10 ก.พ. 2022 เวลา 02:50 • ธุรกิจ
Starlink โครงการอินเทอร์เน็ตดาวเทียม ของประชากรทั้งโลก
2
เมื่อก่อนสิ่งที่มนุษย์จำเป็นต้องมีเพื่อการดำรงชีวิต คงมีเพียงอาหาร ที่อยู่อาศัย
เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค แต่ปัจจุบันดูเหมือนว่า ปัจจัย 4 จะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว
เพราะ “อินเทอร์เน็ต” ได้เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์เรามากขึ้น
ตั้งแต่การศึกษา การทำงาน ค้าขาย การเชื่อมต่อกับเพื่อน หรือแม้กระทั่งความบันเทิงต่าง ๆ
เช่น การดูหนังหรือฟังเพลง เรียกได้ว่า อินเทอร์เน็ตอยู่ทุกช่วงเวลาเลยก็ว่าได้
2
เพียงเท่านี้ เราก็คงพอสรุปได้ว่า อินเทอร์เน็ตกลายเป็น ปัจจัยที่ 5 ในโลกยุคใหม่ ไปแล้วเรียบร้อย
1
อย่างไรก็ตาม แม้อินเทอร์เน็ตจะกลายเป็นสิ่งที่เราหลายคนใช้กันเป็นเรื่องปกติ
แต่ยังมีคนอีกกว่า 2,900 ล้านคน หรือคิดเป็นราว 1 ใน 3 ของโลกใบนี้ ที่ยังเข้าไม่ถึงมัน
1
อีลอน มัสก์ หนึ่งในนักนวัตกรรมแห่งยุค เจ้าธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า Tesla
ได้เห็นโอกาสจากเรื่องนี้ และมองว่าในท้ายที่สุดแล้ว “ทุกคนจำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ต”
จึงเกิดความคิดสร้าง “Starlink” บริการอินเทอร์เน็ตที่ใคร ๆ บนโลกสามารถเข้าถึงได้ทั้งหมด
5
Starlink คืออะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
เรามาเริ่มกันที่รูปแบบการทำงานของอินเทอร์เน็ตก่อนดีกว่า
จริง ๆ แล้ว อินเทอร์เน็ตเกิดจากการนำคอมพิวเตอร์ทั่วโลกมาเชื่อมต่อกันจนเป็นเครือข่าย
โดยส่วนใหญ่ถูกเชื่อมกันด้วยสิ่งที่เรียกว่า “Fiber Optic” หรือสายใยแก้วนำแสง
3
อย่างไรก็ดี Fiber Optic ก็มีข้อจำกัดสำคัญ ตรงที่ว่าสายมีความแข็งและเปราะง่าย
1
ทำให้เกิดความยากในการเดินสายตามสถานที่ต่าง ๆ รวมถึงมีค่าใช้จ่ายในการติดตั้งที่สูง
นั่นจึงเป็นสาเหตุว่าทำไมถึงยังมีคนจำนวนมากในบางพื้นที่ ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
1
ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดอีกทางเลือกหนึ่งขึ้นมา ที่เข้ามาแก้ปัญหาที่พูดมาโดยเฉพาะ ซึ่งก็คือ “การใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม”
3
และเป็นที่มาของ Starlink โครงการของบริษัท SpaceX ที่มุ่งหวังให้ผู้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ทุกที่บนโลก
6
จริง ๆ แล้ว ก็ต้องบอกก่อนว่าอินเทอร์เน็ตดาวเทียมไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร และมีมานานแล้ว
โดยบริษัทที่เราคุ้นเคยอย่าง บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ก็มีบริการในลักษณะนี้เช่นกัน
1
ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม มีตั้งแต่ธุรกิจการบิน ธุรกิจเดินเรือสมุทร แท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในทะเล
2
แม้ว่าอินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม จะให้บริการได้กว้างกว่า ครอบคลุมทุกพื้นที่ก็จริง
แต่ที่ผ่านมากลับไม่เป็นที่นิยมมากนัก เพราะมีข้อจำกัดเรื่องของราคาสูง ความเร็วค่อนข้างต่ำ และไม่ค่อยมีความเสถียร
6
โดยความเสถียรในที่นี้ เราจะวัดจาก “Latency” หรือความหน่วงในการรับและส่งข้อมูล
3
ยกตัวอย่างของความหน่วงง่าย ๆ ในชีวิตจริงก็เช่น เวลาเราวิดีโอคอลกับใคร ภาพวิดีโอหรือเสียงของอีกฝ่ายเกิดอาการดีเลย์ ปากพูดไม่ตรงกับเสียงที่ได้ยิน
2
หรือสำหรับสายเกมเมอร์ น่าจะเคยเจอเมื่อเล่นเกมออนไลน์เซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ ที่จู่ ๆ เกมก็หยุดกะทันหัน สักพักก็วิ่งเร็วผิดปกติ อาการแบบนี้เรียกว่า Ping ขึ้น หรือมี Latency สูง นั่นเอง
3
ทั้งหมดนี้ ก็เรียกได้ว่ายังคงเป็นปัญหาใหญ่ ที่อยู่มายาวนานของบริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม
4
คำถามต่อมาคือ ในเมื่อมีข้อจำกัดมากมายขนาดนี้ ทำไม อีลอน มัสก์ ถึงคิดสร้าง Starlink ขึ้นมาอีก
คำตอบง่าย ๆ เลยก็คือ อีลอน มัสก์ คิดวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้เอาไว้แล้ว..
