29 ม.ค. 2022 เวลา 12:19 • ประวัติศาสตร์
"ศึกตีเมืองละแวก (ภาค 2.2)" เรื่องราวจากคอลัมน์ "รุ่นเก๋า...เล่าเกร็ด" บนแอป 2read
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ศูนย์ท่องเที่ยวอยุธยา
การศึกระหว่างสมเด็จพระนเรศ กับพระยาละแวก ดำเนินไปอย่างเข้มข้น และกำลังจะเข้าสู่บทสรุป วันนี้เราไปดูกันต่อเลยนะครับ
สมเด็จพระนเรศตีเมืองละแวก ครั้งที่ 1
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณ พ.ศ. 2129 - 2130 (ไทยสากล) โดย ฉบับหลวงประเสริฐ บันทึกเหตุการณ์ใน จ.ศ. 949 ไว้ว่า
“… แลพระยาละแวกมาตั้ง ณ บางซาย ครั้งนั้นเสด็จออกไปชุมพลทั้งปวง ณ บางกระดาน เถิงวันพฤหัส ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 เพลาอุษาโยค เสด็จพยุหบาตราจากบางกระดานไปตั้งทัพไชย ณ ซายเคือง แล้วเสด็จไปละแวก ครั้งนั้นได้ช้างม้าผู้คนมาก”
ขณะที่อยุธยาติดศึกนันทบุเรงอยู่นั้นเอง พระยาละแวกก็ส่งกำลังมาตีหัวเมืองตะวันออกของอยุธยาทันที
แล้วหลังจากนั้น อยุธยาก็เป็นฝ่ายบุกไปตีเมืองละแวกบ้าง โดยฉบับหลวงประเสริฐไม่ได้บอกว่า ครั้งนี้ใครแพ้ ใครชนะ แต่บอกสั้นๆ แค่ว่า อยุธยาได้ช้างม้า และกวาดต้อนผู้คนจากละแวกกลับมาเป็นจำนวนมาก
ส่วน ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ขยายรายละเอียด ว่า
พระยาละแวก เมื่อได้ข่าวว่าพระเจ้านันทบุเรงยกทัพใหญ่มาตีอยุธยา จึงสั่งแม่ทัพนายกองออกตีหัวเมืองชายแดนตะวันออกของอยุธยา
สมเด็จพระมหาธรรมราชา และ สมเด็จพระนเรศ ทรงส่ง 2 นายทหาร (พระยาศรีไสณรงค์ พระยาศรีราชเดโช) พากำลังออกไปสกัดที่นครนายก เกิดการปะทะกันจนทัพเมืองละแวกแตกหนีไป 2 แม่ทัพอยุธยาไล่ตามตี จับได้เชลยและริบอาวุธได้เป็นจำนวนมาก
ทั้งหมดนั้นผมเล่าจากเอกสารฝ่ายไทย คือ ฉบับหลวงประเสริฐ และ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ส่วนใน ราชพงศาวดารกรุงกัมพูชา ไม่มีการพูดถึงเลยนะครับ
จากนั้น ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ก็เล่าต่อไปว่า
เมื่อเสร็จจากศึกยุทธหัตถีแล้ว ก็ได้เวลาที่สมเด็จพระนเรศ จะบุกตีเมืองละแวกเป็นการตอบแทนบ้าง !!!
ทัพของสมเด็จพระนเรศ เข้าล้อมเมืองละแวกไว้ 3 เดือน แต่เป็นช่วงที่เมืองละแวกประสบภัยแล้ง ข้าวในนาได้ผลน้อย และอยุธยาก็ไม่มีทัพเรือไว้ขนเสบียง ทำให้ขาดแคลนเสบียงอย่างหนัก จึงต้องเลิกทัพกลับอยุธยา
รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ให้ความรู้ไว้ในหนังสือ “เขมรรบไทย” ว่า
ศึกตีเมืองละแวกครั้งที่ 1 นี้ ปรากฏหลักฐานของฝั่งกัมพูชา อยู่ในจารึกวัดโรมโลก ซึ่งพบที่วัดโรมโลก จ. ตาแก้ว ของกัมพูชา แต่ก็บอกสั้นๆ แค่เพียงว่า สมเด็จพระนเรศยกมาทำศึกแล้วถอยกลับไป
ส่วนในพงศาวดารกัมพูชา พบเหตุการณ์นี้เฉพาะในฉบับที่ชำระใหม่เท่านั้น โดยน่าจะได้รับอิทธิพลจากเอกสารฉบับความพิสดารของฝั่งไทย ซึ่งชำระขึ้นในยุคต้นรัตนโกสินทร์
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช วัดพยัคฆาราม จังหวัดสุพรรณบุรี
สมเด็จพระนเรศตีเมืองละแวก ครั้งที่ 2
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ. 2136 - เดือนมีนาคม พ.ศ. 2137 โดย ฉบับหลวงประเสริฐ บันทึกไว้ว่า
“… ณ วันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ เดือน 2 เพลารุ่งแล้ว 3 นาฬิกา 6 บาท เสด็จพยุหยาตราไปเอาเมืองละแวก แลตั้งทัพไชยตำบลบางขวดเสด็จไปครั้งนั้นได้ตัวพระยาศรีสุพรรณ ในวันอาทิตย์ แรม 1 ค่ำ เดือน 4 นั้น"
ส่วน ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บอกว่า
สมเด็จพระนเรศ ยกทัพใหญ่ ประกอบด้วยช้าง 800 ม้า 1,500 ไพร่ราบ 100,000 นอกจากนั้นยังมีทัพเสริมจากนครราชสีมา มีทัพเรือจากหัวเมืองปักษ์ใต้ 250 ลำ ทั้งเรือรบ และเรือเสบียง
ทัพของสมเด็จพระนเรศ ตีหัวเมืองรายทางได้ทีละเมือง ทั้งโพธิสัตว์ ปัตบอง เมืองบริบูรณ์ เสียมเรียบ กำปงสวาย ฯลฯ
พระศรีสุพรรมาธิราช (อนุชาของนักพระสัตถา) ต้องตีฝ่าทัพอยุธยาออกไปยังเมืองละแวก เพื่อเข้ารายงานสถานการณ์ต่อนักพระสัตถา
ส่วนพระยาจีนจันตุ ตายในสนามรบที่เมืองพุทไธมาศ
ครั้นเมื่อทัพหน้า ทัพหลวง ทัพเสริมจากนครราชสีมา ทัพของพระยาราชวังสัน และทัพเรือ มาบรรจบกันที่เมืองละแวกแล้ว ก็ตั้งล้อมไว้
สมเด็จพระนเรศ ทรงแต่งพระราชสาส์นไปถึงนักพระสัตถา ให้ออกมาถวายบังคมภายใน 3 วัน แต่นักพระสัตถา สั่งทหารยิงปืนเข้าใส่ทัพอยุธยา
พอถึงวันเสาร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 5 จ.ศ. 946 ทหารอยุธยาก็สามารถพังประตู และกรูกันเข้าเมืองละแวกได้สำเร็จ สามารถจับตัวพระศรีสุพรรมาธิราช (อนุชาของนักพระสัตถา) และเจ้านายเชื้อพระวงศ์ได้เป็นจำนวนมาก
ทีนี้... มันจะมีข้อแตกต่างที่สำคัญ ซึ่งฝั่งหนึ่งคือเอกสารของไทย กับอีกฝั่งคือเอกสารของกัมพูชา รวมกับของสเปนซึ่งสองฝั่งนี้ว่าไว้ไม่ตรงกัน
โดยใน ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) บอกว่าอยุธยาสามารถจับตัวพญาละแวกได้ แล้วพันธนาการมาถวายสมเด็จพระนเรศ แล้วกองทัพอยุธยาก็นำตัวเจ้านายเชื้อเมืองละแวกทั้งหมด กลับไปกรุงศรีอยุธยา
มาดูหลักฐานของฝั่งกัมพูชานะครับ ผมคัดลอกข้อความจาก ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา มาให้ดูกัน เขาเล่าตั้งแต่มูลเหตุของศึกครั้งนี้เลย...
“ลุศักราช 952 ปีขาลจึงสมเด็จพระนเรศวรกระษัตริย์เมืองไทย ใช้หมอ 2 คนผู้ซึ่งรู้ศิลปวิทยาคมในการบรรจุกฤติยาคุณ ให้ถือบวชเพศเปนสงฆ์ขึ้นไปเมืองลาวแล้วลงมายังกรุงกัมพูชา
ลุศักราช 953 ปีเถาะ พระสงฆ์สองรูปนั้นกระทำกฤติยาคุณ พระองค์ได้ถูกคุณกฤติยาคุณของเขา พระสติผันแปร เสวยแต่น้ำจัณฑ์ทุกวันทุกคืน พระองค์ทรงให้นำพระพุทธรูปอัฐรัศทั้ง 4 องค์ไปเผาไฟแล้วให้เอาถ่านขี้เถ้าไปบรรจุในพระวิหาร
ลุศักราช 944 ปีมโรง พระสงฆ์หมอกฤติยาคุณทั้ง 2 รูปนั้นได้มีหนังสือลอบส่งข่าวคราวประพฤติเหตุไปยังเมืองไทย”
จากนั้น สมเด็จพระนเรศ ทรงกรีฑาทัพใหญ่ไพร่พล 300,000 ยกมาทางชายแดนเมืองพระตะบอง ทหารส่งหนังสือเข้ามาทูลรายงานที่เมืองละแวก แต่นักพระสัตถา กลับบอกว่า
“อย่าไปรบกับกองทัพไทยเลย จงเปิดทางให้กองทัพไทยเดินเข้ามาเถิด”
เมื่อกองทัพอยุธยาใกล้จะถึงเมืองละแวกแล้ว ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ก็เล่าถึง พระยาละแวก (นักพระสัตถา) ว่า
“… ครั้นพระราชโองการพระบรมราชาทรงทราบว่า สมเด็จพระนเรศวรได้เสด็จกรีธาทัพมาจวนจะถึงค่ายลงแวกแล้ว พระบรมราชาก็เสด็จขึ้นทรงช้างพระที่นั่ง ออกจากค่ายลงแวก พร้อมด้วยมุขมนตรี เสนีเสนาฝ่ายน่าฝ่ายใน ไพร่พลครอบครัวที่ตามเสด็จก็พากันออกจากเมืองไป
ครั้นเดินทางมามิทันไรก็ได้ประทะพบกับกองทัพสมเด็จพระนเรศวร บรรดาไพร่พลพากันตกใจ แตกหนีกระจัดกระจายไป ส่วนพระองค์พระบรมราชาได้เสด็จหนีไปลงเรือพร้อมกับพระราชบุตร แลพระอรรคมเหษี ข้ามไปประทับอยู่ ณ เมืองเสร๊ยสนทอร์ (ศรีสุนทร)
ส่วนสมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จเข้าไปในค่ายลงแวก ได้พระศรีสุริโยพรรณซึ่งเปนพระราชอนุชากับพระราชบุตร แล้วให้เก็บรวบรวมพระราชทรัพย์ด้วย แล้วได้พระศรีไชยเชฐซึ่งเปนสมเด็จพระอนุชาอิกด้วย แลได้มุขมนตรีบางคนพร้อมกับเครื่องสาตราวุธ ให้เก็บรวบรวมไว้ ณ ที่ส่วนหนึ่ง แต่พระขรรค์สำหรับราชย์แลบรรดาเครื่องสิ่งซึ่งเปนของสำหรับพระขรรค์นั้น มีปโรหิตนำหนีรอดพ้นไปได้
ลุศักราช 956 ปีมเมีย พระศรีสุริโยพรรณพระชัณษาได้ 38 ปี แต่ส่วนพระไชยเชฐนั้นพระชัณษาเท่าใดไม่ปรากฏ กองทัพไทยได้พาพระองค์ไปยังกรุงศรีอยุทธยาในปีมเมียนั้นเอง แต่ส่วนพระเชษฐาประทับอยู่ ณ เมืองเจิงเปร๊ย (ตีนป่า) เห็นว่าสมเด็จพระราชโองการบรมราชาได้เสด็จไปประทับอยู่เมืองเสร๊ยสนทอร์แล้ว ให้ขอพระราชเทพีทั้ง 2 จากพระองค์ พระองค์ก็โปรดให้แต่ส่วนพระองค์อรรคมเหษีแลพระราชบุตรได้เสด็จไปประทับอยู่เมืองลาว”
เห็นไหมครับคุณผู้ชม มันมีความแตกต่างกันระหว่างหลักฐานของไทยกับของกัมพูชา...
พงศาวดารไทยบอกว่า อยุธยาจับตัวพญาละแวก (นักพระสัตถา / พระบรมราชาที่ 4) ได้
แต่ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชาบอกว่า นักพระสัตถา (พระบรมราชา) ทรงพาพระราชบุตร และพระมเหสี เสด็จหนีไปที่เมืองเสร๊ยสนทอร์ (ศรีสุนทร / ศรีสันธร) ก่อนจะเสด็จหนีต่อไปยังเมืองสเต็งตรึง ของล้านช้าง
และอีกไม่นานหลังจากนั้น นักพระสัตถา และ สมเด็จพระไชยเชษฐา (พระราชบุตร) ก็ได้ประชวรและสวรรคต ณ เมืองสเต็งตรึง
นั่นคือความแตกต่างกัน ระหว่างเอกสารของไทย และของกัมพูชา... เก็บสะสมไว้ในกระเป๋าความรู้นะครับ
พิธีปฐมกรรมพระยาละแวก พระวิหารวัดสุวรรณดารารามวรวิหาร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
พิธีปฐมกรรมพระยาละแวก เกิดขึ้นจริงหรือ ?
