9 ก.พ. 2022 เวลา 03:39 • ข่าวรอบโลก
อีก40ปีปลาทะเลจะหมดโลก !!
จำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นทุกๆปี ส่งผลให้การบริโภคของสังคมมนุษย์เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว การจับปลาได้กลายเป็นอุตสาหกรรมระดับโลก และไม่กี่ปีที่ผ่านมาองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เคยรายงานว่า
ขณะนี้ปริมาณปลาที่จับได้ในธรรมชาตินั้นมีประมาณ 90 ถึง 93 ล้านตันต่อปี และไม่เพิ่มขึ้นมาประมาณ 20 ปีแล้ว ที่สำคัญคือ ไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย ขณะที่ความต้องการปลามีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นตลอดเวลา
 
“ปัญหานี้กำลังรุนแรงขึ้นทุกขณะ ในเมดิเตอร์เรเนียนขณะนี้มีสงครามย่อย ๆ ระหว่างชาวประมงจาก 22 ประเทศที่เลี้ยงชีพด้วยการจับปลาทูน่าครีบน้ำเงินจากน่านน้ำดังกล่าว”
วารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่างเช่น sciencemag ได้เผยแพร่งานวิจัยเมื่อเร็วๆนี้ระบุว่า สภาวะทะเลที่เป็นกรด การประมงเกินขนาด และกิจกรรมของมนุษย์ต่างๆนั้นเป็นภัยคุกคามอนาคตที่ยั่งยืนของท้องทะเลไปแล้ว และอาจทำให้ปลาทะเลต้องสูญพันธุ์ไปเรื่อยๆในอนาคตอันใกล้นี้
“ชาลส์ โคลเวอร์” ที่ท่องเที่ยวไปทั่วโลกเพื่อศึกษาหาสาเหตุว่า ทำไมปลาถึงหมดไปอย่างรวดเร็วนัก ได้เขียนไว้ในหนังสือเรื่อง The End of The Line ของเขาว่า สาเหตุหลักคือ การจัดการที่ผิดพลาดของรัฐบาลแต่ละประเทศนั่นเอง เขาพบว่า รัฐบาลเป็นตัวการส่งเสริมให้เรือประมงกวาดเอาปลาในทะเลท้องถิ่นไปจนหมด และยังสนับสนุนให้ต่อเรือที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ออกไปจับปลาไกลขึ้น และมากขึ้นจากน่านน้ำของประเทศอื่น
กรณีปลาทูน่าครีบน้ำเงิน ซึ่งเป็นปลาที่มีมูลค่าสูงในตลาด แลละญี่ปุ่นบริโภคปลาชนิดนี้ถึง 3 ใน 4 ของจำนวนปลาที่จับมาได้ทั้งหมด
ที่ผ่านมาหลายๆประเทศเช่น สหรัฐฯ และยุโรป พยายามรณรงค์ห้ามจับปลาทูน่าครีบน้ำเงิน แต่ก็ประสบความ ”ล้มเหลว” เมื่อการประชุมนานาชาติอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับสัตว์ป่าและพืชพรรณจากป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (ไซเตส) ที่มีตัวแทนกว่า 175 ประเทศเข้าร่วมการประชุมที่กรุงโดฮา ประเทศกาตาร์ได้เคยมีมติอย่างไม่เป็นเอกฉันท์คว่ำมติห้ามจับปลาทูน่า
ซึ่งแน่นอนว่า ญี่ปุ่นพึงพอใจกับมติดังกล่าวมากที่สุด และอดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น “ยูคิโอะ ฮาโตยามะ”ในสมัยนั้นยัง ออกมาย้ำว่า จะดำเนินการจัดระเบียบสต็อกสำรองของทูน่าครีบน้ำเงิน แทนที่จะออกกฎห้ามอย่างสิ้นเชิง
ความล้มเหลวในครั้งนี้ทำให้ปลาทูน่าครีบน้ำเงินยังคงถูกล่าต่อไป และอนาคตของปลาทูน่าชนิดนี้ดูจะมืดมน!
แม้กระทั่ง"ปลาสเตอร์เจียน" ที่รอดชีวิตผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 250 ล้านปี วันนี้มีสภาพไม่ต่างไปจากปลาทูน่าครีบน้ำเงินเพราะ ถูกล่าเอาไข่ที่มีราคแพงไปทำเป็น “ไข่ปลาคาเวียร์” ให้บรรดาเศรษฐีได้ลิ้มชิมกันทั่วโลก
ปริมาณปลาสเตอร์เจียนนั้นลดลงอย่างน่าใจหายมาตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปี 2534 เพราะ พวกลักลอบจับปลา และแก๊งอาชญากรพากันส่งไข่ปลาคาเวียร์จากทะเลแคสเปียนไปสู่จานของนักชิมทั่วยุโรป เอเชีย และสหรัฐ กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
 
