12 ก.พ. 2022 เวลา 03:21 • ปรัชญา
ตรรกะวิบัติน่ารู้ ตอนที่ 4
บทความนี้นำเสนอตรรกะวิบัติน่ารู้เพิ่มเติมจากบทความต่างๆ ก่อนหน้า:
I. “ถ้ายอมให้นักเรียนไว้ผมยาวกันแบบนี้ ต่อไปคงได้ขายตัวกันในโรงเรียนแน่ๆ”.
นี่เป็นตัวอย่างของตรรกะวิบัติแบบหนึ่ง, ซึ่งเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า "slippery slope". อาจแปลได้ว่า เป็นการอ้างเหตุผลแบบไถลลื่นไปเรื่อย. มันเป็นการอ้างเหตุผลที่พยายามทำให้เราเชื่อด้วยการอ้างว่า หากยอมให้เหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้น, มันจะนำไปสู่อีกหลายๆ เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาตามมา, ซึ่งการอ้างนั้นไม่ได้แสดงความเชื่อมโยงของแต่ละเหตุการณ์อย่างประจักษ์ชัดหรือสมเหตุสมผล: นั่นคือ เรามองไม่เห็นความเชื่อมโยงอย่างเป็นเหตุเป็นผลที่ชัดเจนว่า การยอมให้นักศึกษาไว้ผมยาวนำไปสู่การขายตัวในโรงเรียนได้อย่างไร. อ้างไหลๆ ไถลไปเรื่อยๆ นั่นเอง.
II. “สิ่งต่างๆ ประกอบขึ้นมาจากอะตอมซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถมองเห็นได้; ดังนั้น, เราไม่สามารถมองเห็นสิ่งต่างๆ ได้เลย”.
การบอกว่าส่วนย่อยมีลักษณะอย่างไรแล้วสรุปว่าส่วนรวมจะต้องมีลักษณะเช่นนั้นด้วยเป็นตรรกะวิบัติที่มีชื่อว่า “การรวมหมู่” (fallacy of composition). อะตอมเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นก็จริง, แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่ประกอบขึ้นจากอะตอมจะต้องเป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็นไปด้วย. อีกตัวอย่างหนึ่งก็เช่น ทีมฟุตบอลรวมดารานั้นเต็มไปด้วยคนเก่งๆ ก็จริงแต่ไม่ได้แปลว่า ทีมรวมดาราจะต้องเป็นทีมที่เก่ง. เนื่องจากฟุตบอลเป็นกีฬาที่เล่นเป็นทีม และการเล่นเป็นทีมนั้นทำให้เกิดระบบแบบแผนลักษณะหนึ่งขึ้นมา, ซึ่งสมาชิกแต่ละคนต้องมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันอย่างซับซ้อนอันนำไปสู่ความเป็นไปได้ที่จะทำให้ทีมโดยภาพรวมไม่ได้เก่งเหมือนสมาชิกแต่ละคน.
2
III. “นายเก่งต้องมีห้องพักอาศัยที่ใหญ่โตแน่ๆ เพราะคอนโดที่นายเก่งอาศัยอยู่นั้นใหญ่โตสูงหลายสิบชั้น”
ตรรกะวิบัตินี้กลับกันกับข้อก่อนหน้า, เรียกว่า “การแยกหมู่” หรือ fallacy of division ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการสรุปว่าส่วนย่อยจะต้องมีลักษณะอะไรบางอย่างเหมือนกับที่ส่วนรวมมี. การที่คอนโดใหญ่โตสูงเป็นสิบๆ ชั้นไม่ได้แปลว่าห้องพักจะต้องใหญ่โตตามไปด้วย. ยกตัวอย่างเรื่องทีมฟุตบอลอีกครั้งหนึ่ง. ทีมที่เป็นแชมป์มาตลอด, เป็นทีมที่เล่นเก่ง; แต่นั่นไม่ได้แปลว่า ลูกทีมทุกคนจะต้องเก่งตามไปด้วย. การที่ทีมชนะนั้นอาจเป็นผลมาจากการเล่นเป็นทีมได้อย่างยอดเยี่ยม, ซึ่งแน่นอนว่า อาจมีผู้เล่นที่ไม่ได้เก่งมากนักอยู่ในทีม; แต่เพราะมีระบบทีมที่เข้มแข็ง, ลูกทีมสามารถเล่นประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ทำให้ทีมชนะโดยที่ผู้เล่นคนนั้นๆ อาจจะไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลยก็ได้.
1
พบกับตรรกะวิบัติน่ารู้อื่นๆ ได้อีกในบทความต่อไป, โปรดติดตาม.
โฆษณา