17 ก.พ. 2022 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
พัฒนาการของเงิน กว่าจะเป็นเงินทุกวันนี้
เมื่อพูดถึงเงิน ต่างคนก็ให้ความหมายต่างกันไป บ้างก็บอกว่า เงินทองเป็นรากฐานของความชั่วร้าย บางคนก็มองว่า เงินทองเป็นของนอกกาย แต่ไม่ว่ายังไง ถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เงินก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น
ในยุคที่โลกมีพัฒนาการเร็วขึ้นทุกวัน เงินก็เป็นสิ่งหนึ่งที่กำลังหมุนไปเช่นกัน การเข้ามาของคริปโทเคอร์เรนซี สกุลเงินดิจิทัลที่ทั่วโลกให้ความสนใจ มีทั้งสนับสนุนและคัดค้าน บางกลุ่มมองว่ามันเป็นอนาคต ที่จะมีบทบาทต่อโลกธุรกิจและการเงินมากขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่อีกกลุ่มมองว่าเป็นเพียงเรื่องเพ้อฝัน
เกิดเป็นคำถามว่า แท้จริงแล้วเงินคืออะไร ? การทำความเข้าใจที่มาที่ไป วิวัฒนาการ และประวัติศาสตร์ของเงิน จึงน่าสนใจและอาจทำให้เราเข้าใจคำว่า “เงิน” มากขึ้น
ในประวัติศาสตร์การค้าขายของมนุษย์ ในยุคแรก ๆ เราใช้ระบบการแลกเปลี่ยนสินค้า (Barter System) ซึ่งแต่ละคนก็จะมีความสามารถ และความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน แต่ไม่มีใครที่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวเอง การแลกเปลี่ยนสินค้าจึงเกิดขึ้น
ตัวอย่างเช่น ช่างทำรองเท้า อาจไม่ถนัดในการทำขนมปัง จึงต้องเอารองเท้าที่ตัวเองทำขึ้นมาไปแลกขนมปังของพ่อครัว
ปัญหา คือ ความต้องการสินค้าที่ไม่ตรงกัน พ่อครัวอาจจะไม่ได้รองเท้าในตอนนี้ ช่างทำรองเท้าจึงต้องไปหาสินค้าที่พ่อครัวต้องการให้ได้ก่อน การค้าขายจึงเป็นไปได้ยาก กว่าจะหาคนที่มีความต้องการตรงกันได้ ก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว
อัตราแลกเปลี่ยนที่เกิดขึ้นมหาศาลก็เป็นปัญหาอีกอย่างหนึ่ง เพราะสินค้ามีหลายอย่าง พ่อค้าต้องจดบันทึกราคาสินค้าของตัวเองเทียบกับสินค้าทุกอย่างที่มีในตลาด ลองนึกดูว่าถ้าในตลาดมีสินค้า 1,000 ชิ้น กว่าจะขายสินค้าได้หนึ่งชิ้น ต้องเปิดสมุดหาราคาเทียบกับสินค้าที่คนอื่นเอามาแลกว่ามีราคาเท่าไหร่ การค้าขายจึงเสียเวลามากและไม่มีประสิทธิภาพ
เลยเกิดเป็นความคิดที่จะสร้าง สกุลเงินตรงกลาง เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าทุกอย่างเหลือคู่เทียบแค่เพียงกับสกุลเงิน อัตราแลกเปลี่ยนจึงลดลงอย่างมหาศาล ทำให้การค้าขายมีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่การที่อะไรก็ตามจะกลายมาเป็นสกุลเงินที่ทุกคนยอมรับ ตามนิยามของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกแล้ว สิ่งนั้นจะต้องมีหน้าที่ 3 ข้อใหญ่ ๆ คือ
🔸 เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange)
ถ้าทุกคนมีความต้องการสกุลเงินนี้ เงินก็จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า จากเดิมที่เอาสินค้ามาแลกกัน ก็จะมาแลกสินค้ากับตัวเงินแทน
แต่ข้อสำคัญคือ เงินแต่ละหน่วยควรจะเหมือนกันหมด เพราะถ้าเราต้องมาพิสูจน์ทุกครั้ง ว่าเงินที่ได้รับมาเป็นของแท้หรือของปลอม แบบนั้นก็คงไม่มีใครอยากใช้เงินสกุลนี้
🔸 มีหน่วยนับ (Unit of Account)
การแตกเป็นหน่วยย่อย ๆ ทำให้การใช้เงินมีความสะดวก สามารถแลกเปลี่ยนสินค้าได้ทุกอย่าง จำนวนอัตราแลกเปลี่ยนก็จะลดลงและการค้าขายก็จะเกิดง่ายขึ้น
ลองคิดดูว่า ถ้าเรากำหนดให้เงินเป็น เครื่องมือการเกษตร อาวุธล่าสัตว์ หรือแม้แต่อัญมณี การจะแบ่งเป็นหน่วยย่อย ๆ จะทำยังไงดี
🔸 กักเก็บมูลค่า (Store of Value)
ตัวเงินไม่เสื่อมสลาย ทั้งในแง่กายภาพและมูลค่าในตัวมันเอง ลองคิดดูว่าถ้าเราใช้ปลาเป็นเงินในการแลกเปลี่ยนสินค้า จะพบว่าสุดท้ายแล้วปลาของเราจะค่อย ๆ เน่าเปื่อย มูลค่าตัวมันก็จะลดลง เพราะไม่มีใครอยากได้ปลาเน่า ๆ แน่นอน
อีกข้อที่สำคัญในการกักเก็บมูลค่าคือ ความหายากของสิ่งนั้น เพราะเมื่อไหร่ที่ผลิตเพิ่มขึ้นได้จำนวนมาก มูลค่าต่อหน่วยจะลดลง สุดท้ายความมั่งคั่งของผู้เป็นเจ้าของก็จะลดลงอย่างรวดเร็ว
เมื่อเวลาผ่านไป เกิดการค้าขายระหว่างประเทศ ทองคำจึงกลายมาเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน แต่ด้วยปัญหาเรื่องการขนส่งที่ยุ่งยากและมีความเสี่ยง เนื่องจากการค้าขายทางเรือสมัยก่อน นอกจากต้องขนสินค้าไปแล้ว ยังต้องขนทองคำไปอีกเพื่อใช้เป็นเงิน (เหมือนเวลาเราออกจากบ้าน ก็ต้องพกเงินติดตัวไปด้วย)
จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ ตั๋วแลกทองคำ ที่ทำมาจากกระดาษ ซึ่งผู้คนให้มูลค่าเท่ากับทองคำตัวจริง เมื่อเวลาผ่านไป เงินที่มนุษย์ใช้กัน จึงค่อย ๆ พัฒนามาเป็นเงินกระดาษ “แบงก์” อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
แต่ในอนาคต เงินจะยังคงเป็นเหรียญและแบงก์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้รึเปล่า ? คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา