4 ก.พ. 2022 เวลา 06:30 • การเมือง
#OnThisDay 4 กุมภาพันธ์ 2549 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยชุมนุมประท้วงใหญ่วันแรก
แม้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) จะประสบความสำเร็จบนสนามทางการเมือง นับตั้งแต่นำพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง 2 ครั้งตั้งแต่ปี 2544 จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่อยู่จนครบวาระได้สำเร็จ แต่ตลอดระยะเวลาการบริหารประเทศ รัฐบาลทักษิณต้องเผชิญกับกระแสวิพากษ์วิจารณ์และการต่อต้านจากฝ่ายค้านและนักวิชาการมาโดยตลอด
กระแสต่อต้านเริ่มขึ้นนับตั้งแต่ปลายปี 2547 ก่อนที่จะเริ่มขยายตัวหลังสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เมืองไทยรายสัปดาห์ อดีตสื่อมวลชนที่เคยสนับสนุนนายกทักษิณ ก่อนที่จะแตกหักกันในภายหลังจากผลประโยชน์ทางธุรกิจ เริ่มออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างดุเดือด พร้อมๆกับปลุกกระแสชาตินิยม ผ่านรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ ทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี ก่อนจะถูกระงับการออกอากาศในเดือนกันยายน 2548 จากกรณีการอ่านบทความ “ลูกแกะหลงทาง” ส่งผลให้สนธิ ปรับรูปแบบการจัดรายการเป็นแบบนอกสถานที่ และยกระดับการจัดกิจกรรมเป็นการชุมนุมในเวลาต่อมา
จุดเปลี่ยนที่ทำให้กระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นขยายตัวเป็นการชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่ เริ่มขึ้นภายหลังจากที่เกิดกรณีขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ของตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ แก่บริษัทเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (พีทีอี) จำกัด ของรัฐบาลสิงค์โปร์ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2549 จำนวน 1,487 ล้านหุ้น รวมมูลค่ากว่า 73,271 ล้านบาท โดยไม่เสียภาษี นำไปสู่กระแสวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง และกลายเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จุดชนวนให้มวลชนจำนวนมากออกมาร่วมกระแสต่อต้านในที่สุด
วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 เกิดการชุมนุมประท้วงใหญ่เพื่อต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครั้งแรกขึ้นที่ลานพระบรมรูปทรงม้า นำโดยสนธิ ลิ้มทองกุล ก่อนที่จะมีการยกระดับการชุมนุมไปยังท้องสนามหลวง ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พร้อมทั้งจัดตั้งเป็นกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในที่สุด โดยมีเป้าหมายหลักคือการขับไล่ทักษิณ ชินวัตรออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมๆกับการเสนอข้อเรียกร้อง “นายกพระราชทาน” โดยอ้างอิงมาจากมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวกลายเป็นที่วิจารณ์ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย นอกจากนี้กลุ่มพันธมิตรยังเรียกร้องให้กองทัพออกมาแสดงจุดยืนเลือกข้างทางการเมือง และมีการยื่นถวายฎีกาแก่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
การชุมนุมประท้วงที่เกิดขึ้น ส่งผลให้นายกทักษิณประกาศยุบสภาในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พร้อมจัดการเลือกตั้งใหญ่ในวันที่ 2 เมษายน และประกาศเว้นวรรคทางการเมือง แต่การเลือกตั้งดังกล่าวกับถูกคว่ำบาตรทั้งจากพรรคฝ่ายค้านได้แก่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชน รวมถึงกลุ่มพันธมิตร จนส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ตัดสินให้การเลือกตั้งดังกล่าวเป็นโมฆะ แม้จะมีการกำหนดจัการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม แต่กลุ่มพันธฺมิตรยังคงชุมนุมประท้วงต่อต้านอย่างต่อเนื่อง จนนำไปสู่รัฐประหารในวันที่ 19 กันยายนในที่สุด
การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 กลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญของวิกฤตการณ์ทางการเมืองไทย ที่ยังคงดำเนินอยู่จนถึงปัจจุบัน แม้เหตุการณ์นี้จะเริ่มต้นขึ้นด้วยการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาล และฉากสุดท้ายของเหตุการณ์กลับลงเอยด้วยการรัฐประหาร ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย สิ่งที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมที่ยากจะประสาน
TEXT: NUTIKANT C.
เปิดมุมมองข่าวให้กว้าง และรู้มากกว่าที่เคย
ไปกับ Modernist News - ทันสมัย หลากหลาย เปิดโลก
ติดตามได้ทาง Facebook : Modernist News
#Modernist - BOLD | MODERN | INSPIRED
ติดตามเราได้ทาง https://www.modernist.life
FB / IG / TW / BLOCKDIT : @lifeatmodernist
ติดต่อโฆษณา: 061-662-9142 หรือ songsuemedialab@gmail.com
โฆษณา