3
โดยปกติแล้ว ดาวเทียมจะโคจรอยู่เหนือพื้นดินถึง 35,786 กิโลเมตร เพื่อรักษาระดับการโคจรให้อยู่เหนือจุดใดจุดหนึ่งของโลกพอดี
3
ด้วยระยะระหว่างการส่งและรับสัญญาณที่ถือว่าค่อนข้างไกล
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมมักจะมีปัญหา
1
ดังนั้นหากดาวเทียมอยู่ไกลจากเรา ทำไมไม่ขยับมันให้เข้ามาใกล้ขึ้นกว่าเดิม ปัญหาจะได้หมดไป และนั่นคือสิ่งที่ Starlink ทำนั่นเอง
8
ด้วยการลดระดับความสูงในการโคจรของดาวเทียมมาอยู่ที่ Low Earth Orbit (LEO) หรือวงโคจรต่ำของโลก โดยอยู่ที่ 550 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก หรือคิดเป็น 1 ใน 60 ของความสูงเดิม
2
จากการขยับดาวเทียมเข้ามาใกล้ ทำให้ Starlink สามารถให้บริการอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วอยู่ระหว่าง 50 ถึง 150 Mbps โดยมีความหน่วงในการรับ-ส่งข้อมูลอยู่ที่ 20 ถึง 40 ms เท่านั้น
8
หากเทียบกับอินเทอร์เน็ตทั่วไป ถือว่ามีความน่าสนใจเลยทีเดียว เพราะความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 123.87 Mbps โดยมีความหน่วง 18 ms ซึ่งใกล้เคียงกันมาก
3
อย่างไรก็ดี ความเร็วและความหน่วงที่พูดถึง ยังไม่ใช่ประสิทธิภาพสูงสุดของ Starlink
2
หากบริษัทปล่อยดาวเทียม และติดตั้งสถานีภาคพื้นดินมากขึ้น รวมถึงปรับปรุงซอฟต์แวร์ต่อไป
อีลอน มัสก์ ก็ได้ออกมาระบุว่าความเร็วสามารถเพิ่มได้ถึง 300 Mbps และความหน่วงจะไม่เกิน 20 ms
8
วิธีแก้ปัญหาดูง่ายดาย ผลลัพธ์ก็ออกมาเวิร์ก
คำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมถึงไม่มีบริษัทรายอื่นหันมาทำบ้าง ?
เพราะว่าเมื่อลดระดับความสูงแล้ว การกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะแคบลง
จึงต้องชดเชยด้วยจำนวนดาวเทียมที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
1
โดย Starlink คาดว่าจะใช้ดาวเทียมถึง 10,000 กว่าดวง
1
หรือคิดเป็น 2 เท่าของจำนวนดาวเทียมทั่วโลกในเวลานี้ ถึงจะสามารถให้บริการเต็มรูปแบบ แก่คนส่วนใหญ่ทั่วโลกได้
5
อย่างไรก็แล้วแต่ Starlink ได้ยื่นขออนุญาตจาก ITU หรือสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ
สำหรับปล่อยดาวเทียมเผื่อเอาไว้แล้ว เป็นจำนวนมากถึง 42,000 ดวง
5
ปัญหาใหญ่อีกอย่างสำหรับบริษัทอื่น ที่ทำได้ยากก็เพราะเมื่อต้องใช้ดาวเทียมจำนวนมาก
บริษัทก็ต้องใช้การขนส่งมากเช่นเดียวกัน ค่าใช้จ่ายเมื่อรวม ๆ แล้วนับว่าไม่น้อยเลย
5
แต่ทำไม มันถึงไม่เป็นปัญหาสำหรับ Starlink เลย
เริ่มที่ดาวเทียม
แทนที่ Starlink จะสร้างดาวเทียมที่มีอายุการใช้งานนานเหมือนบริษัทอื่น
บริษัทกลับเลือกสร้างดาวเทียมที่มีอายุสั้น โดยมีอายุการใช้งานเพียงดวงละ 5 ปีเท่านั้น
5
สาเหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะ อีลอน มัสก์ บอกว่าการสร้างดาวเทียมที่ทนทาน และใช้งานได้นานเป็นเรื่องที่ยาก
1
ต้องวิจัยและพัฒนาพอสมควร ค่าใช้จ่ายตรงนี้ก็ไม่น้อย ดังนั้นการเลือกดาวเทียมอายุสั้นดูจะดีกว่า
1
นอกจากนี้ยังได้ใช้วัสดุ และเชื้อเพลิงที่ต้นทุนถูกลง รวมถึงช่วยลดค่าบำรุงรักษาอีกด้วย
1
ต้นทุนสำหรับผลิตดาวเทียมจึงออกมาค่อนข้างต่ำ
1
ส่วนการขนส่งดาวเทียมสู่อวกาศก็ไม่เป็นปัญหาเช่นกัน เพราะ SpaceX มีจรวดสำหรับขนส่งไว้แล้ว
3
ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น จึงเป็นเพียงต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น ต่างจากรายอื่นที่ต้องจ้างอีกที ซึ่งมีการรวมกำไรด้วย
3
และด้วยความที่จรวดของ SpaceX สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้ ทำให้ต้นทุนยิ่งลดลงไปอีก
1
สุดท้ายความได้เปรียบสำคัญอีกอย่าง ยากที่ใครจะลอกเลียนแบบได้ คือชื่อเสียงของอีลอน มัสก์ ที่สามารถเชิญชวนให้ผู้คนที่เชื่อมั่นในตัวเขา ยอมจ่ายเงินมัดจำก่อนได้รับบริการ ซึ่งทำให้บริษัทมีเงินเข้ามือมาได้ก่อน
3
รู้หรือไม่ว่า อีลอน มัสก์ ทำให้มีคนยอมจ่ายเงินมัดจำมาแล้วถึง 500,000 ราย คิดเป็นจำนวนเงินคร่าว ๆ ประมาณ 1,600 ล้านบาท
7
หากพิจารณาจากเรื่องราวทั้งหมด ก็ดูเหมือนว่า Starlink มีโอกาสประสบความสำเร็จสูง
2
เมื่อเรื่องเป็นแบบนี้ ก็น่าคิดต่อว่าสถานการณ์โทรคมนาคมในประเทศไทย จะเป็นอย่างไรต่อไป
แม้จะดูเหมือนว่า Starlink กำลังจะเข้ามาดิสรัปต์วงการการให้บริการอินเทอร์เน็ต
แต่ในเร็ว ๆ นี้ ประเทศไทยก็อาจจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร
3
เหตุผลสำคัญก็เพราะ ค่าบริการที่ยังคงสูง เมื่อเทียบกับบริการอินเทอร์เน็ตในไทย
1
โดย Starlink จะมีค่าใช้จ่าย 2 ส่วน
1
- ค่าจานดาวเทียมและเราเตอร์ 499 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 16,000 บาท
- ค่าบริการรายเดือน 99 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน หรือประมาณ 3,300 บาท
2
ส่วนความเร็วอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ก็ยังมีค่าเฉลี่ยที่สูง
3
หากอ้างอิงข้อมูลของ Ookla ผู้ให้บริการทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับโลก
พบว่าประเทศไทยมีความเร็วอินเทอร์เน็ตบ้านนั้น เร็วเป็นอันดับ 8 ของโลก
โดยมีความเร็วเฉลี่ยถึง 229.95 Mbps ซึ่งมากกว่าความเร็วสูงสุดของ Starlink ในขณะนี้
4
ข้อจำกัดอีกอย่างของการใช้อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมของ Starlink ก็คือ มันเหมาะกับการใช้ในแหล่งชุมชนที่ไม่แออัด หากใช้งานตามเมืองใหญ่ ๆ ประสิทธิภาพของอินเทอร์เน็ตจะยิ่งลดลง
3
รวมถึงสภาพอากาศอย่างฝนตกหนักหรือลมแรง ก็อาจส่งผลต่อการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต
เช่น ความเร็วลดลง หรืออินเทอร์เน็ตไม่สามารถใช้งานได้
 
ดังนั้นจะเห็นว่า เวลานี้คนไทยยังไม่จำเป็นต้องเลือกใช้ Starlink เท่าไรนัก
4
ปัจจุบัน Starlink เปิดให้บริการไปแล้วใน 14 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ออสเตรีย, เนเธอร์แลนด์, ไอร์แลนด์, เบลเยียม, สวิตเซอร์แลนด์, เดนมาร์ก, โปรตุเกส, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
2
มีลูกค้ากว่า 140,000 ราย และมีคนที่จองล่วงหน้าไปแล้ว อีกนับ 500,000 ราย
โดยในขณะนี้ Starlink ปล่อยดาวเทียมไปเพียง 2,000 ดวง เท่านั้น
ก็ต้องรอติดตามว่า หาก Starlink ปล่อยดาวเทียมถึง 10,000 ดวงแล้ว
ขีดความสามารถของอินเทอร์เน็ต และค่าบริการในตอนนั้น จะเป็นอย่างไร..
3
โฆษณา