Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สยามเทศะ โดย มูลนิธิเล็ก-ประไพ วิริยะพันธุ์
•
ติดตาม
18 ก.พ. 2022 เวลา 00:00 • ประวัติศาสตร์
เมืองบางกอกและกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร
ตั้งแต่เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนนั้น ผู้คนส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาที่ เรียกกันว่า “เมืองบางกอก” ซึ่งก็คือแผ่นดินทางฝั่งธนบุรีในทุกวันนี้
ครั้งรัชกาลสมเด็จพระชัยราชาธิราช (ราว พ.ศ. ๒๐๗๗-๒๐๘๙) มีการขุดคลองลัดบางกอก จากปากคลองบางกอกใหญ่ถึงปากคลองบางกอกน้อย จนลัดบางกอกกลายสภาพเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาในทุกวันนี้ ส่วนเส้นทางของแม่น้ำเดิมกลับคับแคบลงกลายเป็นลำคลองที่เรียกว่า “คลองบางกอกใหญ่” และ “คลองบางกอกน้อย”
หากใช้หลักฐานจากโคลงกำสรวลสมุทร ซึ่งน่าจะแต่งขึ้นก่อนรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราช จะทำให้เห็นสภาพแวดล้อมบริเวณนี้ว่า แต่เดิมมีการตั้งถิ่นฐานแล้วตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ ในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ รวมทั้งย่านต่างๆ มีผู้คนอยู่อาศัยหนาแน่นทั้งเป็นชาวนาชาวประมงและมีการทำสวนปลูกผลไม้ชนิดต่างๆ เป็นจำนวนมาก
มีหลักฐานว่าในรัชกาลสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ราว พ.ศ. ๒๐๙๒-๒๑๐๖) มีการยกฐานะเมืองบางกอกเป็น “เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร” ทำหน้าที่เป็นเมืองหน้าด่านให้กับกรุงศรีอยุธยาตั้งแต่เมื่อราว พ.ศ. ๒๑๐๐ โดยเรียกเก็บภาษีปากเรือจากเรือสินค้าที่เข้าไปค้าขายยังกรุงศรีอยุธยา ผู้คนอาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ทางตอนใต้และบริเวณภายในเป็นท้องทุ่งและเรือกสวนไร่นา
สันนิษฐานโดยข้อมูลหลักฐานว่า เมืองบางกอกหรือเมืองธนบุรีฯ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาจึงเป็นเมืองที่ใช้พื้นที่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ
แต่ความเป็นเมืองธนบุรีนั้น ดูจะเป็นชื่อที่เป็นทางการที่ปรากฏหลักฐานเอกสารของทางราชการ แต่ชื่อที่ชาวบ้านทั่วไปกลับนิยมเรียกว่า “บางกอก” โดยเฉพาะคนต่างชาติจากภายนอกก็ยังใช้คำว่าบางกอกสืบมา แม้ว่าในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จะมีการย้ายเมืองมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำและเรียกเมืองใหม่ว่า “กรุงเทพฯ” ก็ตาม
ผู้รู้ทั่วไปสรุปความหมายของคำว่าบางกอกเป็นสองอย่าง อย่างแรกเชื่อว่า “บางกอก” หมายถึงย่านที่มีต้นมะกอกอยู่หนาแน่น เช่นเดียวกับคำว่าบางลำพูเพราะมีต้นลำพูขึ้นอยู่มากมาย
แต่อีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าเป็นคำที่เพี้ยนทางจากคำว่า “บางเกาะ” เพราะมีลักษณะที่เป็นเกาะ และเอกสารในที่ฝรั่งบันทึกไว้แต่สมัยอยุธยาก็มีคำเรียกว่า “บางเกาะ”
ในงานศึกษานี้คล้อยตามความหมายอย่างหลังคือ “บางกอก” เพี้ยนมาจากคำว่า “บางเกาะ” อันเนื่องจากมีเกาะที่เกิดขึ้นจากการขุดคลองลัดแม่น้ำอ้อมและคลองเชื่อมต่อแม่น้ำอ้อม ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราชมาถึงสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์
เพราะถ้าหากว่าบริเวณนี้เรียกว่าบางกอกอันมีต้นมะกอกน้ำขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นนั้น ต้องมีการชี้ให้เห็นว่า ต้นมะกอกน้ำชอบและเติบโตได้ดีในพื้นที่ “ดินลักจืดลักเค็ม” ที่ต่อเนื่องมาจากป่าชายเลน
แต่ที่สำคัญก็คือ เอกสารโบราณครั้งกรุงศรีอยุธยาในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ คือ “กำศรวลสมุทร” ที่เขียนขึ้นน่าจะก่อนสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราชและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์นั้น ไม่ปรากฏชื่อบางกอกแม้แต่น้อย หากกล่าวถึงตำบลเก่าๆ เช่น บางระมาด บางฉนัง เป็นต้น เพราะครั้งพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นั้น ยังไม่มีการขุดคลองลัดและคลองเชื่อมจนเป็นเกาะดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม บทโคลงในกำศรวลสมุทรบรรยายให้เห็นว่า บริเวณ “ตำบลฉมังราย” ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งต่อมาเรียกว่า“สมอราย”คือตั้งแต่วัดราชาธิวาส
ลงมานั้น เป็นย่านชุมชนชาวประมงที่ยังมีการจับปลากันอยู่ แต่พอลำน้ำเจ้าพระยาไหลวกไปทางตะวันตกเกิดเป็นแม่น้ำอ้อม พื้นที่ทั้งสองฝั่งน้ำเช่นที่ตำบลบางระมาดเป็นแหล่งบ้านเรือนและเรือกสวนของผู้คนที่เป็นชาวสวนอยู่แล้ว
แสดงให้เห็นชัดเจนว่าก่อนที่จะเกิด “เมืองธนบุรี” หรือ “บางเกาะ” บริเวณนี้เป็นชุมชนชาวสวนอยู่แล้ว และมีชุมชนในพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ขึ้นไปสนับสนุนหลายแห่ง เช่น บริเวณริมคลองแม่น้ำอ้อมบางกรวยในเขตตำบลตลิ่งชัน มีพระปรางค์ที่วัดปรางค์หลวงเหลือให้เห็นเป็นประจักษ์พยาน
พระปรางค์องค์นี้น่าจะมีอายุอยู่ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ซึ่งก็เช่นเดียวกันกับพระปรางค์วัดระฆังโฆษิตาราม ที่ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ของกรุงรัตนโกสินทร์
ถ้าเมืองธนบุรีหรือบางกอกเป็นชุมชนของคนทำสวน ก็ทำให้ตั้งคำถามได้ว่า คนชาวสวนนี้มาจากไหน ในกำศรวลมุทรกล่าวถึงชาวสวนที่เป็น “คนลาว” แต่ก็คงไม่ได้เป็นคนลาวทั้งหมด เพราะประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่การเป็นคนชาวสวนนี้สัมพันธ์กับการทำสวนแบบยกร่องเป็นขนัด มีร่องน้ำและลำประโดง
รูปแบบและวิธีการจัดการน้ำเช่นนี้ไม่พบในพื้นที่ภาคอื่น เช่น บริเวณภาคกลางตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือแต่อย่างใด แต่กลับเป็นรูปแบบและลักษณะการทำสวนแบบผู้คนในมณฑลกวางตุ้ง กวางสี ทางตอนใต้ของประเทศจีน
ฉะนั้น คนที่เป็นชาวสวนในช่วงเวลาพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ขึ้นไปนั้น น่าจะมีความสัมพันธ์กับผู้คนทางตอนใต้ของประเทศจีนไม่ใช่น้อย
คงได้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนทางตอนใต้ของประเทศจีนเหล่านี้ เข้ามาตั้งถิ่นฐานตามปากแม่น้ำเจ้าพระยา ท่าจีน และแม่กลอง โดยยึดพื้นที่ตามป่าชายเลนและบริเวณที่ลุ่มต่ำของแม่น้ำตอนใกล้กับปากอ่าวเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและที่ทำกินในการประมง รวมทั้งการค้าขายกับผู้คนที่อยู่ภายในกับที่มาจากภายนอกทางโพ้นทะเล
หลักฐานด้านเอกสารสำคัญ (พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์) ที่สะท้อนให้เห็น คือ “ตำนานท้าวอู่ทอง” ที่ชาวยุโรปในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๓ บันทึกไว้ว่าเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมที่มาจากเมืองจีนเข้ามาตั้งหลักแหล่งบ้านเมืองตามเขตชายทะเลตั้งแต่ ปัตตานี นครศรีธรรมราชมาจนถึงเพชรบุรี ทำให้เกิดความเชื่อในเรื่องการสร้างบ้านแปงเมืองของท้าวอู่ทองไปทั่วบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
คนกลุ่มใหม่ที่เคลื่อนย้ายเข้ามาดังกล่าวนี้ คงได้นำเอาความรู้เรื่องการทำสวนผลไม้มาปรับใช้ในพื้นที่ลักจืดลักเค็ม อันเป็นที่ดอนของบริเวณแม่น้ำอ้อม ที่อยู่พ้นเขตป่าชายเลนขึ้นมา จึงทำให้เกิดย่านชุมชนบ้านเมืองของคนชาวสวนขึ้น
การเกิดของ “กรุงเทพฯ” อันเป็นเมืองราชธานีของสยามประเทศในขณะนี้มีความสัมพันธ์กับ “กรุงธนบุรีฯ” อย่างแยกกันไม่ออก เพราะกำเนิดมาจากการเป็นเมืองสองฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาที่เป็นคลองขุดลัดแม่น้ำอ้อมด้วยกัน
พื้นฐานของคนบางเกาะหรือบางกอกก็คือ “ชาวสวน” ที่เกิดจากผู้คนรุ่นใหม่ที่มาจากถิ่นฐานทางตอนใต้ของประเทศจีน นำเอาความรู้ในเรื่องการทำสวนผลไม้เข้ามาปรับใช้ให้เข้ากับภูมินิเวศในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
เนื่องจากเมืองธนบุรีเป็นเมืองหน้าด่านมีชัยภูมิที่ดีและมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อีกทั้งยังตั้งอยู่บริเวณโค้งของแม่น้ำ สมเด็จพระนารายณ์ฯ (พ.ศ. ๒๒๐๑-พ.ศ.๒๒๓๑) โปรดให้วิศวกรชาวฝรั่งเศสสร้างป้อมสำหรับทั้งสองฝั่งน้ำเพื่อรับศึกทางทะเลที่อาจมีปัญหากับกองเรือของชาวดัชท์หรือฮอลันดา เรียกว่า “ป้อมวิชาเยนทร์” ต่อมาป้อมทางตะวันออกถูกรื้อไปในรัชกาลสมเด็จพระเพทราชา
คงเหลือแต่ป้อมทางฝั่งตะวันตกแต่เพียงป้อมเดียว ปัจจุบันคือ “ป้อมวิไชยประสิทธิ์” เหนือปากคลองบางกอกใหญ่หรือคลองบางหลวง ในบริเวณกองบัญชาการกองทัพเรือ พระราชวังเดิม
เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีเมื่อ พ.ศ.๒๓๑๓ โปรดเกล้าฯ ให้ขยายเมืองไปทางทิศเหนือจนจรดคลองบางกอกน้อย
พร้อมกับสร้างกำแพงเมืองตามแนวคลองขุดใหม่ซึ่งเป็นคลองคูเมือง มีชื่อเรียกเป็นตอนๆ เช่น คลองบ้านขมิ้น คลองบ้านช่างหล่อ คลองบ้านหม้อ คลองวัดท้ายตลาด ส่วนทางทิศตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาขยายไปจนจรดคลองคูเมืองที่ขุดขึ้นใหม่ แล้วสร้างกำแพงเมืองตามแนวคลองคูเมือง ดังปรากฏจากการขุดค้นทางโบราณคดี
ทางฝั่งธนบุรีฟากตะวันตกให้ขุดที่สวนเดิมเปลี่ยนเป็นท้องนานอกคูเมืองทั้ง ๒ ฟากฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกว่า “ทะเลตม” ไว้เป็นที่สำหรับทำนาใกล้พระนคร แม่น้ำเจ้าพระยาจึงตัดผ่านกลางเมือง พื้นที่ในกำแพงเมืองฝั่งตะวันตกเริ่มตั้งแต่เขตเมืองธนบุรีเดิม ริมคลองบางกอกใหญ่ ไปจนถึงบริเวณหลังวัดบางหว้าน้อย วัดอินทาราม ริมคลองบางกอกน้อย ภายในกำแพงเมืองธนบุรีเป็นที่ตั้งของพระราชวังกรุงธนบุรี
ครั้งเป็นกรุงธนบุรีนั้น ผู้คนส่วนใหญ่อยู่ทางฝั่งตะวันตกที่เป็นเกาะบางกอก เป็นสังคมชาวสวน ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำลำคลองและเรือกสวน รวมทั้งพระราชวัง วัง บ้านเรือนเจ้านายและขุนนาง วัดสำคัญ
นอกจากชาวสวนที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อันมีทั้งชาวจีน ชาวลาว ชาวมอญ และอื่นๆ แล้วก็น่าจะเป็นกลุ่มชุมชนมุสลิมที่มีรากเหง้ามาจากชุมชนมุสลิมจากกรุงศรีอยุธยามาแต่เดิมอยู่อาศัยอยู่หลายแห่ง โดยเฉพาะชุมชนบริเวณริมคลองบางกอกใหญ่และบางกอกน้อย ซึ่งรู้จักผู้คนกลุ่มนี้ในนามแขกเทศหรือแขกแพ
นอกเหนือไปจากบ้านเรือนที่อยู่อาศัยยังมีมัสยิดและกูโบร์ที่เป็นเสมือนเสาหลักของความเป็นชุมชนมุสลิมซึ่งสะท้อนถึงตระกูลและเผ่าพงศ์ที่มาที่ไปตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาและกรุงธนบุรี
ผู้นำในชุมชนทางฝั่งธนบุรีส่วนใหญ่เป็นขุนนางข้าราชการราชสำนักในระดับสูง ชั้นเจ้าพระยา เช่น เจ้าพระยาจักรี (หมุด) เจ้าพระยาราชวังสันเสนีย์ (มะหมูด) ขุนนางในสมัยกรุงธนบุรี ชั้นพระยา เช่น พระยาราชบังสันท่านต่างๆ พระยาจุฬาราชมนตรี
ฝ่ายหญิงก็เป็นพระสนมหลายท่านรวมทั้ง “เจ้าจอมมารดาเรียม” หรือ “สมเด็จพระศรีสุลาไลย” พระบรมราชชนนีของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งขุนนางในระดับทั่วไป เช่น ขุนและหลวงอีกมากมาย
ชุมชนมุสลิมที่ฝั่งธนบุรีจึงเป็นชาวสยามที่นับถือศาสนาอิสลามที่มีรากเหง้าสืบเชื้อสายมาจากขุนนางเดิมในสมัยกรุงศรีอยุธยาเสียเป็นส่วนใหญ่
ส่วนทางฝั่งตะวันออกภายในเขตคลองเมืองที่ปัจจุบันเป็นคลองเมืองชั้นในของเมืองกรุงเทพฯ ที่เรียกกันต่อมาว่า “คลองโรงไหม” ขุดคลองแล้วนำดินพูนเป็นเชิงเทิน ปักแนวไม้ทองหลางทั้งต้นเป็นรั้วกำแพง ภายในเมืองแม้จะมีวัดโบราณมาแต่สมัยอยุธยา เช่น วัดโพธิ์ วัดสลัก วัดกลางทุ่งหรือวัดตองปุ พื้นที่เป็นท้องทุ่งและสวน มีชุมชนหลายชาติพันธุ์เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยโดยเฉพาะคนจีนและคนมอญ
และยังมีหลักฐานปรากฏว่า “วัดโพธิ์” หรือ “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ในปัจจุบันนี้เป็นวัดสำคัญในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อพิจารณาจากแผนที่เก่าที่ชาวพม่าทำไว้แผนที่ดังกล่าวอาจารย์สุเนตร ชุตินทรานนท์ ได้รับมาจากผู้คัดลอกมาจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และมีจัดแสดงภาพจำลองไว้ในพิพิธภัณฑ์วังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ภายในกองทัพเรือด้วย
กรุงธนบุรีเป็นราชธานีเพียง ๑๕ ปี หลังจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสวรรคต พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี และทรงย้ายราชธานีจากฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดคลองคูเมืองใหม่ สร้างพระบรมมหาราชวังใหม่
เมืองธนบุรีจึงถูกลดความสำคัญลง โดยเฉพาะการเป็นที่พำนักนิวาสถานของเชื้อพระวงศ์และขุนนาง ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแถบคลองบางหลวง หลังจากนั้นกระทั่งปัจจุบัน เมืองธนบุรีจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพฯ ในที่สุด
ติดตามบทความ วิดีโอ และรายการต่างๆ เพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/สยามเทศะ-โดยมูลนิธิเล็ก-ประไพ-วิริยะพันธุ์-323215901674254
https://www.youtube.com/user/lekprapai/featured
https://siamdesa.org
https://www.instagram.com/siamdesa_lekprapai/?hl=th
https://lek-prapai.org/home
https://www.blockdit.com/pages/60934dc31b39400c4b221773
2 บันทึก
5
2
2
5
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย