5 ก.พ. 2022 เวลา 03:20 • ปรัชญา
ตรรกะวิบัติน่ารู้ ตอนที่ 3
บทความนี้นำเสนอตรรกะวิบัติน่ารู้ต่อจากสองบทความก่อนหน้า:
I. อาจารย์ให้หนูผ่านนะคะ สงสารหนูหน่อยนะคะ.
การพยายามทำให้ผู้ฟังเชื่อหรือยอมทำตามความต้องการของผู้พูดด้วยการสร้างความรู้สึกน่าสงสารหรือความเห็นอกเห็นใจในสถานการณ์ที่ผู้พูดกำลังเผชิญเป็นตรรกะวิบัติแบบหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกว่า appeal to pity (ภาษาละตินคือ argumentum ad misericordiam). เราพบเห็นเหตุผลวิบัติแบบนี้อยู่เสมอ. ยกตัวอย่างในรั้วมหาวิทยาลัย, นักศึกษาสาวคนหนึ่งรู้ตัวว่ากำลังจะตกวิชา Essay Writing ที่เธอลงทะเบียนไว้. เธอจึงมาอ้อนวอนอาจารย์ผู้สอน, ขอร้องให้เธอผ่านวิชาดังกล่าว.
เธอบอกว่า ที่เธอเข้าเรียนเพียง 2 ครั้งจากทั้งหมด 14 ครั้ง, ส่งงานไม่ครบและส่งไม่ตรงเวลาเลยสักชิ้นก็เป็นเพราะบ้านของเธออยู่ไกล, การเดินทางแสนลำบาก, ไม่อาจขึ้นรถไฟฟ้าหรือนั่งแท็กซี่มาได้เพราะยากจนไม่มีสตางค์. และนอกจากนี้, เธอยังต้องเลี้ยงดูแม่อายุ 65 ปีซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียง. เธอกำลังโน้มน้าวให้อาจารย์รู้สึกสงสารและให้เธอผ่าน.
II. พระเจ้ามีจริงเพราะไบเบิลบอกไว้!
ชาวคริสต์คนหนึ่งอธิบายเหตุผลว่าเหตุใดเขาจึงศรัทธาในพระเจ้า. เขาบอกว่า การมีอยู่ของพระเจ้าเป็นสิ่งแน่แท้เพราะมันถูกเขียนเอาไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล. และตัวพระคัมภีร์ก็มีต้นกำเนิดมาจากพระเจ้า. หากพินิจพิจารณาการยกเหตุผลนี้ให้ลึกซึ้ง, เราจะพบว่า การใช้เหตุผลแบบนี้นำไปสู่ข้อสรุปที่วนวกเวียนกลับมายังข้ออ้าง; กล่าวคือ, ทำไมจึงเชื่อว่าพระเจ้ามีอยู่, ก็เพราะมันถูกเขียนไว้ในไบเบิล; แล้วทำไมถึงเชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ ในไบเบิลเป็นจริง, ก็เพราะมันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระเจ้า!
มันไม่มีข้อสรุปที่แท้จริง, มันเป็นเพียงการนำข้ออ้างมากล่าวซ้ำ. ลักษณาการแห่งการใช้เหตุผลเช่นนี้เป็นตรรกะวิบัติรูปแบบหนึ่ง, ซึ่งเรียกว่า circular reasoning หรือ circulus in probando ในภาษาละติน, ซึ่งเป็นการใช้เหตุผลที่วกวนและนำข้ออ้างมาใช้เป็นข้อสรุป.
1
III. ผู้ชายมันก็เจ้าชู้เหมือนๆ กันหมดนั่นแหละ!
หญิงสาวคนหนึ่งเพิ่งเลิกกับแฟนเพราะเธอจับได้ว่า แฟนของเธอแอบไปมีผู้หญิงคนอื่น. แฟนคนนี้เป็นแฟนคนแรกของเธอซึ่งคบกันมาเป็นระยะเวลาสามปี. เธอมาจับได้ในช่วงปีที่สามของการคบกันว่าแฟนของเธอมีหญิงอื่น. เมื่อพูดคุยปรับทุกข์กับเพื่อนของเธอเสร็จ, เธอเอ่ยขึ้นมาว่า จะขออยู่เป็นโสดตลอดไปชีวิตเพราะไม่อยากเสียใจอีกแล้ว, ไม่อยากโดนหลอกอีกแล้ว, พร้อมตบท้ายว่า “ผู้ชายมันก็เจ้าชู้เหมือนกันหมด!”
การสรุปเช่นนี้เป็นตรรกะวิบัติแบบหนึ่ง, ซึ่งมีชื่อว่า hasty conclusion หรือการด่วนสรุป. ตลอดชีวิตของเธอ, เธอเพิ่งจะเคยสัมผัสสิ่งมีชีวิตเพศชายผ่านนิยามความสัมพันธ์ที่เป็นความรักแบบหนุ่มสาวเพียงแค่คนเดียว. ดังนั้น การสรุปว่า “ผู้ชายมันก็เจ้าชู้เหมือนกันหมด” จึงเป็นการด่วนสรุป. ตรรกะวิบัตินี้เกิดขึ้นเมื่อเราสร้างข้อสรุปโดยอาศัยตัวอย่างที่มีจำนวนไม่มากพอ (inadequate samples) หรือตัวอย่างที่เราได้มาเป็นตัวแทนที่ไม่ดี (atypical examples).
2
พบกับตรรกะวิบัติน่ารู้อื่นๆ ได้อีกในบทความต่อไป, โปรดติดตาม.
โฆษณา