2 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • ธุรกิจ
Life Visual Diary 84: อยากเข้าใจ ต้อง "รู้" ในความ "ไม่รู้"
"ไม่รู้" กับ "รู้" อะไรมีประโยชน์กว่ากัน ธรรมชาติของเรามักจะไม่ค่อยเปิดโอกาสให้เราไม่รู้ เพราะเราไม่ชอบความไม่แน่นอน "ไม่รู้" เท่ากับ ไม่แน่นอน ทำให้เราชอบที่จะ "รู้" มากกว่า "ไม่รู้"... แต่แท้จริงแล้วระหว่าง "รู้" กับ "ไม่รู้" อะไรละที่มีประโยชน์กว่ากัน
สวัสดีครับ เราคงไม่สงสัยว่าความรู้มีประโยชน์กับเรามากแค่ไหน ตั้งแต่เราเกิดมา เราทุกคนก็ต้องเข้าโรงเรียนเพื่อที่จะ "รู้" เราเรียนเพื่อรู้เป็นเวลาเกือบ 20 ปี หลังจากนั้นเราก็เอาสิ่งที่เรา "รู้" มาตัดสินเรื่องรอบตัว อะไรที่ตรงกับสิ่งที่เรา "รู้" เราก็เรียกสิ่งนั้นว่ามัน Make Sense...
"รู้" ที่เราสะสมตลอด 20 ปี ก็ถูกส่งต่อมาให้ตัวเราอีกคนในโลกการทำงาน "รู้" ก็กลายเป็นกรอบที่ช่วยตัดสินความ Make Sense ให้กับเรื่องต่างๆอีกทีหนึ่ง...
จริงๆแล้ว มันก็ไม่ได้ผิดอะไรที่เราใช้ความรู้มาเป็นกรอบวิธีคิด เพียงแต่พอเราคุ้นเคยชินชากับความ "รู้" ที่เรามี เราก็มักจะชอบทึกทักเอาเองว่า...
"คนอื่นๆก็คงรู้ในสิ่งที่เรารู้ละมั้ง"
ความคิดอันตรายนี้แหละที่เป็นกรอบที่แท้จริง คุณกลับคิดว่าคนอื่นน่าจะรู้ ลูกค้าน่าจะรู้ ทั้งๆที่แท้ที่จริงแล้ว...
"ความไม่รู้ คือ สายตาของลูกค้าที่มองมาหาสินค้าและบริการของเรา"
ยิ่งคุณ "รู้" มากขึ้น ความ "ไม่รู้" ก็ยิ่งน้อยลง และคุณก็จะไม่สามารถเข้าใจความ "ไม่รู้" ได้อีกเลย
ยิ่งคุณ "รู้" มากขึ้น คุณยิ่งอยากจะ "รู้" มากขึ้นไปอีก อยากให้เรื่องทุกเรื่องมันร้อยเรียงกันอย่าง Make Sense ทั้งๆที่ ความ "ไม่รู้" ต่างหากที่เป็นสายตาของลูกค้า
ลูกค้าไม่จำเป็นต้อง “รู้” เลยนะครับ เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องเข้าใจและทำให้เขาอยากรู้ แต่ถ้าเราดันไปคิดว่าใครๆก็ “รู้” เราจะยิ่งไม่เข้าใจมุมมองของลูกค้า
ในโลกทำงานที่เรากระหายว่าต้อง "รู้" เราก็เลยมักจะพึ่งบริษัทวิจัย ที่ปรึกษา มาคิดวิเคราะห์ สำรวจ มองข้ามช๊อต อย่างลึกซึ้งแบบผู้ "รู้" แต่ถึงอย่างนั้นเราก็ไม่อาจเข้าใจสายตาของผู้ "ไม่รู้" ได้อยู่ดี
ความ "ไม่รู้" มันคือค่าเริ่มต้นของเรา บางทีมันอาจเป็นค่าที่จูนตรงกับลูกค้าแล้วก็ได้นะ หรือจริงๆแม้เราจะมีความรู้ แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องคิดว่าต้อง "รู้" ทุกอย่างตั้งแต่แรก
หรือบางที... ความ "รู้" อย่างเดียวที่เราต้องมี คือ…
รู้ว่าเราต้อง "ไม่รู้" บ้าง ทิ้งช่องว่างให้ความไม่เข้าใจไว้บ้าง เพื่อให้ความคิดเราไร้กรอบ และเมื่อไร้กรอบ ความคิดก็จะฟุ้งกระจาย ไม่ติดกับความเป็นไปได้เท่าที่เรา "รู้" หลังจากนั้น จึงค่อยสังเคราะห์ความคิดฟุ้งๆ มาเป็นความรู้ทีหลัง
เราไม่ต้องทึกทักเอาเองว่า เราต้อง "รู้" ทุกเรื่องตั้งแต่แรกก็ได้นะครับ
Happy Your Life
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา