25 ก.พ. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
เมื่อแรกสร้างพระนคร
กรุงรัตนโกสินทร์
1
ยุคต้นของกรุงรัตนโกสินทร์นับตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (ราว พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๙๔) เทียบได้กับเวลาราว ๓ ชั่วอายุคนนี้ เป็นช่วงเวลาของการสร้างราชธานีใหม่ การสร้างความเป็นปึกแผ่นของสยามประเทศ การสร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นศูนย์กลางของเมืองท่าและการค้าทางทะเล
1
ในยุคนี้ยังคงมีสงครามกับรัฐโดยรอบที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาและสงครามรวบรวมบ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่งในคราวสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การสงครามแทบจะทุกทิศหมายจะควบคุมหัวเมืองประเทศราชต่างๆ ที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของสยามประเทศตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาให้รวมกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่งในรูปแบบรัฐบรรณาการแบบตะวันออก และเพื่อกวาดต้อนผู้คนกลับมาเป็นพลเมืองของแผ่นดิน
1
โดยเฉพาะในพระนครและปริมณฑลที่ยังมีประชากรไม่มากนักในช่วงการสร้างบ้านแปลงเมืองใหม่ และเป็นช่วงเวลาที่อิทธิพลทางวัฒนธรรมตะวันตกและการล่าอาณานิคมจากชาวยุโรปยังไม่ได้ส่งอิทธิพลต่อการบริหารบ้านเมืองมากนัก
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงย้ายราชธานีมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่ออยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมและขยายพื้นที่ของพระนครออกไป
1
โดยโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองคูเมืองเพิ่มขึ้นจากสมัยกรุงธนบุรี ซึ่งกลายเป็นคลองคูเมืองชั้นในสุดอีกชั้นหนึ่ง คือ “คลองวัดสังเวชหรือคลองบางลำพูหรือคลองโอ่งอ่าง” ซึ่งเป็นคูเมืองของกรุงรัตนโกสินทร์และทำหน้าที่เป็นลำคลองสำหรับผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำด้วย เริ่มจากทางทิศเหนือไปออกแม่น้ำเจ้าพระยาทางทิศใต้บริเวณใกล้วัดสามปลื้มระยะทางราว ๓.๖ กิโลเมตร
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สร้างพระบรมมหาราชวังที่กรุงเทพมหานครให้คล้ายคลึงกับพระราชวังหลวงที่กรุงศรีอยุธยา สืบทอดอุดมคติการสร้างราชธานีรวมทั้งการจัดการปกครองมาจากกรุงศรีอยุธยา พระบรมมหาราชวังภายในเมืองจึงเป็นศูนย์กลางความศักดิ์สิทธิ์เชิงสัญลักษณ์ของราชธานีแบบเก่า
แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ขุด “คลองท่อ” หรือ “คลองหลอด” ภายในเมืองเป็นเส้นตรงจากคลองคูเมืองชั้นในไปสู่คลองเมืองวัดสังเวช-โอ่งอ่าง ๒ ลำคลอง เรียกว่าคลองหลอดบนและคลองหลอดล่าง เพื่อดึงกระแสน้ำให้ไหลหมุนเวียนภายในพระนคร เพราะมีลำประโดงหรือลำน้ำธรรมชาติอยู่แต่เดิมที่ติดกับคลองขุดที่เป็นคลองคูเมือง
การขุดคลองเป็นเส้นตรงเพื่อทำให้กระแสน้ำที่มีการขึ้นลง หมุนเวียนและระบายน้ำได้เร็วขึ้นนี้ เกาะเมืองที่พระนครศรีอยุธยาก็ปรากฏคลองท่อรูปแบบเหล่านี้มีอยู่ชัดเจนเช่นเดียวกัน
ในช่วงต้นกรุงฯ นี้บ้านเมืองยังคงเต็มไปด้วยการศึกสงคราม จึงมีการขุดคลองและปรับปรุงคลองเดิมเพื่อให้มีการเดินทางไปหัวเมืองต่างๆ สะดวกขึ้น เช่น การขุดคลองสุนัขหอนเชื่อมเส้นทางคลองด่านไปยังแม่น้ำท่าจีนและแม่กลอง การขุดคลองสำโรง คลองแสนแสบเพื่อสามารถเดินทางออกจากพระนครไปยังแม่น้ำบางปะกง
