14 ก.พ. 2022 เวลา 01:50 • ความคิดเห็น
ทำไมการไม่ยอมแพ้ถึงส่งผลเสียได้ในบางครั้ง
ในสังคมที่บีบคั้นในปัจจุบัน มีคำพูดจากคนมากมายที่บอกว่า "การยอมแพ้เป็นสิ่งที่รับไม่ได้" อย่างเด็ดขาด
แต่เมื่อไม่นานมานี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสอ่านหนังสือ "Think Like a Freak" หรือชื่อไทยว่า "คิดพิลึก แบบนักเศรษฐศาสตร์"
ที่ได้เสนอแง่มุมที่น่าสนใจ บอกว่า "การไม่ยอมแพ้บางทีก็นำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ไม่น่าอภิรมย์ได้"
📌 ทำไมคนถึงไม่ชอบยอมแพ้
โดยมีเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการที่บอกว่า ทำไมคนเราถึงไม่ชอบยอมแพ้
1.คนเสียดายกับต้นทุนที่ใช้จ่ายไปกับสิ่งนั้นๆ แล้ว
2.ค่านิยมทางสังคมที่บอกว่า การยอมแพ้เป็นสิ่งที่ล้มเหลว และ
3.คนมักจะมองไม่เห็น "ต้นทุนค่าเสียโอกาส" ของการไม่ยอมไปทำอย่างอื่น แทนที่จะงมกับสิ่งที่ได้ผลน้อย ลองไปทำอย่างอื่นอาจจะดีกว่าก็ได้
ทั้งหมดนี้ รวมๆ กัน ทำให้คนเราทั่วไปไม่อยากที่จะยอมแพ้กับเรื่องใดเลย
มีข้อคิดที่น่าสนใจเพิ่มเติมของไมเคิล บลูมเบิร์ก อดีตนายกเทศมนตรีนิวยอร์คบอกไว้ว่า
"ในแวดวงการแพทย์หรือวิทยาศาสตร์ ถ้าคุณเลือกเดินเส้นทางหนึ่งแล้วเจอทางตัน แปลว่าคุณสร้างประโยชน์ เพราะคนอื่นจะได้ไม่ต้องเดินตามทางไหน แต่ในวงการสื่อ ถ้าคุณยอมแพ้สิ่งนี้ถูกเรียกว่า ความล้มเหลว ทำให้ในระบบการปกครองกลัวที่จะสร้างอะไรใหม่ๆ "
แนวคิดประณามจากสื่อต่อการยอมแพ้แบบนี้ เป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้หน่วยงานที่ต้องรับความกดดันจากสื่อ ยิ่งไม่คิดที่จะอยากยอมแพ้
📌 การไม่ยอมแพ้ที่นำมาสู่การสูญเสีย
เหตุการณ์สุดสลดอย่างหนึ่ง ที่ถูกนำมายกตัวอย่างในหนังสือ คือ "การระเบิดของยานชาเลนเจอร์" ในปี 1986 ซึ่งที่น่าเศร้ายิ่งกว่า คือ การยอมแพ้ในครั้งนี้ไม่ใช่การยอมแพ้อย่างสิ้นเชิง แต่เป็นการยอมแพ้เพียงชั่วคราว แล้วกลับมาทำใหม่ได้ด้วยซ้ำ
โดยก่อนจะมีการปล่อยยาน หนึ่งในทีมวิศวกรผู้ผลิตเครื่องยนต์จรวด ชื่อว่า แอลเลน แมคโดนัลด์ ได้เตือนว่า อากาศที่หนาวเย็นเป็นพิเศษ จะทำให้มีปัญหาความปลอดภัยได้
แต่ทางนาซ่ากลับไม่ฟังคำเตือน และยืนยันที่จะปล่อยยานตามกำหนดเดิม ทางแมคโดนัลด์กล่าวไว้ว่า เขาแปลกใจมากที่ทางนาซ่าไม่ฟังคำเตือนนี้ และยังถูกเรียกร้องให้พิสูจน์คำเตือนออกมาเป็นตัวเลขเชิงประจักษ์ด้วย
"ซึ่งในตอนนั้นเขาไม่สามารถทำตามคำร้องขอได้"
เช้าวันต่อมา เมื่อถึงการปล่อยยานจริง ก็เป็นโศกนาฎกรรมการระเบิดของยานที่ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เหตุผลของการระเบิด ก็เป็นไปตามที่แมคโดนัลด์เตือนตั้งแต่แรกนั่นเอง
หนึ่งในเหตุผลที่อาจจะทำให้นาซ่าไม่อยาก "ยอมแพ้และเลื่อนการปล่อยออกไปก่อน" ก็เป็นเพราะว่า
การปล่อยยานครั้งนี้มีการส่งพลเรือนธรรมดาที่เป็นครูชื่อ คริสตา แม็กออลิฟฟ์ไปด้วย สื่อจึงจับตามองเป็นพิเศษ
นอกจากนี้ การปล่อยยานครั้งนี้ก็ถูกเลื่อนออกมาหลายครั้งแล้ว ถ้าไม่ปล่อยอีก จะโดนว่าล้มเหลวหรือเปล่า คงเป็นคำถามที่นาซ่าคิดไว้ในใจ
เรื่องนี้สอนเราว่า บางครั้งการยอมแพ้ก็ไม่ได้เท่ากับล้มเหลวเสมอไป หากพิจารณาแล้วว่า มีต้นทุนและความเสี่ยงสูงเกินไป
แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่า การอยู่เฉยๆ แล้วไม่ทำอะไรเลย จะทำให้ภารกิจต่างๆ ลุล่วงสำเร็จไปได้เช่นกัน
ซึ่งก็เป็นบทเรียนของการตัดสินใจเรื่องต่างๆ อย่างรอบด้าน เปิดโอกาสให้ตัวเองเห็นทั้งข้อดีข้อเสีย ไม่น้อยเกินไป แต่ก็ไม่มากดันทุรังจนเกินไป เพราะ "บางครั้งการไม่ยอมแพ้ก็สร้างผลลัพธ์ที่เลวร้ายได้เช่นกัน"
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : ชนกานต์ วรสุข Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
หนังสือ Think Like a Freak by Steven D.Levitt and Stephen J.Dubner
โฆษณา