์นี้ไว้ แล้วเอาไปแก้ไขให้ดีขึ้นในฟุตบอลโลก 2026
2
อีกอย่าง ก็มีคนเห็นใจปาร์ก ฮัง-ซอ เหมือนกันว่าในเงื่อนไขที่บอลลีกปิด และไม่มีตัวผู้เล่นให้เลือกสรรมากพอ เขาทำทีมได้ขนาดนี้ก็ดีแล้ว
1
ถามว่าสหพันธ์ฟุตบอลเวียดนามจะเด้งปาร์ก ฮัง-ซอ ไหม คำตอบคือยาก ด้วยการมีสัญญากันอยู่ถึง มกราคม ปี 2023 ก็พอจะเห็นภาพว่า สหพันธ์ฟุตบอลเวียดนาม อยากให้ปาร์ก ฮัง-ซอ เป็นโค้ชต่อ เพื่อลงแข่งในรายการสำคัญ ทั้ง u-23 ชิงแชมป์เอเชีย และ ซูซูกิคัพ 2022
3
อีกทั้งสเตตัสความเป็นฮีโร่ของโค้ชปาร์กกับแฟนๆ ก็ยังมีเยอะอยู่ ดูจากทิศทางแล้ว คงยังไม่เปลี่ยนแปลงกันตอนนี้ จะไปว่ากันอีกทีต้นปี 2023 นั่นล่ะ
ถึงตรงนี้แฟนบอลเวียดนามก็ต้องเข้าใจว่าช่วงฮันนีมูนหมดลงแล้ว เหมือนคู่แต่งงานที่ต้องกลับมาใช้ชีวิตคู่จริงๆ
มันหมายความว่าการอวดอ้างความยิ่งใหญ่อย่างใน 3 ปีที่ผ่านมา คงทำไม่ได้แล้ว และแน่นอนว่าทุกอย่างจากนี้ไปจะเต็มไปด้วยความยากลำบากขึ้น
1
แต่ถ้าพวกเขายอมรับความจริงได้เร็ว ไม่เพิกเฉยจุดอ่อนของตัวเอง และแก้ไขมันได้ทันท่วงที ก็มีโอกาสท้าทายกับไทย ในการเป็นเจ้าอาเซียนได้อีกครั้งในปีนี้เช่นกัน
1
#theHANneymoonISOVER
โฆษณา