5 ก.พ. 2022 เวลา 01:14
สอบเข้า 'สาธิต' เกณฑ์ห้ามร้องไห้! เมื่อ ผู้ใหญ่ ไม่เคยเข้าใจความเป็นเด็ก
3
ข่าวสอบเข้าอนุบาล ร.ร.สาธิต ม.มหาสารคาม ระบุ เกณฑ์ห้ามเด็กร้องไห้ หัก 3 คะแนน ขณะผอ.โร่แจงเหตุผล หวั่นทำเด็กอื่นเสียสมาธิ ยังคงเป็นกระแสโจมตีทางสังคม ด้านนักจิตวิทยา สลด! ห้ามเด็กร้องไห้ ไม่ต่างจากการห้ามเป็นมนุษย์
เป็นกระแสถกเถียงทางสังคมตั้งแต่ค่ำวานนี้ หลังมีหนังสือประกาศของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ฝ่ายประถม) ว่อนโซเซียล กล่าวถึงหลัก เกณฑ์การทดสอบคัดเลือกนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 เข้าเรียนสาธิต ในปีการศึกษา 2565 ซึ่งระบุ ข้อ 2 หากเด็กร้องไห้ ให้หักคะแนนฐานที่ร้องไห้ ฐานละ 3 คะแนน
สร้างความงุนงงให้กับสังคม พร้อมเกิดคำถามร่วมกันว่า เหตุใดการร้องไห้ของเด็กเล็กถึงเป็นเรื่องผิดปกติในระบบการศึกษาไทย ซึ่งภายหลัง ทางโรงเรียน โดย รศ.ดร.สุนันท์ สายกระสุน ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ชี้แจงต่อสื่อว่า เหตุผลการตั้งหลักเกณฑ์ห้ามเด็กร้องไห้นั้น ก็เพื่อต้องการสร้างความเป็นธรรม ไม่ให้เด็กคนอื่นเสียสมาธิ และถือเป็นระเบียบที่ใช้ทดสอบเด็กเข้าเรียนสาธิตมานานแล้ว
2
อย่างไรก็ตาม คำตอบเบื้องต้น ได้มีความเห็นหลากหลายเกิดขึ้น รวมถึงนักจิตวิทยาด้วย โดยเพจ ตามใจนักจิตวิทยา ที่มีผู้ติดตามราว 2.79 แสนคน ได้กล่าวถึง ประเด็นข่าวห้ามเด็กร้องไห้ระหว่างการทดสอบเข้าเรียนสาธิต ไว้อย่างน่าสนใจ โดยหยิบยก ธรรมชาติของเด็ก และ ความเป็นมนุษย์ ที่ไม่ควรถูกตีกรอบด้วยผู้ใหญ่ และระบบการศึกษาไทย ตามใจความดังนี้
1
เด็กปฐมวัย 0-6 ปี คือวัยก่อนวัยเรียน
เด็กๆ เพิ่งจะเริ่มต้นเรียนรู้สิ่งต่างๆ
พัฒนาการที่เด่นชัดคือ “ร่างกาย”
พวกเขาควบคุมสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ดี เช่น เข้าใจจำนวนที่จับต้องได้ รู้ว่าอยากกินขนมอีกกี่ชิ้น กระโดดไปข้างหน้าด้วยสองเท้าที่มั่นคง ปีนป่าย และวิ่งเล่นอย่างมีพลัง
แต่ไม่ใช่นามธรรม เช่น บวกลบเลขบนกระดาษ จัดการอารมณ์ได้ดีพร้อม หรือ เข้าใจเรื่องของการบริหารจัดการเวลา
ในวันที่ผู้ใหญ่คาดหวังให้เด็กไม่เป็นเด็ก
ให้เด็กทดสอบทุกฐาน
ห้ามร้องไห้ หากร้องไห้เสียคะแนน
ให้แยกจากพ่อแม่และคาดหวังต้องปรับตัวได้
“สิ่งที่เราทำกำลังทำร้ายเด็กๆ อยู่หรือเปล่า?”
