Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
วณิพก ยกมาเล่า
•
ติดตาม
20 ก.พ. 2022 เวลา 02:29 • ประวัติศาสตร์
หลี่ปิง วิศวกรผู้รวมแผ่นดิน
เมื่อมังกรควบคุมมหาสมุทร ผู้ใดควบคุมน้ำได้ ย่อมครองแผ่นดิน คำกล่าวนี้ถูกยืนยันได้ด้วยสิ่งก่อสร้างที่ยืนหยัดมาได้กว่าสองพันปี สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นจากภูมิปัญญา เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและความแห้งแล้ง ยังส่งผลต่อยุทธศาสตร์ในการครองแผ่นดินในหลายยุคสมัย เขื่อนตูเจียงเยี่ยน
เดิมดินแดนเสฉวนเป็นแคว้นอิสระสองแคว้น คือแคว้นปา และแคว้นสู่ ภายหลังถูกผนวกเข้ากับแคว้นฉิน เมื่อ 316 ปี ก่อน ค.ศ ในสมัยของฉินฮุ่ยเหวินหวางช่วงเวลาเดียวกับที่สมุหนายกจางอี้ เข้าทำงานอยู่แคว้นฉิน
60 กิโลเมตร จากนครเฉิงตู ระหว่างที่ราบสูงฑิเบตกับที่ราบเฉิงตู แม่น้ำหมินเจียงทอดยาวลงบรรจบกับแยงซีเกียงหล่อเลี้ยงทุกชีวิตที่พาดผ่าน แต่ก็เกิดปัญหาอยู่ไม่ใช่น้อย เมื่อถูกขนาบข้างด้วยเขายู่เหล่ยทางตะวันออกของแม่น้ำ ประกอบกับตะกอนที่ถูกพัดพามากับสายน้ำจากขุนเขา เข้ากีดขวางทางน้ำที่จะมาหล่อเลี้ยงผู้คนทางตะวันออกของแม่น้ำ ทำให้บริเวณนี้เกิดภาวะแห้งแล้ง ในขณะที่ทางตะวันตกกลับเกิดอุทกภัยอยู่เป็นประจำ
ด้วยเหตุผลข้างต้น จึงเป็นอุปสรรคของกองทัพฉินในการยกทัพผ่านมายังแคว้นฉู่ในหลาย ๆ ครั้ง. เพราะปัญหาบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำหมินเจียง ประมาณ 256 - 251 ปี ก่อน ค.ศ. ในสมัยของฉินเจาเซียงหวาง หลี่ปิง จึง ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงในดินแดนแห่งนี้ ปัญหาความไม่สมดุลของน้ำ ที่สร้างความเดือดร้อนต่อการเกษตรและคร่าชีวิตของราษฎรหลายคนในทุก ๆ ปี อยู่ในสายตาของหลี่ปิงมาโดยตลอด หลี่ปิงพร้อมหลี่เอ้อหลางบุตรชาย ลงพื้นที่พบชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่น พบกับปัญหา ศึกษาภูมิปัญญา จนกระทั่งได้แนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำในที่สุด โครงการขนาดใหญ่จึงเกิดขึ้นนับแต่นั้นมา
เขื่อนตูเจียงเยี่ยน ถูกสร้างขึ้นด้วยภูมิปัญญาที่น่าอัศจรรย์ เพราะการขุดแผ่นดิน พลิกผืนน้ำ ในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย งานของหลี่ปิงคือการควบคุมการไหลของน้ำให้สมดุลในทุกฤดูกาล การจัดการกับสวะและตะกอนที่มากับน้ำ และกระจายน้ำเข้าสู่พื้นที่อย่างพอเพียง หลี่ปิงพบส่วนที่เป็นท้องคุ้งที่คนสมัยก่อนได้วางแนวทางไว้ก่อนแล้ว แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ หลี่ปิงได้วางส่วนประกอบสามอย่างหลัก ๆ ของเขื่อนประกอบไปด้วย เขื่อนปากปลา ส่วนนี้ทำหน้าที่บังคับและควบคุมระดับน้ำ โดยแบ่งแม่น้ำหมินเจียงออกเป็นสองส่วน คือสายในและสายนอก สายนอกหรือสายตะวันตกใช้ระบายน้ำออกนอกพื้นที่และไปตามเส้นทางธรรมชาติเดิม