โดยการจ้างแรงงานจีนและพัฒนาพื้นที่สองฝั่งคลองเป็นชุมชนบ้านต่างๆ โดยนำไพร่พลที่ถูกอพยพโยกย้ายไปตั้งถิ่นฐานบ้านช่อง เช่น กลุ่มคนมลายูมุสลิมทางริมคลองแสนแสบ กลุ่มคนมอญทางริมคลองสุนัขหอน เป็นต้น
พื้นที่ทั้งภายในกำแพงเมืองด้านเหนือมาจนถึงท่าพระอาทิตย์และป้อมพระสุเมรุปากคลองบางลำพูเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเจ้านายและขุนนางหนาแน่นกว่าที่อื่นๆ ริมคลองมีอาคารบ้านเรือนท่าน้ำและตลาดน้ำ ต่อเมื่อมีการรื้อกำแพงและประตูเมืองจึงปลูกตึกและอาคารสองฝั่งถนนมากขึ้น สองฝั่งคลองจึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผู้คนหนาแน่น
โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ทำการรัฐบาล รวมทั้งสร้างพระบรมมหาราชวัง วังเจ้านาย และสถานที่อยู่อาศัยของพวกขุนนางบางส่วนมาอยู่ภายในเขตคลองเมืองชั้นในซึ่งเป็นคลองเมืองสมัยกรุงธนบุรีฯ และย้ายนิวาสสถานของขุนนางและชุมชนชาวจีนซึ่งมีมาตั้งแต่ก่อนการสร้างกรุงเทพฯ ในพื้นที่ตั้งแต่บริเวณที่เป็นพระบรมมหาราชวังตามฝั่งน้ำเจ้าพระยาดังปรากฏในแผนที่กรุงธนบุรีจากพม่า
2
ชุมชนชาวจีนและบ้านขุนนางจีนคนสำคัญคือ “พระยาราชาเศรษฐี” (จีนตังเลี้ยง) หรือ “พระยาพิพิธราชา” ซึ่งเป็นผู้นำชุมชนแต้จิ๋ว ไปอยู่ทางใต้ตั้งแต่คลองวัดสามปลื้อมจนถึงคลองวัดสำเพ็ง ซึ่งปัจจุบันเป็นบริเวณตลาดน้อยและย่านสำเพ็ง
“ย่านสำเพ็ง” เป็นตลาดบกและชุมชนชาวจีนที่ทำการค้าสืบเนื่องมาตลอด กลายเป็นพื้นที่ตลาดบกใหญ่และแออัดที่สุดของพระนครตั้งแต่สมัยแรกสร้างจนถึงเมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งต่อมาโปรดเกล้าฯ ให้ตัดเส้นทางสำคัญคือ “ถนนสำเพ็ง” ปัจจุบันคือซอยวานิช ๑ กลางย่านชุมชนสำเพ็ง
โดยเริ่มจากถนนจักรเพชรในฝั่งพระนครข้ามสะพานหันเข้าตรอกหัวเม็ด ผ่านถนนราชวงศ์ออกถนนทรงวาด ผ่านวัดปทุมคงคา ถนนสายนี้กว้างประมาณ ๓ เมตร ยาวเกือบ ๒ กิโลเมตร
สองฝั่งถนนเรียงรายไปด้วยร้านค้าขาย ของคนจีนและมุสลิมอินเดีย มีสินค้าอุปโภคที่ขายส่งไปยังหัวเมือง เช่น หม้อข้าว หม้อแกง ถ้วยโถโอชาม ภาชนะและของกินเกือบทุกชนิด เช่น ผักผลไม้สด ผลไม้แห้ง ของดอง ยาจีน ผ้าแพรพรรณต่างๆ ทองรูปพรรณ เครื่องใช้ไม้สอยประเภทต่างๆ เช่นเครื่องใช้ทำด้วยไม้ลงน้ำมัน เครื่องใช้ในการศึกษาเล่าเรียน เครื่องมือทำจากเหล็กและเครื่องยนต์เรือ และพลอยต่างๆ เป็นต้น
1
โดยเฉพาะสินค้าที่มาจากเมืองจีน รวมทั้งเป็นตัวแทนขายส่งสินค้าจากต่างประเทศและภายใน เนื่องจากอยู่ในบริเวณท่าเรือสินค้าที่ตลาดน้อยและทรงวาดก่อนจะมีการสร้างท่าเรือคลองเตย ยังมีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มีทั้งบ้านเรือนที่พักอาศัย โรงฝิ่น บ่อนการพนัน และโรงหญิงบริการหลายสำนักจนคำว่า “สำเพ็ง” กลายเป็นคำด่าผู้หญิงที่ประพฤติไม่ดีในยุคสมัยนั้น
1
ความแออัดของผู้คนและการค้าขายนี่เองทำให้ไฟไหม้สำเพ็งหลายครั้ง จนมีสำนวนติดปากที่รับรู้มาได้จนถึงยุคปัจจุบันคือ “วุ่นวายเหมือนไฟไหม้สำเพ็ง” และสำนวนว่า “เจ๊กตื่นไฟ”
คนจีนส่วนมากเชื้อสายแต้จิ๋ว ส่วนชาวฮกเกี้ยน กวางตุ้ง ไหหลำ แคะ นั้นเข้ามาอยู่เป็นระยะๆและอยู่อาศัยเป็นกลุ่มแบบ “ตั้วเหี่ย” หรือพี่ใหญ่เป็นผู้คุ้มครองที่มาใหม่และเรียกเก็บผลประโยชน์ด้วย ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เรียกว่า “พวกอั้งยี่”
ชุมชนแต่ละกลุ่มมีศูนย์กลางของชุมชนที่ศาลเจ้า เช่น ศาลเจ้ากวนอู ศาลเจ้าฮ้อนหว่อง ในตรอกศาลเจ้าโรงเกือกของคนจีนฮากกาหรือจีนแคะ ศาลเจ้าเซียงกงของชาวฮกเกี้ยนซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
บริเวณที่เรียกว่าตลาดน้อยเคยเป็นชุมชนของคนเชื้อสายโปรตุเกสและชาวญวนนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกจำนวนหนึ่ง ได้อพยพลงมาจากกรุงศรีอยุธยา พากันอพยพลงมายังบางกอกสร้างวัดและสุสานเรียกว่า “วัดกาลวารีโอ” [Calvary] ซึ่งเป็นชื่อภูเขาที่พระเยซูเจ้าถูกตรึงกางเขน แต่ชาวบ้านเรียกเป็น “วัดกาลหว่าร์”
1
ต่อมาราว ๖๐ ปีให้หลังชาวจีนที่เข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกมาอาศัยอยู่แถบนั้นหลังจากวัดแรกทรุดโทรมไปแล้วเรียกว่า “วัดแม่พระลูกประคำ” แต่คนจีนรอบๆ ยังคงเรียกว่า “วัดกาลหว่าร์” ชุมชนที่นี่เคยต้องข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปเข้าโบสถ์ร่วมกับชุมชนวัดซางตาครู้ส กุฎีจีน ที่สัปบุรุษส่วนใหญ่มีเชื้อสายโปรตุเกส แต่เพราะความต่างกันและไม่ยอมรับคณะสงฆ์คริสตังชาวฝรั่งเศสจึงแยกโบสถ์กันอย่างชัดเจน
การศึกสงครามในช่วงสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมีตลอดช่วงรัชกาล ทั้งราชสำนักเขมรที่เกิดความขัดแย้งภายในชิงราชสมบัติ ฝ่ายหนึ่งขอความช่วยเหลือจากสยามและอีกฝ่ายขอความช่วยเหลือจากญวนที่กำลังแผ่อำนาจเข้าสู่ภาคใต้บริเวณที่ราบลุ่มสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง และฝ่ายสยามก็ต้องการให้ดินแดนเขมรเป็นรัฐบรรณาการเช่นที่เคยเป็นมา และต่อเนื่องข้ามแผ่นดินมาจนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ
1
แม้จะมีหลักฐานว่าแต่เดิมเจ้านายเขมรพากันมาอยู่อาศัย ณ กรุงเทพฯ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ราว พ.ศ. ๒๓๒๖
เนื่องจากเหตุการณ์จลาจลอันเนื่องมาจากแย่งชิงอำนาจและราชสมบัติเป็นเวลาสิบกว่าปี ทรงพระราชทานที่ดินให้ชาวเขมรที่เข้ามาในครั้งนั้นอยู่แถบ “ตำบลคอกควาย” ปัจจุบันคือ “วัดยานนาวา” แล้วสร้างวังพระราชทานให้ที่ริมคลองเมืองเยื้องปากคลองหลอดวัดราชนัดดาฯ ฝั่งตรงข้ามวัดสระเกศฯ ซึ่งอยู่ภายในพระนคร เรียกกันว่า “วังเจ้าเขมร” และพระราชทานผนวช หลังลาสิกขาจึงโปรดเกล้าฯ ให้ไปครองกัมพูชา
เมื่อ “นักองเอง” หรือสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีฯ พร้อมโอรสคือ “นักองจัน” หรือสมเด็จพระอุไทยราชา ซึ่งประสูติ ณ วังที่กรุงเทพฯ กลับไปครองราชย์ยังกัมพูชาแล้ว ทั้งพระองค์และพระราชโอรสธิดาก็ยังกลับมาพำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ อันเนื่องจากมีพระราชวงศ์เป็นเจ้าจอมในกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและพระราชวงศ์ชั้นสูงองค์อื่นๆ ส่วนบริเวณแถบวังเจ้าเขมรก็เปลี่ยนแปลงเป็นที่พำนักอื่นๆ
ปัจจุบันบริเวณใกล้กับตรอกบ้านบาตรฝั่งนอกพระนครยังคงมีชื่อ “ตรอกเขมร” ปรากฏอยู่ แต่ไม่พบร่องรอยทั้งเรื่องเล่าและข้อมูลจากเอกสารว่าเป็นสถานที่ตั้งของชุมชนเขมรเดิมแต่อย่างใด
กลุ่มคนญวนก็มีผู้คนอพยพตามเจ้านายของตนเข้ามาอยู่อาศัยในสยามประเทศตั้งแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เช่นกัน อันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ไต้เซินซึ่งเป็นการลุกฮือของผู้นำกลุ่มชาวนาต่อสู้กับเจ้านายทั้งฝ่ายทางเหนือและทางใต้ ทำให้บ้านเมืองญวนแตกออกเป็นกลุ่มต่างๆ ความไม่สงบเกิดขึ้นมากพอๆ กับบ้านเมืองในสยามยุคเดียวกันนั้น
