9 ก.พ. 2022 เวลา 16:28 • หนังสือ
🧭 ฝึกนานแค่ไหน ไม่สำคัญเท่า ฝึกอย่างไร
รู้ไหมว่า พืชผักต่างๆ ใช้เวลานานแค่ไหนในการเติบโต
ผักบุ้งอ่อนใช้เวลา 7 วัน
ผักสลัดกรีนโอ๊คใช้เวลา 50 วัน
ข้าวโพดใช้เวลา 120 วัน
คนเราล่ะ ถ้าต้องเริ่มทำงานในสายงานใหม่ที่เนื้องานแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง แบบเริ่มนับหนึ่งใหม่ ต้องใช้ระยะเวลานานเท่าไหร่ถึงจะเติบโต
มีหลายทฤษฎีกล่าวถึงระยะเวลาในการฝึกฝนจนเกิดเป็นชำนาญ ที่เราคุ้นกันดี เช่น กฎ 10,000 ชั่วโมง อ้างจากทฤษฏีที่เขียนโดยนักจิตวิทยาชื่อ Anders Ericsson แต่มาโด่งดังเมื่อ Malcom Gladwell นำมากล่าวถึงในหนังสือ Outliers: The Story of Success
Malcom อธิบายง่ายๆ ว่าคนเราถ้าได้ฝึกฝนเป็นเวลา 10,000 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี กีฬา หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม เราสามารถกลายเป็นคนเก่งในเรื่องนั้นๆ ได้ และกฎ 10,000 ชั่วโมงนี่เอง ที่ผู้คนเอามาอ้างถึงกันมากมายในตอนนั้น
แม้ในเวลาต่อมาจะมีผู้ทัดทานว่า กฎการฝึก 10,000 ชั่วโมง จริงๆแล้ว ไม่ได้ทำให้เราเก่งจริง เพราะถ้าเราฝึกในเรื่องเดิมๆ ทำซ้ำๆ แบบที่เคยทำ ก็ไม่ได้ช่วยเพิ่มทักษะอะไรใหม่ นอกจากความเชี่ยวชาญ
แปลว่า จำนวนชั่วโมงที่ฝึก ไม่สำคัญเท่า ฝึกอย่างไร
หนังสือ Peak : Secrets from the New Science of Expertise เขียนโดย Anders Ericsson และ Robert Pool จากการค้นคว้าและทำวิจัยกว่า 10 ปี จนเกิดเป็นข้อสรุปได้ว่า คนเราทุกคนสามารถเก่งขึ้นได้จากการฝึกฝน แต่การฝึกนั้น ต้องไม่ใช่การฝึกธรรมดา แต่ต้องฝึก “อย่างตั้งใจและถูกวิธี”
ซึ่งหนังสือพูดถึงการฝึกอย่างตั้งใจและถูกวิธี ว่ามีด้วยกัน 3 ระดับได้แก่
1. Naive Practice หรือ การฝึกโดยทำซ้ำไปเรื่อยๆ จนชำนาญ วิธีนี้ช่วยให้เราเกิดความคุ้นเคย ยิ่งทำซ้ำก็จะเห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้น
2. Purposeful Practice เป็นการฝึกแบบมีจุดมุ่งหมายชัดเจน ซึ่งการฝึกแบบนี้จะสำเร็จได้ต้องมีองค์ประกอบ 4 อย่างคือ
- เป้าหมายต้องชัดเจน เช่น ทุกวัน เวลา 7.00-8.00 โมงเช้า เราจะฟังสรุปข่าวการเงินผ่านช่องทาง The Standard Wealth โดยเราจะเริ่มฝึกจากเรื่องเล็กๆ และค่อยๆ เพิ่มเรื่องที่ใหญ๋ และยากขึ้น
- ต้องโฟกัส โดยตั้งใจเลยว่า ในช่วงเวลานั้น เราจะไม่ทำอย่างอื่นเลย นอกจากทำตามเป้าหมายนั้นๆ
- ต้องมี feedback เพื่อตรวจสอบได้ว่าสิ่งที่ทำนั้น ผิดหรือถูก เช่น เมื่อฟังข่าวแล้ว เอาประเด็นที่สรุปได้มาคุยหารือกับคนที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ
- ต้องเพิ่มระดับความยาก เช่น เดือนแรกฟังสรุปข่าวเป็นภาษาไทย เดือนต่อๆไป ลองฟังเป็นภาษาอังกฤษ
 
3. Deliberate Practice คือการฝึกแบบสุดยอดที่นักกีฬาทีมชาติ หรือนักดนตรีระดับสากลเค้าทำกัน วิธีนี้จำเป็นต้องมี coach มืออาชีพคอยแนะแนวทาง และแก้ไขจุดบกพร่อง โดยผู้ฝึกไม่ต้องลองผิดลองถูก ที่สำคัญต้องวัดผลได้ชัดเจน การวัดผลต้องเทียบกับมาตรฐานสากล การฝึกต้องเช้มข้น มีการจับสถิติเช่น เร็วที่สุด ดีที่สุด และต้องท้าทายสถิติตัวเองตลอดเวลา
เมื่อเห็นแบบนี้แล้ว ถ้าเราอยากเก่งจริงก็ต้องฝึกในเรื่องที่เราไม่ถนัด หรือไม่เคยทำ เหมือนยาที่ขม แต่ดี
ถึงตรงนี้แล้ว กฎ 10,000 ชั่วโมงก็อาจเป็นตัวเลข magic number ที่ยังใช้ได้อยู่ ถ้าใช้ในการฝึกอย่างตั้งใจและถูกวิธี
หากองค์กรใดกำลังตั้งคำถามว่า นานแค่ไหนถึงจะเห็นผลลัพธ์จากการลงทุน อยากชวนให้คิดอีกมุมหนึ่งว่า แล้วตอนนี้องค์กรกำลังฝึกคนด้วยวิธีไหน ให้เรียนเยอะๆ เพื่อเก็บชั่วโมง หรือฝึกให้คนเหล่านั้นเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อเตรียมรับมือกับความท้าทายที่ไม่อาจคาดเดา
“It is only by working at what you can’t do that you turn into the expert you want to become.”
Anders Ericsson
โฆษณา