ส่วนสายใน ใช้เป็นช่องทางแบ่งน้ำเข้ามาใช้ในระบบชลประทานและคมนาคม คำถามที่ว่า จะควบคุมทิศทางและปริมาณน้ำได้อย่างไร หลี่ปิงให้ขุดปรับระดับก่อนถึงปากเขื่อน ให้สายในมีระดับที่ต่ำกว่าด้วยรูปร่างที่ลาดเอียงลง ทำให้ฤดูแล้ง น้ำประมาณ 60 เปอร์เซนต์ไหลเข้าสู่สายใน มีให้ใช้อย่างเพียงพอ ในขณะที่ในฤดูฝน ด้วยขนาดของสายนอกที่กว้างกว่า น้ำกว่า 60 เปอร์เซนต์เช่นกันถูกระบายออกไปสู่เส้นทางธรรมชาติ และด้วยลักษณะดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสหมุนวนทวนเข็มนาฬิกาพัดพาเอาตะกอนต่าง ๆ ออกสู่สายนอกเป็นส่วนมาก เหลือเพียงบางส่วนที่เล็ดรอดเข้าสู่สายใน
เมื่อน้ำถูกแบ่งให้ไหลมาตามส่วนโค้งของเขายู่เหล่ยก็มาพบกับส่วนที่เรียกว่า ปากแจกันวิเศษ มีลักษณะเป็นปากขวด เมื่อน้ำถูกแบ่งเข้าสายในจะถูกจำกัดปริมาณด้วยช่องเขาที่ถูกเจาะให้เล็กลง แต่การเจาะช่องเขาหินในสมัยนั้นไม่ได้ใช้การระเบิดเหมือนปัจจุบัน หลี่ปิงให้เก็บท่อนไม้บนภูเขามาสุมเผาก้อนหินให้ร้อนและทำให้เย็นด้วยน้ำอุณหภูมิต่ำทันที ทำให้หินแตกทีละน้อย ๆ ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ เป็นเวลากว่า 8 ปี ด้วยความอุตสาหะ
จนกระทั่งภูเขาถูกเจาะผ่านเป็นทางน้ำ เมื่อน้ำปริมาณมากไหลเข้าสู่ทางออกที่เล็กกว่า จึงเกิดแรงดันน้ำกลับหลัง ประกอบกับตลิ่งธรรมชาติที่แข็งแกร่งอย่างเขายู่เหล่ย ก็เกิดแรงดันพาน้ำและตะกอนกว่า 90 เปอร์เซนต์กลับออกสู่ส่วนที่สามที่เรียกว่า ฝายน้ำล้น ทำหน้าที่เชื่อมระหว่างปากแจกันวิเศษและแม่น้ำสายนอก รับน้ำส่วนเกินจากส่วนชลประทาน และระบายเอาตะกอนดินโคลนที่ถูกพามาจากภูเขาเพื่อไม่ให้แม่น้ำสายในตื้นเขิน ในอดีตหลี่ปิงใช้ไม้ตระกร้อสานมัดก้อนหินวางไว้ภายในขาหยั่งไม้สามขา ทับด้วยลำแพนไม้ไผ่เป็นชั้น ๆ
ด้วยส่วนประกอบนี้ทำให้สามารถขุดลอกคลองได้ทุก ๆ 10 ปี ปัจจุบันกลายเป็นฝายคอนกรีต ส่วนตะกอนดินโคลนที่เหลือ 10 เปอร์เซนต์ที่ถูกพัดเข้าส่วนปากขวด หลี่ปิงให้ใช้หินรูปม้าวางไว้เพื่อเป็นระดับมาตรฐานสำหรับการขุดลอกคลองประจำปี เพื่อไม่ให้ขุดมากไป หรือน้อยไปเกินกว่าระดับของม้าหินเพราะจะส่งผลต่อปริมาณน้ำที่แบ่งเข้าสู่ส่วนที่ต้องใช้สอย
หลังจากเขื่อนถูกสร้างเสร็จ คำว่าขจัดทุกข์ บำรุงสุขอย่างแท้จริงได้เกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้ เมื่อเขื่อนตูเจียงเยี่ยนได้แก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง รับน้ำในฤดูน้ำหลาก กลายเป็นจุดศูนย์กลางของระบบชลประทานเพื่อการเกษตร ดินแดนแห่งนี้จึงอุดมสมบูรณ์ และไม่กี่ปีหลังจากเขื่อนนี้สร้างเสร็จ แคว้นฉู่ก็สิ้นชาติ ความฝันของแคว้นฉินจึงเป็นจริงในไม่กี่ปี หลังจากเขื่อนเสร็จสมบูรณ์
เขื่อนตูเจียงเยี่ยนมีประโยชน์ในแง่ของการเป็นอู่ข้าวอู่น้ำและแหล่งรวบรวมเสบียงกำลังพล ในการรวมแผ่นดินทั้งสมัยราชวงศ์ฉิน จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ แม้แต่ยุทธศาสตร์หลงจงของขงเบ้งเองก็ตาม
ขงเบ้ง ซือหม่าเชียน และมาโคโปโล ต่างเดินทางมายังเขื่อนแห่งนี้และบันทึกเรื่องราวไว้ด้วยความชื่นชม ปัจจุบันบริเวณใกล้เคียงมีวัดเอ้อหวังเมี่ยว มีรูปปั้นของหลี่ปิงและบุตรชายตั้งอยู่เพื่อยกย่องคุณงามความดีของคนทั้งสอง ไม่ไกลกันนักก็มีศาลเจ้าเล่าปี่และขงเบ้ง จึงทำให้หลายคนฉุกคิดขึ้นว่า ระหว่างผู้สร้างกับผู้เก็บเกี่ยว ผู้ที่พาลูกหลานเสฉวนไปจากแคว้นแล้วไม่ได้กลับมา ใครกันแน่ที่ควรกราบไว้ มากกว่ากัน
แม้ปัจจุบันจะมีการสร้างเขื่อนซิปปิงปูขึ้นทางเหนือของเขื่อนตูเจียงเยี่ยน แต่มันก็ยังทำหน้าที่ของมันอยู่เช่นเคย แผ่นดินไหวกว่า 7.8 ริกเตอร์ในปี 2008 ไม่สามารถทำอะไรกับมรดกล้ำค่าที่อยู่มาได้ถึงสองพันกว่าปี
ทางเหนือมีกำแพงหิน ทางใต้มีเขื่อนตูเจียงเยี่ยน กว่าสองพันปีที่เขื่อนนี้ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะผ่านพ้นการผลัดเปลี่ยนไปกี่อำนาจราชวงศ์ แต่ตูเจียงเยี่ยนยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างสัตย์ซื่อมั่นคง ในฐานะของระบบชลประทานที่เก่าแก่ที่สุดของโลก ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี พ.ศ.2542
อ้างอิง
ถาวร สิกขโกศล เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2550
เลียดก๊ก ฉบับคนรุ่นใหม่ สุขสันต์ วิเวกเมธากร
ภาพ google earth
youtube.com
หลี่ปิง ผู้ขุดแผ่นดิน พลิกผืนน้ำ l ตูเจียงเยี่ยน
หลี่ปิง ผู้ขุดแผ่นดิน พลิกผืนน้ำ l ตูเจียงเยี่ยน#หลี่ปิง#ตูเจียงเยี่ยน#เฉิงตูเมื่อหลี่ปิงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นข้าหลวงเดินทางมายังเสฉวนพร้องหลี่เอ้อหลางบุต...
เรียนรู้เพิ่มเติม
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย