4 ก.พ. 2022 เวลา 04:46 • สุขภาพ
🎯วัคซีนโควิดเด็ก 5-11 ปี ฉีดดีไหม?🎯
เด็กๆลูกหลานใครได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิดกันมาแล้วบ้างคะ?
หลังฉีดเป็นอย่างไรกันบ้าง?
1
ก่อนฉีดทางโรงเรียนต้องขอให้ผู้ปกครองลงชื่อยินยอมก่อน พ่อแม่บางคนยังลังเลว่า
“🔺โควิดในเด็กพบน้อย อาการก็ไม่รุนแรง จะต้องฉีดวัคซีนให้เด็กหรือ?”🔺
ข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในเด็ก : ในประเทศไทยมีเด็กป่วยเป็นโควิดประมาณ 100,000 ราย มีเด็กเสียชีวิต 10 ราย ทุกรายมีโรคประจำตัว
เด็กที่ป่วยเป็นโควิด หลังจากหายแล้วประมาณ 4 -6 สัปดาห์ มีโอกาสเป็น MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children)คือ โรคอุบัติใหม่ในเด็ก หลังจากมีการติดเชื้อโควิด 19 อาการเกิดจากการอักเสบของเนื้อเยื่อหลายระบบในร่างกาย เช่น ไข้ ผื่น ตาแดง ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว รวมทั้งหัวใจทำงานผิดปกติด้วย
แสดงว่า เด็กก็เป็นโควิดรุนแรง มีโรค ตามหลังได้ และมีโอกาสเสียชีวิตได้ ถึงแม้จะน้อย
แต่ถ้าเรามีวัคซีน การฉีดป้องกันไว้ ย่อมดีกว่าเป็นโรคอย่างแน่นอนค่ะ
ถ้าอย่างนั้น 🔺เรื่องความปลอดภัยของวัคซีนล่ะ …. กังวลเรื่องกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ🔺
ในอเมริกา วัยรุ่นชายอายุ 12-17 ปีหลังฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 มีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ 32.4 ต่อ 1 ล้าน เด็กผู้หญิงพบน้อยกว่า คือ 4.2 ต่อ 1 ล้าน
จริงๆแล้วการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการเป็นโควิด พบมากกว่า เป็นหลังจากฉีดวัคซีนเสียอีก
1
ในเด็กอายุ 5-11 ปี ใช้ขนาดวัคซีนน้อยกว่า ก็มีโอกาสเกิดยิ่งน้อยลงไปอีก
ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ที่ประเทศไทยเราจะเริ่มต้นฉีดวัคซีนป้องกันโควิด19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี เป็นประเทศที่2 ในเอเชีย ต่อจากสิงคโปร์
โดยใช้วัคซีนชนิด mRNA ของบริษัท Pfizer ที่ทำขนาดที่ใช้ในเด็กมาโดยเฉพาะ ในขวดที่มีฝาสีส้ม (ต่างจากฝาสีม่วงของผู้ใหญ่)
🔺ขนาดที่ใช้ในเด็กเท่ากับ 1/3 ของขนาดผู้ใหญ่ คือ 10 ไมโครกรัม ( 0.2 cc)
ฉีดเข้ากล้ามเนื้อต้นแขน 2 เข็ม ห่างกัน 3-12 สัปดาห์
(คำแนะนำของ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ฉีดห่างกัน 8-12 สัปดาห์ จะดีกว่า เพราะ จะได้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า )
🔺กลุ่มเด็กที่จะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ก่อนคือเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคคือ
1.โรคอ้วนที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดตัน
2. โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดอาการปานกลางถึงรุนแรง
3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
4. โรคไตวายเรื้อรัง
5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
6. โรคเบาหวาน
7. กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า
ในประเทศไทยมีเด็กกลุ่มนี้ประมาณ 9 แสนคน จากจำนวนเด็กอายุ 5-11ปี จำนวน 5ล้านคน
🔺เด็กที่ควรชะลอการฉีดวัคซีนไปก่อน คือ
1. เด็กป่วย มีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาอาการให้หายดีและเลื่อนการฉีดออกไปจนกว่าร่างกายจะกลับมาปกติ
2. เด็กที่มีโรคประจำตัวรุนแรงที่อาการของโรคยังไม่คงที่ หรือเป็นโรคที่อาจมีอันตรายถึงชีวิต
จะฉีดวัคซีนได้ต่อเมื่อ แพทย์ประเมินแล้ว อนุญาตให้ฉีดได้เท่านั้น
🔺เรามาทบทวนกันว่าควรจะดูแลเด็กหลังฉีดวัคซีนกันอย่างไร?