ผู้ชมหลายท่านอาจจะเคยรับรู้มาว่า หลังจากจับตัวพระยาละแวกได้แล้ว สมเด็จพระนเรศได้ทรงทำ “พิธีปฐมกรรมพระยาละแวก” (คือ ตัดพระเศียร แล้วเอาพระโลหิตมาล้างพระบาท)
แต่เอาเข้าจริงแล้ว เรื่องพิธีปฐมกรรมพระยาละแวก ไม่มีการพูดถึงใน พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ เลยแม้แต่น้อย
(ซึ่งถ้ามีพิธีนี้จริง มีหรือที่ฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งเขียนขึ้นโดยพระโหราธิบดี ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ และอุดมไปด้วยเรื่องความเชื่อ เรื่องโชคลางต่าง ๆ จะไม่เขียนถึงเลยแม้แต่คำเดียว)
ถ้าอย่างนั้น เรื่องพิธีปฐมกรรมพระยาละแวก มันมาจากไหนล่ะ ?
คำตอบก็คือ มันถูกพูดถึงเฉพาะในพระราชพงศาวดาร กลุ่มฉบับความพิสดาร เท่านั้น และเป็นเอกสารเพียงกลุ่มเดียวที่พูดถึงเรื่องนี้
ผมยกตัวอย่าง พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กลุ่มฉบับความพิสดาร มาให้ดู 1 ฉบับ คือ ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)... ดังนี้
“... สมเด็จพระพุทธิเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังคำพญาละแวกดังนั้น จึงตรัสว่า เราได้ออกวาจาไว้แล้วว่า ถ้ามีชัยแก่ท่าน จะทำพิธีประถมกรรม เอาโลหิตท่านล้างบาทาเสียให้จงได้ ท่านอย่าอาลัยแก่ชีวิตเลย จงตั้งหน้าหาความชอบในปรโลกเถิด บุตรภรรยาญาติประยุรวงศ์นั้นเราจะเลี้ยงไว้ให้มีความสุขดุจแต่ก่อน
ตรัสดังนั้นแล้วก็มีพระราชบริหารแก่มุขมนตรีให้ตั้งการพิธีประถมกรรมโดยศาสตร์ พระโหราธิบดีชีพ่อพราหมณ์ก็จัดแจงการนั้นเสร็จ เจ้าพนักงานองครักษ์เอาตัวพระยาละแวกเข้าใต้เกย ตัดศรีษะเอาถาดทองรองโลหิตขึ้นไปชำระพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระโหราธิบดีก็ลั่นฆ้องชัย ชีพ่อพราหมณ์เป่าสังข์ ประโคมดุริยดนตรีถวายมุรธาภิเษก ทรงอาเศียรพาทโดยศาสตร์พิธีเสร็จ เสด็จเข้าพลับพลา...”
รศ.ดร.ศานติ ภักดีคำ ให้ความเห็นไว้ในหนังสือ “เขมรรบไทย” ว่า
พิธีปฐมกรรมพระยาละแวก ที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร กลุ่มฉบับความพิสดาร นั้น ไม่น่าจะเกิดขึ้นจริง เพราะหลักฐานของกัมพูชา และของสเปน พูดไว้ตรงกันว่า นักพระสัตถา เสด็จหนีไปยังเมืองเชียงแตง (สตึงแตร็ง) ตั้งแต่ก่อนที่เมืองละแวกจะแตก แล้วหลังจากนัั้น นักพระสัตถาก็ประชวรด้วยโรคมาลาเรีย และทิวงคตที่เมืองเชียงแตงในเขตของลาวนั่นเอง
แล้วภายหลังจึงได้มีการนำพระอัฐิมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่เขาพระราชทรัพย์ เมืองอุดงมีชัย
เอาละครับ... ทั้งหมดนั้นคือเรื่องศึกตีเมืองละแวก ที่รวบรวมจากหลักฐานของฝ่ายอยุธยา และของฝ่ายกัมพูชาความแตกต่างของรายละเอียดในเอกสารแต่ละฝ่าย คือสิ่งที่เราต้องไปชั่งน้ำหนักกันด้วยวิจารณญาณว่า อันไหนน่าจะจริง และอันไหนน่าจะคลาดเคลื่อน
::: อ้างอิง :::
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด)
เขมรรบไทย / ศานติ ภักดีคำ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2554.
การปรับแก้เทียบศักราชและการอธิบายความ พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ / ตรงใจ หุตางกูร. กรุงเทพฯ: ศูนย์มา นุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), 2561.
ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา / เรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนรัตน์), พันตรีหลวง. กรุงเทพฯ: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์, 2563.
เรื่องและภาพ : หอย อภิศักดิ์
โฆษณา