10 ก.พ. 2022 เวลา 01:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
3 วิธีประเมินมูลค่าหุ้น
ก่อนซื้อหุ้นนอกจากเข้าใจกิจการ อ่านงบการเงิน ก็ควรประเมินมูลค่าหุ้นได้ อย่างน้อยควรบอกได้ว่า หุ้นนั้นถูกหรือแพงเกินไป มารู้จัก 3 วิธีที่ใช้ในการประเมินมูลค่าหุ้นกัน...
สรุปเรื่อง P/E
1. P/E คืออะไร บอกความถูกแพงได้ยังไง??
PER (price to earning ratio) คิดมาจาก ราคาหุ้น/ กำไรต่อหุ้น หรือถ้ามองทั้งกิจการคือ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หารด้วย กำไรสุทธิ 1 ปี ( 4 ไตรมาส)
แปลความว่า ถ้าบริษัทนั้นทำกำไรได้เท่าเดิมตลอด แล้วเราซื้อมาที่ราคานี้ กี่ปีถึงคืนทุน
เช่น ร้านอาหารมานะ ทำกำไรได้ 1,000,000 บ. ต่อปี และเราซื้อร้านมานะ มาที่ราคา 5,000,000 บ.
P/E = 5,000,000/ 1,000,000 = 5 ก็คือถ้าร้านอาหารนี้ทำกำไรได้เท่าเดิมตลอด และซื้อร้านมาที่ราคานี้ จะใช้เวลา 5 ปีจะคืนทุนที่เราซื้อมา
หรือผลตอบแทนที่คิดไว้ต่อปี คือ 20% ต่อปี ตรงนี้คิดจาก กำไรต่อปี / ราคา หรือ คือ 1/ PER
แล้วถ้า P/E 30 เท่า ก็หมายความว่า เราซื้อมา 30 ปี ถึงจะคืนทุน แบบนั้นหรอ ทำไมเขายอมซื้อขายกันด้วยราคาที่สูงแบบนั้นหละ ลองมาค่อยๆ อ่านกันต่อเลย..
2. P/E ที่ส่วนใหญ่เขาพูดถึง จะมี 2 ค่า ซึ่งเราต้องดูว่าเขาพูดถึงค่าไหนนะ
(1) Trailing P/E หรือ P/E ย้อนหลัง เป็นการคำนวณมาจากกำไรย้อนหลัง 12 เดือน (4 ไตรมาส) เป็น P/E ที่คิดมาจากข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง เราจะเห็นได้ตามเว็บไซต์ของ www.set.or.th ตรงตารางสรุปงบในหุ้นที่เราสนใจ
(2) Forward P/E หรือ P/E ล่วงหน้า คำนวณจากราคาหุ้นปัจจุบัน หารด้วย “กำไรในอนาคตที่คาดการณ์ หรือ กำไรต่อหุ้นในปีหน้า” เนื่องจากมันเป็นการคาดเดาอนาคต จึงมีความไม่แน่นอนได้ ค่า Forward P/E จะเห็นตามบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างๆ
Trailing P/E คือ P/E ที่วัดความถูกแพงของราคาหุ้นปัจจุบัน จากกำไรที่เกิดขึ้นในอดีต แต่ Forward P/E คือ ความถูกแพงของราคาหุ้นปัจจุบัน เมื่อเทียบกับกำไรในอนาคตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
ลองมาดูตัวอย่างกัน…
หุ้นบริษัทปิติจำกัด ราคาต่อหุ้นอยู่ที่ 20 บ. และมีกำไรต่อหุ้น ที่ 1 บ./หุ้น แบบนี้ Trailing P/E จะเท่ากับ 20 เท่า
แต่ถ้าเราคาดการณ์ว่าหุ้นบริษัทปิตินี้มีการเติบโตอย่างมาก จะมีการเติบโตของกำไรสุทธิเป็น 2 เท่าในปีถัดไปซึ่งจะทำให้กำไรต่อหุ้น จาก 1 บ. เพิ่มเป็น 2 บ.
Forward P/E ก็จะเท่ากับ 10 (เพราะราคาหุ้นตอนนี้คือ 20 บ.หารกำไรที่คาดเดาคือ 2 บ./หุ้น) แบบนี้ราคาหุ้นของบริษัทปิติที่ตอนนี้ 20 บ. ก็อาจน่าสนใจ เพราะ Forward P/E แค่ 10 เท่า เท่านั้น
แต่ข้อควรระวัง!! คือ เนื่องจาก Forward P/E เป็นการคาดเดาอนาคต ดังนั้นไม่มีใครคาดเดาได้ถูกต้องแน่นอน และบางทีแต่ละคนก็คำนวนออกมาได้ไม่เท่ากัน
เราก็จะเห็นว่า ถ้ามีการคาดการณ์ว่ากำไรจะมีการเติบโตในอนาคต ก็จะทำให้นักลงทุนยอมซื้อขายกันที่ P/E สูงๆ ราคาหุ้นสูงๆ แต่ที่ต้องระวังว่า ถ้าการเติบโตไม่เป็นอย่างที่คิด อาจจะทำให้ตกลงมาอย่างมากได้ เช่น หุ้น Beauty ที่มีการซื้อขายที่ P/E สูงถึง 40-50 เท่า เพราะมีการคิดว่าจะมีการเติบโตอย่างมาก แต่เมื่อไม่เป็นไปตามคาดก็จะทำให้ราคาหุ้นตกลงมาก
3. ข้อควรระวังในการใช้ P/E
เนื่องจากกำไรจะเป็นตัวหารของการคิดค่า P/E ดังนั้นข้อควรระวังสำคัญ คือ เรื่องของกำไรพิเศษ เช่น การขายกิจการบางส่วน การได้เงินชดเชยจากประกัน ซึ่งกำไรพิเศษเหล่านี้จะเกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว กำไรพิเศษเหล่านี้จะทำให้พอคิดค่า P/E ออกมาแล้วต่ำได้ เพราะ earning หรือ ตัวหารเพิ่มขึ้น จึงทำให้ P/E ต่ำลง แล้วเราก็จะเข้าใจว่าบริษัทเติบโตของกำไรมากทำให้ P/E ต่ำลง ถูกน่าซื้อ แบบนี้ต้องระวัง
กับอีกข้อที่ควรระวัง ค่า P/E ที่ต่ำ แปลว่า ถูกเท่านั้น แต่ไม่ได้บอกว่าน่าสนใจลงทุนรึเปล่า เพราะของถูกบางครั้งก็ไม่ใช่ของดี ดังนั้นต้องเข้าใจในตัวกิจการ และพิจารณาเรื่องอื่นๆ ประกอบด้วยก่อนลงทุน
P/E ในอดีตนั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริง แต่เวลาเราลงทุนก็ควรมองอนาคตด้วยด้วย แต่มองด้วยความมีเหตุผล และด้วยความเป็นไปได้ อย่าคาดหวังแบบสวยหรูจนมากเกินไป
เพิ่มเติมเล็กน้อย: การคิดค่า P/E ที่แสดงในเว็บไซต์ของ set จะใช้ มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด หรือ market cap เป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วย กำไรสุทธิย้อนหลัง 12 เดือนล่าสุด หรือก็คือ กำไร 4 ไตรมาสย้อนหลังนั่นเอง
สรุปเรื่อง P/BV
การคิดค่า P/BV นั้นคิดมาจาก การนำราคาหุ้นมาเทียบกับ book value หรือ ส่วนของเจ้าของ หรือที่เราเรียกกันว่าส่วนของผู้ถือหุ้นนั่นเอง ซึ่งส่วนของเจ้าของนั้นคือส่วนหนึ่งของงบดุล
.
งบดุลคิดจาก: ทรัพย์สิน = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ
ซึ่งก็คือ ส่วนของเจ้าของ = ทรัพย์สิน – หนี้สิน
ส่วน P/BV = price/ book value = ราคา/ ส่วนของผู้ถือหุ้น
เช่น บริษัทมานะจำกัดมหาชน มีทรัพย์สิน 10,000,000 บ. หนี้สิน 4,000,000 บ. เป็นส่วนของเจ้าของ 6,000,000 บ. ราคาหุ้นละ 6 บ. มีจำนวนหุ้น 1,000,000 หุ้น
ซึ่งถ้าเราจะคิดส่วนของเจ้าของต่อหุ้นนั้น ก็จะได้เท่ากับ 6,000,000 บ./ 1,000,000 หุ้น = 6 บ.ต่อหุ้น
ดังนั้น บริษัทมานะ มี P/BV = (ุ6 บ.ต่อหุ้น x 1,000,000 หุ้น)/ 6,000,000 บ. = 1 เท่า
ดังนั้น P/BV นั้นหมายถึง เราซื้อถูกหรือสูงกว่า ส่วนของเจ้าของกี่เท่า
ถ้า P/BV < 1 แปลว่า ราคาหุ้นตอนนั้นถูกกว่าส่วนของเจ้าของ มันบอกว่าถูก แต่ไม่ได้เป็นการบอกว่า น่าลงทุนหรือเปล่า มาลองอ่านกันต่อว่า อัตราส่วนนี้มีข้อสังเกตอะไรบ้าง
1. ค่านี้ก็จะขึ้นกับ price หรือ ราคาที่นักลงทุนให้ค่ากิจการนั้นๆ หรือ ราคาที่ซื้อขายกัน กับส่วนของผู้ถือหุ้น ถ้าส่วนของผู้ถือหุ้นลดลง แต่ราคาหุ้นลดลงในสัดส่วนที่มากกว่า ก็จะเท่าอัตราส่วน P/BV ดูถูกลงได้
2. การประเมินมูลค่าหุ้นด้วยวิธีนี้ จะมองเรื่องงบดุลเป็นหลัก ซึ่งมีการบันทึกมูลค่าตามราคาทุนปรับมูลค่า จึงมักเหมาะกับการประเมินหุ้นกลุ่มธนาคาร หรือหุ้นที่มีสินทรัพย์ที่น่าจะสร้างมูลค่าได้ในอนาคตแต่ยังถูกบันทึกค่าในส่วนของราคาทุนอยู่
3. ค่า P/BV จะมีความสัมพันธ์กับ ROE(return on equity) ซึ่ง ROE คิดมาจาก กำไรสุทธิ/ ส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นอัตราส่วนที่บอกว่า ความสามาถในการทำกำไรของบริษัทต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือถ้าจะพูดให้ดูง่ายคือ ถ้าลงทุนด้วยราคาเท่ากับส่วนผู้หุ้น(P/BV = 1) บริษัทนั้นทำกำไรให้เราจะได้เท่าไหร่ ดังนั้นยิ่งเราซื้อด้วย P/BV ที่สูง ผลตอบแทนที่เราได้จากหุ้นนั้นจะลดลง
P/BV เป็นตัวเลขตัวหนึ่งที่ดูความถูกแพงของหุ้น โดยการบอกนั้นเป็นนำราคามาเทียบกับส่วนของผู้ถือหุ้นว่า เราซื้อที่ราคาถูกกว่า หรือ สูงกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นกี่เท่า แต่การจะดูว่า หุ้นนั้นน่าลงทุนหรือไม่ก็ต้องดูเรื่องอื่นๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของกิจการ คุณภาพของกำไรที่บริษัททำได้ หรือการเติบโตอนาคต
การประเมินมูลค่าหุ้นจากเงินปันผล
เนื่องจากเงินปันผลนั้นเป็นกระแสเงินสดที่เราได้รับในแต่ละปี จึงสามารถประเมินมูลค่าหุ้น โดยใช้เงินปันผลในแต่ละปีที่ได้รับในอนาคตมาปรับมูลค่าของเงินตามเวลาในแต่ละก้อน ที่เรียกว่า discounted cashflow
โดยอยู่บนสมมติฐานที่ว่า เงินปันผลที่จะได้รับในอนาคตนั้นจะได้รับไปเรื่อยๆ
ถ้าในการประเมินมูลค่าหุ้นโดยใช้เงินปันผล แบบที่คิดว่า ไม่มีการเติบโต สามารถประเมินเบื้องต้น ได้แบบนี้นะ
PV = D/r
ราคาหุ้นที่เหมาะสม = เงินปันผลที่จ่ายต่อปี/ ผลตอบแทนที่เราคาดหวัง
เช่น หุ้นบริษัทมานะจำกัดมหาชน ปันผลที่จ่ายต่อปี 7 บ./หุ้น และเราคาดหวังผลตอบแทนจากลงทุนในหุ้นนี้ 7% ต่อปี (ซึ่ง 7% ตรงนี้ = 0.07 นั่นเองนะ)
ราคาหุ้นที่เหมาะสม = 7/ 0.07 = 100 บ.ต่อหุ้น
ถ้าคิดว่า เงินปันผลที่เราได้รับมีอัตราการเติบโต (Growth; G) เพิ่มขึ้นแบบคงที่ไปเรื่อยๆ
จากสูตรการปรับมูค่าของเงินตามเวลาของเงินที่จะได้รับในอนาคตไปเรื่อยๆ กลับมาเป้นมูลค่าปัจจุบัน จะได้สมการแบบนี้
PV = D0 (1+ G) / r-G
เช่น จากตัวอย่างเดิมข้างต้น แต่เงินปันผลนั้นมีการเติบโตไปเรื่อยๆ 3% ต่อปี
PV = D0 (1+ G) / r-G
ราคาหุ้นที่เหมาะสม = 7 (1+ 0.03) / (0.07-0.03) = 175.5 บ. ต่อหุ้น
จะเห็นว่า เมื่อเราคิดว่า มีการเติบโต มูลค่าที่เราคำนวณได้จะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเวลาที่คิดเรื่องการเติบโต ควรพิจารณาด้วยว่า บริษัทจะสามารถเติบโตลักษณะนี้ไปได้ในระยะยาวรึป่าวด้วยนะ
#หมอยุ่งอยากมีเวลา
#ประเมินมูลค่าหุ้น
#PE
#PBV
#หุ้นปันผล
#เงินปันผล
#ลงทุนหุ้น
#คิดมูลค่าหุ้น
#คำนวณมูลค่าหุ้น
โฆษณา