10 ก.พ. 2022 เวลา 10:04 • การศึกษา
ถอดบทเรียนฟินแลนด์
มายด์เซ็ตของผู้มั่งคั่งความสุขที่สุดในโลก
วิกฤติโรคระบาดไม่เพียงเป็นภัยคุกคามมวลมนุษยชาติด้านสุขภาพ แต่ยังรวมไปถึงสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่ต้องเว้นระยะห่าง ทำให้มนุษย์แยกตัวโดดเดี่ยวมากขึ้น ปฏิสัมพันธ์กับสังคมน้อยลง สภาพเศรษฐกิจที่มีปัญหาจากการล็อกดาวน์เมื่อต้องกักตัวอยู่บ้านยาวนานเป็นเวลา ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อสุขภาพทางจิต จากการต้องฟังข่าวสารยอดผู้ติดเชื้อเสียชีวิต ในรายงานดัชนีความสุขของโลก (World Happiness Report) ในปี 2564 ที่ผ่านมาพบว่า โรคระบาดทำให้ความพึงพอใจในชีวิตลดลง 12%
ทว่าประเทศที่มีบริหารจัดการได้ดี มีความยืดหยุ่นในเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขวิกฤติโรคระบาด จะมองโรคระบาดเป็นเรื่องปกติที่ไม่ควรไปวิตกครุ่นคิดกับมัน แม้จะเป็นมหันตภัยใหญ่แห่งมวลมนุษยชาติ แต่ก็เป็นสิ่งเดียวกันกับที่คนทั่วโลกต้องเผชิญ และต้องผ่านมันไปให้ได้ด้วยความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ดังนั้นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากรายงานดัชนีความสุขโลก หลังเผชิญกับความท้าทาย จึงค้นพบว่าเป้าของการประคับประคองประเทศผ่านพ้นมหันตภัยครั้งใหญ่ให้ได้นั้นต้องตั้งเป้าหมายให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดี มีสุขภาวะที่ดีมากกว่าการพุ่งเป้าหมายไปที่ความมั่งคั่ง
2
และนี่คือต้นแบบของผู้ที่ผ่านวิกฤติมาได้และยังครองความเป็นประเทศที่ถูกจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลกอย่างฟินแลนด์ ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขไม่ต่ำกว่า 5 ปี ติดต่อกันของ World Happiness Report จากองค์การสหประชาชาติ (UN) และมีแนวโน้มครองแชมป์ในปี 2565 นี้ด้วย ซึ่งหมายถึงจะต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 เพราะตามสถิติล่าสุดจาก worldpopulationreview. com ที่จัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุด (Happiest Countries in The world 2022) ยังไม่รวมถึงสำนักอื่นที่ทยอยออกมาก็คงจะยกให้ฟินแลนด์เช่นเดิม
ฟินแลนด์จึงเป็นต้นแบบสำคัญของการออกแบบนโยบายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งแม้ไม่ใข่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐฯ และจีน หากวัดในเชิงตัวเลข แต่หากวัดในเชิงคุณภาพ ถือเป็นผู้มั่งคั่งร่ำรวยความสุขนั้นน่าภูมิใจและมีความพิเศษกว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศเล็กๆ อย่างฟินแลนด์ ตั้งอยู่ท่ามกลางความเหน็บหนาว แต่คนที่อาศัยอยู่ที่นั่นกลับเป็นผู้มีความสุขที่สุดในโลก โดยวัดจากสุขภาพ อายุขัยของคนที่ยืนยาว มีเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิด การเลือกดำเนินชีวิต มีอัตราการเติบโตด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สังคมแห่งความเอื้ออาทรเกื้อกูลกัน และไม่มีการทุจริตคอร์รัปชั่น
องค์ประกอบที่ได้รวบรวมระบบที่ดีจึงทำให้ประชากรที่อยู่อาศัยมีความสุข เกิดจากวัฒนธรรมสังคมแห่งความเท่าเทียม จัดเก็บภาษีและกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม ประชาชนเชื่อมั่นในระบบการบริหารจัดการของภาครัฐ มีประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรม สวัสดิการรัฐที่ส่งเสริมให้เข้าถึงโอกาสขั้นพื้นฐาน ตั้งแต่การศึกษา สุขภาพ ปลอดคอร์รัปชั่น รวมถึงการอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาติ
ปรัชญาหลักที่พวกเขายึดถือดำเนินชีวิต เป็นหัวใจที่ทำให้ประสบความสำเร็จ เรียกว่า SISU คือ ความพากเพียร มานะ และอดทน และมองว่าบ้านคือรากฐานหลักของชีวิตจึงส่งเสริมให้ทุกคนมีบ้านอยู่ ทำให้ไม่เกิดปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน
2
คนฟินแลนด์ หรือเมืองนกฮูก แม้จะเป็นผู้มีความสุข แต่พวกเขามีบุคลิกเย็นชา ไม่แสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก ขอบเก็บเนื้อเก็บตัว ไม่สุงสิงเป็นสังคมใหญ่ มีชีวิตอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่พวกเขาก็มีมายด์เซ็ตพิเศษที่แข็งแกร่ง ทำให้มีรากฐานความสุขที่มาจากภายใน ประกอบด้วย 7 ด้าน คือ
2
🔵 1. แก่นเท้ของความเชื่อพลังจากภายใน หรือ Sisu (Channel your inner grit or Sisu)
คนฟินแลนด์เป็นผู้มีจิตวิญญาณอันแข็งแกร่ง มีดีเอ็นเอเฉพาะของผู้ที่จะเจริญรุ่งเรือง กล้าฟันฝ่าอุปสรรคในช่วงเวลาที่ยากลำบาก จะเห็นได้จากการใช้ชีวิตอยู่ในสภาพอากาศที่หนาวเย็นติดลบยาวนานหลายเดือนได้อย่างไม่ย่อท้อ ดูแลสภาพร่างกายและจิตใจ ทำให้ตัวเองมีสุขภาวะที่ดี เช่น การออกไปเดินเล่น ปั่นจักรยาน แม้ในวันที่ฟ้าขมุกขมัว โดยไม่ต้องรอให้มีสภาพอากาศแจ่มใส จิตใจสั่งร่างกายให้ต้องกระปรี้กระเปร่า นี่คือหัวใจสำคัญของการมีความสุขจากชีวิตที่มีอยู่ ไม่ใช่การมุ่งแสวงหาจากภายนอก กิจกรรมทั่วไปของชาวฟินแลนด์จึงมักจะออกไปเดินป่า ปั่นจักรยานท่ามกลางป่าเขา เพราะเชื่อว่าผืนป่าคือธรรมชาติที่ช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจ ตลอดจนภายในจิตวิญญาณ ชาวฟินแลนด์มีโอกาสเข้าถึงธรรมชาติได้โดยไม่ต้องซื้อหา หรือ เป็นเจ้าของรีสอร์ตสวยหรูอย่างเช่นในสังคมไทย
2
🔵 2. คนฟินแลนด์ทุกคนมีสิทธิ์ในการเข้าถึงผืนดิน ผืนป่า ตามกฎหมายถือเป็นพื้นที่สาธารณะ (Give every man {and woman} the right to roam)
2
ผืนป่าคือธรมชาติที่ช่วยเยียวยาร่างกายและจิตใจ หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ ชาวฟินแลนด์มีโอกาสได้เข้าถึงธรรมชาติโดยไม่ต้องซื้อหาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยอนุญาตให้ประชากรคนฟินแลนด์เข้าถึงผืนป่า เป็นวิธีการธรรมชาติบำบัดสำคัญ ตามกฎหมายขั้นพื้นฐาน ทุกๆ วันของคนฟินแลนด์ควรมีเวลาได้ดูดซับพลังจากธรรมชาติราว 30 นาที ด้วยเนื้อที่ป่าที่มีอยู่ถึง 75% ของประเทศ จึงทำให้ได้สัมผัสธรรมชาติสูดโอโซนอย่างใกล้ชิด และยังแวดล้อมไปด้วยธรรมชาติจากภูเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ แม้แต่พื้นที่ส่วนบุคคล ก็สามารถตั้งแคมป์ กางเต็นท์ จอดรถ จอดเรือได้ทุกที่ที่เราต้องการ หากไม่ได้ก่อความเดือดร้อนให้กับเจ้าของสถานที่ ทุกคนยังสามารถเก็บเห็ด หาของป่าได้อย่างอิสระ ยกเว้นไม่ไปขโมยผลไม้จากสวนของผู้มีเจ้าของ
2
🔵 3. เปลือยกายเป็นหมู่คณะในซาวน่า (Strip down with your community)
คนฟินแลนด์เชื่อว่า การได้อบซาวน่าร้อนๆ กับเพื่อนด้วยกันนั้น มีสรรพคุณมากกว่าการผ่อนคลายกล้ามเนื้อและจิตใจ หากได้รวมตัวกับเพื่อนๆ สร้างกลุ่มคนด้วยกัน เป็นกุศโลบายในการยอมรับและยกย่องตัวตน จิตใจ และเรือนร่างที่แท้จริงของตัวเองต่อหน้าสาธารณะ
การได้ซาวน่าถือว่าเป็นวิธีการขับของเสียของจากร่างกาย จึงทำให้ฟินแลนด์มีซาวน่ามากถึง 2 ล้านแห่ง มากพอๆ กับร้านสะดวกซื้อบ้านเราหากเทียบกับจำนวนประชากรถึง 5.4 ล้านคน คนทุกคนสามารถเข้าถึงซาวน่าได้ง่ายทั้งแบบสาธารณะและส่วนตัวในบ้าน เพราะถือเป็นการช่วยชำระล้างร่างกายและจิตใจ มีสถานที่แห่งหนึ่งที่คนต้องเปลือยกายต่อหน้าคนทั่วไปที่เข้าไปซาวน่า ซึ่งเป็นความเชื่อของเขาที่ว่า จะส่งผลทำให้เกิดสุขภาวะที่ดี เพราะการได้ปลดเปลื้องอาภรณ์ที่สวมใส่ภายนอก เสมือนการได้ปล่อยวางตัวตน (Ego) ทั้งอาชีพและสถานะทางสังคมที่เราแบกไว้อย่างแท้จริง คนฟินแลนด์ถือว่าเป็นความรู้สึกผ่อนคลายแบบเข้าถึงจิตวิญญาณที่แท้จริงของความเป็นมนุษย์ และยิ่งอยู่ต่อหน้าคนรู้จัก คนในสังคม ยิ่งถือเป็นการสร้างการยอมรับอุดมการณ์การสร้างความเท่าเทียมในสังคมของมนุษย์
🔵 4. การได้ไตร่ตรองพิจารณาการบริโภคอย่างพอดี มีความสมดุล (Consider your consumption)
1
นี่คือหลักคิดเดียวกันกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 คนฟินแลนด์ก็มีหลักคิดใกล้เคียงกันกับแนวคิดของชาวนอร์ดิก หรือมินิมอล การตระหนักรู้ความจริงที่เที่ยงแท้ โดยให้ความสำคัญกับการบริโภคด้วยความรอบคอบ ไม่ฟุ่มเฟือย เลือกใช้ของที่ทนทาน ใช้งานได้จริง ยั่งยืน ทนทานเหนือกาลเวลา และยังช่วยรักษาทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และเมื่อมีของใช้ไม่จำเป็นก็นำไปแบ่งปันให้กับคนอื่น แทนการทิ้งเป็นขยะ โดยการจัดตลาดนัดของมือสอง ประจำชุมชน เรียกว่าวัน Cleaning Day เพื่อเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าที่ไม่ได้ใช้
2
🔵 5. บ่มเพาะให้คนรู้จักการสร้างความสุขตั้งแต่เยาว์วัย (Create an early start at happiness)
ระบบการศึกษาและวัฒนธรรมจะปลูกฝังนิสัยตั้งแต่วัยเด็กให้เติบโตมากับความสุข แล้วจึงจะก้าวขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมพรั่งทั้งความสุข เข้าใจชีวิต และโลกกว้าง ด้วยการเริ่มจากการเรียนรู้ความเท่าเทียมในเด็กทุกคน ไม่มีการบูลลี่กัน ทุกคนพึงพอใจในความพิเศษเฉพาะของตัวเอง เมื่อทุกคนพอใจในตัวเอง มั่นใจตัวเอง ก็จะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง
สิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้กับตัวเองในการใช้ชีวิตเติบโตคือ การศึกษา กระบวนการเรียนรู้ ความปลอดภัย การดูแลสุภาพของตัวเอง นี่คือพื้นฐานการเข้าใจตนเองเบื้องต้นที่จะพาตัวเองให้เลือกรับแต่สิ่งดีมีประโยชน์ต่อตัวเอง และที่สำคัญฝึกให้เด็กหมั่นใช้เวลาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ หรือวิ่งเล่น ทำกิจกรรมกลางแจ้งตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อให้มีความรู้สึกอิสระไร้การจำกัดกรอบทางความคิด
2
🔵 6. รักษาบุคลิกอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นผู้มีความสุขในตัวเอง (Stay humble keep your happiness to yourself)
ยุคอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยโลกโซเชียลที่เป็นภัยคุกคาม กระตุ้นความรู้สึกเปรียบเทียบชีวิตเรากับผู้อื่น ทำให้คนไม่พึงพอใจในตัวเอง ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาวะระบุว่าโดยทั่วไปค่านิยมของชาวฟินแลนด์จะไม่โอ้อวดชีวิตส่วนตัวทั้งความสำเร็จและความมั่งคั่งให้ผู้อื่นได้เห็น เป็นพื้นฐานที่ทำให้รู้จักประมาณตัวเอง ไม่ทะเยอทะยาน ตั้งความหวังไว้เกินตัว แต่จะมีชีวิตอยู่เพื่อความสุข พึงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมี
2
🔵 7. โอบรับด้านมืดของตัวเอง (Embrace the darkness)
แม้ได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีความสุขที่สุด แต่คนฟินแลนด์ก็ใช่จะมีแต่ความโลกสวย ในทางกลับกันยังมีด้านมืดอยู่ในตัวแบบสุดขั้ว การเผชิญหน้ากับการอบซาวน่าอันร้อนระอุพร้อมกันกับการกระโจนลงน้ำแข็ง และยังต้องเผชิญกับท้องฟ้ามืดมากกว่าพระอาทิตย์ และยังเป็นประเทศที่มีค่าโลหะหนักต่อหัวสูงกว่าชาติใดในโลก นี่คือส่วนหนึ่งของด้านลบสุดขั้วที่หล่อหลอมให้พวกเขาเข้าใจโลกทั้งสองด้านแบบสุดขั้วที่เกิดกับเรา
การเข้าใจด้านลบในตัวเองหล่อหลอมให้คนฟินแลนด์ยอมรับกับสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต พร้อมที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านี้ให้ได้อย่างมีความสุข และท้าทายสิ่งเหล่านี้ด้วยการยอมรับและเผชิญหน้าเรียนรู้ บางทีการมองความสุขเป็นสิ่งที่ห่างไกล ขัดแย้งกับชีวิต อาจจะทำให้พวกเขากลายเป็นพวกไม่แสวงหาความสุข จนเข้าใจชีวิตที่ซับซ้อนและมีชีวิตอยู่กับมันได้อย่างยอมรับและมีสุขได้ เพราะดูจากบุคลิกของคนฟินแลนด์แล้วจะรู้ดีว่าพวกเขาไม่ได้เป็นผู้มีใบหน้าแห่งความสุข ไม่แสดงออกทางอารมณ์ด้วยรอยยิ้มยินดี หรือสร้างภาพลักษณ์ให้ตัวเองเป็นผู้มีความสุข ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นผู้ชอบฟังเพลงเศร้าโศก และเพลงเฮฟวี่ร็อกหนักๆ โหดๆ กระแทกใจ เพื่อระบายความอัดอั้นและกดดันในชีวิต เพื่อระบายอารมณ์ด้านลบ นี่แหละคือบทเรียนที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขากลายเป็นต้นแบบสร้างบทเรียนความสุขได้ด้วยการไม่แสวงหา
1
บทเรียนจากการยอมรับกับชีวิตที่ไม่ได้มีเพียงด้านสว่าง หรือโลกแห่งความสวยงาม แต่เต็มไปด้วยความกดดัน ซับซ้อน ยากลำบาก เหมือนกันกับดอกบัวที่กว่าจะเติบโตเป็นบัวพ้นน้ำได้จะต้องชูจากโคลนตม นี่จึงหล่อหลอมให้คนจะเติบโตต้องผ่านแรงบีบคั้นกดดัน มีอารมณ์ทางลบมากมายในแต่ละวัน ทั้งเศร้าโศก เสียใจ โกรธแค้นผิดหวัง แต่จะต้องปลดปล่อยมันไปในทุกๆ วัน แตกต่างจากคนไทยที่เป็นเมืองสยามเมืองยิ้ม แต่ภายใต้รอยยิ้มนั้นเป็นรอยยิ้มด้วยความปล่อยวาง ไม่เป็นไร หรือเป็นรอยยิ้มแห่งความหน้าชื่นอกตรม
นี่คือคำถามที่เราต้องย้อนกลับมาถามตัวเอง และสร้างบทเรียนการออกแบบนโยบาย สร้างทัศนคติ และมายด์เซ็ตการเป็นชาติที่ร่ำรวยความสุขได้ยั่งยืนอย่างแท้จริง
คนฟินแลนด์ถูกหล่อหลอมให้เป็นผู้บริโภคด้วยสติและมีจิตสำนึก การบริโภคแต่ละครั้งต้องคำนึงว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มขยะลงสู่แม่น้ำหรือมหาสมุทร เพราะพื้นฐานเป็นคนที่มีการศึกษาและความรู้มากที่สุดในโลก พิจารณาจากอัตราการใช้ห้องสมุดถึง 5.5 ล้านคน มีการยืมหนังสือถึง 68 ล้านเล่มต่อปี
เรื่องโดย : ประกายดาว
╔═══════════╗
แวะมาอ่านบทความดีๆ ของ 2read Daily ที่มีหลากหลายเรื่องราวที่น่าสนใจจากนักเขียนคุณภาพทั้งคอลัมน์ธุรกิจ หุ้น อสังหาฯ พัฒนาตัวเอง เมืองต่างๆ ประวัติศาสตร์ ตัวละคร และอื่นๆ ได้ที่ >> https://bit.ly/3HH896a
╚═══════════╝
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
โฆษณา