21 ก.พ. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Ontario Highway 407 ทางด่วนอัตโนมัติไร้ไม้กั้นแห่งแรกของโลก
ความมุ่งหวังของผู้คนที่เข้าใช้ทางด่วน ย่อมเป็นความรวดเร็วและความสะดวกสบายในการไปถึงที่หมาย...
และเมื่อโลกแห่งเทคโนโลยีพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน จึงทำให้เกิดทางด่วนรูปแบบใหม่ที่อำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานได้มากกว่าเดิม ซึ่งก็คือ ทางด่วนอัตโนมัติ “แบบไม่มีไม้กั้น” เพราะ มันเปิดโอกาสให้คนขับใช้ความเร็วได้ต่อเนื่องโดยไม่ต้องชะลอตัว
ซึ่งเจ้าทางด่วนในรูปแบบนี้ เกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ปีค.ศ. 1997 ที่ประเทศแคนาดา ในชื่อทางด่วนว่า “Ontario 407 Highway”
📌 แผนการสร้างที่ถูกพับเก็บไปตอนแรก
แผนการสร้างทางด่วนหมายเลข 407 นี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1959 แล้ว เนื่องด้วยสภาพการจราจรที่ติดขัดบนทางด่วนหมายเลข 401 (Ontario Highway 401) แต่มาถูกสร้างกันจริงเมื่อปี 1987
เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราจะเกริ่นถึงทางด่วนหมายเลข 401 สักเล็กน้อย
โดยทางด่วน 401 นี้ เป็นทางด่วนความยาว 816.6 กิโลเมตร เริ่มต้นถนนตั้งแต่ชายแดนของประเทศในด้านตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐ Ontario ไปจนถึงทางด้านตะวันออกของรัฐที่เมือง Quebec และยังตัดผ่านเมืองหนึ่งในเมืองที่สำคัญที่สุดของแคนาดา อย่าง Toronto
ซึ่งทางด่วน 401 Highway ในช่วงเมือง Toronto นั่นเอง ขึ้นชื่อว่าเป็น “หนึ่งในทางด่วนที่มีการจราจรติดขัดที่สุดในอเมริกาเหนือและในโลก” เนื่องด้วยเป็นบริเวณที่มีประชากรหนาแน่นและเป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญด้วย
📌 กลับมาปัดฝุ่นสร้างอีกครั้งในปี 1987
ทำให้มีการเสนอแผนที่จะสร้างทางด่วนคู่ขนานไปกับทางด่วน 401 ในปี 1959 ขึ้นมา แต่ตอนแรกเริ่มนั้น แผนนี้ก็ถูกพับเก็บไป และทางรัฐ Ontario ก็ได้ตัดสินใจที่จะขยายทางด่วน 401 เป็นถนนสิบสองเลนแทน
ซึ่งในตอนแรกก็โครงการขยายถนนนี้ก็ได้รับการชื่นชมว่าประสบความสำเร็จ จนทำให้แผนการสร้างทางด่วนหมายเลข 407 ถูกพับไปประมาณ 30 ปี
แต่แล้วในปี 1986 นายกของรัฐ Ontario ในขณะนั้น อย่าง David Peterson กลับได้รับสิทธิในการใช้เฮลิคอปเตอร์ในช่วงเวลาเร่งด่วน ทำให้เห็นว่า ปัญหาการจราจรกลับมาเป็นประเด็นหลักอีกครั้ง จนต้องนำแผนการสร้างทางด่วน 407 กลับมาใช้อีกครั้ง
ส่วนแรกของทางด่วนหมายเลข 407 ถูกเปิดใช้งานในปีค.ศ. 1997 โดยในช่วงแรกมีการเปิดให้รถยนต์เข้ามาวิ่งทดสอบระบบฟรีอยู่เป็นเดือนเลย
ก่อนที่จะมีการก่อสร้างส่วนขยายเพิ่มเติมเรื่อยมา แต่ความยาวของมันรวมแล้ว ก็ยังถือว่าสั้นกว่าทางด่วน 401 พอสมควร นั่นคือยาวประมาณ 151 กิโลเมตรเท่านั้น
แต่ทางด่วนนี้ก็มีความพิเศษในตัวของมันไม่น้อย เพราะมันเป็นทางด่วนแรกของโลกที่สร้างเป็นระบบอัตโนมัติและไม่มีกั้นอย่างสมบูรณ์ จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ตรวจการเข้าใช้งานของผู้ขับขี่รถยนต์ 2 เทคโนโลยีด้วยกัน ประกอบไปด้วยการใช้เครื่องส่งสัญญาณวิทยุติดที่รถ (transponder) และการใช้กล้องตรวจจับป้ายทะเบียน
โดยค่าใช้จ่ายบนทางด่วน จะถูกรวบรวมและส่งเป็นยอดไปรษณีย์รายเดือนไปที่เจ้าของรถยนต์แต่ละคน ทำให้สร้างความสะดวกสบายและผ่อนภาระการใช้งานทางด่วนหลักหมายเลข 401 ที่เป็นทางด่วนที่หนาแน่นที่สุดในอเมริกาเหนือไปพอสมควร โดยในปี 2014 ทางด่วนแห่งนี้มีผู้ใช้งานเฉลี่ยถึง 350,000 คันต่อวันเลยทีเดียว
เห็นอย่างนี้ ทางด่วนหมายเลข 407 ก็ไม่ได้มีเพียงแต่ข้อดีเท่านั้น แต่ก็พบเจอกับอุปสรรคและคำวิจารณ์จำนวนมากเช่นเดียวกัน
📌 คำวิจารณ์ต่อทางด่วนไร้ไม้กั้นแห่งแรกของโลก
คำวิจารณ์แรกต่อทางด่วนหมายเลข 407 แห่งนี้ ก็คือ คำวิจารณ์ที่ว่า “ทางด่วนนี้เป็นเหมือน สินค้าหรูหรา (luxury goods) มากกว่าที่จะสร้างมาแก้ปัญหาจราจร”
เพราะแรกเริ่มเดิมที แผนการสร้างทางด่วนนี้จะสร้างมาเป็นทางที่ใช้ได้ฟรีสำหรับทุกคนด้วยซ้ำ แต่หลังจากเจอวิกฤติเศรษฐกิจในช่วงยุค 1990 ทำให้ทางรัฐ Ontario จำเป็นต้องขายกิจการของรัฐเป็นของเอกชนจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ โครงการทางด่วน 407
บริษัทที่เข้ามาประมูลชนะ ก็คือ 407 International Inc. ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นเริ่มต้นจากอีกสามองค์กร คือ บริษัทสัญชาติสเปน Cintra Infrastructure (43.23%), The Canada Pension Plan Investment Board (40%) และ บริษัทสัญชาติแคนาดา SNC- Lavalin (16.77%) โดยเป็นสัญญาณถือเช่าระยะยาว 99 ปี
1
แต่ประเด็นสำคัญที่คนวิจารณ์กัน ก็คือ ค่าทางด่วนหมายเลข 407 ที่แพงมาก โดยในปี 2015 ได้เพิ่มขึ้นจากจุดเริ่มต้นถึง 200% จากประมาณ 10 centsต่อกิโลเมตร ก็กลายเป็น 30 cents ต่อกิโลเมตร (และอาจจะปรับแพงขึ้นลดลงตามช่วงเวลาความเร่งด่วนของชั่วโมงการทำงาน)
นอกจากนี้ ยังเคยมีประเด็นการฟ้องร้องกับทางรัฐ ในเรื่องยกเลิกป้ายทะเบียนของผู้ที่ค้างจ่ายค่าทางด่วน และคดีการปรับราคาทางด่วนขึ้น โดยไม่ปรึกษาทางรัฐก่อน
อย่างไรก็ดี ทั้งสองคดีทางรัฐเป็นฝ่ายแพ้ไป ทำให้ผู้ค้างจ่ายค่าทางด่วน 407 ก็จะต่อทะเบียนรถไม่ได้ (ทั้งๆ ที่ค้างจ่ายกับหน่วยงานเอกชนไม่ใช่รัฐ) และก็ยังสามารถปรับค่าทางด่วนได้เกินกว่าที่ตกลงกันตอนแรก (สมัยนายกรัฐ Mike Harris เคยสัญญาไว้ว่า จะไม่ให้ค่าทางด่วนขึ้นมากกว่า 30%)
ในปัจจุบัน มูลค่าทางด่วนหมายเลข 407 ถูกประเมินกันว่า สูงกว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และก็ยังถูกถือหุ้นผ่านสามองค์กรเดิมที่เข้ามาประมูลโครงการจากรัฐ แต่เป็นในสัดส่วนที่แตกต่างไปจากเดิม
และแม้จะมีชาวแคนาดาบางส่วนที่มองว่า โครงการนี้เป็นความผิดพลาดของภาครัฐ ที่ทำโครงการที่เสียเปรียบเอกชนออกมา
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ทางด่วนหมายเลข 407 นี้กลายมาเป็นต้นแบบของทางด่วนของประเทศอื่นอีกหลายประเทศ และเมื่อใครต้องการจะสร้างทางด่วนแบบนี้บ้าง พวกเขาก็ยังจำเป็นต้องบินไปดูงานของ Ontario Highway 407 กันอยู่เสมอ...
#407ETR #Express #ทางด่วน #ถนน #การเดินทาง #Canada #แคนาดา
#Bnomics #Economics #เศรษฐศาสตร์เป็นเรื่องง่ายสำหรับทุกคน
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ : Linkedin ของ 407 ETR (407 Express Toll Route)
โฆษณา