19 ก.พ. 2022 เวลา 02:19 • ศิลปะ & ออกแบบ
ชวนดูนิทรรศการ ‘Tangled • ติด-ร่าง-แห’ (11-27 กุมภาพันธ์ ณ ห้องสตูดิโอชั้น 4 หอศิลป์กรุงเทพฯ - BACC)
วันนี้เราอยากชวนทุกคนไปท่องโลกใต้ทะเลกับงาน Tangled • ติด-ร่าง-แห ที่ไม่ได้มีแต่ความงามกัน แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงท้องทะเลคนมักคิดถึงธรรมชาติ ปะการัง สัตว์ใต้น้ำที่ใช้ชีวิตตามธรรมชาติอย่างสวยงาม แต่.. ถ้าเราพูดถึงชีวิตใต้ทะเลที่ติดร่างแหบ้างละ? ทุกคนคิดว่ามันยังสวยงามอยู่ไหม?
นิทรรศการนี้นอกจากจะพาเราไปดูเรื่องของอวน ๆ แห ๆ ขยะพลาสติกต่าง ๆ แล้ว เรามองว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรานึกถึงสุภาษิตไทย ‘ติดร่างแห’ ที่แปลว่า พลอยได้รับผลกระทบไปด้วยหรือพลอยซวยไปด้วยในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้ทำ ก็เหมือนกับน้องเต่าน้องปลาสิ่งมีชีวิตที่ต้องเจ็บปวดจากการกระทำของมนุษย์ที่เขาไม่ได้มีส่วนรู้เห็นด้วยนั่นเอง
เราเลยอยากชวนทุกคนมาเดินงานนี้กัน หลายอย่างเข้าใจได้ง่ายมาก ๆ และทำให้เรารู้สึกถึงปัญหาเหล่านี้ได้จริง ๆ ปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรื่องใต้น้ำ ไม่ใช้แค่เรื่องในทะเล แต่จริง ๆ มันมีต้นทางมาตั้งแต่บนบก ซึ่งเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งในปัญหาเหล่านั้นด้วย ดังนั้น อย่านิ่งเฉย! หากใครที่ยังงง ๆ จับต้นชนปลายไม่ถูก เราเชื่อว่านิทรรศการนี้จะช่วยกดปุ่ม START ให้คุณได้แน่นอนนน
งานนี้จัดที่หอศิลป์กรุงเทพฯ​ (BACC) บริเวณห้องสตูดิโอชั้น 4 ตั้งแต่วันที่ 11 - 27 กุมภาพันธ์
เดินเข้ามาต้นทางก็จะเจอกับผลงานภาพถ่ายใต้น้ำของคุณชิน ศิรชัย อรุณรักษ์ดิชัย ช่างภาพสื่อมวลชลและนักชีววิทยาทางทะเลที่มีผลงานตีพิมพ์ระดับโลกอย่างใน National Geographic, The Smithsonian, Washington Post, the New York Times, The Guardian ฯลฯ โดยเส้นทางการถ่ายภาพก็เริ่มต้นจากตอนที่เริ่มทำงานอนุรักษ์ปะการังที่เกาะเต่ากับกลุ่มชุมชนจนมีโอกาสได้ถ่ายรูปเรื่อยมา และในงานนี้ก็ได้หยิบยกภาพถ่ายบางส่วนมาแสดง
สิ่งหนึ่งที่พี่ชินได้ทิ้งท้ายไว้คือ สำหรับคนที่อาจจะยังไม่ได้มองเห็นปัญหาเหล่านี้หรือความเชื่อมโยงระหว่างเรากับธรรมชาติ ก็อยากให้ลองนึกถึงออกซิเจน อาหารทะเล แม้กระทั่งโปรตีนที่เรากินก็มาจากทะเลทั้งนั้น ไม่ได้เสกขึ้นมาเฉย ๆ นะ! ถึงเราอาจจะไม่ได้เห็นด้วยตาแต่ถ้าลองสังเกตดูแล้วมันก็ไม่ได้แยกจากกัน และที่สำคัญ การตระหนักหรือมีส่วนร่วมเหล่านี้ก็ไม่ควรผลักให้มาเป็นภาระของประชาชนอย่างเดียว สื่อมวลชนก็ควรตั้งคำถามกับบทบาทตัวเองด้วยว่าสิ่งที่ผลิตออกมานั้นน่าสนใจหรือช่วยเอื้อต่อประชาชนแค่ไหน รวมถึงมาตรการแนวทางของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการเข้าถึงของประชาชนด้วย
ต่อมาเป็นผลงานของคุณสาธิต รักษาศรี ที่ส่งแมสเสจถึงคนที่มาชมงานว่า "ทะเลอยู่ในเราทุกคน" แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงขยะในทะเลคนอาจนึกถึงฉากทะเลเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่าลืมว่าแท้จริงพฤติกรรมบริโภคเหล่านั้นก็เกิดจากเราที่เป็นคนเมืองและการกระทำที่มาจากต้นน้ำในเมือง แม่น้ำลำคลองแล้วถูกปล่อยไปเรื่อย ๆ จนถึงปลายทางท้องทะเลด้วยซ้ำและสุดท้ายสิ่งเรานั้นก็วนกลับมาหาเราอยู่ดี
แหอวนเหล่านี้ถูกนำมาหล่อใหม่เป็นกระถางต้นไม้เพื่อหล่อเลี้ยงต้นไม้เหล่านี้ที่ถูกทิ้งตามตึกรามบ้านช่องร้านค้าต่าง ๆ ในช่วงโควิด ซึ่งช่วงโควิดนี้ก็ทำให้คนเรามีพื้นที่ที่เล็กลง ตัดขาดจากสิ่งรอบข้างมากขึ้น เหมือนที่คนเมืองอาจไม่เข้าถึงปัญหาในทะเล
งานนี้จึงอยากให้คนที่เข้ามาได้ตั้งคำถามว่าเรายังใช้อากาศเดียวกันกับธรรมชาติรึเปล่า ในยุคที่เราอาจต่างคนต่างเอาตัวรอด ใช้ชีวิตและมองแต่ปัญหาของตัวเองจนละเลยสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นไป หรือแม้กระทั่งเรื่องของการลงทุนพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นั้นเป็นไปเพื่อการพัฒนาอย่างแท้จริงหรือเป็นเพียงผลประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแค่นั้นหรือเปล่า งานศิลปะชิ้นนี้จึงอยากเป็นตัวกลางชวนทุกคนมาตั้งคำถามด้วยกัน
อีกหนึ่งผลงานที่น่าสนใจก็คือเหล่าเต่าทะเลของคุณณรงค์ยศ ทองอยู่ ที่เก็บเอาแหอวนและขยะพลาสติกจากพื้นที่หาดทรายและท้องทะเลมาสร้างสรรค์งานศิลปะ โดยได้เลือกใช้เต่าเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดงานชิ้นนี้ ซึ่งเต่าที่ว่าก็เป็นเต่าที่มีชิ้นส่วนประกอบสร้างจากขยะพลาสติกด้วยนะ เราเลยมองว่านี่เป็นกระจกสะท้อนชั้นดีที่ทำให้เห็นว่าขยะกับสัตว์ใต้ท้องทะเลไม่เคยแยกออกจากกันได้เลย ถ้าเรายังทิ้ง สัตว์ก็ยังต้องเผลอกินเข้าไปอยู่ดี
หนึ่งในแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์งานชิ้นนี้คือความผูกพันกับบ้านเกิด แม้ว่าในปัจจุบันตัวเขาจะใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นหลัก แต่ก็เติบโตมากับพื้นที่ท้องทะเลในจังหวัดสงขลา ซึ่งทุกครั้งที่กลับไป ก็จะเห็นทะเลที่บ้านยังคงเผชิญปัญหาเรื่องขยะเสมอ จึงมีการเลือกเอาวัสดุที่พบเจอมาสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสะท้อนปัญหานี้ คุณพี่ณรงค์ยศยังฝากถึงท้ายไว้อีกนิดหน่อยว่างานศิลปะนี้ก็ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะให้คนเข้ามาซึมซับ ทำความเข้าใจ และบอกต่อกับคนอื่น ๆ ได้มากขึ้น
มาต่อกันที่ผลงานของคุณนาตาลี ที่มีชื่อว่า 'Under the see: Dugong (พะยูน)' ที่ได้แรงบันดาลใจจาก 'มาเรียม' พะยูนที่ถูกพลาสติกคร่าชีวิต ซึ่งศิลปินก็ได้เลือกใช้เครื่องมือประมงต่าง ๆ มาเป็นองค์ประกอบเพื่อสื่อสารให้เห็นว่าการกระทำของมนุษย์ล้วนส่งผลกระทบต่อทะเลทั้งนั้น
สิ่งหนึ่งที่คุณนาตาลีได้บอกเล่าคือ การที่มนุษย์มองไม่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเองกับธรรมชาตินั้นก็เหมือนอวน 'ผี' ที่จะไม่ปรากฏให้เราเห็นตราบใดที่เลือกที่จะมองไม่เห็นมัน เพราะจริง ๆ แล้วสิ่งที่เราเลือกบริโภคก็ย่อมส่งผลต่อสัตว์ทะเลทั้งนั้น การปรับพฤติกรรมของเราแต่ละคนเพื่อช่วยลดปัญหานี้อาจจะดูเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อเราลงมือทำ 1 คน คนรอบข้างเห็นเราลงมือทำและเริ่มลงมือทำตาม จนการเปลี่ยนแปลงกระจายไปในวงกว้างก็จะทำให้แอคชั่นเหล่านี้สำเร็จง่ายขึ้นแน่นอนมากกว่าการที่จะไปสั่งหรือบังคับให้คนอื่นลงมือทำตาม
ฮื้อ อันนี้ก็น่ารักมาก ๆ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ให้คนที่เดินเข้ามาชมงานสามารถมีส่วนร่วมได้มากขึ้นผ่านการสวมบทบาทสมมติต่าง ๆ! ไม่ว่าจะเป็นน้องพะยูน นกนางนวล ชาวประมง นักดำน้ำ หรือคนเก็บขยะ ซึ่งจะมีสถานการณ์สมมติมาให้ทุกคนได้ตัดสินใจและนำไปสู่ตอนจบที่ต่างกันไป ใครที่สนใจก็ติดต่อขอสต๊าฟด้านหน้าห้องก่อนเดินเข้านิทรรศการได้เลยย
สิ่งหนึ่งที่เราชอบมากคือการสวมบทบาทเหล่านี้จะทำให้เราเห็นถึงเงื่อนไขหรือปัญหาที่แต่ละสิ่งมีชีวิตต้องเผชิญเช่น ชาวประมง ซึ่งวันที่เราไปได้พูดคุยกับคุณทัชจากเพจ Unless You Try ที่ลองสวมบทบาทนี้ จึงทำให้เข้าใจเลยว่าในหลายสถานการณ์นั้นชาวบ้านมักถูกมองเป็นตัวร้ายว่าทำลายธรรมชาติจากการประมง แต่จริง ๆ แล้วพวกเขานั่นแหละที่เข้าใจธรรมชาติมากที่สุด
รวมถึงคุณแพรี่พายที่ได้เลือกสวมบทบาทเป็น ‘นกนางนวล’ บทบาทนี้ก็ทำให้กลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าจริง ๆ แล้วบ้านของสัตว์เหล่านี้นั้นอยู่ที่ไหน? ซึ่งก็ได้คำตอบว่าไม่มี แต่บ้านของพวกเขาคือทุกที่บนโลกต่างหาก เพราะเหล่านกนางนวลก็มักจะบินอพยพไปตามฤดูกาลและสภาพอากาศที่คิดว่าอบอุ่นและปลอดภัย ดังนั้น ถ้าหากทุกที่เต็มไปด้วยสภาพอากาศแปรปรวน ขยะที่ทำให้สัตว์เผลอกินเข้าไป เมื่อถึงตอนนั้นแล้วก็อาจจะไม่มีที่ใดที่ปลอดภัยสำหรับเหล่าสัตว์โลกเลย
ที่เราชอบอีกอย่างคือข้อมูลในนิทรรศการนั้นย่อยง่ายมากก อย่างโซนนี้ทำให้เราเห็นภาพว่าการจะลงไปแก้ไขปัญหาใต้ท้องทะเลนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะทำง่าย ๆ สุ่มสี่สุ่มห้า เพราะหากลงมือทำอย่างขาดความรู้ก็จะยิ่งทำให้ระบบนิเวศแปรปรวนและเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืน
ดังนั้นแล้วการเก็บข้อมูลตัวอย่างและสถิติต่าง ๆ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก สิ่งนี้ชวนให้เรานึกถึงกรณีน้ำมันรั่วลงทะเลที่มาบตาพุดที่ถึงแม้ว่าจะไปมีการซับน้ำมันแก้ไขปัญหาเบื้องต้นไปแล้ว แต่ขั้นตอนหลังจากนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญมากที่จะเฝ้าดู ติดตามถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้ท้องทะเล คือออกข่าวมันก็สำคัญแหละ แต่ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนก็สำคัญเหมือนกันเพื่อที่จะช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรับรู้ ประเมินความเสี่ยงและหาแนวทางแก้ไขกันได้ถูกต้อง

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา