4 มี.ค. 2022 เวลา 11:00 • ไลฟ์สไตล์
How to ทิ้ง “ความเครียด” เพิ่มพลังแห่งความสุข
“ความเครียด” เป็นภาวะที่ไม่แบ่งแยกเพศหรือช่วงวัย และมักจะแทรกซึมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเราได้อย่างเนียน จนหลายคนไม่ทันได้ตั้งตัว เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ความเครียดจึงลุกลามเข้ามาจนเกิดเป็นปัญหาที่สั่งสมในใจ ยิ่งในช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ยาวนานแบบนี้ ไม่ว่าคุณจะเป็นใครทั้งหนุ่มสาววัยทำงานที่ต้องปรับตัวกับการ Work From Hงome วัยเรียนที่ต้องปรับตัวกับการเรียนออนไลน์ในสภาพแวดล้อมเดิมๆ และการมีปฏิสัมพันธ์ที่ลดลง หรือ ผู้สูงวัยที่ไม่สามารถไปไหนได้ตามใจ ต้องเก็บตัวอยู่บ้านและระมัดระวังตัวตลอดเวลา ก็ล้วนเกิดความเครียดได้ทั้งสิ้น
เมื่อเกิดความเครียดจึงไม่มีสมาธิ ผลกระทบจึงบังเกิดขึ้นรอบด้าน ทั้งประสิทธิภาพในการทำงาน การเรียนที่ลดลง อารมณ์ที่แปรปรวนจนเอาแน่เอานอนกับตัวเองไม่ได้ ส่งผลความสัมพันธ์กับคนรอบข้างให้ดำเนินมาถึงจุดย่ำแย่ ชีวิตเริ่มรวน ความร่าเริงที่เคยมีก็ค่อยๆ จางหายไป แล้วต้องทำอย่างไรถึงจะกู้คืนชีวิตที่สดใสเหล่านั้นกลับมาคืนมาได้?
How to ทิ้ง “ความเครียด” เพิ่มพลังแห่งความสุข
เริ่มต้นสำรวจตัวเอง หากมีอาการเหล่านี้ = เครียด
การรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอารมณ์ตัวเองเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องหมั่นสังเกต สำรวจอยู่เสมอ หากมีอาการเหล่านี้แสดงว่าคุณถูก “ความเครียด” บุกเข้าให้แล้ว!
• อารมณ์แปรปรวนขึ้นลงแบบที่ตัวเองเรายัง “งงใจ” นี่มันอารมณ์ไหนกันนะ
• ทั้งกลัว ทั้งเครียด และวิตกกังวลไปหมดทุกเรื่อง
• กิจกรรมที่เคยสนุกกลายเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับคุณ รู้สึกเฉื่อยชา ไม่สดชื่น ไม่แจ่มใสเหมือนที่เคย
• วีน! หงุดหงิดและฉุนเฉียวง่าย นิดๆ หน่อยๆ ก็ไม่พอใจไปเสียหมด
• อยากพัก อยากนอน แต่ก็นอนไม่หลับ ต่อให้หลับก็หลับไม่สนิทอยู่ดี
• ฝันร้ายเป็นประจำทุกค่ำคืน
• พฤติกรรมการกินเปลี่ยนไป บางคนกินน้อย เบื่ออาหาร ไม่สนุกกับการกินเลยสักนิด บางคนก็เยอะผิดปกติ
• ไม่มีสมาธิ หลงๆ ลืมๆ จนกระทบเรื่องหน้าที่งาน
• การตัดสินใจของคุณด้อยประสิทธิภาพลง ไม่เฉียบคาดดังเดิม
• หนักๆ เข้า คุณอาจจะรู้สึกว่าชีวิตไร้ค่าและไม่อยากมีชีวิตอยู่
Covid-19 กัดกินจิตใจ ส่งผลให้คนเครียดยิ่งขึ้น
ถึงแม้ว่าผลกระทบหลักของสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จะมุ่งไปที่ปัญหาด้านสุขภาพร่างกาย จากตัวเลขของผู้ติดเชื้อรอบใหม่ที่ทะยานสูงจนน่ากังวลใจ แต่อีกปัญหาหนึ่งที่ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้ติดเชื้อหรือไม่ ก็ไม่อาจละเลยได้คือ “ภาวะความเครียด”
ถ้าคุณเป็นผู้ติดเชื้อ แน่นอนว่าคุณต้องเครียดกับการเข้ารับการรักษาอยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังต้องต่อสู้กับ “ความรู้สึกผิด” ที่ติดเชื้อ แพร่ และนำความเสี่ยงไปยังคนรอบตัว ความโดดเดี่ยวระหว่างการเข้ารับการรักษา รวมถึงความกลัวความวิตกกังวลในเรื่องการรักษา
แต่ถ้าคุณยังไม่ติดเชื้อ คุณอาจต้องพบกับภัยความเครียดที่แฝงมากับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต การต้องติดอยู่กับ สภาพแวดล้อมเดิมๆ การทำงาน Work from Home พร้อมกันหลายๆ คนในบ้าน หรืออาจจะต้องทำงานอยู่คนเดียวในคอนโดที่ไม่เจอใคร เข้าสังคมน้อยลง ไม่ได้ออกไปเที่ยว รวมถึงความกังวลเรื่องเศรษฐกิจ หน้าที่การงาน ความมั่นคง และการวางแผนชีวิตในอนาคต ก็เป็นความเครียดที่เกิดได้ในยุคแห่งความไม่แน่นอนแบบนี้
ปรับวิธีคิดให้เข้าใจความเครียด
เมื่อความเครียดอยู่ตรงหน้าแล้ว หนทางเดียวที่จะป้องกันตัวเองจากความทุกข์ใจ คือการทำความเข้าใจและยอมรับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น พยายามคิดบวกและให้กำลังใจตัวเอง คนรอบข้างให้ได้มากที่สุด
• มองที่ปัจจุบันและอย่าหมดหวัง ในช่วงเวลาแบบนี้ต้องให้กำลังใจตัวเอง และรักษาตัว ประคับประคองให้แต่ละวันผ่านไปด้วยดีนั้นจะช่วยให้เรารู้สึกดีได้ การกดดันตัวเอง จนเกิดเป็นความเครียดท้อแท้อาจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด
• เสพข่าวอย่างพอประมาณ แน่นอนว่าเราไม่อาจหลีกเลี่ยงการติดตามข่าวสารได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการติดตามข่าวสารมากเกินไปอาจนำไปสู่ภาวะเครียดได้เช่นกัน
• ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด! ป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ด้วยการเว้นระยะห่าง เลี่ยงการสัมผัส สวมหน้ากากอนามัย งดกิจกรรมปาร์ตี้ และเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่หรือกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ
• หมั่นตรวจสอบสุขภาพกายและจิตใจ นอกจากจะสำรวจอาการที่อาจเป็นผลมาจากโควิด-19 แล้ว ยังต้องเฝ้าระวังภาวะความเครียด ซึมเศร้าด้วย
How To จัดการความ “เครียด” ในยุคนี้
นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดแล้ว การปรับเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันให้เข้ากับยุคนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ให้เราปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงนี้ได้
• Work Life Balance เป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้
การจัดสรรเวลาทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว จะช่วยให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้! แบ่งนอนให้เพียงพอ แบ่งเวลาทำงาน ใช้เวลากับคนในครอบครัว และหาเวลาให้กับตัวเองบ้าง จะช่วยลดความเครียดได้เยอะ
• ออกกำลังกาย คลายเครียดได้เสมอ
ลดความเครียด ด้วยการหลั่งฮอร์โมนแห่งความสุข วางงานลงแล้วลุกไปยืดเส้นยืดสาย ไม่ว่าจะออกกำลังกายเบาๆ 10 นาที หรือออกกำลังจริงจังวันละ 30 นาที ก็ช่วยให้เราหยุดโฟกัสเรื่องงานได้ดี
• กิจกรรมเสริมสมาธิ
ช่วงวิกฤตที่จิตใจเราฟุ้งซ่านแบบนี้ เหมาะมากที่จะเริ่มต้นฝึกจิต ทำสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก เริ่มจากวันละ 5-10 นาที แล้วคุณจะรู้ว่าความคิดที่แล่นอยู่ในหัวตลอดเวลามันจะบรรเทาลง
• สร้างนิสัยการกินที่ดี
ปรับนิสัยการกินให้เข้าสู่โหมดปกติ ครบทั้งมื้อเช้า กลางวัน เย็น อาจลองเป็นเชฟโดยเริ่มจากเมนูง่ายๆ หรือถ้าวันไหนยุ่งๆ ก็สั่งเมนูโปรดผ่าน Delivery App บ้างก็ได้
• Chit-Chat กับเพื่อนๆ
จริงอยู่ที่เราไม่สามารถออกไปพบปะเพื่อนฝูงได้ แต่เราก็ยังสามารถพูดคุย ปรึกษาหารือ ระบายชีวิต หรืออัปเดตเรื่องราวของเพื่อนๆ ได้ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ มากมาย รับรองว่าเพื่อนจะช่วยให้คุณสบายใจได้อยู่ไม่น้อยเลย
• งานอดิเรกช่วยได้
นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ทำให้คุณได้ค้นพบและเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ลองหากิจกรรมที่ได้จะปลดปล่อยจินตนาการทำดู เช่น ทำขนม วาดรูป เล่นดนตรี งานประดิษฐ์ ปลูกต้นไม้ ช่วยให้สมองได้ผ่อนคลายได้ดีเลย
• อัพสกิลด้วยคลาสเรียนออนไลน์
ใช้เวลาที่เหลือในแต่ละวัน มาเรียนออนไลน์อัพสกิลแบบฟรีๆ หรือจ่ายเงินเล็กน้อยกับคอร์สออนไลน์ที่สนใจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งมีให้เลือกมากมาย นอกจากได้ความรู้แล้ว ยังนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกทั้งในเรื่องงาน หรือในชีวิตประจำวัน
• ตามเก็บซีรีส์ หนังสือ เพลงโปรด podcast ดีๆ
อีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยฮีลใจคุณได้ดี คือการดูซีรีส์ดีๆ อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือ podcast ดีๆ จะช่วยให้คุณได้พักสมอง ผ่อนคลาย เผลอๆ อาจมีผลพลอยได้ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหา หรือไอเดียดีๆ ที่จะทำให้ชีวิตไปต่อได้ด้วย
ความเครียดเกิดขึ้นได้ ถ้าเรารู้จักตัวเอง เข้าใจและปรับวิธีคิด เราก็เรียนรู้ที่อยู่กับความเครียดด้วยสติ และผ่อนหนักให้เป็นเบาได้ ล้วอย่ามองข้ามกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่จะให้คุณได้พักใจในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพราะนี่อาจสร้างความสุขเล็กๆ ให้กับชีวิตได้ ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้
โฆษณา