Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
A WAY OF LIFE : ทางผ่าน
•
ติดตาม
28 ก.พ. 2022 เวลา 00:57 • ปรัชญา
"รูปแบบการละความเพลินในอารมณ์โดยวิธีอื่น"
1. กระจายซึ่งผัสสะ
2. ตามแนวแห่งสัมมาสังกัปปะ
3. ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา ซึ่ง ... ขันธ์ ๕
4. เห็นประจักษ์ตามความเป็นจริง
5. พึงเห็นว่า ชีวิตนั้นแสนสั้น
★
กระจายซึ่งผัสสะ
ภิกษุทั้งหลาย!
วิญญาณย่อมมีขึ้น เพราะอาศัยธรรมสองอย่าง
สองอย่างอะไรเล่า ? สองอย่าง คือ
ภิกษุทั้งหลาย!
เพราะอาศัยซึ่งจักษุด้วย
ซึ่งรูปทั้งหลายด้วย จักขุวิญญาณ จึงเกิดขึ้น
จักษุ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น
รูปทั้งหลาย เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น
ธรรมทั้งสองอย่างนี้แล
เป็นสิ่งที่หวั่นไหวด้วย อาพาธด้วย
ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น
จักขุวิญญาณ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น
เหตุอันใดก็ตาม ปัจจัยอันใดก็ตาม
เพื่อความเกิดขึ้นแห่งจักขุวิญญาณ
แม้เหตุอันนั้น แม้ปัจจัยอันนั้น
ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น
ภิกษุทั้งหลาย! จักขุวิญญาณเกิดขึ้นแล้ว
เพราะอาศัยปัจจัยที่ไม่เที่ยงดังนี้
จักขุวิญญาณเป็นของเที่ยงมาแต่ไหน
ภิกษุทั้งหลาย!
ความประจวบพร้อม ความประชุมพร้อม
ความมาพร้อมกันแห่งธรรมทั้งหลาย (จักษุ+รูป+จักขุวิญญาณ)
๓ อย่างเหล่านี้ อันใดแล
ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เราเรียกว่าจักขุสัมผัส
ภิกษุทั้งหลาย!
แม้จักขุสัมผัสก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น
เหตุอันใดก็ตาม ปัจจัยอันใดก็ตาม
เพื่อความเกิดขึ้นแห่งจักขุสัมผัส
แม้เหตุอันนั้น แม้ปัจจัยอันนั้น
ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน
มีความเป็นไปโดยประการอื่น
ภิกษุทั้งหลาย! จักขุสัมผัสเกิดขึ้นแล้ว
เพราะอาศัยปัจจัยที่ไม่เที่ยงดังนี้
จักขุสัมผัสจักเป็นของเที่ยงมาแต่ไหน
(ในกรณีแห่งโสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ
ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ ก็มีนัยเดียวกัน)
ภิกษุทั้งหลาย!
เพราะอาศัยซึ่งมโนด้วย
ซึ่งธรรมารมณ์ทั้งหลายด้วย
มโนวิญญาณจึงเกิดขึ้น
มโนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น
ธรรมารมณ์ทั้งหลายเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น
ธรรมทั้งสองอย่างนี้แล
เป็นสิ่งที่หวั่นไหวด้วย อาพาธด้วย
ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน
มีความเป็นไปโดยประการอื่น
มโนวิญญาณ เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น
เหตุอันใดก็ตาม ปัจจัยอันใดก็ตาม
เพื่อความเกิดขึ้นแห่งมโนวิญญาณ
แม้เหตุอันนั้น แม้ปัจจัยอันนั้น
ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น.
ภิกษุทั้งหลาย! มโนวิญญาณเกิดขึ้นแล้ว
เพราะอาศัยปัจจัยที่ไม่เที่ยงดังนี้
มโนวิญญาณเป็นของเที่ยงมาแต่ไหน
ความประจวบพร้อม ความประชุมพร้อม
ความมาพร้อมกัน แห่งธรรมทั้งหลาย
(มโน+ธรรมารมณ์+มโนวิญญาณ) ๓ อย่างเหล่านี้อันใดแล
ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เราเรียกว่า มโนสัมผัส
ภิกษุทั้งหลาย! แม้มโนสัมผัส ก็เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน มีความเป็นไปโดยประการอื่น.
เหตุอันใดก็ตาม ปัจจัยอันใดก็ตาม
เพื่อความเกิดขึ้นแห่งมโนสัมผัส
แม้เหตุอันนั้น แม้ปัจจัยอันนั้น
ก็ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง
มีความแปรปรวน
มีความเป็นไปโดยประการอื่น
ภิกษุทั้งหลาย!
มโนสัมผัสเกิดขึ้นแล้ว
เพราะอาศัยปัจจัยที่ไม่เที่ยงดังนี้
มโนสัมผัสจักเป็นของเที่ยงมาแต่ไหน
ภิกษุทั้งหลาย!
บุคคลที่ผัสสะกระทบแล้วย่อมรู้สึก (เวเทติ)
ผัสสะกระทบแล้วย่อมคิด (เจเตติ)
ผัสสะกระทบแล้วย่อมจำ ได้หมายรู้ (สญฺชานาติ)
แม้ธรรมทั้งหลายอย่างนี้เหล่านี้
ก็ล้วนเป็นสิ่งที่หวั่นไหวด้วย อาพาธด้วย
ไม่เที่ยง มีความแปรปรวน
มีความเป็นไปโดยประการอื่น
★
ตามแนวแห่งสัมมาสังกัปปะ
ภิกษุทั้งหลาย!
ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก
จิตย่อมน้อมไป โดยอาการอย่างนั้นๆ
ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง กามวิตก มาก
ก็เป็นอันว่า ละเนกขัมมวิตกเสีย
กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง กามวิตก
จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในกาม
ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง พ๎ยาปาทวิตก มาก
ก็เป็นอันว่า ละอัพ๎ยาปาทวิตกเสีย
กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง พ๎ยาปาทวิตก
จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการพยาบาท
ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง วิหิงสาวิตก มาก
ก็เป็นอันว่า ละอวิหิงสาวิตกเสีย
กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง วิหิงสาวิตก
จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการทำสัตว์ให้ลำบาก
ภิกษุทั้งหลาย!
เปรียบเหมือนในคราวฤดูสารท
คือเดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝน
คนเลี้ยงโคต้องเลี้ยงฝูงโคในที่แคบ
เพราะเต็มไปด้วยข้าวกล้า
เขาต้องตีต้อนห้ามกันฝูงโคจากข้าวกล้านั้นด้วยท่อนไม้
เพราะเขาเห็นโทษ
คือ การถูกประหาร การถูกจับกุม
การถูกปรับไหม การติเตียน
เพราะมีข้าวกล้านั้นเป็นเหตุ
ข้อนี้ฉันใด
1
ภิกษุทั้งหลาย! ถึงเราก็ฉันนั้น
ได้เห็นแล้วซึ่งโทษความเลวทราม
เศร้าหมองแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย
เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม
ความเป็นฝักฝ่ายของความผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย
ภิกษุทั้งหลาย!
เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร
มีตนส่งไปอย่างนี้ เนกขัมมวิตก ย่อมเกิดขึ้น ...
อัพ๎ยาปาทวิตก ย่อมเกิดขึ้น ...
อวิหิงสาวิตก ย่อมเกิดขึ้น.
1
เราย่อมรู้แจ้งชัดว่า
อวิหิงสาวิตก เกิดขึ้นแก่เราแล้ว
ก็ อวิหิงสาวิตก นั้น
ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน
เบียดเบียนผู้อื่น
หรือเบียดเบียนทั้งสองฝ่าย
แต่เป็นไปพร้อมเพื่อความเจริญแห่งปัญญา
ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น
เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน
แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึง อวิหิงสาวิตก นั้นตลอดคืน
ก็มองไม่เห็นภัยอันจะเกิดขึ้น
เพราะ อวิหิงสาวิตก นั้นเป็นเหตุ
แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึง อวิหิงสาวิตก นั้น ตลอดวัน
หรือตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน
ก็มองไม่เห็นภัยอันจะเกิดขึ้น
เพราะ อวิหิงสาวิตก นั้นเป็นเหตุ
ภิกษุทั้งหลาย!
ก็แต่ว่า เมื่อเราตรึกตามตรองตามนานเกินไปนัก
กายก็เมื่อยล้า
เมื่อกายเมื่อยล้า จิตก็อ่อนเพลีย
เมื่อจิตอ่อนเพลีย จิตก็ห่างจากสมาธิ
เพราะเหตุนั้น เราจึงดำรงจิตให้หยุดอยู่ในภายใน
กระทำให้มีอารมณ์อันเดียวตั้งมั่นไว้
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?
เพราะเราประสงค์อยู่ว่าจิตของเราอย่าฟุ้งขึ้นเลย ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย!
ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก
จิตย่อมน้อมไปโดยอาการอย่างนั้นๆ
ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง เนกขัมมวิตกมาก
ก็เป็นอันว่า ละกามวิตกเสีย
กระทำแล้วอย่างมากซึ่ง เนกขัมมวิตก
จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการออกจากกาม
ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง อัพ๎ยาปาทวิตกมาก
ก็เป็นอันว่า ละพ๎ยาปาทวิตกเสีย
กระทำแล้วอย่างมากใน อัพ๎ยาปาทวิตก
จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการไม่พยาบาท
ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึง อวิหิงสาวิตกมาก
ก็เป็นอันว่า ละวิหิงสาวิตกเสีย
กระทำแล้วอย่างมากใน อวิหิงสาวิตก
จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไป
เพื่อความตรึกในการไม่ยังสัตว์ให้ลำบาก
ภิกษุทั้งหลาย!
เปรียบเหมือนในเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน
ข้าวกล้าทั้งหมด เขาขนนำไปในบ้านเสร็จแล้ว
คนเลี้ยงโคพึงเลี้ยงโคได้
เมื่อเขาไปพักใต้ร่มไม้ หรือไปกลางทุ่งแจ้งๆ
พึงทำ แต่ความกำหนดว่า นั่นฝูงโคดังนี้ (ก็พอแล้ว)
ฉันนั้นเหมือนกัน
★
ย่อมยุบ ย่อมไม่ก่อ ย่อมขว้างทิ้ง ย่อมไม่ถือเอา ซึ่ง ... ขันธ์ ๕
ภิกษุทั้งหลาย!
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใด
เมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงชาติก่อน ได้เป็นอันมาก
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด
ย่อมตามระลึกถึงซึ่งอุปาทานขันธ์ทั้งห้า
หรือขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง แห่งอุปาทานขันธ์ทั้งห้านั้น
ห้าอย่างไรกันเล่า ? ห้าอย่างคือ
ภิกษุทั้งหลาย!
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง รูป นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีรูปอย่างนี้” ดังนี้บ้าง
ภิกษุทั้งหลาย!
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง เวทนา นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีเวทนาอย่างนี้” ดังนี้บ้าง
ภิกษุทั้งหลาย!
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สัญญา นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสัญญาอย่างนี้” ดังนี้บ้าง
ภิกษุทั้งหลาย!
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง สังขาร นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีสังขารอย่างนี้” ดังนี้บ้าง
ภิกษุทั้งหลาย!
เขาเมื่อตามระลึก ย่อมตามระลึกถึงซึ่ง วิญญาณ นั่นเทียว ว่า
“ในอดีตกาลนานไกล เราเป็นผู้มีวิญญาณอย่างนี้” ดังนี้บ้าง.
…
ภิกษุทั้งหลาย! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า รูป ?
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย (รุปฺปติ)
เหตุนั้นจึงเรียกว่า รูป.
สลายเพราะอะไร ?
สลายเพราะความเย็นบ้าง เพราะความร้อนบ้าง
เพราะความหิวบ้าง เพราะความระหายบ้าง
เพราะการสัมผัสกับเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมชาตินั้น ย่อมสลาย
เหตุนั้นจึงเรียกว่า รูป
ภิกษุทั้งหลาย! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่าเวทนา ?
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้ (เวทยติ)
เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา
รู้สึกซึ่งอะไร ?
รู้สึกซึ่งสุขบ้าง ซึ่งทุกข์บ้าง ซึ่งอทุกขมสุขบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมชาตินั้น อันบุคคลรู้สึกได้
เหตุนั้นจึงเรียกว่า เวทนา
ภิกษุทั้งหลาย! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สัญญา ?
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม (สญฺชานาติ)
เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา
หมายรู้ได้พร้อมซึ่งอะไร ?
หมายรู้ได้พร้อมซึ่งสีเขียวบ้าง
ซึ่งสีเหลืองบ้าง ซึ่งสีแดงบ้าง ซึ่งสีขาวบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมชาตินั้น ย่อมหมายรู้ได้พร้อม
เหตุนั้นจึงเรียกว่า สัญญา
ภิกษุทั้งหลาย! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า สังขาร ?
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมชาตินั้น ย่อมปรุงแต่ง (อภิสงฺขโรนฺติ) ให้เป็นของปรุงแต่ง
เหตุนั้นจึงเรียกว่าสังขาร
ปรุงแต่งอะไรให้เป็นของปรุงแต่ง ?
ปรุงแต่งรูปให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นรูป
ปรุงแต่งเวทนาให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นเวทนา
ปรุงแต่งสัญญาให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นสัญญา
ปรุงแต่งสังขารให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นสังขาร
ปรุงแต่งวิญญาณให้เป็นของปรุงแต่งโดยความเป็นวิญญาณ.
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมชาตินั้น ย่อมปรุงแต่งให้เป็นของปรุงแต่ง
เหตุนั้นจึงเรียกว่าสังขาร
ภิกษุทั้งหลาย! ทำไมเขาจึงกล่าวกันว่า วิญญาณ?
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง (วิชานาติ)
เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ
รู้แจ้งซึ่งอะไร ?
รู้แจ้งซึ่งความเปรี้ยวบ้าง ซึ่งความขมบ้าง
ซึ่งความเผ็ดร้อนบ้าง ซึ่งความหวานบ้าง
ซึ่งความขื่นบ้าง ซึ่งความไม่ขื่นบ้าง
ซึ่งความเค็มบ้าง ซึ่งความไม่เค็มบ้าง
ภิกษุทั้งหลาย! ธรรมชาตินั้น ย่อมรู้แจ้ง
เหตุนั้นจึงเรียกว่า วิญญาณ
…
ภิกษุทั้งหลาย! ในขันธ์ทั้งห้านั้น
อริยสาวกผู้มีการสดับ
ย่อมพิจารณาเห็นโดยประจักษ์ชัดดังนี้ว่า
“ในกาลนี้ เราถูกรูปเคี้ยวกินอยู่
แม้ในอดีตกาลนานไกล เราก็ถูกรูปเคี้ยวกินแล้ว
เหมือนกับที่ถูกรูปอันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้
ฉันใดก็ฉันนั้น
ถ้าเราเพลิดเพลินรูปในอนาคต
แม้ในอนาคตนานไกล เราก็จะถูกรูปเคี้ยวกิน
เหมือนกับที่เราถูกรูปอันเป็นปัจจุบันเคี้ยวกินอยู่ในกาลนี้
ฉันใดก็ฉันนั้น”
อริยสาวกนั้น พิจารณาเห็นดังนี้แล้ว
ย่อมเป็นผู้ไม่เพ่งต่อรูปอันเป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินรูปอนาคต
ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติเพื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด
ดับไม่เหลือ แห่งรูปอันเป็นปัจจุบัน
(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ทรงตรัสไว้อย่างเดียวกันแล้วตรัสต่อไปว่า)
ภิกษุทั้งหลาย! เธอจะสำคัญความสำคัญข้อนี้ว่าอย่างไร
รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ?
“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า!”
สิ่งใดที่ไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือเป็นสุขเล่า ?
“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า!”
สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
ควรหรือหนอ ? ที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า
“นั่นของเรา นั่นเป็นเรา นั่นเป็นอัตตาของเรา” ดังนี้
“ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า!”
(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
มีการถามตอบแบบเดียวกัน แล้วตรัสต่อไปว่า)
ภิกษุทั้งหลาย! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้
รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีตอนาคตและปัจจุบัน
มีในภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม
เลวหรือประณีตก็ตาม มีในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม
รูปทั้งหมดนั้นบุคคลควรเห็นด้วยปัญญาโดยชอบ
ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ว่า
“นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เป็นเรา นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา” ดังนี้.
(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ทรงตรัสไว้อย่างเดียวกันแล้วตรัสต่อไปว่า)
…
ภิกษุทั้งหลาย! อริยสาวกนี้ เรากล่าวว่า
เธอย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ
ย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา
ย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง
ย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำ ให้ลุกโพลง
อริยสาวกนั้น ย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ ซึ่งอะไร ?
เธอย่อมยุบ-ย่อมไม่ก่อ
ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ
อริยสาวกนั้น ย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา ซึ่งอะไร ?
เธอย่อมขว้างทิ้ง-ย่อมไม่ถือเอา
ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ
อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง ซึ่งอะไร?
เธอย่อมทำ ให้กระจัดกระจาย-ย่อมไม่ทำให้เป็นกอง
ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ
อริยสาวกนั้น ย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง ซึ่งอะไร?
เธอย่อมทำให้มอด-ย่อมไม่ทำให้ลุกโพลง
ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ
ภิกษุทั้งหลาย!
อริยสาวกผู้มีการสดับ เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้
ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป
แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา
แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ
เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด
เพราะความคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น
เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว
อริยสาวกนั้น ย่อมทราบชัดว่า
“ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำ ได้สำเร็จแล้ว
กิจอื่นที่จะต้องทำ เพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้
ภิกษุทั้งหลาย!
ภิกษุ (ผู้ซึ่งหลุดพ้นแล้ว) นี้ เราเรียกว่า
ไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่ แต่เป็นอันว่ายุบแล้ว-ดำรงอยู่
ไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่
แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้งแล้ว-ดำรงอยู่
ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่
แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจายแล้ว-ดำรงอยู่
ไม่ทำ ให้มอดอยู่-ไม่ทำ ให้ลุกโพลงอยู่
แต่เป็นอันว่าทำให้มอดแล้ว-ดำรงอยู่
ภิกษุนั้น ไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่
แต่เป็นอันว่ายุบ ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่ ?
เธอไม่ก่ออยู่-ไม่ยุบอยู่
แต่เป็นอันว่ายุบ ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา
ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่
ภิกษุนั้น ไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่
แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้ง ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่?
เธอไม่ขว้างทิ้งอยู่-ไม่ถือเอาอยู่
แต่เป็นอันว่าขว้างทิ้ง ซึ่งรูป ซึ่งเวทนา
ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่
ภิกษุนั้น ไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่
แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจาย ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่?
เธอไม่ทำให้กระจัดกระจายอยู่-ไม่ทำให้เป็นกองอยู่
แต่เป็นอันว่าทำให้กระจัดกระจายซึ่งรูป ซึ่งเวทนา
ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่
ภิกษุนั้น ไม่ทำให้มอดอยู่-ไม่ทำให้ลุกโพลงอยู่
แต่เป็นอันว่าทำให้มอด ซึ่งอะไรแล้ว ดำรงอยู่?
เธอไม่ทำให้มอดอยู่-ไม่ทำ ให้ลุกโพลงอยู่
แต่เป็นอันว่าทำ ให้มอดซึ่งรูป ซึ่งเวทนา
ซึ่งสัญญา ซึ่งสังขาร ซึ่งวิญญาณ แล้ว ดำรงอยู่
ภิกษุทั้งหลาย!
เทวดาทั้งหลาย พร้อมทั้งอินทร์ พรหม และปชาบดี
ย่อมนมัสการภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วอย่างนี้
มาจากที่ไกลเทียวกล่าวว่า
“ข้าแต่ท่านบุรุษอาชาไนย!
ข้าแต่ท่านบุรุษผู้สูงสุด!
ข้าพเจ้าขอนมัสการท่าน
เพราะข้าพเจ้าไม่อาจจะทราบสิ่งซึ่งท่าน
อาศัยแล้วเพ่ง ของท่าน” ดังนี้.
★
เห็นประจักษ์ตามความเป็นจริง
สัตว์โลกนี้ เกิดความเดือนร้อนแล้ว มีผัสสะบังหน้า
ย่อมกล่าวซึ่งโรคนั้น โดยความเป็นตน
เขาสำคัญสิ่งใด โดยความเป็นประการใด
แต่สิ่งนั้นย่อมเป็นโดยประการอื่น จากที่เขาสำคัญนั้น
สัตว์โลกติดข้องอยู่ในภพ ถูกภพบังหน้าแล้ว
มีภพโดยความเป็นอย่างอื่น
จึงได้เพลิดเพลินยิ่งนักในภพนั้น
เขาเพลิดเพลินยิ่งนักในสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นภัย
เขากลัวต่อสิ่งใด สิ่งนั้นก็เป็นทุกข์
พรหมจรรย์นี้ อันบุคคลย่อมประพฤติ
ก็เพื่อการละขาดซึ่งภพ นั้นเอง
สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด
กล่าวความหลุดพ้นจากภพ ว่ามีได้เพราะ ภพ
เรากล่าวว่า สมณะทั้งปวงนั้น
มิใช่ผู้หลุดพ้นจากภพ
ถึงแม้สมณะหรือพราหมณ์ทั้งหลายเหล่าใด
กล่าวความออกไปได้จากภพ ว่ามีได้เพราะ วิภพ
เรากล่าวว่า สมณะหรือพราหมณ์ทั้งปวงนั้น
ก็ยังสลัดภพออกไปไม่ได้
ก็ทุกข์นี้เกิดขึ้นเพราะอาศัยซึ่ง อุปธิ ทั้งปวง.
ความเกิดขึ้นแห่งทุกข์ ไม่มี
ก็เพราะความสิ้นไปแห่งอุปาทานทั้งปวง.
ท่านจงดูโลกนี้เถิด
(จะเห็นว่า) สัตว์ทั้งหลาย
อันอวิชชาหนาแน่นบังหน้าแล้ว
และว่าสัตว์ผู้ยินดีในภพ อันเป็นแล้วนั้น
ย่อมไม่เป็นผู้หลุดพ้นไปจากภพได้
ก็ภพทั้งหลายเหล่าหนึ่งเหล่าใด
อันเป็นไปในที่หรือในเวลาทั้งปวง
เพื่อความมีแห่งประโยชน์โดยประการทั้งปวง
ภพทั้งหลายทั้งหมดนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์
มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา
เมื่อบุคคลเห็นอยู่ซึ่งข้อนั้น
ด้วยปัญญาอันชอบตามที่เป็นจริง อย่างนี้อยู่
เขาย่อมละภวตัณหาได้
และไม่เพลิดเพลินซึ่งวิภวตัณหาด้วย
ความดับเพราะความสำรอกไม่เหลือ
เพราะความสิ้นไปแห่งตัณหาโดยประการทั้งปวง
นั้นคือ นิพพาน.
ภพใหม่ย่อมไม่มีแก่ภิกษุนั้น
ผู้ดับเย็นสนิทแล้ว เพราะไม่มีความยึดมั่น.
ภิกษุนั้นเป็นผู้ครอบงำ มารได้แล้ว ชนะสงครามแล้ว
ก้าวล่วงภพทั้งหลายทั้งปวงได้แล้ว เป็นผู้คงที่ ดังนี้แล.
★
พึงเห็นว่า ชีวิตนั้นแสนสั้น
ภิกษุทั้งหลาย!
ฝ่ายภิกษุพวกที่เจริญมรณสติอย่างนี้
ว่า “โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง
ชั่วขณะฉันอาหารเสร็จเพียงคำเดียว
เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด
การปฏิบัติตามคำสอนควรทำให้มากแล้วหนอ” ดังนี้ก็ดี
ว่า “โอหนอ เราอาจจะมีชีวิตอยู่ได้เพียง
ชั่วขณะที่หายใจเข้าแล้วหายใจออก
หรือชั่วหายใจออกแล้วหายใจเข้า
เราพึงใส่ใจถึงคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด
การปฏิบัติตามคำสอนควรทำให้มากแล้วหนอ” ดังนี้ก็ดี
ภิกษุเหล่านี้ เราเรียกว่า เป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว
เป็นผู้เจริญมรณสติเพื่อความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง
ภิกษุทั้งหลาย!
เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้
พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า
“เราทั้งหลาย จักเป็นผู้ไม่ประมาทเป็นอยู่
จักเจริญมรณสติ เพื่อความสิ้นอาสวะอย่างแท้จริง” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย!
เธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล
บันทึก
9
6
9
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย