10 ก.พ. 2022 เวลา 23:15 • หนังสือ
ในชีวิตของการเป็นหนอนหนังสือของผม มีนักเขียนไม่กี่คนที่ไม่ว่าจะอ่านหนังสือเล่มไหน ผมก็ถูกใจไปเสียหมด และหนึ่งในนักเขียนที่ว่านั้นคือ “กฤษณา อโศกสิน” ผมปวารณาตัวเองเป็นแฟนคลับของกฤษณา อโศกสินมาตั้งแต่เริ่มเรียนปริญญาตรีใหม่ๆ ก่อนหน้านี้ ช่วงเรียนมัธยม เคยอ่านนิยายเรื่อง “น้ำเซาะทราย” ที่กฤษณา อโศกสินเขียน (และนี่คือนิยายเรื่องแรกของนักเขียนท่านนี้ที่ผมมีโอกาสได้อ่าน) แต่อ่านแล้วไม่เข้าใจ เหมือนประเด็นหรือเรื่องราวที่ปรากฏในนิยายนั้นต้องใช้วัยวุฒิในการทำความเข้าใจพอสมควร กระทั่ง ตอนเรียนมหาวิทยาลัย มีโอกาสได้หยิบหนังสือเล่มเดียวกันกลับมาอ่านอีกครั้ง และหลังจากนั้น ผมก็ควานหาหนังสือทุกเล่มในนามปากกานี้ รวมไปถึงนามปากกาอื่นของนักเขียนท่านนี้ ไม่ว่าจะเป็น กัญญ์ชลา หรือสไบเมือง มาอ่านอย่างบ้าคลั่งครับ
งานเขียนของกฤษณา อโศกสินตามที่มีผู้วิเคราะห์เจาะลึกไว้นั้นมีหลายช่วง มีทั้งในช่วงที่เป็นงานนิยายรัก ซึ่งท่านเขียนตอนเริ่มต้นเป็นนักเขียนใหม่ๆ และงานที่เน้นไปที่ชีวิตครอบครัว หรือสะท้อนสังคม ผมชอบงานเขียนช่วงหลังๆ ของท่านมากกว่า เพราะรู้สึกว่าเนื้อหาและเรื่องราวจับต้องและมองเห็นภาพสะท้อนจากสังคมได้มากกว่า
“เพลงบินใบงิ้ว” เป็นงานเขียนที่ตีพิมพ์ลงในนิตยสารสกุลไทยในช่วงปี พ.ศ. 2532-2534 และตีพิมพ์เป็นเล่มในปี พ.ศ. 2534 เคยถูกนำไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ครั้งหนึ่งมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2536 ก่อนจะถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์อีกครั้งในปีนี้ และด้วยความที่เป็นทั้งนิยายของกฤษณา อโศกสินด้วยและถูกสร้างเป็นละครด้วย กอปรกับมีสำนักพิมพ์นำนิยายเรื่องนี้กลับมาตีพิมพ์ซ้ำ ผมจึงไม่พลาด รีบหาซื้อมาอ่านโดยพลัน ด้วยหวังว่าจะอ่านจบก่อนละครปิดฉาก
ผมเคยอ่าน “เพลงบินใบงิ้ว” มาแล้วครั้งหนึ่ง จำได้ด้วยซ้ำว่าซื้อนิยายเรื่องนี้แบบปกแข็ง มีสองเล่มจบจากงานหนังสือ ตอนที่ซื้อมาและเลือกมาอ่านนั้น เป็นช่วงที่ผมเริ่มเข้าเรียนปริญญาตรี อันเป็นช่วงครึ่งๆ กลางๆ ของการทำความเข้าใจกับแนวทางนิยายในแบบที่ตัวเองชอบ ถามว่าผมจำอะไรจากการอ่าน “เพลงบินใบงิ้ว” ครั้งแรกได้บ้าง ผมจำเรื่องคร่าวๆ ว่าเป็นเรื่องของผู้ชายที่มีภรรยาที่คบชู้ และผู้หญิงที่แต่งงานกับผู้ชายที่ไม่ได้รักหล่อน หากแต่มีคนรักของตัวเองซุกซ่อนไว้ นอกจากนั้น รายละเอียดต่างๆ ผมจำไม่ค่อยได้เท่าไรนัก การอ่านรอบนี้จึงไม่ต่างไปจากการรื้อฟื้นความทรงจำ และนำพาตัวเองให้อิ่มเอมไปกับเรื่องราวจากปลายปากกาของนักเขียนคนโปรด
“เพลงบินใบงิ้ว” เล่าเรื่องของเปลแก้ว ที่ตัดสินใจแต่งงานกับจอมทอง ลูกชายของเพื่อนของเกษร มารดาของหล่อน ผู้ซึ่งปรารถนาจะให้เปลแก้วมีชีวิตครอบครัวที่เพียบพร้อมและมีความสุข โดยหารู้ไม่ว่าแท้ที่จริง จอมทองมีแสงนวล ผู้หญิงที่เขารักและมีความสัมพันธ์ลับๆ อยู่แล้ว
จอมทองบังเอิญได้รู้จักกับแนวไพร ผู้จัดการบริษัทท่องเที่ยว ที่อึดอัดกับความสัมพันธ์ยอกย้อนกับยวนตา ภรรยาของเขา ผู้เป็นลูกสาวของเจ้านายของเขา เพราะยวนตาไม่เหมือนผู้หญิงอื่น หล่อนไม่ชอบอยู่กับที่ เบื่อง่าย และซ้ำร้าย ตอนนี้กำลังสวมเขาให้กับเขาด้วยการแอบคบซ้อนกับ แจกัน เด็กหนุ่มรุ่นน้องที่หล่อนรู้จักจากสถานบันเทิงอีกต่างหาก
ความสัมพันธ์อันย้อนแย้งระหว่างตัวละครทั้ง 6 ตัวถูกกฤษณา อโศกสินนำมาร้อยเรียงพันผูกขึ้นมาให้ว่ายวนอยู่ในท่วงทำนองของความรักอันเจ้าเล่ห์แสนกล แถมพกด้วยความรักอันผิดศีลธรรมจรรยาไม่ต่างไปจากการป่ายปีนอยู่บนใบงิ้ว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการนอกใจของสามีภรรยาซึ่งดูเป็นปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในครอบครัว ทว่า หากปล่อยไว้ก็จะนำไปสู่ปัญหาการหย่าร้างในสังคมที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นได้
นอกจากการสะท้อนปัญหาในสังคมไทยแล้ว นิยายของกฤษณา อโศกสินมักมีประเด็นลับๆ ที่ถูกนำเสนอผ่านมุมมอง ความคิด หรือตัวตนของตัวละครแทรกสอดอยู่ในเรื่องด้วย ตัวละคร “ยวนตา” เป็นตัวละครที่ผมประทับใจมากที่สุดในเรื่อง ค่าที่ตัวละครตัวนี้ไม่เหมือนใคร และดูเหมือนว่ากฤษณา อโศกสินจะจงใจเขียนให้ยวนตาเป็นแบบฉบับของผู้หญิงยุคใหม่ (เมื่อคำนึงว่านิยายเรื่องนี้ถูกตีพิมพ์ในช่วงปี พ.ศ. 2532-2534 ยิ่งเห็นได้ชัดว่าประเด็นความไม่เหมือนใครของยวนตาเป็นเรื่องแปลกใหม่จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นความแปลกแยกกว่าจารีตหรือความเชื่อเกี่ยวกับความเป็นผู้หญิงที่สังคมยึดถือกันมา)
