12 ก.พ. 2022 เวลา 01:00 • คริปโทเคอร์เรนซี
5 ข้อเสียของ NFT ที่มือใหม่ต้องรู้
1
วันนี้ Dinner Talks ได้รวบรวมข้อเสียของการซื้อ-ขาย สินทรัพย์ดิจิทัลแบบ non-fungible token (NFT) ที่กำลังได้รับความสนใจอย่างมาก เขียนด้วยความตั้งใจ อยากให้ทุกคนศึกษาไม่เพียงแค่ข้อดี แต่รวมถึงข้อเสียของ NFT ด้วย
ซึ่งในบทความนี้ เราจะพูดถึงมุมคนที่เป็นผู้ซื้อในตลาด NFT เพื่อเก็งกำไร โดยมีทั้งหมด 5 ข้อ ถ้าพร้อมก็อ่านได้ข้างล่างเลยครับ
🥄1. ทุกอย่างต้องเสียค่าแก๊สอันแสนแพง
1
ค่าแก๊สในที่นี้ไม่ใช่แก๊สหุงต้มที่เราคุ้นเคยกัน แต่เป็นค่าธรรมเนียมที่เราจ่ายให้กับระบบ โดยระบบเองก็จะนำไปเป็นค่าตอบแทนของคนที่ขุดเหมืองคริปโต (สร้าง พิสูจน์ และยืนยันธุรกรรมของเราต่อระบบเชน) ค่าแก๊สเป็นสิ่งที่ต้องเสียเมื่อจะซื้อหรือขายผลงาน NFT
ซึ่งต้นทุนนี้ก็จะแตกต่างกันไป แล้วแต่ตลาดที่เราจะซื้อ NFT บางแห่ง เช่น OpenSea ที่ใช้ Ethereum ก็จะมีต้นทุนสูง แต่แลกกับการเป็นตลาดที่คนนิยมใช้เยอะ ในขณะที่ถ้าใช้ตลาดที่ทำในเชนเหรียญอื่น ต้นทุนก็จะถูกลง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเป็นตลาดที่คนนิยมน้อยลงมา นอกจากนี้ เวลาในการทำธุรกรรมก็มีผลต่อราคาแก๊สด้วย ถ้ามีคนใช้ธุรกรรมเยอะ ค่าแก๊สก็จะสูงตาม
🥄2. สภาพคล่องต่ำมาก ซื้อ-ขายไม่ระวัง ของจะติดมือตลอดไป
หากเพื่อน ๆ อยากจะซื้อผลงานมาเก็งกำไร ต้องระวังข้อนี้ให้มาก สภาพคล่องของการซื้อ-ขาย ผลงาน NFT นั้นต่ำมาก ถึงจะเป็นผลงานที่ได้รับความสนใจ แต่ไม่ได้การันตีว่าสภาพคล่องจะสูงเสมอไป
ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ควรลองดูประวัติการซื้อ-ขาย ของผลงานที่สนใจ ว่ามีการเปลี่ยนมือมากน้อยแค่ไหน ถ้าซื้อแล้วต้องเผื่อระยะที่ถือสินทรัพย์เท่าไหร่ นอกจากนี้ บางแห่งยังมีการตั้งซื้อ-ขายที่เปลี่ยนบัญชีถือ แต่จริง ๆ แล้วเจ้าของคนเดียวกัน
🥄3. เน้นเก็งกำไร ผันผวนสูง ตลาดเปิดให้ซื้อ-ขาย 24 ช.ม.
งานศิลปะเขายังมีช่วงเวลาจำกัดในการประมูล แต่งาน NFT ตลาดเปิดให้ประมูล ให้ซื้อ-ขาย 24 ช.ม. แถมยังมีความผันผวนที่สูง
3
NFT ของศิลปินคนเดียวกับผลงานของเรา ที่มีลักษณะคล้ายกับที่เราถือ อาจมีราคาลดลงอย่างมากตอนเราหลับ เมื่อเราตื่น เราอยากจะขายผลงานในราคาเดิมก็ไม่ได้แล้ว เพราะคนซื้อก็มักจะซื้อราคาต่ำสุด (lowest bid / price) เสมอ
🥄4. โปรเจคถูกยกเลิกกลางคันเมื่อไหร่ก็ได้
NFT หลายแบบที่มีแผนในการต่อยอดมากกว่าแค่ผลงานศิลปะ บางแห่งสัญญาว่าจะสร้างเป็นโลกเสมือน สิ่งที่เราถือจะกลายเป็นที่ดิน บางแห่งจะสร้างเกม สิ่งที่เราถือจะกลายเป็น Avatar ของเรา เป็นเสื้อผ้า อาวุธ เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้ได้รับความสนใจและสร้างมูลค่าให้กับตัว NFT อย่างมาก อย่างไรก็ตาม เราพบเห็นโปรเจคมากมายที่ถูกค้างไว้ และที่มากกว่าคือหายไปไม่มีการอัพเดทความคืบหน้าใด ๆ เมื่อเวลาผ่านไป ราคา NFT เหล่านี้ที่เคยสูง ก็รูดลงมาแบบที่ไม่มีทางกลับไปได้ราคาเดิมได้อีก
หากใครจะซื้อ ควรเช็คเว็บที่ใช้สื่อสารกับเจ้าของโปรเจค ลองดูในกลุ่มว่ามีการอัพเดทความคืบหน้าไหม แผนที่จะทำดูเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ทีมและทรัพยากรที่เจ้าของ NFT มีอยู่ สามารถทำได้จริงหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ไม่ควรซื้อ
🥄5. สิทธิ์ในการเป็นเจ้าของและปัญหาเรื่องการขโมยลิขสิทธิ์
สิทธิ์ในผลงาน NFT ส่วนมากจะเป็นของศิลปินผู้สร้างผลงาน แม้ว่าจะขายให้เราแล้วก็ตาม เราไม่มีสิทธิ์ที่จะนำผลงานไปใช้ต่อ ได้แค่ถือครอง และบางแห่งเวลาที่เราขาย ก็มี loyalty fee หรือส่วนแบ่งที่ศิลปินจะได้รับหากขายสำเร็จ
ผลงานในตลาด NFT มีอยู่มากมาย ทั้งนี้ ตลาด NFT ที่สำคัญอย่าง OpenSea ก็ยังยอมรับว่ามากกว่า 80% เป็นผลงาน spam และการหลอกฉ้อโกง ยังไม่รวมประเภทที่แอบเอางานของศิลปินมาแอบอ้าง แล้วขายในตลาด มีการขโมยลิขสิทธิ์ มีการดัดแปลงไอเดียของผลงานที่ได้รับความนิยม มาทำซ้ำเพื่อขายในตลาด ถ้าผู้ซื้อไม่สังเกตให้ดี เห็นว่าราคาถูก อาจจะเผลอซื้อของเหล่านี้ที่ไม่มีมูลค่าเหมือนที่คิด
🥄สรุป การลงทุน NFT ยังน่าสนใจ แต่ต้องรับมือกับความเสี่ยงที่สูงให้ได้
1
ตลาด NFT ยังเป็นสิ่งใหม่และมีโอกาสในการพัฒนาอีกมาก ที่สำคัญมีโอกาสในการทำกำไรสูง แต่ว่าความเสี่ยงก็สูงมากเช่นกัน ดังนั้น อยากให้ทุกคนตระหนักถึงข้อเสีย ใช้บทความนี้ให้เป็นประโยชน์ ประเมินการลงทุนให้รอบด้าน ขอให้ทุกคนโชคดีกับการลงทุนครับ
จบแล้วกับบทความนี้ หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน
หากชอบบทความ อยากชวนเพื่อนทุกคนมากดติดตามเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้เขียนและขอฝากช่องทาง FB ด้วยครับ
Dinner Talks ขอกล่าวคำว่า "แล้วพบกันใหม่มื้อหน้าครับ :)"
แหล่งที่มาของข้อมูล
โฆษณา