18 ก.พ. 2022 เวลา 03:30 • ธุรกิจ
ถอดรหัส ความสำเร็จทายาทรุ่น 3 ของบันลือกรุ๊ป
“ผมเกิดมาบนกองเงินกองทอง” วลีเด็ดของ “แวน ธิติพงษ์” นักธุรกิจหนุ่มพันล้าน ที่ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับวิดีโอคอนเทนต์จิกกัดสังคมจาก Salmon House ซึ่งได้กลายเป็นไวรัลอยู่พักใหญ่ หรือแครักเตอร์ “แม่มณี” ของธนาคารไทยพาณิชย์
รู้หรือไม่ ความสร้างสรรค์ที่เป็นภาพจำเหล่านี้ เป็นผลงานของบันลือกรุ๊ป
บริษัทที่เริ่มมาจากการเป็นสำนักพิมพ์ ก่อนจะขยายสู่ “ขายหัวเราะ” หนังสือการ์ตูนยุคบุกเบิกในประเทศไทย
ซึ่งปัจจุบัน บันลือกรุ๊ป ก็ยังคงมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง พัฒนาสื่อที่เหมาะกับยุคสมัย เช่น Salmon Books, Salmon House, The MATTER หรือ Minimore
1
วันนี้ลงทุนเกิร์ลได้มีโอกาสสัมภาษณ์ คุณพิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทรุ่นที่ 3 ที่เข้ามารับช่วงต่อยอดอาณาจักรบันลือกรุ๊ป ให้เติบโตไปอีกขั้น
บันลือกรุ๊ปปรับตัวอย่างไร ในยุคที่ถูกมองว่าสื่อสิ่งพิมพ์กำลังจะตายแล้ว ?
และทายาทรุ่นที่ 3 มีแนวคิดอย่างไรในการต่อยอดธุรกิจที่เก่าแก่ ?
ลงทุนเกิร์ลจะเล่าให้ฟัง
บันลือกรุ๊ปอยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มานานกว่า 67 ปี ธุรกิจเก่าแก่ที่สานต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น
เริ่มตั้งแต่สำนักพิมพ์เล็ก ๆ ขยับขยายสู่วงการการ์ตูนแถวหน้า ที่มั่นใจได้ว่าต้องมีหลาย ๆ คน เติบโตมากับการซื้อการ์ตูนขายหัวเราะทุก ๆ สัปดาห์
1
โดยปัจจุบันบันลือกรุ๊ป ได้กลายเป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนต์แบบครบวงจรอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย เป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตัวแครักเตอร์, โพรดักชันส์ เฮาส์, สื่อออนไลน์ หรือแม้แต่การจัดงานอิเวนต์
ซึ่งคนที่กำลังนั่งแท่นบริหารอาณาจักรแห่งนี้อยู่ก็คือ คุณพิมพ์พิชา ทายาทรุ่นที่ 3 ของครอบครัวอุตสาหจิต รับช่วงต่อมาจาก คุณวิธิต อุตสาหจิต หรือคุณพ่อของเธอ
เนื่องจากคุณพิมพ์พิชา ชอบติดตามคุณพ่อคุณแม่ไปทำงานที่บริษัทเสมอ ๆ ทำให้เธอเติบโตมากับการอ่านหนังสือมากมายตั้งแต่เด็ก ๆ รวมถึงช่วยทำงานจิปาถะในบริษัทตอนช่วงวัยรุ่น
ประสบการณ์เหล่านี้ ก็ก่อเกิดมาเป็นความรักด้านการอ่าน และการผลิตคอนเทนต์ ดังนั้นเธอจึงเลือกเรียนปริญญาตรี ในคณะนิเทศศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และเมื่อคุณพิมพ์พิชา มีความตั้งใจที่จะกลับมาสานต่อธุรกิจสื่อของครอบครัว เธอจึงตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโท ด้านบริหารธุรกิจ ที่สถาบัน Imperial College Business School ในสหราชอาณาจักร
ซึ่งหลังเรียนจบ เธอในวัย 24 ปี ก็ตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจที่บ้านทันที โดยเข้ามาดูแลบริษัท ช่วงรอยต่อของการขยับขยายธุรกิจ จากสื่อสิ่งพิมพ์ สู่สื่อดิจิทัลพอดิบพอดี
ที่น่าสนใจคือ บันลือกรุ๊ปไม่ได้เพิ่งจะปรับเปลี่ยนธุรกิจ ตอนช่วงที่สื่อออนไลน์กำลังเริ่มเป็นกระแส
แต่จริง ๆ แล้ว บริษัทได้มีการขยับมาทำสื่อดิจิทัล อย่างแอนิเมชัน, โพรดักชันส์ เฮาส์ และสื่อออนไลน์ ตั้งแต่สมัยรุ่นที่ 2 หรือรุ่นพ่อของคุณพิมพ์พิชาแล้ว
อย่าง “วิธิตา แอนิเมชั่น” บริษัทผู้ผลิตแครักเตอร์แบบครบวงจร เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2001 ในช่วงยุคบุกเบิกของวงการแอนิเมชันในประเทศไทย
โดยช่วงแรก ๆ ก็เริ่มจากการนำแครักเตอร์ของการ์ตูนเดิมที่มีอยู่ มาทำแอนิเมชัน 2D และ 3D ฉายบนโทรทัศน์ เช่น เรื่องปังปอนด์, สามก๊ก ไปจนถึงสร้างแอนิเมชันโฆษณาให้แบรนด์อื่น ๆ
ซึ่งเรื่องนี้ คุณพิมพ์พิชาได้เสริมเอาไว้ว่า เธอไม่ได้มองตัวละครเหล่านี้ เป็นแค่ “หนังสือการ์ตูน” แต่มองให้เป็น “แบรนด์” ที่สามารถไปโลดแล่นอยู่ในช่องทาง หรือแพลตฟอร์มไหนก็ได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องอยู่แค่ในสื่อสิ่งพิมพ์
1
นำอารมณ์ขันและแครักเตอร์ของขายหัวเราะ มาต่อยอดให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ในการสื่อสารกับลูกค้าในทุกอุตสาหกรรม อย่างการนำตัวการ์ตูนขายหัวเราะ มาทำคอนเทนต์อธิบายเรื่องยาก ๆ เช่น วงการแพทย์, วงการการเงิน และอื่น ๆ อีกมากมาย
รวมทั้งยังใช้รูปแบบการทำงานแบบ “สตูดิโอ” หรือทำงานเป็นทีม โดยนักเขียนจะไม่ต้องทำงานแบบ “One Man Show” หรือการฉายเดี่ยว เพื่อแบกภาระงานไว้คนเดียว
แต่จะมีทีมงานช่วยคิดคอนเทนต์ ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า, วิเคราะห์การตลาด หรือมีครีเอทิฟด้านอารมณ์ขันโดยเฉพาะ เพื่อที่จะมาต่อยอดไอเดียของนักเขียน
นอกจากนั้น วิธิตา แอนิเมชั่น ยังรับออกแบบแครักเตอร์ให้กับแบรนด์ชั้นนำในประเทศไทย เช่น “แม่มณี” ของธนาคารไทยพาณิชย์, “ก๊อดจิ” ของบริษัท ปตท. รวมถึงสติกเกอร์ไลน์ของหลาย ๆ บริษัท ธนาคาร และบริษัทประกันภัย
2
ซึ่งในธุรกิจด้านอื่น ๆ ของบันลือกรุ๊ป ก็มีการนำมาต่อยอดเหมือนกัน
อย่างสำนักพิมพ์ ก็มีการแตกออกมาเป็น Salmon Books และ BUNBOOKS
และเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมสื่อในยุคดิจิทัล ก็มีการผลิตคอนเทนต์ที่หลากหลายสไตล์ เพื่อจะได้เข้าถึงลูกค้าหลาย ๆ กลุ่ม ซึ่งก็ได้ทีมงานมีฝีมือเข้ามาร่วมทีมด้วย
The MATTER สื่อออนไลน์ของคนรุ่นใหม่ ก่อตั้งโดยคุณทีปกร วุฒิพิทยามงคล และคุณณัฐชนน มหาอิทธิดล
อีกทั้งยังได้คุณวิชัย มาตกุล และคุณธนชาติ ศิริภัทราชัย มาดูแลด้านโพรดักชันส์ ในบริษัท Salmon House ที่ผลิตคอนเทนต์เอาใจคนรุ่นใหม่
1
รวมถึงมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม อย่าง PIXNIQ ชุมชนสำหรับคนถ่ายภาพ หรือ Minimore ที่เป็นชุมชนสำหรับนักเขียน
ซึ่งหน้าที่ของคุณพิมพ์พิชา ก็คือการต่อยอดในส่วนของธุรกิจเดิม ให้เป็นไปในแนวทางใหม่ ๆ อย่างที่เธอเชื่อว่า ตัวการ์ตูนของบันลือกรุ๊ป ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในรูปเล่ม แต่เป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ไปอยู่ที่ไหนก็ได้
เช่น ล่าสุดก็มีโปรเจกต์ที่ขายหัวเราะได้จับมือร่วมงานกับ “PLY (พลาย)” แบรนด์รองเท้าสนีกเกอร์ฝีมือคนไทย
โดยนำตัวการ์ตูนขายหัวเราะ ที่เป็นมรดกตกทอดจากรุ่นคุณพ่อ มาต่อยอดเป็นลายรองเท้าให้แฟน ๆ ได้เก็บสะสม โดยพยายามคง DNA ของขายหัวเราะไว้ให้มากที่สุด
อ่านมาถึงตรงนี้ เราก็คงเห็นถึงการพัฒนาธุรกิจของบันลือกรุ๊ปได้เป็นอย่างดี
 
ทั้งที่จริง ๆ แล้ว สำหรับการทำธุรกิจครอบครัว เรามักจะเห็นปัญหาที่ไม่ลงรอย หรือทัศนคติที่ไม่ตรงกันของคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่เสมอ
แต่ครอบครัวอุตสาหจิต กลับไม่มีเรื่องลักษณะนี้เกิดขึ้นเลย เนื่องจากคนในครอบครัวใช้ “ความเข้าใจ” และ “การสื่อสาร” ในการดำเนินธุรกิจ เพื่อลดช่องว่างระหว่างวัยของทั้ง 2 รุ่น
อันดับแรก เปิดโอกาสให้ทดลองสิ่งใหม่ ๆ
โดยตลอดการบริหารงานของคุณพิมพ์พิชา ไม่เคยถูกปิดกั้นความคิดจากคนรุ่นก่อนเลย เนื่องจากคุณวิธิตเข้าใจว่าสื่อในยุคนี้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นรสนิยมของลูกค้า หรือการเติบโตของเทคโนโลยี
1
ดังนั้นคุณพิมพ์พิชาจึงสามารถลองผิดลองถูกได้อย่างเต็มที่ แต่ก็จะไม่ดึงดัน หากหนทางที่เลือกน่าจะมีทิศทางที่ไม่ดี รวมทั้งยังเปิดใจรับฟังคำแนะนำของคนรุ่นก่อน ที่มีประสบการณ์มาก่อน
เรียกได้ว่าการดำเนินธุรกิจของครอบครัวอุตสาหจิต ขับเคลื่อนด้วยความเข้าอกเข้าใจ และเคารพในความคิดเห็นของคนทั้ง 2 รุ่น
นี่ก็คือเรื่องราวและแรงบันดาลใจ ในการปรับตัวของบันลือกรุ๊ป จากผู้บริหารไฟแรงที่สร้างสมดุลระหว่างคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าได้อย่างลงตัว
ดังนั้นจึงก็ไม่น่าแปลกใจว่าทำไมบันลือกรุ๊ป ยังคงเติบโตในอุตสาหกรรมสื่อได้อย่างยั่งยืน..
References:
-สัมภาษณ์โดยตรงกับคุณนิว-พิมพ์พิชา อุตสาหจิต ทายาทรุ่นที่ 3 ของบันลือกรุ๊ป
โฆษณา