2 ก.พ. 2022 เวลา 02:50 • สุขภาพ
Recency Bias อคติทางความคิด ที่เรามองแต่ เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น มากเกินไป
“มนุษย์” เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการตัดสินใจตลอดเวลา ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ว่า วันนี้เราจะกินอะไร
วันนี้เราจะทำงานไหนก่อนดี หรือซื้อหุ้นอะไร ไปจนถึงเรื่องสำคัญอย่าง การเลือกคู่ครอง
ขึ้นชื่อว่ามนุษย์แล้ว แน่นอนว่าเราก็มักจะมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก
เข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจอยู่เสมอ ซึ่งอาจนำมาสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาดได้
4
เคยไหม เมื่อเราเพิ่งผิดหวังกับความรัก
แล้วเรากลัวการเริ่มต้นความรักครั้งใหม่กับใครสักคน
ซึ่งเหตุการณ์นี้เองเป็นไปได้ว่า เรามีอคติทางความคิดที่เรียกว่า “Recency Bias”
1
และอคติทางความคิดแบบนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับความรัก แต่เป็นกับทุกเรื่อง รวมไปถึงเรื่องการลงทุน
รายละเอียดของเรื่องนี้เป็นอย่างไร ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
Recency Bias เราสามารถพบเจอในหลายเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ฉลามโจมตีมนุษย์
 
เมื่อมีคนเสียชีวิตจากการโจมตีของฉลาม ทำให้ผู้คนลงเล่นน้ำในทะเลลดลง
โดยสถิติปี 2019 และปี 2020 มีรายงานว่ามนุษย์ถูกฉลามโจมตีทั้งหมด 64 ครั้ง และ 54 ครั้งตามลำดับ จากผู้คนที่ลงเล่นน้ำ ว่ายน้ำ หรือดำน้ำในมหาสมุทร เป็นจำนวนหลายล้านคนทั่วโลก
หรือแม้แต่ภาพยนตร์เรื่อง Jaws ซึ่งเป็นเรื่องราวของฉลามที่ดุร้าย ล่ามนุษย์เป็นอาหาร
ที่ได้ออกฉายไปทั่วโลกในปี 1975 ส่งผลให้คนลงเล่นน้ำในทะเลลดลงทันทีหลังจากนั้น
2
เพราะว่า คนมี “ภาพจำ” จากภาพยนตร์ว่า ฉลามดุร้ายมาก แถมยังล่ามนุษย์เป็นอาหารอีกด้วย
แต่หากเราลองพิจารณาดี ๆ เราจะพบว่า การเสียชีวิตของมนุษย์จากการโจมตีของฉลาม มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก และภาพยนตร์เรื่อง Jaws ไม่ได้ส่งผลต่อความน่าจะเป็นที่เพิ่มขึ้น ของการโจมตีจากฉลามเลยแม้แต่นิดเดียว..
1
กลับมาที่เรื่องใกล้ตัวเรา
คนที่เพิ่งอกหักและกลัวการเริ่มต้นความรักครั้งใหม่
มักให้เหตุผลว่า แฟนคนเก่านิสัยไม่ดี เช่น นอกใจ ทำร้ายร่างกาย พูดจาไม่ดี
ทำให้ไม่ยอมเปิดใจให้กับคนใหม่ กลัวที่จะต้องเจอกับคนแย่ ๆ อีกครั้ง
คำถามที่ตามมาคือ “คนใหม่” มีนิสัยเหมือนแฟนเก่าหรือไม่ ?
1
คำตอบคือ เรายังไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัด จนกว่าจะได้ลองศึกษาซึ่งกันและกัน
แต่ที่บอกได้ การที่เรานำเหตุการณ์ที่เราเพิ่งเจอ มาตัดสินว่าคนใหม่จะมีนิสัยแย่ ๆ เหมือนแฟนเก่าคงจะไม่ถูก
เพราะว่า เป็นคนละคนกัน ย่อมมีนิสัยใจคอที่แตกต่างกันอยู่แล้ว
3
ถ้าเราลองเปิดใจให้โอกาสคนใหม่ เป็นไปได้ว่า คนใหม่อาจจะดีกว่าแฟนเก่าก็เป็นได้
การที่กลัวการเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ ทำให้เราเสียโอกาสที่จะเจอคนดีผ่านเข้ามาในชีวิตของเรา
จากเหตุการณ์เหล่านี้ ทำให้เกิดอคติทางความคิด
เรียกว่า Recency Bias คือ การที่เรา “ให้น้ำหนักกับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้” นำมาเป็นปัจจัยต่อการตัดสินใจ โดยเหตุการณ์ที่ว่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง หรือเชื่อมโยงกับการตัดสินใจที่จะเกิดขึ้น
แล้วเรื่องนี้เกี่ยวกับการลงทุนอย่างไร ?
สำหรับการตัดสินใจในการลงทุนนั้น
หากเรายึดติดกับ Recency Bias มากกว่าการใช้เหตุผล
ก็อาจจะทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดได้ ยกตัวอย่างเช่น
เรามักจะให้น้ำหนักข่าวร้ายของหุ้นที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยการขายหุ้นออกไปก่อน
เพราะเราคิดว่าข่าวร้ายนี้จะทำให้พื้นฐานของหุ้นแย่ลง
1
ทั้งที่เราพิจารณาอย่างดีแล้วก็ตามว่า ข่าวร้ายนี้ส่งผลกระทบในระยะสั้นกับบริษัทเท่านั้น
ปัจจัยพื้นฐานระยะยาวของหุ้นไม่ได้เปลี่ยนไป
ในช่วงเวลาหลังวิกฤติเศรษฐกิจใหม่ ๆ เรามักไม่กล้าซื้อหุ้น
เพราะว่าเรากลัววิกฤติเศรษฐกิจมากกว่าปกติ
แม้ว่าหุ้นจะมีราคาถูกขนาดไหนก็ตาม ซึ่งในเวลาต่อมาเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น
เราจึงเลิกกลัว และกลับมาซื้อหุ้น ซึ่งในเวลานั้นหุ้นอาจจะแพงเกินไปแล้ว
2
จากตัวอย่างเหล่านี้จะเห็นว่า Recency Bias เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราขายหุ้นในช่วงเวลาที่มีแต่ข่าวร้ายของบริษัทนั้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะพยายามตัดสินใจ บนพื้นฐานความเป็นเหตุเป็นผลก็ตาม
แต่หลายครั้ง อคติทางความคิดมักเข้ามาปั่นสมองเราอยู่เสมอ
1
ดังนั้น สิ่งที่เราต้องทำก็คือ เราต้องมีสติรู้ทันความคิดของตัวเอง
เพื่อที่เราจะได้ตัดสินใจอย่างไม่มีอคติ ทำให้เราตัดสินใจผิดพลาดน้อยลง นั่นเอง..
1
References
-Recency (Availability) Bias Definition (investopedia.com)
-1001ii (settrade.com)
โฆษณา