Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
อาจวรงค์ จันทมาศ
•
ติดตาม
19 ต.ค. 2022 เวลา 06:01 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
ดวงจันทร์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ?
รวมทฤษฎีกำเนิดดวงจันทร์
ดวงจันทร์นั้นเป็นหนึ่งในสิ่งที่โดดเด่นที่สุดบนท้องฟ้ายามค่ำคืน มันเป็นบริวารธรรมชาติเพียงหนึ่งเดียวของโลกที่ส่งผลต่อชีวิตบนโลกในหลายแง่ แสงจากดวงจันทร์นั้นส่งผลต่อการมองเห็นยามค่ำคืน อีกทั้งแรงโน้มถ่วงของมันยังเป็นตัวการหลักที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลงด้วย
การพยายามอธิบายกำเนิดของดวงจันทร์จึงเป็นหนึ่งในปัญหาที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจมาโดยตลอด แนวคิดเชิงทฤษฎีหลายอย่างถูกนำเสนอเพื่อตอบปัญหานี้ แต่หากตัดทอนรายละเอียดออกไปจะพบว่าหลักๆมีเพียง 4 ทฤษฎีเท่านั้น และในปัจจุบันมีเพียงทฤษฎีเดียวที่นักดาราศาสตร์เชื่อถือที่สุด
1
บทความนี้จะพาทุกท่านไปรู้จักกับทฤษฎีกำเนิดดวงจันทร์แบบต่างๆว่ามีอะไรบ้าง
1. Fission Theory
ทฤษฎีนี้เชื่อว่าโลกในยุคโบราณมากๆ หมุนเหวี่ยงจนเนื้อสารหลุดออกมาแล้วกลายเป็นดวงจันทร์ ผู้ที่พัฒนาแนวคิดนี้ขึ้นมาคนแรกๆคือ จอร์จ ดาร์วิน (George Darwin) นักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษบุตรของชาร์ลส์ ดาร์วิน
Fission theory
สิ่งที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ ความหนาแน่นของดวงจันทร์ ใกล้เคียงกับความหนาแน่นของโลกชั้นนอกๆ ซึ่งสอดคล้องกับภาพที่เนื้อสารชั้นนอกๆของโลกถูกเหวี่ยงจนหลุดออกมา
แต่ปัญหาของทฤษฎีนี้ คือ ถ้าดวงจันทร์ถูกเหวี่ยงออกมาจริง มันก็ควรจะโคจรในแนวเส้นศูนย์สูตรของโลก ทว่าดวงจันทร์กลับโคจรทำมุมอยู่ในช่วง 18.5 องศา - 28.5 องศา กับเส้นศูนย์สูตรโลก ซึ่งนับว่าเป็นมุมที่มีค่ามากทีเดียว
ระนาบวงโคจรดวงจันทร์ เส้นแดง เอียงจากเส้นศูนย์สูตรโลก เส้นเขียวมากทีเดียว
นอกจากนี้ เมื่อสร้างแบบจำลองเชิงกลศาสตร์ก็พบปัญหาหลายอย่างที่ไม่สอดคล้องกับอัตราการหมุนของโลก และอัตราโคจรของดวงจันทร์ที่สังเกตได้ ตัวอย่างที่ชัดเจนมากๆคือ โลกในยุคโบราณต้องหมุนด้วยอัตราที่สูงมากๆ(จนไม่น่าเป็นไปได้) จึงจะเหวี่ยงมวลสารออกมาได้ตามทฤษฎีนี้
2. Capture Theory
ทฤษฎีนี้เชื่อว่าดวงจันทร์ถือกำเนิดขึ้นมาจากที่ไหนสักแห่ง แล้วก็โคจรเข้ามาใกล้โลกจนถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดให้โคจรอย่างทุกวันนี้ ทฤษฎีนี้ฟังเผินๆแล้วดูเรียบง่ายและเหมือนจะเป็นไปได้ แต่จริงๆแล้วปัญหาของทฤษฎีนี้มีมากมายจนไม่น่าเป็นไปได้
อย่างแรกคือ โอกาสที่ดวงจันทร์จะพุ่งมาแล้วโดนแรงโน้มถ่วงโลกจับไว้ได้นั้น ต้องพอดีมากๆ ถ้าคลาดเคลื่อนไปเพียงเล็กน้อยดวงจันทร์อาจพุ่งชนโลกหรือไม่ก็หลุดกระเด็นออกไปเลย ซึ่งมีโอกาสสูงมากทีเดียวที่จะเป็นสองอย่างหลัง
อีกทั้งการวิเคราะห์องค์ประกอบของหินจากดวงจันทร์ ยังทำให้นักดาราศาสตร์พบว่าอัตราส่วนของไอโซโทปต่างๆของออกซิเจนที่อยู่ในหินดวงจันทร์นั้นใกล้เคียงกับหินบนโลกมากทีเดียว ความใกล้เคียงนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะหากวิเคราะห์อัตราส่วนของไอโซโทปของอุกกาบาตจากดาวอังคาร ดาวเคราะห์น้อยเวสตา โลกและดวงจันทร์ จะเห็นได้ชัดว่าโลกและดวงจันทร์คล้ายคลึงกัน แยกจากอุกกาบาต ดาวอังคาร และดาวเคราะห์น้อยเวสตาอย่างชัดเจน ซึ่งมันบ่งชี้ถึงกำเนิดร่วมกันของโลกและดวงจันทร์
2
3. Co-accretion Theory
ทฤษฎีนี้เชื่อว่าในช่วงที่ระบบสุริยะถือกำเนิดขึ้นใหม่ๆนั้น สสารในระบบสุริยะค่อยๆรวมตัวกันเป็นโลกและดวงจันทร์ ขึ้นพร้อมๆกัน
Co-accretion Theory
ข้อดีของทฤษฎีนี้คือ มันอธิบายความคล้ายคลึงขององค์ประกอบหินดวงจันทร์และโลกได้ ทั้งอัตราส่วนไอโซโทปของออกซิเจนที่ได้กล่าวไปข้างต้น รวมทั้งองค์ประกอบของหินดวงจันทร์ยังคล้ายคลึงกับแมนเทิลของโลกด้วย ความคล้ายดังกล่าวเกิดจากการถือกำเนิดจากมวลสารร่วมกันนั่นเอง
แต่ปัญหาคือ ทฤษฎีนี้อธิบายความแตกต่างในหลายๆแง่ไม่ได้ เช่น ความหนาแน่นของโลกโดยเฉลี่ยคือ 5.5 กรัมต่อลบ.ซม. ซึ่งใกล้เคียงกับดาวเคราะห์ชั้นในอย่างดาวพุธและดาวศุกร์ แต่ดวงจันทร์กลับมีความหนาแน่นเฉลี่ยเพียง 3.3 กรัมต่อลบ.ซม. เท่านั้น อีกทั้งดวงจันทร์ยังไม่ค่อยมีเหล็กเป็นองค์ประกอบด้วย
4. Giant impact theory
ทฤษฎีนี้เชื่อว่าโลกในยุคโบราณมากๆ ถูกวัตถุใหญ่พอๆกับดาวอังคาร (ครึ่งหนึ่งของโลก) พุ่งเข้าชนอย่างรุนแรง โดยวัตถุดังกล่าวถูกตั้งชื่อว่า ธีอา (Theia) การชนนั้นทำให้สสารปริมาณมากกระเด็นออกไปแล้วค่อยๆก่อรูปก่อร่างเป็นดวงจันทร์
Giant impact theory
แนวคิดดังกล่าวอธิบายได้เป็นอย่างดีว่า เหตุใดดวงจันทร์จึงมีความหนาแน่นต่ำกว่าโลกของเราและองค์ประกอบคล้ายคลึงกับแมนเทิล การชนได้ทำให้สสารชั้นนอกๆที่ความหนาแน่นต่ำปริมาณมากหลุดไปก่อตัวเป็นดวงจันทร์ นอกจากนี้การวิเคราะห์หินบนดวงจันทร์และแบบจำลองชี้ว่าทฤษฎีนี้มีความเป็นไปได้สูง ทฤษฎีการชนครั้งใหญ่นี้ได้รับความเชื่อถือจากเหล่านักดาราศาสตร์มากที่สุดในปัจจุบัน
ที่สำคัญ การชนดังกล่าวอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้แกนหมุนโลกของเราเอียง 23.5 องศาด้วย กล่าวคือ เดิมทีแกนโลกของโลกเราอาจจะไม่ได้เอียงอย่างทุกวันนี้ แต่เมื่อถูกชนอย่างแรง มันจึงเอียง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาปลีกย่อยอีกหลายอย่างเกี่ยวกับธรรมชาติของดวงจันทร์ที่รอการเติมเต็มรายละเอียดของทฤษฎีเพื่อคำอธิบายที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทุกวันนี้ทฤษฎีการชนครั้งใหญ่จึงได้รับการพัฒนารายละเอียดที่แตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบนั่นเอง
อ้างอิง
https://www.quantamagazine.org/what-made-the-moon-new-ideas-try-to-rescue-a-troubled-theory-20170802
http://burro.cwru.edu/academics/Astr221/SolarSys/lunaform.html
https://www.britannica.com/place/Moon/Origin-and-evolution#ref514613
https://en.wikipedia.org/wiki/Lunar_standstill
https://www.sciencedaily.com/releases/2020/03/200310164742.htm
http://www.psrd.hawaii.edu/Dec01/Oisotopes.html
https://www.britannica.com/biography/George-Darwin
https://articles.adsabs.harvard.edu//full/1966ems..conf..213W/0000215.000.html
36 บันทึก
50
8
26
36
50
8
26
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย