12 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • ข่าวรอบโลก
"ชนกลุ่มน้อย 'เฉาเสี่ยน' ดราม่าแย่งวัฒนธรรมเกาหลีในจีน" เรื่องราวจากคอลัมน์ "เกาหลี everything ทุกสิ่งมีเรื่องเล่า" บนแอป 2read
ภาพจาก www.shutterstock.com
หากคุณผู้อ่านยังจำกันได้ คอลัมน์ เกาหลี everything ทุกสิ่งมีเรื่องเล่า เคยกล่าวถึงประเด็นศึกพิพาทระหว่างเกาหลีกับจีนมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยเหตุการณ์ครั้งนั้น เป็นศึกแย่งชิงสัญชาติกิมจิ และข้อถกเถียงที่ตกลงกันไม่ได้ว่า สรุปแล้วกิมจิคืออาหารประจำชาติของเกาหลี หรือเป็นผักดองชนิดหนึ่งของจีน ที่คนจีนเรียกว่า “เปาฉ่าย” กันแน่ (อ่านเพิ่มเติมได้ในตอน เรื่องเล่าในโอ่งกิมจิ...ศึกแห่งศักดิ์ศรีเกาหลีจีน)
1
มาคราวนี้ ประเด็นการถกเถียงและดราม่าเรื่องการเคลมวัฒนธรรมระหว่างสองชาติได้เกิดขึ้นอีกครั้ง และกลายเป็นดราม่าร้อนระอุในโลกสังคมออนไลน์จนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งในเกาหลีใต้เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
การมัดผมแบบแทงกีมอรีในเกาหลีใต้
ต้นเหตุของเรื่องเกิดขึ้นจากงานพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งที่ 24 ที่จีนเป็นเจ้าภาพโดยระหว่างการถ่ายทอดสดพิธีเปิดนั้น ได้ปรากฏภาพหนึ่งในนักแสดงชาวจีน สวมชุดฮันบกซึ่งถือเป็นชุดประจำชาติเกาหลี ถักผมเปียยาวและผูกผ้าแบบเดียวกันกับหญิงเกาหลีในยุคโชซอน หรือที่คนเกาหลีเรียกทรงผมลักษณะนี้ว่า “แทงกีมอรี” (댕기머리) แสดงเป็นตัวแทนชนกลุ่มน้อยในประเทศจีน พร้อมยกธงชาติจีนขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคีและความสงบท่ามกลางความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในจีน นอกจากนี้ยังมีการแสดงการละเล่นพื้นเมืองแบบเกาหลีปะปนอยู่ในการแสดงดังกล่าว เพื่อสะท้อนภาพวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยในพิธีเปิดครั้งนี้ด้วย
1
ชุดฮันบกในเกาหลีใต้
ภาพเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ชาวเกาหลีใต้บางส่วนไม่พอใจ และดราม่าเรื่องที่จีนพยายามแย่งวัฒนธรรมเกาหลีไปเป็นของตนจึงถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงในสังคมออนไลน์ฝั่งเกาหลีใต้อีกครั้ง ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ หากมองในมุมของจีน จีนได้ให้คำอธิบายว่า ชุดฮันบกและการละเล่นพื้นเมืองที่ปรากฏขึ้นในการแสดงนั้น เป็นวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยในประเทศจีนที่มีชื่อว่า “เฉาเสี่ยนจู๋” (朝鲜族) ซึ่งเคยมีพื้นเพและอาศัยอยู่ในคาบสมุทรเกาหลีในอดีต ก่อนจะอพยพมาอยู่ในแผ่นดินจีนและกลายเป็นหนึ่งในชนกลุ่มน้อยของจีนมาจนถึงปัจจุบัน...
ชาวเฉาเสี่ยนแท้จริงแล้วเป็นใคร ใช่คนเกาหลีแท้หรือไม่ หรือจริงๆ เป็นคนจีนที่มีวัฒนธรรมคล้ายกับเกาหลีเท่านั้น เราไปหาคำตอบกันค่ะ...
เฉาเสี่ยนจู๋ ชนเผ่าเกาหลี 2 ล้านคนในจีน
1
หากค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์จีนและพื้นเพที่มาของชนกลุ่มน้อยในจีน ชาวเฉาเสี่ยน หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า “เฉาเสี่ยนจู๋” คือ 1 ใน 56 ชนเผ่าของจีนที่อาศัยอยู่ใน 3 มณฑลหลักคือ มณฑลจี๋หลิน เหลียวหนิง และเฮยหลงเจียง ชาวเฉาเสี่ยนเดิมทีมีถิ่นฐานอยู่ในบริเวณคาบสมุทรเกาหลีใต้ แต่ด้วยปัญหาทางสังคม การถูกกดขี่ข่มเหงจากระบบชนชั้นในคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงปัญหาความอดยากแร้นแค้น ทำให้บรรพบุรุษของชาวเฉาเสี่ยนได้ตัดสินใจอพยพเข้ามาในจีน โดยในปี 1869 ตอนเหนือของคาบสมุทรเกาหลีประสบภัยอย่างหนัก
ชาวเฉาเสี่ยนจึงได้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมกับชาวฮั่นและชาวหม่านที่เป็นชนพื้นเมืองเดิม ในระยะแรกจำนวนคนที่อพยพมามีไม่มาก ชาวเฉาเสี่ยนยังคงเดินทางไปมาระหว่างดินแดนบริเวณจีนและเกาหลี จนกระทั่งถึงยุคที่ญี่ปุ่นรุกรานเกาหลี ชาวเฉาเสี่ยนจึงอพยพเข้ามาในพื้นที่ประเทศจีนเป็นจำนวนมากเพื่อหนีการรุกราน โดยในช่วงปลายราชวงศ์ชิง ปี 1883 ประชากรชาวเฉาเสี่ยนที่อพยพมาเพิ่มสูงขึ้นถึง 37,000 คน
ชาวเฉาเสี่ยนในจีน
จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ของจีนยังได้กล่าวอีกว่า ในระยะแรกเริ่มนั้น พื้นที่ที่ชาวเฉาเสี่ยนอพยพมาเป็นพื้นที่กันดารและแร้นแค้น เมื่อจำนวนคนเพิ่มมากขึ้น ชาวเฉาเสี่ยนจึงได้เริ่มตั้งถิ่นฐาน หักร้างถางพง และเริ่มทำนาเป็นอาชีพหลัก โดยเริ่มที่มณฑลจี๋หลินเป็นที่แรก เมื่อประสบความสำเร็จ จึงได้ขยายพื้นที่ปลูกข่าวต่อไปยังมณฑลอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียง ชาวเฉาเสี่ยนเริ่มรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อนและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนในที่สุด รัฐบาลจีนจึงได้จัดตั้งเขตปกครองตนเองเฉาเสี่ยนขึ้นที่เมืองเหยียนเปียน มณฑลจี๋หลิน ในปี 1952ชาวเฉาเสี่ยนที่อยู่กระจัดกระจายตามที่ต่างๆ จึงรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ชาวเฉาเสี่ยน
การนวดแป้งในวันส่งท้ายปีของชาวเฉาเสี่ยน
ในด้านภาษา ชาวเฉาเสี่ยนที่เป็นกลุ่มหลักในมณฑลจี๋หลินพูดและใช้ตัวหนังสือภาษาเฉาเสี่ยนเดิม ส่วนกลุ่มที่กระจัดกระจายออกไปยังเมืองอื่นๆ เปลี่ยนไปใช้ภาษาจีนในการสื่อสารเป็นหลัก ในส่วนของวัฒนธรรม ชาวเฉาเสี่ยนมีวัฒนธรรมเดียวกับชาวเกาหลีดั้งเดิม เช่น มีการดีดพิณร้องเพลง รำพัด ระบำกลอง รวมถึงบทเพลงอย่าง “อารีรัง” (아리랑หรือ 阿里郞) ที่คนส่วนใหญ่รู้จักผ่านประเทศเกาหลีใต้ ก็มีปรากฏในกลุ่มชาวเฉาเสี่ยน ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเพลงยอดนิยมที่ชาวเฉาเสี่ยนนิยมใช้ขับร้องในวาระสำคัญต่างๆ ด้วย
การแสดงพื้นเมืองของชาวเฉาเสี่ยน
จากข้อมูลพื้นฐานทั้งหมดเกี่ยวกับชาวเฉาเสี่ยน หากมองอย่างเป็นกลางแล้ว เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แท้จริงแล้วชาวเฉาเสี่ยนก็คือชนเผ่าดั้งเดิมที่อาศัยอยู่ในคาบสมุทรเกาหลีก่อนที่จะอพยพเข้าไปยังดินแดนของประเทศจีนในปัจจุบัน ด้วยว่าในยุคสมัยดังกล่าว การแบ่งเขตแดน คอนเซ็ปต์การเกิดรัฐและประเทศ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมเพื่อใช้ขับเคลื่อนแนวคิดชาตินิยมในประเทศหนึ่งๆ ยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมเช่นในยุคปัจจุบัน การย้ายถิ่นที่อยู่ของชนเผ่าหรือชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จึงเกิดขึ้นทั่วไปในทุกพื้นที่ของโลก และกลายเป็นหนึ่งในปัญหาที่รัฐในยุคปัจจุบันต้องแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาชนกลุ่มน้อย ปัญหาคนไร้สัญชาติ หรือไร้รัฐ รวมถึงการบ่งชี้และระบุอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมในแต่ละชนเผ่า ว่าตกลงแล้ววัฒนธรรมและอัตลักษณ์ดังกล่าวนั้น เป็นของเจ้าของรัฐในปัจจุบัน หรือขึ้นตรงกับพื้นเพดั้งเดิมของถิ่นที่จากมา
1
ย้อนกลับมาที่ประเด็นดราม่าในพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว แม้ชาวเน็ตส่วนมากในเกาหลีใต้จะไม่พอใจกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ยังคงมีชาวเน็ตที่เข้าใจถึงที่มาที่ไป และพื้นเพของชาวเฉาเสี่ยน ว่าแท้จริงแล้ว บรรพบุรุษของชาวเฉาเสี่ยนได้เคยอาศัยอยู่ในคาบสมุทรเกาหลีมาก่อน จึงไม่แปลกที่จะมีวัฒนธรรม เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย รวมถึงธรรมเนียมปฏิบัติที่เหมือนกับคนเกาหลีในยุคก่อนการเกิดประเทศ
1
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ชาวเน็ตกลุ่มนี้ รวมถึงรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้เห็นตรงกันก็คือ การใช้คำเรียกชาวเฉาเสี่ยนว่า “ชนกลุ่มน้อย” ในพิธีเปิดดังกล่าว เป็นการใช้คำที่ดูหมิ่น เหมือนกับกำลังจะบอกว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่ไม่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอง และประชากรส่วนหนึ่งที่เคยเป็นของเกาหลี คือคนในปกครองของตนเองในปัจจุบัน ซึ่งนี่อาจนำพาไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศได้ในอนาคต
ว่ากันตามจริงแล้ว ประเด็นชาวเฉาเสี่ยนกับท่าทีของจีนที่แสดงออกในครั้งนี้ เป็นเรื่องที่หาข้อสรุปได้ยากจริงๆ เพราะหากมองในมุมจีนเอง เฉาเสี่ยนก็คือหนึ่งในชนเผ่าที่อยู่ในการปกครองของจีนในปัจจุบัน ดังนั้นจีนจึงมีสิทธิ์ที่จะเคลมว่าชนเผ่านี้คือชาวจีน แต่ในอีกมุมหนึ่ง การสวมชุดฮันบกซึ่งถือเป็นชุดประจำชาติของประเทศเกาหลีในปัจจุบัน พร้อมเล่นการละเล่นแบบเกาหลี แต่ถูกจีนแปะป้ายว่าสิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจีน ก็ดูจะเป็นเรื่องที่รับได้ยากและไม่สามารถเข้าใจได้ในมุมมองของคนเกาหลีใต้ด้วยเช่นกัน
แม้ดราม่านี้จะยังไม่สามารถหาบทสรุปได้ชัดเจน และรัฐบาลเกาหลีใต้ก็ยังไม่ได้ออกมาพูดจาต่อว่ารัฐบาลจีนอย่างเป็นทางการ แต่สิ่งหนึ่งที่สรุปได้จากดราม่านี้อย่างแน่ชัดก็คือ รอยร้าวระหว่างจีนกับเกาหลีใต้ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง ความบาดหมางและความไม่พอใจในชาวเกาหลีใต้ที่มีต่อคนจีนในปัจจุบันกำลังก่อตัวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งเล็กๆ เหล่านี้กำลังสั่นคลอนคะแนนนิยมในตัวผู้นำเกาหลีใต้อย่าง มุน แจ อิน ที่นิยมชมชอบจีนและมีนโยบายเอาใจจีนมาโดยตลอด
ไม่แน่ว่า ในวาระการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของเกาหลีที่จะเกิดขึ้นในกลางปีนี้ พลังความไม่พอใจชาวจีนในคนเกาหลีใต้ อาจนำพาให้เกิดการเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง รวมถึงนโยบายต่างประเทศที่เกาหลีใต้มีต่อจีนในอนาคตด้วย
อ้างอิงข้อมูล
ภาพประกอบ
เรื่องโดย ธัญญ์พิศา กิ๊ฟ
โฆษณา