23 ก.พ. 2022 เวลา 08:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ในวันที่ 15 สิงหาคม 1971 ประธานธิบดี Richard Nixon ปรากฎตัวขึ้นทางโทรทัศน์ และออกแถลงการณ์เกี่ยวกับการเข้าสู่ระบบการเงินแบบใหม่
และนับตั้งแต่วันนั้นโลกก็เปลี่ยนไป เปลี่ยนไปในทิศทางที่ไม่ควร วันนั้นเป็นเหมือนวันที่จุดระเบิดเวลาที่นับถอยหลังสู่การล่มสลาย…
แถลงการณ์ของ Nixon ในปี 1971 มีใจความประมาณนี้
จากเดิมที่ใช้ระบบ Bretton woods system ที่ให้มูลค่าของสกุลเงินประเทศอื่นผูกกับดอลลาร์ ส่วนตัวดอลลาร์เองก็จะผูกกับทองคำที่อเมริกามีอยู่ในคลัง และการพิมพ์เงินดอลลาร์ต้องมีทองคำหนุนหลังอยู่
1
เปลี่ยนเป็นระบบการเงินแบบใหม่ที่เงินดอลลาร์จะไม่ผูกกับทองคำอีกต่อไป เงินดอลลาร์มีค่าได้ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลเท่านั้น และรัฐบาลสามารถควบคุมอุปทานของเงินได้อย่างเบ็ดเสร็จ
เรียกได้ว่าอเมริกาได้ทรยศความเชื่อมั่นของทั้งโลก ประเทศต่างๆถูกหลอกให้ถือเศษกระดาษที่ออกโดยอเมริกา โดยที่มันไม่สามารถนำมาแลกทองคำได้อีกต่อไป
เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการออกจากมาตรฐานทองคำอย่างเป็นทางการ และเข้าสู่ยุค Fiat currency เป็นยุคของเงินที่ไม่มั่นคง (Unsound money) โดยสมบูรณ์
หลังจากนั้นโลกก็พัง…
โลกที่ใช้ระบบเงินที่ไม่มั่นคงได้นำพาปัญหามามากมาย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม คุณภาพชีวิต ฯลฯ
โดยรวมแล้วมันทำให้เราในฐานะคนธรรมดาใช้ชีวิตยากขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก คุณภาพชีวิต อิสรภาพ และเวลาของเรากำลังถูกขโมยไป ด้วยระบบเงินที่ไม่มั่นคงนี้
เราอาจจะไม่รู้สึกว่ามีอะไรผิดปกติ เพราะเราอาจเกิดมาท่ามกลางหายนะนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว
แต่ถ้าลองถอยออกมามองประวัติศาสตร์ ก็จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 1971 อะไรหลายๆอย่างในโลกนี้ได้เปลี่ยนไปจริงๆ
วันนี้ผมเอาข้อมูลมาจากเว็บไซต์ชื่อ WTFhappenedin1971 ซึ่งรวบรวมข้อมูล สถิติและกราฟต่างๆไว้ ตีแผ่ให้เห็นกันชัดๆว่าโลกได้เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
บทความนี้จะมีกราฟค่อนข้างเยอะ แต่จะพยายามช่วยอธิบายผ่านตัวหนังสือให้เข้าใจง่ายที่สุดนะครับ ไปลองดูกัน
📌ด้านที่1 : รายได้และการกระจายความมั่งคั่ง (Income and wealth distribution)
Productivity vs Compensation
1.1)ค่าแรงเติบโตน้อยมากเมื่อเทียบกับผลผลิต
ตั้งแต่ปี 1948-1971 ค่าแรงกับผลผลิตถือว่าเติบโตในระดับเดียวกันมาตลอด ซึ่งก็ดูสมเหตุสมผล
แต่ตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา ในขณะที่ผลผลิตเติบโตสูงขึ้น ค่าแรงกลับเติบโตต่ำกว่ามาก ทั้งสองเส้นถ่างออกอย่างชัดเจน
ราวกับว่าคนธรรมดาถูกกดค่าแรงให้ต่ำ ในขณะที่มีคนบางกลุ่มที่ capture ผลผลิตส่วนเกินตรงนั้นไว้
Top 1% vs Bottom 90%
1.2)คนรวยยิ่งรวยขึ้น
กราฟนี้อาจช่วยอธิบายกราฟที่แล้วได้ดีขึ้น จะเห็นได้ว่าตั้งแต่ปี 1971 การเติบโตของรายได้ของคนธรรมดา (เส้นสีฟ้า) ก็หยุดชะงักลง
ในขณะที่คนรวย (เส้นสีแดง) มีรายได้เติบโตมากอย่างไม่น่าเชื่อ จะเห็นว่ากราฟเชิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
Income gain by wealth
1.3)ความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้น
กราฟนี้แสดงระดับรายได้ของครอบครัวที่มีความมั่งคั่งระดับต่างๆ จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 1971 กราฟก็ยิ่งถ่างออกจากกันมากขึ้น
คนรวยยิ่งรวยเร็วขึ้น (เส้นสีแดง) และฉีกออกไปจากคนระดับกลางๆหรือระดับล่างอย่างเห็นได้ชัด
📌ด้านที่ 2 : เงินเฟ้อ (Inflation)
Cumulative inflation since 1913
2.1)เงินเฟ้อ to the moon
ตั้งแต่ปี 1913 ที่มีการตั้งธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ก็มีการควบคุมอุปทานเงินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็มีการพิมพ์เงินเพิ่มมาตลอด จึงมีเงินเฟ้อมาเรื่อยๆ
แต่ในช่วง 1913-1971 นั้นเงินเฟ้อยังไม่มากเท่าไร เพราะยังมีทองคำหนุนหลังอยู่โดยยหลักการ แต่เมื่อออกจากมาตรฐานทองคำข้อจำกัดนี้ก็หายไป
ธนาคารกลางสามารถพิมพ์เงินได้อย่างไม่ต้องเสแสร้งอีกต่อไป เงินเฟ้อสะสมจึงเพิ่มจาก 300% ไปสู่ 2,300% ในเวลา 40 กว่าปี
US CPI since 1775
2.2)ราคาสินค้า to the moon
เมื่อมีปริมาณเงินในระบบมาก ระดับราคาของสินค้าก็สูงขึ้น เงินจำนวนเท่าเดิมสามารถซื้อของได้น้อยลงเมื่อเวลาผ่านไป นี่คือผลของเงินเฟ้อ
ค่า CPI ที่บ่งบอกระดับราคาสินค้าก็สูงขึ้นแบบ exponential เริ่มตั้งแต่ปี 1971 สอดคล้องกับสถานการณ์เงินเฟ้อและปริมาณการพิมพ์เงิน
House price vs Household income
2.3)ราคาบ้านสูงขึ้นแต่รายได้เท่าเดิม
กราฟนี้แสดงราคาบ้านเฉลี่ยและระดับรายได้ใน New York และ Boston คู่กัน จะเห็นว่าราคาบ้านมีแนวโน้มสูงขึ้นชัดเจน (เส้นเหลืองกับฟ้า) ในขณะที่รายได้เติบโตเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (เส้นเทากับแดง)
การเก็บเงินซื้อบ้านกลายเป็นเรื่องยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเงินถูกทำให้เสื่อมค่าลงทุกวัน ในระบบการเงินแบบนี้
Currency value relative to gold
2.4)มูลค่าของทุกสกุลเงินลดลงเมื่อเทียบกับทองคำ
ทองคำถูกใช้เป็นเงินมาตลอด 5,000 ปี มันเป็นแหล่งเก็บรักษามูลค่าที่มั่นคงที่สุด หากลองเอามูลค่าของสกุลเงินหลักทั่วโลกไปเทียบกับทองคำ ก็จะเห็นได้ว่าเงิน Fiat เสื่อมค่าไปกว่า 99% แล้ว
ทองคำเคยราคา 35 ดอลลาร์/ออนซ์ ในช่วง Bretton woods system แต่ในตอนนี้มันราคา 1,900 ดอลลาร์/ออนซ์ ซึ่งที่จริงแล้วทองคำไม่ได้ราคาขึ้นเลย แต่เป็นเงินของเราต่างหากที่เสื่อมค่าลง
ใครก็ตามที่เก็บความมั่งคั่งไว้ในเงิน Fiat นี้ก็จะพบหายนะ ในระบบการเงินนี้คนรุ่นเก่าจะไม่สามารถส่งต่อความมั่งคั่งให้ลูกหลานได้ และคนรุ่นใหม่ก็ไม่สามารถเก็บเงินตั้งตัวได้
สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่นี้ไม่ต่างจาก Hyperinflation เพียงแต่มันเกิดแบบ slow motion จนคนส่วนใหญ่อาจไม่ทันได้สังเกตเลย
📌ด้านที่ 3 : วิกฤตทางเศรษฐกิจ (Economic crisis)
Hyperinflation events
3.1)เกิด Hyperinflation บ่อยกว่าช่วงสงครามโลก
แผนภาพด้านบนนี้แสดงเหตุการณ์ Hyperinflation ที่ทำให้เงินเสื่อมค่าอย่างรวดเร็ว
จะเห็นว่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (ปี 1914-1918) และ 2 (ปี 1939-1945) มีเกิดอยู่บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดในยุโรป และเอเชียบางประเทศ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสงครามเข้มข้น
หลังจบสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปี 1971 ก็เป็นยุคของ Bretton woods system ช่วงเวลานี้ไม่มี hyperinflation เกิดเลย
แต่หลังจาก 1971 เป็นต้นมาทุกพื้นที่ทั่วทั้งโลกก็มี hyperinflation เกิดกันเป็นว่าเล่น ซึ่งมันหนักกว่าในช่วงสงครามหลายเท่า
Banking crisis events
3.2)วิกฤตสถาบันการเงินบ่อยกว่าช่วงสงครามโลก
กราฟแสดงจำนวนประเทศที่เกิดวิกฤตสถาบันการเงิน ตั้งแต่ปี 1800-2000 จะเห็นว่ามีวิกฤตเกิดเรื่อยมา แต่ค่อนข้างน้อย จะมีพีคก็ตอนช่วงสงครามโลก
แต่ในช่วง Bretton woods สถานการณ์ก็ดูดีขึ้น และเช่นเคย หลังจากปี 1971 วิกฤตสถาบันการเงินก็พุ่งกระฉูดแบบไม่เคยเป็นมาก่อน
📌ด้านที่ 4 : หนี้สิน (Debt)
US national debt
4.1)หนี้สาธารณะ to the moon
หนี้สาธารณะของอเมริกาก็พุ่งขึ้นแบบ exponential ตั้งแต่ปี 1971 ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากมาตรการพิมพ์เงิน QE ต่างๆ ซึ่งทำไปเพื่อเหตุผลในการ “บริหารจัดการ” เศรษฐกิจ
หนี้ในส่วนนี้สูงเกิน GDP ไปหลายเท่า จนเรียกได้ว่ามันไม่มีทางใช้หมดได้จริง ไม่มีทาง deleverage ลงมาได้
FED deficit
4.2)งบประมาณขาดดุลแบบสาหัส
ตั้งแต่ 1971 เป็นต้นมา ธนาคารกลางสหรัฐก็เริ่มขาดดดุลมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด ผิดกับก่อนหน้านั้นที่พยายามรักษาให้สมดุลอยู่ตลอด
📌ด้านที่ 5 : การออมและการลงทุน (Savings and investment)
US personal savings rate
5.1)คนเก็บออมน้อยลง
กราฟด้านบนแสดงอัตราการออมเฉลี่ยของคนอเมริกา จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 1971 เป็นต้นมา กราฟก็เป็นเทรนด์ขาลงอย่างเห็นได้ชัด
ผู้คนต่างเก็บออมน้อยลงเมื่อเงินนั้นไม่ได้ถูกสร้างมาเพื่อเก็บออม และถูกทำให้เสื่อมค่าลงตลอดเวลา อีกทั้งยังมีแนวคิดเศรษฐศาสตร์เคนเซียนที่เป็นกระแสหลัก และคอยปั่นหัวให้คนใช้จ่ายและบริโภคอย่างบ้าคลั่ง
Long term bond yield
5.2)ผลตอบแทนพันธบัตรแทบไม่เหลือ
กราฟ Bond yield ก็เป็นเทรนด์ขาลงอย่างชัดเจนจนแทบจะเป็นศูนย์ ในโลกที่มีปริมาณเงินอยู่ล้นเกิน ดอกเบี้ยซึ่งก็คือราคาของเงินก็ต้องลดลงอยู่แล้ว
ทุกวันนี้เงินแทบจะเป็นของฟรี สำหรับคนธรรมดาการนำเงินไปฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตร ก็แทบจะไม่มีผลตอบแทนอะไรเลย จากที่เมื่อก่อนมีดอกเบี้ยระดับ 10% +-
S&P 500 PE
5.3)ตลาดหุ้นแพงขึ้น
ตลาดหุ้นกลับแพงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ค่า P/E ของดัชนี S&P มีเทรนด์ขาขึ้นอย่างชัดเจน สอดคล้องไปกับปริมาณเงินที่พิมพ์เข้ามาในระบบ
ซึ่งผู้เล่นใหญ่ในตลาดหุ้นก็ต่างเป็นคนรวย ที่กำลังรวยขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนธรรมดาถูกกันออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ
S&P 500 / wages
5.4)คนธรรมดาเข้าถึงหุ้นได้ยากขึ้น
กราฟนี้ช่วยอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น มันแสดงจำนวนชั่วโมงทำงานที่เราต้องใช้ เพื่อซื้อดัชนี S&P500 คำนวณจาก S&P500 หารค่าแรงเฉลี่ย
จะเห็นว่ากราฟพุ่งขึ้นชัดเจน ราคาหุ้นสูงเร็วเกินค่าแรง คนธรรมดาเช้าถึงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ
เรียกได้ว่าในฐานะคนๆหนึ่ง การเก็บออมจะถูกลงโทษด้วยเงินเฟ้อ การฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรแทบไม่ให้ผลตอบแทน การลงทุนในหุ้นก็ยากขึ้นกว่าเดิม การสร้างตัวในยุคนี้จึงยากกว่าเมื่อก่อนมาก
📌ด้านที่ 6 : โครงสร้างสังคมและคุณภาพชีวิต (Social structure and quality of life)
Young adults living with parents
6.1)คนวัยสร้างตัวสร้างตัวไม่ได้
คนอายุ 18-29 (young adult) มีแนวโน้มจะอาศัยอยู่กับผู้ปกครองมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากที่เขาไม่สามารถทำงานเก็บเงินสร้างตัวได้เหมือนคนรุ่นพ่อแม่
Age at first marriage
6.2)คนแต่งงานกันช้าลง
อายุแต่งงานเฉลี่ยก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจเป็นเพราะต้นเหตุเดียวกับข้อด้านบน ความพร้อมในการแต่งงานและสร้างครอบครัวอาจเป็นสิ่งที่ยากเกินไปสำหรับคนยุคนี้
Children per woman
6.3)อัตราการเกิดลดลง
หากการออกมาอยู่ด้วยตัวเองโดยไม่พึ่งพ่อแม่ และการแต่งงานเป็นเรื่องที่ยากแล้ว การมีลูกก็เป็นเรื่องที่ยิ่งยากขึ้นไปอีก จำนวนเด็กเกิดใหม่จึงลดลงอย่างเห็นได้ชัด
Working married couples
6.4)สามีภรรยาต้องทำงานหาเงินทั้งคู่
สำหรับครอบครัวที่แต่งงานแล้ว ก็พบว่ามีแนวโน้มที่จะต้องทำงานกันทั้งสามีภรรยา เพื่อที่จะหาเงินเลี้ยงครอบครัว จากเดิมที่สามีทำงานคนเดียวก็เลี้ยงปากท้องหลายคนได้สบาย
สิ่งนี้ทำให้สถาบันครอบครัวอ่อนแอลง เนื่องจากทั้งสามีภรรยาต้องขายเวลาเพื่อแลกเงิน แทนที่จะให้เวลานั้นกับครอบครัว
Divorce prevalence
6.5)อัตราการหย่าร้างสูงขึ้น
และสิ่งที่ตามมาก็คืออัตราการหย่าร้าง ที่พุ่งขึ้นเรื่อยๆ
Incarceration rate
6.6)จำนวนอาชญากรสูงขึ้น
ส่วนกราฟนี้แสดงจำนวนอาชญากรที่เป็นผู้ต้องขัง ต่อประชากรแสนคน เห็นได้ชัดเจนเลยว่ามีจำนวนมากขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ปี 1971
คงไม่ผิดเลยถ้าจะบอกว่าการเปลี่ยนแปลงของระบบการเงินได้ส่งผลมาถึงการเกิดปัญหาสังคม และอาชญากรรมมากมาย
Meat consumption
6.7)คุณภาพอาหารลดลง
ต่อไปเป็นแง่มุมที่เกี่ยวข้องใกล้ชิดกับเรามาก นั่นคือเรื่องอาหาร จะเห็นว่าตั้งแต่ช่วง 1971 การบริโภคเนื้อเหมือนจะลดลง ในขณะที่การบริโภคไก่พุ่งกระฉูด
นี่อาจเป็นผลจากการปิดซ่อนผลของเงินเฟ้อ โดยการลดคุณภาพอาหารลง เพื่อคงราคาอาหารและสินค้าให้ได้มากที่สุด
เงินที่เสื่อมค่าลงส่งผลให้เราบริโภคอาหารคุณภาพต่ำลงเช่นกัน นี่คือผลของ Fiat currency ที่นำไปสู่ “Fiat food”
Health expenditure
6.8)ค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้น
และผลจากการที่เราบริโภคอาหารคุณภาพต่ำลง สุขภาพของเราก็แย่ลงเช่นกัน กราฟนี้แสดงจำนวนประชากร เทียบกับค่ารักษาพยาบาล ในอเมริกา
จะเห็นว่าในขณะที่จำนวนประชากรค่อยๆเพิ่มขึ้น แต่ค่ารักษาพยาบาลกลับเพิ่มเร็วกว่ามาก หรือสรุปได้ว่าค่ารักษาพยาบาลต่อคนสูงขึ้นมากนั่นเอง
หากเราไม่เคยเห็นข้อมูลเหล่านี้ ก็คงไม่แปลกเลยถ้าจะมองว่าทุกอย่างปกติดี
คำพูดจากสื่อต่างๆอาจถูกบิดเบือนได้ แต่ข้อมูลไม่เคยโกหก
จากที่ได้เห็นมาทั้งหมดแล้ว ก็คงต้องเกิดข้อสงสัยแล้วว่า โลกนี้มีอะไรบางอย่างผิดพลาดมาตั้งแต่ปี 1971
และเราควรตั้งคำถามได้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่? เรากำลังอยู่ในหายนะแบบไหนกัน? และเราควรจะรับมือกับมันอย่างไร?
References
โฆษณา