20 ก.พ. 2022 เวลา 10:45 • ธุรกิจ
LVD152: 4 วิธีตัดสินใจสไตล์ เจฟฟ์ เบโซส
สวัสดีครับทุกท่าน คำว่า “ปลาเร็วกินปลาช้า” คำเปรียบเปรยที่มาทดแทน “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ซึ่งสะท้อนให้เห็นการให้คุณค่าของความเร็วในการตัดสินใจมากขึ้น เหมือนกับ Startup ที่อาจสร้างความได้เปรียบเหนือบริษัทใหญ่ๆจากการขยับตัวที่เร็วกว่า แต่เรื่องจริงกลับกลายเป็นว่า Startup จำนวนมากต่างล้มหายตายจาก โลกธุรกิจอาจกลายเป็นของ “ปลาใหญ่และเร็ว” ก็ได้ครับ วันนี้เราจะมาคุยเรื่อง “การตัดสินใจเร็ว” ที่ถอดบทเรียนมาจากบริษัทและบุคคลที่เป็น Role Model ระดับโลกอย่างคุณเจฟฟ์ เบโซส ถ้าอยากรู้แล้วว่า คุณเจฟฟ์ เบโซส มีวิธีการคิดเรื่องการตัดสินใจยังไง ก็ตามมาได้เลนครับ
คือมันอย่างนี้ครับ…
ผมได้มีโอกาสอ่านหนังสือ Invent & Wander หนังสือเกี่ยวกับ Amazon และตัว เจฟฟ์ เบโซส มีจำนวนมากมายแต่เท่าที่ผมรู้ มีเพียงเล่มนี้เล่มเดียวที่เขียนโดยคุณเจฟฟ์ เบโซส จริงๆ จะว่าไปก็อาจบอกได้ว่าตัวเบโซสไม่ได้ตั้งใจเขียนเป็นหนังสือก็ได้นะครับ เพราะ Invent & Wander เป็นหนังสือที่รวมเอาสารถึงผู้ถือหุ้นที่คุณเบโซสเขียนถึงผู้ถือหุ้นทุกปีเป็นเวลา 20 ปี แต่วันนี้ผมไม่ได้มารีวิวหนังสือเล่มนี้หรอกครับ เพียงแต่อยากจะแชร์วิธีคิดเรื่องการตัดสินใจของคุณเจฟฟ์ เบโซส
อย่างที่ทราบว่า Amazon ถือเป็นหนึ่งในบริษัทเทคโนโลยีผู้นำเทรนด์ของโลกอย่างแท้จริง การปรับตัวอย่างรวดเร็วและกระโดดเข้าไปในบริการใหม่ๆที่ตรงต่อความต้องการของตลาดอยู่ตลอดเวลา ย่อมไม่ใช่ความบังเอิญอย่างแน่นอน แล้วอะไรละที่อยู่เบื้องหลังการตัดสินใจที่เร็วและแม่นยำนั้น โดยเฉพาะในวันที่ Amazon ไม่ใช่ startup อีกแล้ว แต่เป็นบริษัทระดับอภิมหาใหญ่
คุณเจฟฟ์ เบโซส เคยบอกไว้ในสารผู้ถือหุ้นตอนหนึ่งว่า เมื่อบริษัทมีขนาดใหญ่และซับซ้อนมากขึ้น เราก็จะคิดถึงเครื่องมือที่มาใช้ทำงานแทน หนึ่งในเครื่องมือที่ใช้แทนการตัดสินใจ คือ “กระบวนการ” ซึ่งถ้าใช้ให้ถูก กระบวนการจะช่วยให้เรามีมาตรฐาน สามารถให้บริการลูกค้าได้ดีขึ้น แต่ถ้าไม่ระวัง กระบวนการนี่แหละคือตัวอันตราย เพราะ…
“กระบวนการกลายเป็นเครื่องมือที่คุณใช้ทำงานเพื่อให้เสร็จภารกิจแต่ไม่ได้มองที่ผลลัพท์”
พูดง่ายๆคือ ทำเสร็จแต่อาจจะไม่สำเร็จ เรามักจะได้ข้ออ้างที่ว่า “ผมทำตามขั้นตอนและกระบวนการที่ถูกต้องทุกอย่างแล้ว” ซึ่งเป็นเกราะกำบังชั้นดีเลย เรายอมรับความไม่สำเร็จเพราะเราแค่ทำเสร็จตามกระบวนการแล้ว เราต้องคิดจริงจังนะครับว่า เราเป็นเจ้าของกระบวนการ หรือ กระบวนการกันแน่ที่ควบคุมเรา
1
4 แนวคิดการตัดสินใจแบบ Amazon
ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนอย่างรวดเร็วตลอดเวลา Amazon ก็ยังสามารถรักษาความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี และมีการแนะนำนวัตกรรมให้กับตลาดเสมอ ที่สำคัญหลายเรื่องมันเกิดคาดหมายและไม่ได้เกี่ยวกับธุรกิจเดิมของ Amazon ซักนิด แน่นอนว่า mindset เรื่องการเปิดรับเรื่องใหม่ๆเป็นสิ่งจำเป็น การตัดสินใจอย่างรวดเร็วก็สำคัญแน่ๆ แต่กับบริษัทใหญ่อย่าง Amazon ย่อมมีความท้าทายกว่าการทำบน Startup แน่ๆ ลองมาดู 4 วิธีคิดนี้ดูนะครับ ผมคิดว่ามันสามารถเอามาประยุกต์ใช้ได้ ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่
1. ห้ามใช้กระบวนการตัดสินใจแบบวิธีเดียวใช้ทุกสถานการณ์
อย่างแรกที่คุณเบโซสแนะนำ คือ โยนมาตรฐานการตัดสินใจทิ้งไป และยอมรับว่าการตัดสินใจหลายอย่างเปลี่ยนใจได้ การตัดสินใจเร็วอาจจะเหมือนการสร้างประตูหลายทาง และคิดไว้เสมอว่าการตัดสินใจทุกอย่างไม่จำเป็นต้องถูกเสมอ มันมักจะมีความผิดพลาดแน่ๆ และนั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินใจเท่านั้น ไม่ใช่ความผิดจริงๆ คิดได้แบบนี้ เราจะกลัวผิดน้อยลง
2. ใช้ข้อมูลแค่ 70% แทนที่จะรอจนถึง 90%
สำหรับข้อนี้ ผมมีสองเหตุผลสนับสนุน ข้อแรก ไม่ว่าคุณจะมีข้อมูลมากแค่ไหนแต่มันก็ไม่มีทางเป็นความจริงทั้งหมด และทุกๆการตัดสินใจในโลกจริงๆก็มักจะไม่ได้ใช้ข้อมูลทั้งหมดส่วนใหญ่ก็ใช้แค่ 70% นั่นแหละ จากข้อแรกก็ต่อเนื่องมาเป็นเหตุผลสนับสนุนข้อสอง คือ การรอให้ได้ข้อมูลถึง 90% อาจจะถ่วงเวลาในการตัดสินใจมากเกินไป อย่าไปกลัวว่าข้อมูลไม่พอแล้วจะตัดสินใจพลาด แต่ต้องคิดว่า ถ้าเราพบว่าตัดสินใจพลาดแล้ว ต้องรู้เร็วและแก้เร็ว ถ้าเราแก้ปัญหาได้เร็ว ต้นทุนของการตัดสินใจผิดพลาดก็น้อยกว่าที่คิด แต่ถ้ามัวแต่รอข้อมูล โอกาสอาจจะไม่รอคุณ และถ้าพลาดแล้วยังรอข้อมูลอีก คุณก็กลับลำช้าและเสียหายมากขึ้น
3. “ไม่เห็นด้วย แต่เอาด้วย”
ข้อนี้เป็นดั่งวลีทองคำฝังเพชรสำหรับผมเลย เรียกว่าเป็นประโยคเบิกเนตรเปิดกระโหลกทีเดียว พูดง่ายแต่ทำยากมาก เป็นคำที่สะท้อนการทำงานแบบทีมสุดๆ เพราะคุณต้องทิ้งความคิดตัวเองเพื่อมองผลประโยชน์ของทีมเป็นหลัก และที่สำคัญคุณอาจจะต้องทำในสิ่งที่คุณเองก็ไม่เห็นด้วยอีกตะหาก แต่อย่างไรก็ดี ข้อคิดข้อนี้ก็ต้องพิจารณาให้ดีและถือเป็น mindset ที่สำคัญมากๆ เพราะอะไรน่ะหรือครับ…
ข้อแรก มันจะช่วยคุณประหยัดเวลาอย่างมากๆๆ เอาเป็นว่าถ้าคุณมั่นใจในทิศทางบางอย่าง แต่เสียงสนับสนุนไม่เป็นเอกฉันท์ หลายครั้งที่คุณยังต้องเสียเวลาหาความเป็นเอกฉันท์ต่อไป จะดีกว่าไหมถ้าคุณสามารถบอกทีมว่า “ผมรู้ว่าเราอาจจะไม่ได้เห็นพ้องด้วยกันทั้งหมด แต่คุณจะยอมเสี่ยงไปกับผมไหม” คุณจะสามารถชวนคนที่ไม่เห็นด้วยลงเรือลำเดียวกับคุณ หรือคุณอาจจะต้องยอมลงเรือลำที่คุณอาจไม่เห็นด้วย อย่าลืมว่าทุกๆความคิดอยู่บนความไม่สมบูรณ์เพราะเรากำลังพูดถึงวิธีตัดสินใจแบบรวดเร็วข้อมูลก็แค่ 70% ไม่มีใครรู้จริงๆหรอกว่าอะไรถูกหรือผิดทั้งหมด ลองดูก่อนถ้าผิดคุณก็ยังได้ประโยชน์จากการตัดทางเลือกที่ไม่ใช่ออก
ข้อสอง ถ้าคุณเป็นหัวหน้า คุณยิ่งต้องท่องประโยคนี้ คนที่อยู่แวดล้อมคุณ คนที่คุณจ้างมา ล้วนต้องเก่งกว่าคุณในทางใดทางหนึ่ง ไม่งั้นคุณจะจ้างคนเหล่านั้นมาทำไม แล้วมีประโยชน์อะไรที่คุณยังต้องเชื่อตัวเองทุกเรื่อง ถ้าทำแบบนั้น คุณก็ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากคนเหล่านั้นได้เต็มที่ และที่สำคัญสุดๆของสุดๆ คือ ถ้าคุณเป็นหัวหน้า คุณก็ควรเริ่มทำแบบนี้ให้ทีมเห็นก่อน อย่ามัวแต่ต้องให้ทีมพยายามให้คุณเชื่อเลย มันเสียเวลา เมื่อก่อนผมก็เป็นแบบนี้เหมือนกันครับ อะไรไม่ผ่านผม คือไปต่อไม่ได้ แต่ตอนนี้ ถ้ามันไม่ออกนอกลู่นอกทางเกินไป ยังอยู่บน objectives เดิม ผมก็พร้อมลุยไปพร้อมกัน พรุ่งนี้เริ่มพูดกับทีมได้เลยนะครับ “ผมไม่เห็นด้วย แต่พร้อมเอาด้วยครับ”
4. ถ้าคิดไม่ตรงกันจริงๆ ให้ส่งต่อให้คนข้างบนโดยเร็ว
คนเราสามารถคิดไม่ตรงกันได้อันนี้ก็เข้าใจได้และเราอาจจะใช้เทคนิค “ไม่เห็นด้วยแต่เอาด้วย” ได้อยู่นะครับ ตราบใดที่มันคือความแตกต่างที่วิธีการแต่วัตถุประสงค์ยังเหมือนเดิม ในกรณีที่ความต่างทางความคิดของทีมงานมีเป้าหมายที่แตกต่างกันหรือมีทัศนะแตกต่างกันโดยพื้นฐาน ทีมงานอาจจะไม่สามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ทุกครั้งที่มีการหารือกันมันจะส่งผลต่อพลังงานในการทำงานมาก เรียกว่าชวนให้หมดแรงเลยครับ
ในกรณีที่เป้าหมายและวัตถุประสงค์ในการทำงานต่างกัน ถ้าคุณอยู่ในทีมหรือเป็นหัวหน้าทีม คุณควรส่งเรื่องต่อให้คนที่มีอำนาจและตำแหน่งสูงกว่าคุณช่วยตัดสินใจ เพื่อให้เจ้านายของคุณได้ทำหน้าที่ของเขา คือ การปรับหางเสือ ปรับทิศทางการทำงาน อย่าปล่อยการถกเถียงภายใต้สมมติฐานพื้นฐานและวัตถุประสงค์ที่ต่างกันมาดูดพลังของทีมงาน มันไม่ไช่แค่ดูดพลัง แต่มันทำลายความสัมพันธ์ได้ด้วย และก็ไม่สามารถหาข้อสรุป
ถ้าคุณเป็นหัวหน้า เวลามีทีมมาปรึกษาคุณทำนองนี้ ก็พยายามทำหน้าที่ปรับหางเสือและให้ทิศทางละกันนะครับ ทีมที่มาคุยกับคุณ พวกเขาคงผ่านกระบวนการบางอย่างที่เหน็ดเหนื่อยและต้องการการฟันธงแล้วละ อย่าซ้ำเติมพวกเขาด้วยการ “ผมอยากได้ข้อมูลเพิ่ม” ไปเรื่อยๆ อย่า “หลบ” เพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่อาจทำให้อีกฝ่ายไม่พอใจ สิ่งที่คุณต้องยึดถือคือวัตถุประสงค์และคุณค่าหลัก คุณอาจจะหาทางเลือกที่สามก็ได้ แต่ไม่ใช่ทำเพื่อให้ทุกคนพอใจ เพราะมันอาจจะไม่มี หรือถ้าข้อมูลมันน้อยไปจริงๆ ผมคิดว่าเราสามารถให้ทิศทางและกระบวนการตัดสินใจได้อยู่ดี อย่าผลัดวันจะดีกว่าเพราะมันเป็นส่วนหนึ่งในการดูดพลังทีมงาน เขาหันมาพึ่งคุณแล้วพบว่าคุณพึ่งพาไม่ได้ แบบนี้มันเหนื่อยนะครับ
การตัดสินใจอย่างรวดเร็วจะช่วยเปลี่ยนคุณเป็นพัดลมที่ช่วยหนุนกระแสลมแห่งการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในองค์กรใหญ่ๆ อย่าทำให้ “กระบวนการ”​ กลายเป็นกำแพงต้านลม อย่าตกเป็นเหยื่อของกระบวนการแต่จงใช้กระบวนการเป็นเครื่องมือ ผมเชื่อว่าพื้นฐานที่เราเผชิญอยู่อาจจะไม่เหมือน Amazon แต่แนวคิดเรื่องการตัดสินใจทั้ง 4 ข้อนี้ มันใช้ได้แน่นอน ผมใส่ความเห็นส่วนตัวไปมากเหมือนกัน เพื่อนๆเห็นด้วยไม่เห็นด้วยก็สามารถ feedback ได้เช่นเคยครับ
Happy Learning
ขอบคุณครับ
ชัชฤทธิ์
โฆษณา