เราควรกลับมาทบทวนกันจริงจังไม่ใช่แค่เรื่อง “พัฒนาการของเด็ก” แต่หมายรวมไปถึง “ความเป็นมนุษย์”
สิ่งที่เด็กทุกคนควรได้รับ คือ“โอกาส”
เด็กทุกคนมีความแตกต่างกัน บางคนเร็วบ้าง ช้าบ้าง แต่เด็กทุกคนสามารถพัฒนาและเติบโตได้ ดังนั้นไม่ควรมีเด็กคนใดควรถูกตัดโอกาสเพียงเพราะเขาไม่ตรงตามเกณฑ์ที่ผู้ใหญ่ตั้งขึ้น
การทดสอบควรเป็นไปเพื่อให้ผู้ใหญ่รู้ว่า “เราควรพัฒนาเด็กจากจุดใด”
และมีอะไรที่เราสามารถมอบให้กับเด็กคนนี้ได้บ้าง
เช่น การทดสอบในสภาพแวดล้อมธรรมชาติของเด็ก ให้เขาเล่น ให้เขาเดินไปหยิบจับสิ่งต่างๆ มาทำกิจกรรม หรือ ให้เขาได้ลงมือช่วยเหลือตัวเอง เพราะพัฒนาการที่สำคัญของเด็กเล็กคือร่างกาย ไม่ใช่วิชาการ
“การทดสอบ” หรือ “การประเมินพัฒนาการ”
ไม่ควรเกิดขึ้นเพื่อตัดโอกาสเด็กคนใดออกไปหรือเพื่อตีตราว่าเด็กคนนี้ไม่ได้เรื่องและไม่ดีพอ
“การร้องไห้”
เป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวและรับมือกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นของเด็กๆ และมนุษย์ทุกคน
ในความจริงตามหลักพัฒนาการเด็ก ความวิตกกังวลในการแยกจากมักเกิดในเด็กวัย 2-6 ปี เด็กยังไม่สามารถแยกจากได้อย่างสมบูรณ์ (Ainsworth, 1979) หากลูกเรายังอยู่ในช่วงวัยดังกล่าว และเขายังไม่พร้อมแยกจากนั้นเป็นเรื่องปกติ การร้องไห้หรือการไม่อยากแยกจากเป็นเรื่องปกติ
ผู้ใหญ่ควรอนุญาตให้เด็กร้องไห้ได้ และทำความเข้าใจใหม่ว่าการร้องไห้ไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี เป็นสิ่งต้องห้าม เป็นสิ่งที่แสดงถึงความอ่อนแอ แต่สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำคือการรับรู้อารมณ์ เข้าใจ และตอบสนองอย่างเหมาะสมต่างหาก
เด็กเล็กมากที่ยังไม่สื่อสาร เมื่อร้องไห้ผู้ใหญ่เข้าไปโอบอุ้มและปลอบประโลม
เด็กที่โตขึ้นมาหน่อย เมื่อร้องไห้ผู้ใหญ่พาออกมาในพื้นที่ที่ปลอดภัย มีแค่เรากับเขา ให้ความมั่นใจว่าไม่เป็นไร ร้องไห้ได้นะ และเมื่อสงบพูดคุยกันว่า “เป็นอะไร” “เกิดอะไรขึ้น” และ “อยากให้ช่วยอะไรไหม”
“การห้ามเด็กร้องไห้”
ไม่ใช่เพียงเราคาดหวังให้เด็กไม่เป็นเด็ก
เรากำลังคาดหวังไม่ให้เขาเป็นมนุษย์ด้วยซ้ำ
“ให้เด็กได้เป็นเด็ก”
ด้วยการคาดหวังเขาให้ตรงตามวัย
ไม่ใช่แค่เพียงพ่อแม่ แต่ผู้ใหญ่ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กควรรับรู้เรื่องพัฒนาการมนุษย์ และให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์มากกว่าตัวเลขบนหน้ากระดาษ
เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น แม้จะเป็นเด็ก แต่เด็กก็มีหัวใจและความรู้สึกไม่แตกต่างจากเราผู้ใหญ่เลย
บางครั้งความรู้สึกที่เกิดขึ้นมีมากกว่าเราด้วยซ้ำ เพราะประการณ์ชีวิตและภูมิคุ้มกันที่ยังไม่มากพอ
สุดท้าย เด็กทุกคนต้องการโอกาสในการเติบโต ไม่ควรมีผู้ใหญ่คนใดมาพรากโอกาสนั้นไปจากเขา
“หัวใจของเด็กคือสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องปกป้อง”
ให้เขาได้เป็นเด็กตามวัย ให้เขาได้เรียนรู้เพื่อเติบโตไม่ใช่เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังของเรา เพราะเมื่อเด็กไม่เป็นดังหวัง เรากลับตีตราเขาว่าไม่มีความสามารถ
โฆษณา