1. บริเวณตำแหน่งที่ฉีดวัคซีน อาจจะมีการบวม ปวด ให้ใช้ผ้าเย็นประคบ เพื่อบรรเทาอาการปวด ถ้าปวดมากให้กินยาแก้ปวดพาราเซตามอลได้ (ขนาดยา พาราเซตามอลให้ตาม น้ำหนักตัวเด็ก คือ 10-15 มิลลิกรัม ต่อ กิโลกรัม ต่อโด๊ส ให้ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง แต่ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 5 วัน)
2. ถ้ามีอาการไข้ อ่อนเพลีย ให้นอนพักผ่อน ดื่มน้ำให้เพียงพอ
3. ให้งดการออกกำลังกายที่หักโหม ใน 1 สัปดาห์ หลังฉีดวัคซีน
🔺อาการหลังการฉีดวัคซีน ที่ควรระวัง และเมื่อพบควรพาเด็กกลับไปพบแพทย์
1. เจ็บหน้าอก ใจสั่น
2. เหนื่อยง่าย หายใจเร็ว
3. ไข้สูงเกิน 39 องศา เซลเซียส
4. ปวดหัวรุนแรง
5. อาเจียน กินอาหารไม่ได้ เป็นลม
6. ซึมลง เรียกปลุกไม่ตื่น
🔺เราไปดูกันค่ะ ว่าที่ประเทศอื่นๆเขาฉีดวัคซีนนี้ในเด็ก 5-11 ปี แล้ว เป็นอย่างไร
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ของบริษัทไฟเซอร์ ให้กับเด็กอายุ 5-11 ปี จำนวน 8.7 ล้านโด๊ส โดย
เก็บข้อมูลตั้งแต่ 3 พฤศจิกายน ถึง 19 ธันวาคม 2021 (อ้างอิง 1)
มีรายงานผลข้างเคียง โดยระบบ VAERS จำนวน 4,249 ราย เป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง 4,149 ราย คิดเป็น 97.6%
อีก 100 ราย มีอาการข้างเคียงที่รุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล กลุ่มนี้อายุเฉลี่ย 9 ปี
อาการที่พบบ่อยสุดคือ ไข้ 29 ราย (29%)
อาเจียน 21 ราย มีค่า troponin สูงขึ้น 15 ราย
ชัก 12 ราย (2 รายชักจากไข้สูง 5 รายเป็นการชักครั้งแรก)
15 รายมีอาการเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจ (11 ราย การวินิจฉัยเข้ากับ myocarditis กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 7 รายหายแล้ว 4 รายกำลังฟื้นตัว ในขณะที่รายงาน)
รายงานการเสียชีวิต 2 ราย เป็นเด็กหญิงอายุ 5-6 ปี ทั้งคู่ มีโรคเรื้อรัง ประวัติป่วยซับซ้อน และ สุขภาพอ่อนแอก่อนได้รับวัคซีน สาเหตุการตายไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีน
สรุป
1.ประโยชน์จากการฉีดวัคซีนป้องกัน โควิด 19 ในเด็กอายุ 5-11 ปี มีมากกว่าความเสี่ยงต่อการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
2.วัคซีนป้องกันโควิดในเด็กที่แนะนำโดย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย คือ วัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ ขวดฝาสีส้ม ขนาดยา 10 ไมโครกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 2 เข็ม ห่างกัน 8-12 สัปดาห์
3.หลังฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 1 สัปดาห์ ให้งดการออกกำลังกายที่หักโหม
4.หลังฉีดวัคซีน อาการที่ควรต้องรีบกลับไปพบแพทย์ คือ เจ็บหน้าอก ใจสั่น เหนื่อยง่าย ไข้สูง
บทความโดย พญ ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล กุมารแพทย์
เอกสารอ้างอิง
4.
5.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา