22 ก.พ. 2022 เวลา 11:23 • กีฬา
จากรายการยอดนิยม ที่แฟนๆ รอจะเฝ้าดูในแต่ละปี มาตอนนี้ NBA All-Star เปลี่ยนไป กลายเป็นอีเวนต์ที่น่าเบื่อ มันเกิดอะไรขึ้น วิเคราะห์บอลจริงจังจะอธิบายให้ฟัง
สิ่งที่แฟนบาสในอเมริกาพูดถึงเยอะมากตอนนี้ คือเกม NBA ALL-Star มันน่าเบื่อจริงๆ
แปลกดี ทั้งๆที่เป็นการรวมเอาคนเก่งที่สุดทั้งโลกไว้ด้วยกัน กลับไม่ทำให้มันสนุกอย่างที่ควรจะเป็น
สิ่งที่ทำให้น่าเบื่อ เกิดขึ้นจาก "รูปแบบของการแข่ง" มันไม่ได้มีความ Competitive คือไม่ได้แข่งกันจริงจังอีกแล้ว (อาจมีในควอเตอร์สุดท้ายนิดหน่อย) แต่ส่วนใหญ่ทั้งเกม คือเล่นโชว์สกิลกันขำๆ ไม่มีการเล่นเกมรับใดๆ ปล่อยให้อีกฝ่ายเข้ามาดั๊งค์เท่ๆ หรือยิงไกลโล่งๆ ได้อิสระตามใจชอบ
ดูไปดูมา มันเหมือนเป็นวันพบปะเพื่อนฝูง เป็นวันรวมญาติ ได้หยอกล้อกับเพื่อนต่างทีม ซึ่งโอเค อาจจะมีแฟนบาสบางคนที่ดูเพลินๆ ประมาณว่านักกีฬาก็จริงจังมาตลอดซีซั่นแล้ว เกมออลสตาร์เล่นกันขำๆ สักนัดจะเป็นไร
1
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะชอบ "ความไม่จริงจัง" แบบนี้ กล่าวคือถ้าอยากดูดั๊งค์สวยๆ ก็ไปดูสแลมดั๊งค์คอนเทสต์ หรือ Dunk League ไปเลยก็ได้ ถ้าอยากดูการโชว์ยิงไกลก็ไปดูแข่งยิงสามแต้ม หรือถ้าอยากดูทักษะ ไปดูพวกสตรีตบาส พวก Professor อะไรแนวนั้นก็มีให้ดูเยอะแยะ
สิ่งที่ผู้คนอยากเห็นคือ การจับเอาผู้เล่นที่ดีที่สุดของฝั่ง West และ ฝั่ง East หรือจะเป็นทีมที่ผ่านการดราฟต์แบบ LeBron vs Durant ก็ได้ มาปะทะกัน โดยเล่นกันเต็มที่ ให้เห็นถึงผลแพ้ชนะ ไม่ใช่ซูเอี๋ยกันแบบนี้
ในมุมของนักกีฬายุคใหม่ บางคนชอบเล่นแบบสนุกสนานอย่างนี้มากกว่า เพราะจะเล่นจริงจังเต็มสูบให้เสี่ยงเจ็บตัวไปทำไม ช่วง All-Star Weekend เหมือนเป็นสุดสัปดาห์พักผ่อน ได้มาพบปะแฟนๆ ได้พบปะสตาร์จากทีมอื่น คือเน้นไปแล้วชนะ ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา เอาเป็นว่าเล่นเพื่อความเอนเตอร์เทนไปเลยไม่ดีกว่าหรือ?
เราจึงเห็นเหตุการณ์ที่เอาฮาอยู่บ่อยๆ ในช่วงหลัง เช่นในปี 2017 ตอนที่ยานนิส อันเตโตคุมโป้ กำลังจะวิ่งมาดั๊งค์ เคอร์รี่ที่เป็นตัวป้องกัน นอนราบลงกับพื้น ทำทีว่ากลัว ไม่ป้องกันดีกว่าแล้วปล่อยให้ยานนิสวิ่งมาสแลมดั๊งค์เข้าไปง่ายๆ
หรืออย่างผู้เล่นตัวเล็กๆ ที่ทั้งปีไม่เคยมีโอกาสได้ดั๊งค์ อย่างไอซายาห์ โทมัส ก็ใช้เกมออลสตาร์นี่แหละ โชว์ดั๊งค์ให้แฟนๆ ได้เห็น อะไรทำนองนั้น
ถามว่ามันได้ฮา ได้ตลกไหม ก็อาจจะใช่ แต่มีเสียงคัดค้านอยู่เช่นกัน ว่าเกมออลสตาร์ตอนนี้เดินผิดทางอยู่หรือเปล่า
ตัวอย่างเช่น โคบี้ ไบรอันต์ ตำนานของแอลเอ เลเกอร์ส เคยให้สัมภาษณ์ก่อนจะเสียชีวิตว่า
"เกมออลสตาร์จำเป็นต้องปรับปรุง เพราะครั้งหนึ่งมันเคยสู้กันจริงๆ มาก่อน แฟนๆ ต้องการเห็นผู้เล่นชุดที่ดีที่สุดในโลกมาปะทะกัน พวกเขาไม่อยากเห็นคุณวิ่งไปวิ่งมาแล้วทำท่าทางบ้าๆ หรอก พวกเขาอยากจะเห็นการรวมตัวของนักบาสที่ยอดเยี่ยมที่สุด และเล่นกันแบบสุดตัว ผมว่าพวกคุณตอนซ้อมแข่งที่มหาวิทยาลัย UCLA ยังเอาจริงกว่านี้เลย และเกมนั้นก็ไม่ได้มีคนเป็นพันล้านกำลังดูอยู่ด้วยนะ"
1
มีคนเห็นด้วยกับโคบี้เป็นจำนวนมาก โดยบอกว่าเกมออลสตาร์มันแข่ง 48 นาที คือเล่นเอาฮาสัก 2-3 นาทีแรกก็ยังสนุกอยู่ แต่พอเล่นกันเรื่อยเปื่อยต่อจากนั้นอีก 40 นาทีเต็มๆ มันน่าเบื่อ และดูไร้สาระมากกว่า
จุดเริ่มต้นของเกมออลสตาร์ ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 1951 โดยจุดประสงค์ของรายการมีขึ้นเพื่อ "โปรโมท" ให้คนหันมาสนใจ NBA มากขึ้น หลังจากที่ความนิยมเคยถดถอยไปช่วงหนึ่งจากคดีล้มบาสใน NCAA
ไอเดียของ NBA คือจัดทีมออลสตาร์ฝั่งตะวันตก (West) และตะวันออก (East) ให้มาปะทะกัน 1 เกม โดยเอาตัวดีที่สุด เล่นกันแบบจริงจังพอสมควร ซึ่งนั่นทำให้คนดูรู้สึกตื่นเต้น ที่ได้ดูเกมระดับคุณภาพขนาดนี้
แนวคิดแบบนี้ถูกใช้มาตลอดหลายสิบปี ลองคิดดูว่าผู้เล่นอย่าง ไมเคิล จอร์แดน, สกอตตี้ พิพเพ่น, ชาคิล โอนีล, แพทริก อีวิ่ง และ เรจจี้ มิลเลอร์ ลงเล่นในทีมเดียวกัน แล้วเล่นแบบ "จริงๆ" มันน่ากลัวขนาดไหน ไม่แปลกที่แฟนบาสจะเฝ้ารออยากจะดูออลสตาร์เกมในทุกๆ ปี
จุดพีกของเกมออลสตาร์เกิดขึ้นในปี 2001 โดยนัดนี้ฝั่ง West มีผู้เล่นตัวเด่นเช่น โคบี้ ไบรอันต์, ทิม ดันแคน, เดวิด โรบินสัน, เจสัน คิดด์ และคาร์ล มาโลน นี่คือกลุ่มผู้เล่นที่เปี่ยมประสบการณ์อย่างมาก
ตรงข้ามกับฝั่ง East ที่มีผู้เล่นหน้าใหม่ซะเยอะ เช่น เทรซี่ แม็คเกรดี้ และสเตฟอน มาบิวรี่ สองคนนี้ได้เล่นออลสตาร์ปีแรก รวมถึงบางคนที่ได้เล่นออลสตาร์แค่ปีที่ 2 เช่น วินซ์ คาร์เตอร์ และ อัลเลน ไอเวอร์เซ่น นอกจากนั้นยังมีตัวโนเนมเต็มทีม เช่น แอนโธนี่ เมสัน และ อันโตนิโอ เดวิส
ดังนั้นก่อนเกมเริ่ม สื่อจึงประโคมข่าวว่าฝั่งตะวันออกไม่น่ารอด เพราะประสบการณ์ของเด็กๆ ยังน้อยเกินไป และไซส์ของร่างกายก็ตัวเล็กกว่ากันเยอะด้วย
เมื่อเกมเริ่มขึ้น ทั้งสองทีมไม่มีแตะเบรก เอาจริงตั้งแต่ต้นเกม บล็อกเป็นบล็อก ฟาวล์เป็นฟาวล์ ไม่มีเล่นเอาฮาไร้สาระ ฝั่ง West ถึงกับเล่นดับเบิ้ลทีมใส่ ไม่ให้ East บุกเข้าทำได้
1
คือโอเค มันก็มีอัลเลย์อู๊ป มีดั๊งค์สวยๆ บ้าง แต่ยังอยู่ในวิสัยของการเอาจริง ซึ่งเกมก็ไล่บี้กันอย่างสนุกมาก จบ 3 ควอเตอร์แรก ทีมฝั่ง West นำอยู่ 89- 70 ช่องว่าง 19 แต้ม
คนที่ปลุกใจเพื่อนร่วมทีม East ให้ลุยต่ออย่าท้อถอย คืออัลเลน ไอเวอร์เซ่น จากฟิลาเดลเฟีย เซเว่นตี้ซิกเซอร์ ที่มีความเป็นผู้นำเต็มเปี่ยม ไอเวอร์เซ่นกระตุ้นเพื่อนว่า "ทำไมเราไม่สร้างประวัติศาสตร์ร่วมกัน ด้วยการคัมแบ็กจากตาม 19 แต้ม แล้วพลิกกลับมาชนะในเกมออลสตาร์ล่ะ"
1
เมื่อได้ยินการปลุกใจแบบนั้น ทีม East จึงมีฮึดในควอเตอร์ที่ 4 วินซ์ คาร์เตอร์ และ เจอร์รี่ สแต๊กเฮาส์ ผลัดกันยิง 3 แต้ม พร้อมทั้งได้การทะลวงวงในของไอเวอร์เซ่น ทำแต้มไล่ตามตีเสมอที่ 100-100 ได้สำเร็จ ทั้งๆที่โดนทิ้งห่าง 19 แต้มแท้ๆ ก่อนควอเตอร์ 4 จะเริ่ม แต่สุดท้ายพวกเขาทำได้จริงๆ
ในช่วง 2 นาทีสุดท้ายของเกมออลสตาร์ 2001 ได้รับการบันทึกว่ามันส์ที่สุด เพราะทั้งคู่เอาจริงในระดับที่เป็นเกมชิงแชมป์ ไม่มีใครยอมใครแล้ว
ตอนแรก West ขึ้นนำอยู่ 104-103 แต่ไอเวอร์เซ่นมาทะลวงวงในเรียกฟาวล์ได้ ก่อนชู้ตลูกโทษลงทั้งสองลูก ทำให้ทำแต้มแซงเป็น 105-104
ตอนนี้ทั้งสนามที่วอชิงตัน ดีซี ส่งเสียง M-V-P M-V-P สดุดีความสามารถของไอเวอร์เซ่น แต่นั่น ดันเป็นการไปกระตุ้นผู้เล่นตัวทำแต้มมือหนึ่งของลีกอย่างโคบี้ ไบรอันต์ ที่ต้องการแสดงให้รู้ว่าใครกันแน่คือ M-V-P ตัวจริง
1
โคบี้ขอเล่น Isolation และเอาคืน ด้วยการยิง 2 ลูกติดต่อกันอย่างแม่นยำ จนทีม West พลิกกลับขึ้นนำเป็น 108-105
แม้จะโดนนำ 3 แต้ม แต่สเตฟอน มาบิวรี่ จากทีม East ตอบโต้คืนด้วยการยิงสามแต้มทันควัน ทำแต้มตีเสมอเป็น 108-108
แต่ก็เหมือนหนังม้วนเดิม เมื่อโคบี้ที่ On Fire เต็มที่แล้ว เล่นโซโล่เดี่ยว เขากระโดดไปในมุมที่ไม่เห็นทางว่าจะยิงลงได้ก่อนจะกระโดดชู้ตดื้อๆ ซึ่งแม้ดีเคมเบ้ มูตอมโบ้ของทีม East จะกางมือเพื่อบล็อก บังทางจนโคบี้ไม่เห็นห่วงเลยสักนิด แต่ลูกนี้ยังลงอยู่ดี ฝ่าย West นำอีกครั้งเป็น 110-108
อย่างไรก็ตาม สเตฟอน มาบิวรี่ เอาคืนด้วย 3 แต้มอีกครั้ง เป็น 3 แต้มลูกที่สองติดต่อกัน ช่วย East พลิกนำเป็น 111-110 กับเวลาอีกแค่พอให้ West เล่นเพลย์สุดท้ายเท่านั้น
ในเพลย์สุดท้าย ฝั่ง West ลุยขึ้นมา คนที่ถือบอลคือโคบี้ ฝั่ง East ทุ่มเทชีวิตป้องกันสุดชีวิต บีบจนโคบี้ไม่เหลือมุม ต้องเลือกจ่ายบอลให้ทิม ดันแคนชู้ตในช็อตสุดท้าย ซึ่งปรากฏว่าดันแคนชู้ตไม่ลง ฝั่ง East จึงเป็นฝ่ายชนะแบบสุดมันส์ 111-110 เป็นครั้งแรกของเกมออลสตาร์ที่เฉือนกันแค่ 1 คะแนนเท่านั้น
หลังจบเกมผู้เล่นฝั่ง East วิ่งดีใจกันอย่างบ้าคลั่ง ไอเวอร์เซ่นประกาศว่า "ทุกคนเราจะไม่ชนะเพราะเราตัวเล็กกว่า ชื่อเสียงน้อยกว่า แต่มันไม่เกี่ยวกับขนาดร่างกายหรอกนะ มันอยู่ที่ขนาดของหัวใจต่างหาก!"
1
จบเกม ไอเวอร์เซ่นได้รางวัล MVP เขาพูดผ่านไมค์กลางสนามว่า "ขอบคุณครอบครัว ขอบคุณเพื่อนๆ ทุกๆคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิต และขอบคุณทุกประสบการณ์ ทุกความเจ็บปวด" คือเรารับรู้ได้เลยว่าเขามีความสุขอย่างแท้จริงที่เป็นฝ่ายเอาชนะ และได้รางวัล MVP ในเกมนี้
4
คือในยุคนั้นจะเห็นว่า การลงเล่น และการเอาชนะในเกมออลสตาร์มันมีความหมายมากๆ เพราะมันมีความ Competitive อยู่ 2 ฝ่ายเอาจริงทั้งคู่ และคนชนะก็ภูมิใจที่โค่นทีมตรงข้ามที่แข็งแกร่งได้สำเร็จ
นี่คือเหตุการณ์คลาสสิค ที่เกิดขึ้นในปี 2001 ซึ่งแน่นอนว่าความจริงจังลักษณะนี้ เราคงไม่สามารถหาได้ ในเกมออลสตาร์ยุคนี้ ที่เน้นความเอนเตอร์เทนเป็นแกนหลัก
คือเข้าใจในมุมของผู้จัด ที่มองว่านักกีฬายุคใหม่ชอบอะไรแบบนี้มากกว่า เล่นเบาๆ ไม่ต้องเครียด ได้โชว์สกิลสวยๆ แต่มันก็ค่อยๆ ทำให้เกมออลสตาร์น่าเบื่อขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกัน
จะสังเกตว่า ผ่านมากี่ปี ไม่มีใครจำเหตุการณ์ในเกมออลสตาร์ได้เลย แต่ในปี 2001 ที่เล่นกันจริงจัง ไม่ได้โชว์อะไรสวยๆ เลย แฟนบาสกลับจำได้อย่างแม่นยำ
โอเค เราพอจะเห็นว่า มีการปรับกฎใหม่ๆ เรื่อยๆ ให้ความน่าเบื่อลดลง เช่นจากแบ่งสาย East / West ก็มาใช้ระบบดราฟต์แทน หรืออย่างในปีล่าสุด ก็ใช้กฎว่า ถ้าทีมไหนชนะแต่ละควอเตอร์ จะได้เงินเพิ่ม (เพื่อเอาไปบริจาคการกุศล) และมีการกำหนดควอเตอร์ 4 หากทีมนำทำแต้มได้ 24 คะแนนก่อนเป็นฝ่ายชนะ
คือก็เห็นความพยายามที่ NBA อยากทำให้มันสนุกขึ้นอยู่ ซึ่งก็โอเค ดีขึ้นกว่าปีก่อนบ้าง และควอเตอร์สุดท้ายก็ดูจะเล่นกันจริงจังนิดนึงอยู่
แต่ก็นะ แฟนบาสหลายคนก็ยังรู้สึกแบบเดิมคือ ถ้าคุณไม่ตั้งใจเล่นเกมรับ มันจะไปสนุกได้ยังไง
เช่น คุณรู้อยู่แล้วว่าสเตฟเฟ่น เคอร์รี่ มีระยะสามแต้มที่อันตราย แต่ก็ปล่อยให้ยิงง่ายๆ จนสุดท้ายเขายิงไป 16 ลูกในเกมเดียว คือการได้เห็นเคอร์รี่ยิงโล่งๆ เหมือนซ้อมยิงเป้า มันจะไปตื่นเต้นตรงไหน
"เกมออลสตาร์ควรจริงจังแค่ไหน?" นี่เป็นเรื่องที่มีการถกเถียงกันตลอด บางคนก็บอกว่าเล่นขำๆ แบบนี้ก็เอาแล้ว อยากดูจริงจัง ไปดู NBA โน่น เขาใส่เต็มกันทุกสัปดาห์อยู่แล้ว
1
แต่บางส่วนก็บอกว่า ถ้าวิลต์ แชมเบอร์เลน เกิดมาในออลสตาร์ยุคนี้คงทำได้ 150 แต้มในเกมเดียว และถ้าจะจัดแข่งแบบนี้ ก็ทำใจเถอะ ที่คุณค่าของเกมออลสตาร์จะลดลงเรื่อยๆ
ต่างคนต่างความเห็นเนอะ
สุดท้ายมีความเห็นหนึ่งที่ผมชอบครับ เขาบอกว่า "มันก็กลายเป็นแบบนี้ไปแล้ว แต่ก็มีบางคนชอบเกมออลสตาร์สไตล์นี้นะ ดังนั้นถ้าคุณไม่ชอบ ก็ไปหาเรื่องอื่นทำเถอะ อย่ามาเสียเวลา และเสียอารมณ์เลย"
ซึ่งผมว่าก็จริงนะ ถ้าเราไม่ชอบใจแนวทาง หรือ Format แบบนี้ ก็แก้ที่ตัวเราเองนี่แหละง่ายสุด เอาเวลาไปทำอย่างอื่นดีกว่า!
#LESSCOMPETITIVE
#MOREBORING
โฆษณา