18 ก.พ. 2022 เวลา 02:39 • ไลฟ์สไตล์
The 7 Habits of Highly Effective People
หนังสือขายดีของ Stephen R. Covey และเป็นหนึ่งในหนังสือที่มีผู้อ่านมากที่สุดในโลก โดยมีการแปลไปแล้วถึง 34 ภาษาและขายไปแล้วกว่า 25 ล้านเล่มทั่วโลก โดยหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยเรื่องของการเป็นผู้นำไม่ใช่ตำแหน่งในองค์กร แต่เป็นลักษณะของพนักงานที่องค์กรต่างๆพึงมี โดยหากพนักงานทุกคนมีความเป็นผู้นำในตัวเองโดยการฝึกให้ตนเองมีลักษณะนิสัยทางบวกก็จะทำให้ตนเองรวมถึงองค์กรประสบความสำเร็จได้ ในวันนี้ The Successor จะมาสรุป 7 อุปนิสัยโดยย่อเพื่อให้ผู้อ่านทุกคนเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ
1.) Be Proactive การควบคุมการกระทำของตัวเอง
คนที่จะเป็น Proactive คือคนที่ต้องฝึกรับผิดชอบสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตของตนเองโดยไม่โทษสิ่งรอบด้าน ตัดสินใจในการกระทำหรือตอบสนองเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดต่อตนเองและบุคคลอื่น และพร้อมที่จะรับผิดชอบกับผลที่ตามมาจากการตัดสินใจนั้นๆ ในขณะเดียวกันคนที่เป็น Reactive จะถูกควบคุมโดยสิ่งแวดล้อม ตอบสนองตามสิ่งรอบตัว เวลาเกิดอะไรขึ้นก็จะโทษสิ่งแวดล้อมหรือสถานการณ์นั้นๆ โดยการฝึกที่จะเป็น Proactive นั้นเริ่มต้นง่ายๆโดยการคิดบวก พูดบวก เช่น ทำได้ หรือ จะทำ แตกต่างจากการเป็น reactive ซึ่งมักจะพูดว่า ทำไม่ได้ หรือ ต้องทำ
2.) Begin With the End in Mind เริ่มต้นด้วยจุดมุ่งหมายในใจ
หลังจากที่เรามีหลักการในการควบคุมการกระทำของตนเองแล้ว เราก็ควรเริ่มตั้งเป้าหมายว่าเราอยากทำอะไร และต้องทำอย่างไรถึงจะสามารถทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ แล้วจึงเริ่มลงมือทำ เปรียบเทียบให้เห็นภาพคือ เช่นก่อนที่จะเริ่มสร้างตึกเราก็ต้องทำแปลนขึ้นมาก่อนแล้วจึงสร้างตามแปลนนั้น หรือเวลาเราเดินทางหากเราไม่รู้ทาง เราก็ต้องวางแผนการเดินทางก่อน อาจจะถามทางหรือดูจาก Google map แล้วจึงเริ่มออกเดินทาง เช่นเดียวกันกับเป้าหมายในชีวิตเรา อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆเช่นเราอยากได้ของสิ่งนึงและปัจจุบันเรายังมีงบไม่พอ เราก็ต้องรู้ราคาของสิ่งนั้นก่อนแล้วจึงเริ่มเก็บเงินเพื่อที่จะนำไปซื้อของสิ่งนั้น
3.) Put First Things First ทำสิ่งที่สำคัญก่อน
อุปนิสัยที่ 3 นั้นเป็นเหมือนภาคปฏิบัติของ 2 อุปนิสัยแรก เช่นอุปนิสัยแรกเป็นสิ่งที่ทำให้เราคิดได้แล้วว่าเราจะไปเที่ยวที่ไหน อุปนิสัยที่สองคือการวางแผนการเดินทางว่าจะไปที่ไหนบ้างไปที่ไหนก่อน และอุปนิสัยที่สามนี้ก็คือการเดินทางตามแผนที่เราตั้งไว้นั่นเอง โดยเบื้องต้นการเรียงลำดับความสำคัญนั้น เราสามารถแบ่งสิ่งที่เราอยากจะทำหรือสิ่งที่ต้องทำไว้เป็น 4 กลุ่ม
อย่างแรกคือสำคัญและเร่งด่วน เช่นงานที่ต้องรีบส่ง หรือการรีบอ่านหนังสือสอบเพราะใกล้จะถึงวันสอบแล้วนั่นเอง ส่วนที่สองคือสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เช่นการออกกำลังกาย หรือการทบทวนบทเรียนในช่วงที่ยังไม่ใกล้สอบ สิ่งพวกนี้คือสิ่งที่เราควรจะหาเวลาทำ ไม่อย่างนั้นแล้วสิ่งพวกนี้จะกลายเป็นงานสำคัญและเร่งด่วนแทน เช่นพอเริ่มป่วยหรือสุขภาพไม่ดีแล้วก็ต้องมารีบออกกำลังกายในภายหลัง ส่วนที่สามคือไม่สำคัญแต่เร่งด่วน โดยส่วนมากแล้วคนเราจะมีงานประเภทนี้ให้ทำเยอะที่สุด เช่นการประชุมที่ไม่ได้นัดหมาย โดยวิธีการแก้ที่ดีที่สุดคือเราต้องหัดปฏิเสธงานพวกนี้บ้าง และสุดท้ายคือ ไม่สำคัญและไม่เร่งด่วน เช่นการพูดคุยเรื่องทั่วไป หรือ งานเลี้ยงสังสรรค์ ไม่ใช่ว่าไม่ควรทำเลย แต่ควรจะจัดสรรเวลาให้ดี แล้วหาเวลาว่างเพื่อทำงานประเภทที่สี่นี้ในภายหลัง
4.) Think Win-Win คิดแบบชนะ-ชนะ
จริงๆแล้วการคิดแบบวินวินไม่ใช่ว่าจะเป็นการทำเพื่อให้ดูเป็นคนดี แต่ว่าเป็นความคิดพื้นฐานที่พึงมีในการที่จะมีปฏิสัมพันธ์หรือการร่วมมือกันกับคนอื่นๆ โดยทั่วไปแล้วหากเราคิดถึงผลประโยชน์ของตัวเองมาก่อน เรามักจะมองว่าหากมีคนนึงได้อีกคนก็ต้องเสีย แต่การคิดแบบวินวินไม่ใช่แบบนั้น เราจะมองหาความร่วมมือหรือข้อตกลงเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายมีผลประโยชน์ร่วมกัน (Mutual Benefit) ก็เท่ากับชนะกันทั้งคู่ ไม่ใช่มีคนใดคนนึงชนะและอีกคนแพ้นั่นเอง
5.) Seek First to Understand, then to be Understood เข้าใจคนอื่นก่อนที่จะให้คนอื่นเข้าใจเรา
จริงๆข้อนี้ต่อนข้างเหมือนจะง่ายมากแต่ทำจริงยาก ก็คือการเป็นผู้ฟังที่ดี โดยถ้าเราตั้งใจฟังผู้อื่นให้มากพอ เราก็จะเข้าใจเค้ามากขึ้น แต่ถ้าเรามัวแต่พูดเราก็จะไม่สามารถเข้าใจอีกฝ่ายนึงได้เลย และเมื่อเราฟังเค้ามากพอและเข้าใจเค้าแล้ว ก็จะถึงเวลาที่เราจะได้เป็นฝ่ายพูดเพื่อให้เค้าเข้าใจเราบ้างนั่นเอง
6.) Synergize ผนึกพลังสร้างสิ่งใหม่ – หลักการร่วมมืออย่างสร้างสรรค์
เคยได้ยินวลีว่าสองหัวดีกว่าหัวเดียวกันมั้ย วลีนั้นใช้ได้เสมอ ในกรณีนี้ก็เช่นกัน ถ้าเราสามารถเข้าใจผู้อื่นได้ เราก็จะรู้จุดอ่อนจุดแข็งของผู้อื่น และเข้าใจในความแตกต่างของบุคคลอื่น นอกจากจะเข้าใจแล้ว เราก็จะเห็นคุณค่าและยอมรับในความแตกต่างนั้นๆ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องยอมรับและเข้าใจในตนเอง เพื่อที่เราจะได้นำความเป็นตัวเองรวมกับความแตกต่างของผู้อื่นใช้จุดแข็งกลบจุดอ่อนของกันและกัน เพื่อระดมสมองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆขึ้นมา
7.) Sharpen the Saw ลับเลื่อยให้คมอยู่เสมอ
หากเราอยากเป็นบุคคลผู้มีประสิทธิผลสูงนั้น เราต้องหมั่นฝึกฝนอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นร่างกายหรือสติปัญญา รวมถึงทักษะต่างๆที่เรามองว่าจะเป็นประโยชน์ในชีวิตของเรา โดยเฉพาะข้อที่ 1 ถึง 6 ข้างต้นนั้น หากเราฝึกฝนตนเองหรือเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เราก็จะพร้อมในการรับมือกับทุกสถานการณ์ เหมือนดั่งวลีที่ว่า มีดจะคมต้องหมั่นลับ คนจะเก่งต้องหมั่นฝึกฝน นั่นเอง
โฆษณา