“องเซียงซุน” มีศักดิ์เป็นอาของ “องเชียงสือ” พาคนญวนกลุ่มหนึ่งเดินทางเข้ามาในสมัยกรุงธนบุรีฯ เมื่อราว พ.ศ. ๒๓๒๐ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดเกล้าฯ ให้ชุมชนญวนรุ่นนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่ฟากกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน
และสร้างวัดขึ้น ๒ แห่ง คือ “วัดกามโล่ตื่อ” หรือ “วัดทิพยวารีวิหาร” ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นวัดแบบจีนแล้ว และ “วัดโห่ยคั้นตื่อ” หรือ “วัดมงคลสมาคม” ซึ่งเดิมอยู่หลังวังบูรพาภิรมย์ เมื่อตัดถนนพาหุรัดจึงแลกที่ดินไปตั้งอยู่แถบถนนแปลงนาม
เนื่องจากบ้านญวนและวัดญวนที่ตั้งถิ่นฐานกันมาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีเกิดไฟไหม้ใหญ่ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ราว พ.ศ. ๒๔๔๑ ติดกันถึงสองครั้งจนมีที่ว่าง
1
รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงใช้ทรัพย์ส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าพาหุรัดมณีมัย กรมพระเทพนารีรัตน์ พระราชธิดาซึ่งประสูติจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และสิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษา ๑๐ ปี ตัดถนนสายใหม่จาก “บ้านลาว” ไปจนถึง “สะพานหัน” เรียกว่า “ถนนพาหุรัด”
ในคราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ปีนั้นองเชียงสือนำชาวญวนเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ไตเซินในแถบภาคกลาง และอยู่อาศัยถึง ๒๐ กว่าปี ก่อนจะกลับไปกู้บ้านเมืองและปราดาภิเษกเป็นกษัตริย์พระองค์แรกแห่งราชวงศ์ยาลอง
ชุมชนชาวญวนสร้างวัดญวนขึ้นสองแห่งคือ “วัดกว๋างเพิ๊อกตื่อ” หรือวัดญวนบางโพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยาไกลจากพระนครขึ้นไปทางเหนือ และวัดญวนตลาดน้อยหรือที่เรียกกันแต่เดิมว่า “วัดคั้นเยิงตื่อ” ริมแม่น้ำเจ้าพระยาอีกเช่นกัน ชื่อเป็นทางการภายหลังคือ “วัดอุภัยราชบำรุง”
ถนนพาหุรัดตัดผ่านบ้านญวนจึงเรียกว่า “ถนนบ้านญวน” ในระยะแรกๆ ก็เพื่อให้เป็นย่านเศรษฐกิจการค้าที่ต่อเนื่องกับทางถนนเจริญกรุง แต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรจึงกลายเป็นตลาดการค้าของชุมชนเชื้อสายอินเดีย ซึ่งปลายถนนพาหุรัดช่วงที่ข้ามคลองเมืองหรือคลองโอ่งอ่างนั้นต่อกับสะพานหันและตลาดสำเพ็งที่เป็นย่านการค้าของคนจีน ถนนพาหุรัดจึงกลายเป็นย่านการค้าอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
3
ดังนั้นสองฝั่งแนวถนนเจริญกรุงที่ตัดขึ้นในคราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงตัดผ่านทั้งบ้านญวน บ้านลาวหรือบ้านกระบะ และบ้านหม้อหรือบ้านมอญ ซึ่งเป็นชุมชนที่เรียงรายนับจากฝั่งตะวันออกไปทางตะวันตก ซึ่งเป็นชุมชนที่ไพร่พลทั้งอพยพและถูกอพยพมาจากถิ่นฐานบ้านเมืองเดิมและนำมาให้อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานคร
1
เมื่อมีการตัดถนนก็กระจัดกระจายไปอยู่ในพื้นที่อื่นหรือแทรกไปกับชุมชนอื่นๆ ถูกบูรณาการทางสังคมและวัฒนธรรม ทำอาชีพต่างๆ ทั้งงานช่างฝีมือ งานหัตถกรรมตลอดจนรับราชการ จนกลายเป็นผู้คนพลเมืองของสยามประเทศในกรุงเทพฯ ไปในที่สุด
และต่อจาก “บ้านญวน” คือบริเวณ “บ้านหม้อ” เป็นชุมชนคนมอญเก่าจากกรุงศรีอยุธยาที่อพยพตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ มาตั้งถิ่นฐานทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา และอยู่อาศัยต่อเนื่องมาจนต้นกรุงฯ อาศัยอยู่มากทางเหนือแนว “คลองหลอดวัดราชบพิธฯ” หรือ “คลองหลอดล่าง” ตั้งถิ่นฐานปั้นหม้อและทำเครื่องปั้นดินเผาขาย
1
มีพระยาศรีสหเทพ (ทองเพ็ง) ผู้เป็นต้นสกุล “ศรีเพ็ญ” เป็นเสนาบดีกระทรวงคลังในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากมีเชื้อสายชาวมอญทางฝ่ายมารดาแล้วยังเป็นเขยชาวมอญที่บ้านหม้อ และตั้งบ้านเรือนใกล้กับปากคลองหลอดวัดราชบพิธฯ ต่อมาเมื่อรวบรวมชาวมอญก่อสร้างสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมเยื้องกับวัดราชบพิธฯ จึงเรียกกันว่า “สะพานมอญ”
บริเวณนี้ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งยังคงมีชุมชนมอญอยู่ จนถึงปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อสภาพบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปเป็นย่านการค้าสำคัญของพระนคร จึงเหลือไว้เพียงชื่อถนนบ้านหม้อ ที่เริ่มจากถนนเจริญกรุงตั้งแต่สี่กั๊กพระยาศรีไปจนถึงถนนจักรเพชร
1
นอกจากชาวมอญทางฝั่งบ้านหม้อแล้ว ยังมี “ชาวพวน” และ “ชาวลาวเวียง” ที่ถูกอพยพโยกย้ายมาจากเวียงจันทร์มาตั้งแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ ที่เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกนำทัพไปตีเวียงจันทน์ กวาดต้อนผู้คนมาเป็นจำนวนมากและอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาประดิษฐานยังเมืองไทย ซึ่งภายหลังอัญเชิญพระบางกลับคืนไปยังเมืองหลวงพระบาง
และสงครามกับเจ้าอนุวงศ์ในครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็มีการกวาดต้อนชาวพวนมาไว้ ณ กรุงเทพฯ จำนวนหนึ่ง คนลาวเวียงและพวนอาศัยอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “บ้านลาว” และบ้างเรียก ว่า “บ้านกระบะ” เพราะทำกระบะไม้ใส่สำรับกับข้าวในครัวเรือนขาย
มีหลักฐานว่าก่อนการสร้างถนนเจริญกรุงในครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น ถนนดั้งเดิมตั้งแต่ช่วงสี่กั๊กพระยาศรีไปจนถึงกำแพงพระนครบริเวณสะพานดำรงสถิตย์หรือสะพานเหล็กเรียกว่า “ถนนบ้านลาว” รวมทั้งชาวลาวพวนที่ถูกกวาดต้อนมาตั้งแต่สมัยสงครามเจ้าอนุวงศ์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ ตั้งหลักแหล่งในย่านนี้ด้วย จนเรียกกันว่า “บ้านลาว”
ในช่วงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีบันทึกเอกสารของกรมไปรษณีย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงบ้านเรือนของราษฎรที่อยู่ริมคลองหลอดชื่อ “นายลา ลาวเวียงจันทน์” ขึ้น “พระองค์เจ้าแขไขดวง” และเรือนของ “พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ายุคนธร” ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ ต้นสกุลยุคนธรานนท์
และคนอยู่อาศัยตามแนวคลองหลอดล่างที่ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับกรมพระราชวังบวรฯ ซึ่งขณะนั้นคือกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ วังหน้าองค์สุดท้าย แทบทั้งสิ้น ร่องรอยของชาวลาวในบริเวณนี้เห็นได้จาก พระองค์เจ้าแขไขดวงนั้นเป็นพระเจ้าลูกเธอของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ และมีเชื้อสายทางเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าหญิงชาวเวียงจันทน์
และผู้คนบริเวณนี้ในครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้จะไม่เห็นได้ชัดว่าอยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่เช่นกลุ่มชุมชนชาติพันธุ์ในบริเวณอื่นๆ เพราะมีการตัดถนนเจริญกรุงผ่านชุมชน แต่ก็ยังพอมีคนเชื้อสายลาวที่เป็นไพร่ขึ้นกับวังหน้าตลอดมา
นอกจากนี้จากคำบอกเล่ายังกล่าวถึงกลุ่มชุมชนลาวเวียงจันทร์ที่อยู่อาศัยทางนอกเมืองด้านทิศเหนือของพระนคร อันเป็นช่วงเวลาที่ก่อนจะมีการขุดคลองเมืองชั้นนอกสุดคือคลองผดุงกรุงเกษมในบริเวณพื้นที่สวนผักสวนพริกของชาวจีน เหนือย่านวัดตีทศเทพขึ้นไปใกล้แยกบางขุนพรหม มีการสร้างและบูรณะ “วัดอินทรวิหาร” ที่กล่าวว่าแต่เดิมชื่อ “วัดไร่พริก” หรือ “วัดบางขุนพรหมนอก”
บูรณะโดยครัวชาวเวียงจันทร์ มี “เจ้าอินทร์” ผู้เป็นน้าชายของ “เจ้าน้อยเขียวค่อม” หรือเจ้าจอมคำแว่น ราชตระกูลเจ้าครองนครเวียงจันทน์ พระสนมเอกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และนิมนต์เจ้าคุณพระอริญญิก พระสงฆ์ชาวเวียงจันทร์ที่อพยพมาด้วยกันขึ้นปกครองวัด ต่อมามีการบูรณะอีกครั้งหนึ่ง ผู้บูรณะคือ “พระองค์เจ้าชายอินทวงศ์” พระราชโอรสในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิ์พลเสพ
นอกจากนี้ เมื่อช่วงต้นรัชกาลสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ มีศึกรบกับเมืองทวายเมื่อครั้งสงครามตีเมืองทวายราว พ.ศ. ๒๓๓๐ ช่วงแรกโปรดเกล้าฯ ให้ชาวทวายกลุ่มนี้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณนอกป่าช้าวัดสระเกศฯ นอกพระนครกลุ่มหนึ่งที่เรียกกันว่า “ตรอกทวาย” จนถึงปัจจุบัน ซึ่งอยู่บริเวณเหนือสะพานแม้นศรี ที่มีลำคลองเชื่อมต่อกับคลองมหานาคได้
และกลุ่มที่อยู่ภายในกำแพงพระนครตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณตรอกข้างวัดมหรรณพารามฯ หลังโบสถ์พราหมณ์อีกกลุ่มหนึ่ง ภายหลังในรัชกาลเดียวกันให้ย้ายกลุ่มชาวทวายที่ตรอกทวายเหนือป่าช้าวัดสระเกศฯ ไปอยู่ที่ทางฝั่งใต้นอกพระนครบริเวณ “วัดคอกควาย” บริเวณเดียวกับที่ให้กลุ่มชาวเขมรตั้งบ้านเรือนอยู่
1
ต่อมามีการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดคอกควายขึ้นใหม่ในครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จนได้ชื่อ “วัดยานนาวา” และบริเวณนี้เรียกชื่อสืบกันมาอย่างเป็นทางการว่า “อำเภอบ้านทวาย” ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเปลี่ยนเป็นอำเภอยานนาวาในภายหลัง
2
ในระหว่างรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีศึกสงครามรบกับกัมพูชาและญวนอยู่หลายปี ที่มักเรียกกันในภายหลังว่า อานามสยามยุทธ (ราว พ.ศ. ๒๓๗๖-๒๓๙๐)เพราะช่วงก่อนนั้นราชวงศ์ญาลองนำโดย “จักรพรรดิ์ยาลอง” ให้ขุด “คลองวินเต๊” เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์จาก “เมืองเจาด๊ก” ไปออกยังเมืองบันทายมาศหรือ “เมืองฮ่าเตียน” ซึ่งเป็นทางออกทางทะเลอ่าวไทยที่สำคัญ
และราชสำนักสยามยังไม่สามารถควบคุมเมืองบันทายมาศในฐานะเมืองในบรรณาการได้อย่างเบ็ดเสร็จ ทำให้เกิดการสงครามรบกับสยามอย่างดุเดือด มีแรงงานเขมรเสียชีวิตจาการขุดคลองนี้เป็นจำนวนมาก
มีชาวญวนเข้ารีตคริสต์ตังแถบเมืองเจ่าด๊กขอเข้ามาอยู่ในสยามจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำคนญวนคริสต์ตังมาอยู่เหนือบริเวณ “บ้านเขมร” ซึ่งเป็นครัวเขมรเข้ารีตราว ๔๐๐-๕๐๐ คนให้สร้างบ้านเรือนอยู่รวมกับชาวบ้านเชื้อสายโปรตุเกสที่มีศูนย์กลางของชุมชนคือ “วัดคอนเซ็ปชัญ” และ “บ้านญวนสามเสน” ที่มีวัดเซนฟรังซีสซาเวียร์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นกลุ่มอพยพเข้ามาภายหลังในราวรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
บริเวณนี้เป็นที่รวมของผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิคหรือชาวคริสต์ตัง ซึ่งเป็นคนกลุ่มเดียวกันในเขตพื้นที่สงครามและปัจจุบันอยู่ในรอยต่อของประเทศกัมพูชาและเวียดนาม บริเวณใกล้กับสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง จากนั้นมาบ้านโปรตุเกสที่ผู้คนอพยพมาหลังกรุงศรีอยุธยาล่มไปแล้วจึงถูกเรียกอีกชื่อว่า “บ้านเขมร” และวัดคอนเซ็ปชัญก็ถูกเรียกว่า “วัดเขมร”
ภายหลังผู้คนในบ้านเขมรมีมากขึ้นจากเหตุดังกล่าว จึงกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานขยายเขตหมู่บ้านเขมรออกไปอีก คือ ทิศเหนือจรดวัดราชผาติการาม (วัดส้มเกลี้ยง) ทิศใต้จรดวัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) ทิศตะวันออกติดถนนสามเสน ทิศตะวันตกจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนพวกญวนขยับจากที่เดิมไปบ้านเรือนทางด้านเหนือและสร้างโบสถ์เซนฟรังซีสซาเวียร์เป็นศูนย์กลางของชุมชนอีกแห่งหนึ่งเมื่อราว พ.ศ. ๒๓๙๖ ในภายหลัง
ชุมชนบ้านเขมรริมแม่น้ำเจ้าพระยาแถบวัดคอนเซปชัญนี้ มีนายแก้วที่เป็นผู้ชำนาญการวิชาปืนใหญ่ เนื่องจากเคยได้เรียนกับชาวโปรตุเกส ต่อมาได้รับพระราชทานตำแหน่งเป็นที่พระยาวิเศษสงคราม รามภักดี จางวางกรมทหารฝรั่งแม่นปืนใหญ่ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแก้วเขมรนี้เป็นหัวหน้าดูแลชาวหมู่บ้านคอนเซ็ปชัญด้วย
1
ต่อมาบุตรหลานได้รับราชการสืบต่อมาเป็นลำดับ เชื้อสายสกุลพระยาวิเศษสงครามภักดี (แก้ว) ปรากฏอยู่คือ “วิเศษรัตน์” และ “วงศ์ภักดี”
ในช่วงระยะต้นกรุงฯ นับแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ล้วนมีการศึกสงครามกับหัวเมืองทางปากใต้และรัฐปาตานี สืบมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เพื่อควบคุมให้เป็นรัฐในบรรณาการเช่นเดิมเมื่อครั้งยังเป็นกรุงศรีอยุธยา
1
จึงมีการกวาดต้นผู้คนพลเมืองชาวมลายูมุสลิมเข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยภายในพระนครส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งอยู่ทางด้านนอกเมืองและกระจัดกระจายไปตามลำคลองขุดใหม่ทางตะวันออกอีกหลายแห่ง
ชุมชนมุสลิมทางฝั่งพระนครและนอกพระนครด้านตะวันออกริมคลองมหานาคและในพื้นที่ตามริมคลองบางกะปิไกลจากพระนครในครั้งต้นกรุงเทพฯ นั้น มีความแตกต่างจากชุมชนมุสลิมเดิมที่เป็นกลุ่มตระกูลที่มีรากเหง้ามาจากกรุงศรีอยุธยาและเป็นขุนนางสำคัญในสมัยกรุงธนบุรีและเป็นขุนนางสำคัญสืบต่อมาจนถึงยุคกรุงเทพฯ
เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูที่สืบเชื้อสายมาจากเมืองปาตานีและบริเวณเมืองใกล้เคียงที่ถูกกวาดต้อนรอนแรมมาอยู่ยังเมืองหลวงชั้นในและอยู่อาศัยในพื้นที่ขยายของเมืองหลวงใหม่
ส่วนชาวจามที่อยู่เหนือชุมชนมุสลิมจากปาตานี ซึ่งตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองมหานาคเรียกว่า “บ้านครัว” เป็นกลุ่มชาวจามที่อพยพมาจากกรุงศรีอยุธยาหลังเสียกรุงฯ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และอยู่ในสังกัด “กรมอาสาจาม” สังกัดขุนนางผู้ใหญ่มุสลิมเดิมจากกรุงเก่าทางฝั่งธนบุรี
1
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงพระราชทานที่ดินผืนหนึ่ง เพื่อให้ทำมาหากินอยู่รวมกันเป็นหมู่นอกเขตพระนคร โดยมีต้นไม้ใหญ่เป็นแนวเขต และมีร่องน้ำลำกระโดง มีการกวาดต้อนครัวจามมาเพิ่มเติมที่บ้านครัวอีกหลายครั้ง โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีชาวจามกลุ่มใหม่อพยพเข้ามาในคราวสงครามกับญวนและเขมร ทำให้ชุมชนที่บ้านครัวขยายใหญ่และมีมัสยิดแยกย่อยในภายหลังอีกสองสามแห่ง
คนจามบ้านครัวถนัดในการทำประมงและทอผ้า โดยเฉพาะผ้าไหมจึงทำให้เกิดกิจการค้ากับนักธุรกิจชาวตะวันตกคือ จิม ทอมป์สัน จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมที่ขึ้นชื่อมาจนถึงปัจจุบัน บ้านครัวเป็นแหล่งที่อยู่ของขุนนางและทหารเรือของกรมอาสาจาม สังกัดพระยาราชบังสันหรือพระยาราชวังสันในยุคหลัง
ชาวมุสลิมก็ถือเป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในกำลังพลเมืองที่ร่วมสร้างพระนครในครั้งต้นกรุงฯ ไม่ต่างไปจากผู้คนที่ถูกอพยพเคลื่อนย้ายมาจากหัวเมืองประเทศราชอื่นๆ เช่น ชาวลาว ชาวทวาย ชาวมอญ ชาวเขมร ชาวจาม ชาวญวน และชาวจีนที่อพยพโยกย้ายและตั้งถิ่นฐานปะปนกันอยู่กับคนไทยสยาม ซึ่งต่างล้วนมีบทบาทในการสร้างพระนครที่กรุงเทพมหานคร เมืองที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ศาสนา และวัฒนธรรมอย่างยิ่ง
เพราะเป็นทั้งเมืองที่สร้างขึ้นใหม่และเป็นเมืองท่าค้าขายที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่เมื่อสองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนบริเวณด้านตะวันออกของพระนครเมื่อต้นกรุงฯ ที่ทิศใต้ติดกับคลองขุดมหานาคคงมีสภาพเป็นทุ่งนาเป็นหล่มที่ลุ่ม และเป็นย่านที่ยังไม่มีผู้คนอาศัยอยู่มากนัก
บริเวณนี้คงสภาพแบบชนบทที่ยังคงมีการเลี้ยงควายและการเลี้ยงหมูจนกลายเป็นย่านชุมชนที่สร้างวัดแล้วตั้งชื่อตามภูมินาม เช่น บ้านสนามควายมีวัดสนามควายหรือวัดแค บ้านคอกหมูมีวัดคอกหมูหรือวัดมหายิ้ม มีชุมชนหมู่บ้านของชาวนครฯ พัทลุงและสงขลาเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มเติมเมื่อสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
1
ปี พ.ศ. ๒๓๗๕ พระราชพงศาวดารบันทึกไว้ว่า ปีนั้นฝนแล้งข้าวยากหมากแพง ชาวบ้านจากนครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลาหาเลี้ยงชีพยากลำบากจึงมายอมตัวเข้าเป็นข้าในกองทัพจากพระนคร แล้วขอตามเข้ามายังกรุงเทพฯ จำนวนมาก มาพร้อมกับชาวมลายูเชลยซึ่งไม่ได้นำเข้ามามากนักเนื่องจากอยู่ในภาวะข้าวแพง
ต่อมาเมื่อข้าวถูกลงแล้ว จึงโปรดให้ช่วยชาวบ้านที่กองทัพพาเข้ามาโดยชำระเงินค่าข้าวและค่าตัวแก่มูลนายเดิมเพื่อเป็นไพร่หลวงแทน แล้วให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านสนามกระบือเรียกว่า “ไพร่หลวงเกณฑ์บุญ” หัดให้เป็นช่างปูนศิลาเป็นอาชีพสืบไป (กล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ฯ)
ชาวบ้านที่กลายเป็นไพร่หลวง ทำงานให้กับพระมหากษัตริย์โดยตรงเมื่อเวลามีงานบำเพ็ญพระราชกุศล มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช เมืองพัทลุง และเมืองสงขลาไปตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณทุ่งกว้างด้านตะวันออกของพระนคร ซึ่งน่าจะมีกลุ่มบ้านเชื้อสายพระยาพัทลุงอยู่แล้วในบริเวณที่เคยเป็นวังอีกด้านหนึ่งของถนนหลานหลวง
บริเวณนี้เมื่อกลายเป็นย่านการค้าใหม่สำหรับตลาดค้าขายทางฝากตะวันออกเมื่อครั้งปลายรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ โดยที่มีกลุ่มบ้านละคร ลิเก โขน และมหรสพพื้นบ้านอยู่ในบริเวณนี้เรียก “บ้านสนามควาย” เสียใหม่ว่า “นางเลิ้ง”
การนำผู้คนจากหัวเมืองที่ถูกนำมาเป็นไพร่หรือพลเมือง ไพร่ในพระนครส่วนใหญ่เป็นไพร่หลวงและต้องสักเลกเพื่อสังกัดมูลนายต่างๆ บ้างตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ชิดกับบ้านเรือนของขุนนางระดับผู้ใหญ่และพระบรมมหาราชวังและพระบวรราชวัง
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
โฆษณา