ทั้งนี้เพราะ ไข่ปลาคาเวียร์ที่ลักลอบขายกัน เมื่อส่งไปขายที่ตลาดมอสโกได้ปอนด์ละ 635 ดอลลาร์สหรัฐหรือเกือบ 20,000 บาท
สหภาพอนุรักษ์ธรรมชาติสากลระบุว่า ปัจจุบันปลาสเตอร์เจียนตามธรรมชาติมากถึง 85% ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะสูญพันธุ์ และมีปลาสเตอร์เจียน17 พันธุ์จาก 27 พันธุ์เข้าขั้นวิกฤตแล้ว
 
มีการประเมินว่า ในช่วงเวลาอีก 40ปี ระบบนิเวศในท้องทะเลอาจจะพังทลายลง ซึ่งหมายความว่า สิ่งมีชีวิตจะเหลือจำนวนเพียง 10% ของจำนวนสูงสุดที่เราเคยรู้จัก และจากปัญหาโลกร้อน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง การจับปลาที่มากเกินไป และมลภาวะที่เพิ่มขึ้น กำลังทำลายจำนวนประชากรปลาในทะเลให้ลดน้อยลง
 
ผู้เชี่ยวชาญจากองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น) เคยออกมากล่าวเตือนเช่นกันว่า เป็นไปได้ที่ในอีก 40 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2593 โลกจะเผชิญกับภาวะไร้ปลาในทะเล นอกจากว่า จะมีการเลิกอุดหนุนเรือประมงและปล่อยให้พันธ์ปลาต่างๆได้ฟื้นตัว
มีรายงานการศึกษาโดย Boris Worm จากมหาวิทยาลัย Dalhousie ที่ร่วมกับเพื่อนนักวิจัยจากสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา สวีเดน และปานามา ได้พยายามทำความเข้าใจว่าการสูญเสียชนิดพันธุ์ต่างๆ ในมหาสมุทรนั้นจะส่งผลอย่างไร….??
 
“นี่ไม่ใช่การคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดในอนาคต แต่นี่คือสิ่งที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน หากความหลากหลายทางชีวภาพยังคงมีแนวโน้มลดลง สิ่งแวดล้อมทางทะเลคงไม่สามารถช่วยสนับสนุนวิถีชีวิตของเราได้อีกต่อไป”
ปัจจุบันนี้ ชนิดพันธุ์ปลาและสัตว์ทะเลซึ่งรับประทานได้ร้อยละ 29 มีปริมาณลดลงถึงร้อยละ 90 การลดลงที่หมายถึงการล่มสลายของอุตสาหกรรมประมง แต่ปัญหาอาจไม่ได้จบที่โต๊ะอาหาร สัตว์ทะเลยังทำหน้าที่กรองมลภาวะออกจากน้ำ ช่วยปกป้องชายฝั่ง และลดความเสี่ยงการเกิดแอลจีบลูม (Algae Bloom) หรือการขยายพันธุ์ของสาหร่ายในระดับที่ผิดปกติ เช่น ปรากฎการณ์คลื่นสีแดง(Red Tide)
ข้อสรุปที่ได้จากผลการศึกษาชิ้นนี้ กำลังอธิบายว่า ทุกชีวิตในมหาสมุทรมีความสำคัญอย่างยิ่ง ความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทรคือ กุญแจสำคัญที่จะทำให้ทุกชีวิตบนโลกนี้อยู่รอด และพื้นที่มหาสมุทรที่มีชนิดพันธุ์หลากหลายมากที่สุดก็สะท้อนสุขภาพที่ดีเช่นเดียวกัน
แต่ตรงกันข้าม การสูญเสียดังกล่าวไม่ได้ดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเพิ่มในอัตราเร่งที่น่าวิตก…!!!
ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่แต่ละประเทศทั่วโลกจะต้องตระหนัก และเปลี่ยนความคิดโดยด่วน จากเดิมที่เคยคิดว่า จะหาประโยชน์จากท้องทะเลให้มากที่สุดได้อย่างไร มาเป็นว่า เราจะช่วยฟื้นฟูทะเลด้วยวิธีไหน ก่อนที่เราจะไม่เหลือปลาทะเลให้อยู่รอดอยู่บนโลกใบนี้….
อ้างอิงภาพจาก igreenstory
“””””””””””””””””””””””””””
หมุนทันโลก@World Digest ย่อโลกธุรกิจ และรับข่าวสารใหม่ๆก่อนใคร
ชอบบทความกด like โดนใจกด share ให้ด้วยนะครับ
“”””””””””””””””””””””””””””
#หมุนทันโลก#ธุรกิจ#โลก#ข่าวสาร#ย่อโลกธุรกิจ
โฆษณา