2 ก.พ. 2022 เวลา 13:30 • ธุรกิจ
ผู้นำยุคสุดท้าย
ตอน
“คุณภาพ” ไล่ล่าเราแล้ว
เขียนโดย วิฑูรย์ สิมะโชคดี
แต่ละปีที่ผ่านไป ถ้าถามว่าเราทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอันบ้าง หลายท่านนับชิ้นได้ แต่หลายท่านก็คิดที่เป็นชิ้นเป็นอันไม่ออก ทั้งที่เราต่างทำอะไรๆ ตั้งมากมายในแต่ละปี
แต่ทุกเรื่องที่เราทำ จะสำเร็จผลมากน้อยเพียงใด มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของ “คุณภาพ” แทบทั้งสิ้น
ลองคิดดูว่า ถ้าทั้งตัวเราและองค์กรต่างๆ ในสังคม “ไม่มีคุณภาพ” แล้ว อะไรจะเกิดขึ้นบ้าง
เริ่มตั้งแต่โรงงานที่ไม่มีคุณภาพ จะผลิต “สินค้าที่มีคุณภาพ” ได้อย่างไร เช่นเดียวกับโรงเรียน ถ้าครูไม่มีคุณภาพแล้ว จะผลิตลูกศิษย์ที่มีคุณภาพออกมารับใช้สังคมได้อย่างไร ถ้าครูมีคุณภาพ หรือ ลูกศิษย์มีคุณภาพ แต่เนื้อหาหลักสูตรไม่มีคุณภาพ นักเรียนและลูกศิษย์จะเป็นอย่างไร
การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย ก็คงไม่ต่างจากนี้ คือถ้าปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งบกพร่องหรือไม่ได้มาตรฐานที่ยอมรับกัน (ไม่มีคุณภาพ หรือ มีคุณภาพต่ำ) สถาบันนั้นก็จะผลิต “บัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพ” บัณฑิตที่ไม่มีคุณภาพก็จะออกไปสร้างผลงานที่มีคุณภาพสู่สังคมได้ยาก
ถ้าหากการขนส่ง การจราจร หน่วยงานภาครัฐหรือภาคเอกชนไม่มีคุณภาพ พวกเราจะมี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีได้อย่างไร
และอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ “คุณภาพชีวิต” ของเราด้อยค่าลง ทั้งๆ ที่เราทุกคนควรจะมี “คุณภาพชีวิต” ที่ดีกว่านี้ ตามความเจริญของวัตถุและพัฒนาการทางสังคม รวมทั้งอายุที่มากขึ้น
นี่เป็นเพียงตัวอย่างอันน้อยนิด ซึ่งยังไม่ได้รวมถึงข้าวของเครื่องใช้ที่เราจับต้องและใช้สอยกันทุกวัน เพราะถ้าสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่มีคุณภาพ รวมถึงอาหารการกินที่ไม่ปลอดภัยต่อการบริโภคด้วยแล้ว ผลกระทบและความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมก็จะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
“คุณภาพ” จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่งในวันนี้ โดยเฉพาะคุณภาพในกระบวนการผลิตสินค้าหรือบริการ เพราะเกี่ยวข้องกับคน กรรมวิธีการผลิต การตรวจสอบ การควบคุม การจัดเก็บ การขนส่ง การบริหารจัดการในโรงงาน เป็นต้น ซึ่งต้องการคุณภาพในทุกจุดและทุกกระบวนการอย่างครบวงจร โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ “คุณภาพของคน”
กรณีการเอาเปรียบผู้บริโภคที่เป็นข่าวร้องเรียนอยู่เนืองๆ ด้วยเหตุสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ (คุณภาพต่ำ) แต่ขายราคาแพง เพราะการเอาแต่ได้ โดยผู้ผลิตขาดความรับผิดชอบในการผลิต และผู้ขายขาดจิตสำนึกในการส่งมอบสินค้าหรือบริการที่ราคายุติธรรมให้กับผู้ซื้อ
ทุกวันนี้ การที่จะบอกว่าอะไรมีคุณภาพหรือไม่ จึงต้องอาศัย “มาตรฐาน” เป็นตัวชี้วัดเสมอ
การที่จะบอกว่างานไหนมีคุณภาพหรือไม่ ก็ต้องมีมาตรฐานการทำงานและผลงานเป็นตัวกำหนดหรือชี้วัดว่าพนักงานทำได้ตามมาตรฐานงานที่ต้องการหรือไม่ เช่น ต้องทำได้กี่ชิ้นในเวลา 1 ชั่วโมง ทำของเสียกี่มากน้อย ต้องแก้ไขงานไหม เป็นต้น
สินค้าที่มีคุณภาพ ก็คือสินค้าที่นอกจากจะต้องทำได้ตามมาตรฐานแล้ว สินค้านั้นยังต้องสมารถสร้างความพอใจและประทับใจให้ลูกค้าด้วย ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ของตัวสินค้า ประโยชน์ของการใช้งาน ความสวยงาม ความคงทน เป็นต้น
แต่ปัจจุบัน ยังมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมาเกี่ยวข้องกับการผลิตและการให้บริการด้วย
คำว่า “คุณภาพ” จึงครอบคลุมถึงกระบวนการผลิตและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม การลดใช้ถุงพลาสติก การลดปัญหาขยะมีพิษ การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น
คำว่า “คุณภาพ” จึงครอบคลุมและตีความได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น แต่ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามมาตรฐานของสถาบันต่างๆ (มาตรฐาน ISO) โดยเฉพาะเรื่องของความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สังคมโลกให้ความสำคัญมากขึ้นทุกที ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่ตระหนักรู้และปฏิบัติกันอย่างจริงจังมากขึ้น
“คุณภาพ” จึงเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำได้ยากที่สุด และวันนี้เราไม่มีคุณภาพก็ไม่ได้ด้วย
ปัญหาที่สำคัญที่สุดก็คือ ใครจะรับผิดชอบในการสร้าง “คนที่มีคุณภาพ” เพื่อการต่างๆ ในองค์กร เพราะเราต่างรู้ดีว่า “คนที่ไม่มีคุณภาพ” และ “องค์กรที่ไม่มีคุณภาพ” จะอยู่ได้ยากมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน
ทั้งหมดทั้งปวงนี้ “คุณภาพ” จึงต้องหมายรวมถึง “ความรับผิดชอบ” ของผู้นำ และ “ความยั่งยืน” ขององค์กร ด้วย
ณ วันนี้ ถ้าเราเชื่อคำกล่าวที่ว่า ยุคนี้เป็นยุคของ “ปลาเร็วกินปลาช้า” เราก็คงต้องรีบปรับเปลี่ยนความคิดของเราใหม่ให้เป็น “การสร้างคุณภาพด้วยความรวดเร็ว” (รวดเร็วแต่มีคุณภาพ) เพื่อให้ทั้งตัวเราและองค์กรอยู่รอดและยั่งยืนต่อไป ครับผม !
กรุงเทพธุรกิจ
วันที่: พฤหัสบดี 3 กุมภาพันธ์ 2565
คอลัมน์: ผู้นำยุคสุดท้าย: “คุณภาพ” ไล่ล่าเราแล้ว
โฆษณา