ในขณะที่ผู้หญิงถูกกำหนดให้เป็นแม่บ้านแม่เรือน เป็นภรรยา และอยู่ในอาณัติของสามี (ดูอย่างเปลแก้ว หรือแม้แต่แสงนวล ที่ถึงจะลุกขึ้นมาร้ายแต่ก็ยังไม่วายหนีสถานะของความเป็นผู้หญิงในโลกของผู้ชายไม่ได้) ยวนตากลับลุกขึ้นมาเต้นแร้งเต้นกา และบอกว่าตนเบื่อกับชีวิตเดิมๆ และตัดสินใจไม่ฟังเสียงใคร ไม่สนใจเสียงของสังคม หล่อนเลือกที่จะคบหากับแจกันอย่างเปิดเผย แม้จะถูกมองว่าคบชู้สู่ชาย เป็นผู้หญิงไม่มียางอายก็ตามที ผมชอบวิธีการที่กฤษณา อโศกสินพยายามสื่อให้เราเห็นว่าในขณะที่ผู้ชายอย่างจอมทอง มีภรรยาสองคน อาจโดนติเตียน หรือมองว่าทำผิดบ้าง แต่โดยภาพรวม ก็มักจะสรุปออกมาเป็นเสียงเดียวว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ชายที่จะมีผู้หญิงได้หลายๆ คน
ส่วนถ้าเป็นผู้หญิงอย่างยวนตา การลุกขึ้นมาทำแบบเดียวกันกลับเป็นการกระทำที่ผิดจนกลายเป็นเรื่องที่ควรประณามหยามเหยียด นิยายของกฤษณา อโศกสินมักเล่นสนุกและเอาเถิดเจ้าล่อกับคนอ่านในเรื่องของการดึงเอาประเด็น มุมมอง หรือเรื่องราวที่ปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ ในสังคมมาตั้งเป็นคำถามผ่านเรื่องราวในนิยาย เป็นอาหารสมองให้เราได้นำไปขบคิด พินิจพิจารณาเสมอ
แต่หากมองข้ามประเด็นทางสังคม หรือนำกรอบแนวคิดเรื่องเพศมาจับนิยายเรื่องนี้ “เพลงบินใบงิ้ว” ก็สามารถถูกมองว่าเป็นนิยายรัก ที่พูดถึงการแตกสลายของสถาบันครอบครัวอันเกิดมาจากความสัมพันธ์อันไม่ลงตัวของสมาชิกในครอบครัวที่เป็นผู้ ‘ล่มเรือรัก’ ของตัวเองเสียเอง
ในขณะเดียวกัน หากมองให้เป็นนิยายรัก ก็พิสูจน์ให้เห็นว่าปลายปากกาของกฤษณา อโศกสินนั้นฉกาจฉกรรจ์เอามากๆ ผมชอบฉากรักหวานๆ อันเรียบง่าย แต่เปิดโอกาสให้ตัวละครที่มีบาดแผลในใจ อย่างแนวไพร และเปลแก้ว มีโอกาสได้พูดคุย เปิดใจ และปลอบขวัญให้กำลังใจซึ่งกันและกัน หลังจากที่เปลแก้วถูกแสงนวลบุกมาเยือนถึงโรงพยาบาลหลังจากที่หล่อนคลอด ทำให้หญิงสาวเกือบเอาชีวิตไม่รอดเพราะช็อคจากความจริงที่แม้จะระแคะระคาย แต่ก็พยายามมองข้ามไปอยู่เสมอ ฉากดังกล่าวถือเป็นฉากรักที่ลงตัว เพราะคนอ่านเมื่ออ่านไปแล้วก็จะรู้ว่าทั้งแนวไพร และเปลแก้วต่างมีความรู้สึกบางอย่างที่ส่งถึงกัน แต่พวกเขาก็ยังพยายามรักษาระดับความสัมพันธ์ระหว่างกันไว้ เพราะได้ชื่อว่าเป็นสามีของผู้หญิงอื่นและภรรยาของผู้ชายอีกคน
“เพลงบินใบงิ้ว” จึงเป็นอีกหนึ่งในนิยายของกฤษณา อโศกสินที่ตอกย้ำให้เห็นถึงความเป็นราชินีแห่งโลกวรณกรรมของท่าน และทำให้ผมพูดได้อย่างไม่เต็มปากว่านิยายของกฤษณา อโศกสิน ไม่เคยทำให้ผมผิดหวังเลย
#ReadingRom #กฤษณาอโศกสิน #เพลงบินใบงิ้ว
โฆษณา