17 ก.พ. 2022 เวลา 06:02 • ประวัติศาสตร์
ทอยเส้นเล่นตุ๊กตุ่น
ตุ๊กตุ่น มักทำตามแบบตัวละครฮีโร่ญี่ปุ่น และฝรั่ง มีหลากหลายความสูง
“ตุ๊กตุ่น” เป็นคำใช้เรียกตัวฟิกเกอร์ที่เด็กผู้ชายนิยมนำมาเล่นแนวบู๊ๆ เพื่อให้แตกต่างจากคำว่าตุ๊กตาของเด็กผู้หญิง
1
ตุ๊กตุ่นแบบที่นำมานี้ เป็นตัวฟิกเกอร์ที่ทำขึ้นมาโดยมักอิงจากคาแร็คเตอร์ตัวละครจากหนังทีวี โดยเฉพาะหนังจากญี่ปุ่นที่เป็นการ์ตูนอนิเมะ หรือหนังคนแสดงแนวฮีโร่แปลงร่าง อภินิหาร เพราะมีแอ็คชั่น สนุก ตื่นตาตื่นใจ แปลกใหม่
ยุคนั้น ทีวีเพิ่งจะเริ่มมี (ประเทศไทย มีการแพร่ภาพอย่างเป็นทางการ วันที่ 24 มิถุนายน 2498 ทางช่อง 4 และทั้งประเทศมีเครื่องรับ (ทีวีขาวดำ) ประมาณ 1000 เครื่อง) ทีวีกลายเป็นสื่อบันเทิงยอดฮิตรูปแบบใหม่ แต่ราคายังคงแพง ตามบ้านคนทั่วไปยังไม่ค่อยมีทีวี
ช่องทีวีไทยมีทั้งผลิตรายการขึ้นมา และซื้อหนังจากต่างประเทศมาฉายด้วย หนังสั้นหนังยาว หนังจากจินตนาการ นิยาย ทั้งการ์ตูนฝรั่ง และญี่ปุ่น ฯลฯ จึงเกิดภาพจำคาแร็คเตอร์ตัวแทนหนังต่างๆ มากมาย นอกเหนือจากใบหน้านักแสดงนำ ยิ่งหนังฮีโร่ต่างๆ มีรูปลักษณ์ เครื่องแต่งกายที่ต่างออกไป มีสัตว์ประหลาดแปลกๆ จึงทำให้มีคาแร็คเตอร์แปลกใหม่ขึ้นมามากมาย เด็กๆ นำมาวาดตามได้ง่าย ประจวบกับวัสดุพลาสติกเริ่มเป็นที่แพร่หลายนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ได้สารพัดชนิด ผลิตซ้ำได้ในปริมาณมากๆ จากการฉีดพลาสติกเหลวเข้าไปในแม่พิมพ์ รอให้แข็งตัวเย็นลง ออกมาเป็นรูปร่างต่างๆ ทั้งจาน ชาม ช้อน เครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์ ลวดลายประดับตกแต่ง ของเล่น สารพัด
แต่เดิมของเล่นสำหรับเด็ก หรือของแถม ที่ทำจากพลาสติก (บางทีก็เรียก ของหลอกเด็ก) มักจะทำเป็นตัวสัตว์ ช้างม้าหมาแมว แมลง ผลไม้ รถเรือเครื่องบิน มีดดาบ แหวนสร้อย นางรำ ฯลฯ ซึ่งเป็นการทำจำลองรูปลักษณ์จากของจริง
1
เมื่อมีคาแร็คเตอร์แปลกๆ ใหม่ เป็นที่จดจำติดตาจากหนังที่ฮิตๆ ช่างไทยก็มีการผลิตของเล่นจากพลาสติกออกมาเป็นฟิกเกอร์ จากที่สอบถามมา ตุ๊กตุ่นแบบแรกๆ ที่เริ่มมีออกมาคือ ตัวยอดมนุษย์ อุลตร้าแมน ราวปี พศ. 2510 ซึ่งหนังเรื่องนี้ฉายครั้งแรกที่ญี่ปุ่นปี 2509 และคงนำเข้ามาฉายที่ไทยในเวลาถัดมา
ตุ๊กตุ่นเหล่านี้ได้รับความนิยมอย่างมาก น่าจะด้วยอิทธิพลของหนังฮีโร่ญี่ปุ่นด้วย ที่สนุกโดนใจเด็ก ตัวตุ๊กตุ่นเป็นงานที่ช่างไทยแกะแม่พิมพ์โดยอาศัยภาพจากทีวีเช่นเดียวกันมาเป็นต้นแบบ ทำเหมือนบ้าง ไม่เหมือนบ้าง แต่ก็ดูคล้าย เป็นตุ๊กตุ่นตัวเล็ก สูงประมาณ 2-2นิ้วครึ่ง (แต่ก็มีตัวใหญ่ๆ ออกมาให้ตื่นเต้นด้วย) วัสดุเป็นพลาสติกสีเดียว แถมมากับขนมบ้าง ราคาไม่แพง ซื้อหาง่ายมาก เด็กๆ นำมาเล่นด้วยสารพัดวิธี ทั้ง ทอยเส้น ล่อเตี๊ยม ปาให้ล้ม ใช้เป็นเบี้ยเป็นตัวจ่ายเมื่อมีการแข่งแพ้ชนะ สารพัดจะเล่น
การเล่นที่เกี่ยวพันกับตุ๊กตุ่นโดยตรงก็คือ นำมาเล่น “ทอยเส้น” โดยใช้เส้นรอยต่อของพื้นปูนซีเมนต์ของถนนในตรอกซอกซอย เป็นเส้นแนวยืน แล้วโยน ทอยตัวตุ๊กตุ่นออกไปให้คาบเส้นรอยต่อถัดไป ห่างราวๆ 3-5 เมตร (บางทีก็ใช้ถ่าน หรือชอล์คขีดเส้นบนพื้นก็ได้) ตุ๊กตุ่นของใครใกล้เส้นที่สุด หรือคาบเส้น ถือเป็นผู้ชนะ ได้สิทธิ์ในการ “เตี๊ยม” (เล็งแล้วปาให้โดน) หรือ “แจะ” (แตะ) ให้โดนตุ๊กตุ่นตัวที่ไกลเส้นออกมาตามลำดับ เพื่อได้มาซึ่งตุ๊กตุ่นตัวนั้น (เรียกว่า “กิน”) แต่ผู้แพ้ มักจะขอจ่ายตัวอื่นแทน เพราะตัวที่นำมาทอยนั้น มักเป็นตัวเก่ง ที่ผ่านการตกแต่งโมดิฟายเพิ่ม หรือเป็นตุ๊กตุ่นตัวที่รัก อันเป็นที่มาของการดัดแปลงตุ๊กตุ่นให้กลายเป็นตัวเก่งด้วยวิธีการต่างๆ เช่น ฝนหลัง พันลวด ฯลฯ เรียกว่า ตุ๊กตุ่นและการทอยเส้น สร้างสรรค์ประสบการณ์เรื่องราวขึ้นอีกมากมายในชีวิตเราให้ได้จดจำ ได้เล่าบอกต่อถึงความสนุกสนาน มาถึงทุกวันนี้
1
หนังสือ ทอยเส้นเล่นตุ๊กตุ่น พิมพ์สีทั้งเล่ม 160 หน้า
เดี๋ยวมาเล่าต่อครับ
#ทอยเส้น #ตุ๊กตุ่น #ของเล่น #ประวัติศาสตร์ #เด็กไทย #การละเล่น #สะสม #ตัวแข็ง #ตัวยาง #ตุ๊กตา
โฆษณา